การนอนหลับที่ไม่เพียงพอมีผลเช่นเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์
การขาดการนอนหลับที่ดี ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียทางด้านอารมณ์และทำให้เสื่อมประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อการสื่อสารที่สำคัญระหว่างเซลล์ประสาทในสมองได้เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ภาพที่ 1 การนอนหลับ
ที่มา congerdesign/Pixabay
นี่คือสัญญาณเตือนอย่างจริงจังที่ควรตระหนักถึง เมื่อการศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ลอสแอนเจลิส (UCLA) ชี้ให้เห็นว่าการนอนหลับที่ไม่ดีพอก่อให้เกิดความบกพร่องทางประสิทธิภาพในการขับขี่เทียบเท่ากับการขับขี่ภายใต้การดื่มแอลกอฮอล์
ทำไมอาการเหนื่อยจึงรู้สึกคล้ายกำลังเมา?
ทีมงานวิจัยนำโดยศาตราจารย์ Itzhak Fried ทำการศึกษากับผู้ป่วยโรคลมชักจำนวน 12 ราย ที่ได้รับการติดตั้งขั้วไฟฟ้าไว้เพื่อตรวจหาจุดกำเนิดของการชักก่อนเข้ารับรักษาด้วยการผ่าตัด โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาถูกร้องขอให้จัดจำแนกหมวดหมู่ของภาพถ่ายให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในขณะที่ทำการวัดการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาทภายในสมอง ซึ่งเซลล์ประสาทภายในสมองส่วนกลีบขมับ (temporal lobe) ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องด้วยมีความเกี่ยวข้องกับการรับรู้และความจำทางสายตา และจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยล้า
จะมีกิจกรรมการทำงานของเซลล์ประสาทภายในสมองที่ชะลอตัวลง
ผลการสแกนสมองชี้ให้เห็นว่า การขาดการนอนหลับที่ดีเป็นสาเหตุให้เซลล์ประสาทตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นการมองเห็นช้าลง และใช้เวลาในการส่งข้อมูลนานกว่าปกติ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับการที่ผู้ขับขี่ที่มีอาการหลับในมองเห็นคนข้ามถนน กล่าวคือ ลักษณะท่าทางของคนเดินเท้าจะดูช้าลงในสมองที่เหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ และใช้เวลานานในการรับรู้สิ่งที่เห็น
ภาพที่ 2 ความเหนื่อยล้า
ที่มา Hernan Sanchez-unsplash
ผลการวิจัยเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผลข้างเคียงจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่จำเป็นต้องใช้ความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขับขี่ แต่อย่างไรก็ดีในการศึกษาครั้งนี้ใช้ขนาดตัวอย่างเพียงแค่ 12 รายซึ่งน้อยมาก ดังนั้นจึงควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการคาดคะเนผลการวิจัยเหล่านี้ในขนาดของประชากรที่กว้างขึ้น
แม้ว่าในบางแง่มุม ความเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงจะมีความคล้ายคลึงกับการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีความบกพร่องเกี่ยวกับหน่วยความจำและการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้บางทีเราจึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมคนที่มีอาการเหนื่อยล้าเช่นที่มีกฎหมายควบคุมผู้ขับขี่ที่ดื่มแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขับขี่ที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับอุบัติเหตุจากการจราจรบนท้องถนนไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หลายร้อยคนที่เสียชีวิต และหลายพันคนที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่มีผู้ขับขี่ที่มีอาการหลับในเป็นสาเหตุ ดังนั้นกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกคือ การนอนหลับที่เพียงพอ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความรู้ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
แหล่งที่มา
Lissette Calveiro. (2017, 1 April). Studies Show Sleep Deprivation Performance Is Similar to Being Under the Influence of Alcohol.
Retrieved December 3, 2017,
from https://www.huffingtonpost.com/lissette-calveiro/studies-show-sleep-deprivation-performance-is-similar-to-being-under-the-influence-of-alcohol_b_9562992.html
Andrew Griffin. (2017, 6 November). Being tired is like being drunk, study appears to confirm.
Retrieved December 3, 2017,
from http://www.independent.co.uk/news/science/tired-sleep-drunk-symptoms-effects-drink-alcohol-fatigue-study-research-latest-a8040721.html
-
7799 การนอนหลับที่ไม่เพียงพอมีผลเช่นเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์ /article-science/item/7799-2017-12-19-01-38-07เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง