รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 18 Louis Pasteur
กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความซีรี่ส์ส์ชุดรู้จักกับนักวิทย์-คณิตจากทุกมุมโลก กลับมาคราวนี้ขอนำเสนอให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักกับนักเคมีและนักจุลชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศส ผู้ที่พิชิตจุลินทรีย์ต้นเหตุของโรคร้ายที่ทำลายชีวิตของชาวโลก แม้ในวัยเด็กของเขาจะเรียนหนังสือไม่เก่งนักแต่เขากลับกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง และยังสร้างผลงานที่โดดเด่นอีกมากมายและหนึ่งในผลงานนั้นที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาและสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลให้แก่สาธารณชนได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เรามาทำความรู้จักกับเขากันได้เลย
หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) เป็นนักเคมีและนักจุลชีววิทยาผู้ที่วางรากฐานทางการแพทย์สมัยใหม่ และยังเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จเป็นคนแรกของโลกอีกด้วย นอกจากนี้ปาสเตอร์ยังโด่งดังจากความสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการถนอมอาหารโดยการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเพื่อฆ่าจุลินทรีย์ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พาสเจอร์ไรเซชั่น (Pasteurization)
ภาพถ่ายหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Louis_Pasteur_by_Dornac_%26_Cie.jpg , Bonhams
ประวัติทางด้านครอบครัว
หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 ที่เมืองโดล รัฐจูรา บิดาของปาสเตอร์เป็นช่างฟอกหนังเชื่อ จีน โจเซฟ ปาสเตอร์ (Jean Joseph Pasteur) และบิดาของเขายังเคยเป็นทหารในกองทัพของพระเจ้านโปเลียนมหาราชและได้รับเหรียญกล้าหาญจากสงครามด้วย ในเวลาต่อมาครอบครัวของปาสเตอร์ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองอาร์บัวส์ (Arbois) ครอบครัวของเขามีฐานะที่ไม่ค่อยดีนักแต่ด้วยความที่บิดาของปาสเตอร์อยากให้ปาสเตอร์นั้นมีความรู้และการศึกษาที่ดี เขาจึงส่งปาสเตอร์ไปเริ่มต้นเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดอาร์บัวส์ วิชาวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิชาที่ปาสเตอร์เรียนได้ดีที่สุด นอกจากนั้นเขายังมีความสามารถในการวาดรูปโดยเฉพาะการวาดภาพเหมือน (Portrait) โดยปาสเตอร์มีความชำนาญมากที่สุดในด้านนี้ และภาพที่ปาสเตอร์ได้วาดนั่นคือ ภาพบิดา ภาพมารดา และภาพเพื่อน ๆของเขา ซึ่งภาพเหล่านี้ได้ถูกแขวนประดับไว้ที่สถาบันปาสเตอร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (The Pasteur Institute in Paris)
ปาสเตอร์เป็นผู้ที่มีความประพฤติดีและเรียบร้อยมาตลอด อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีผลการเรียนที่ดีและมีความสามารถหลากหลายด้าน เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยอาร์บัวส์ให้ไปเรียนต่อที่ อิโคล นอร์เมลซูพิเรีย (Ecole Noemale Superiere) ซึ่งเป็นสถาบันการเรียนที่ฝึกหัดครูชั้นสูงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงปารีสในขณะนั้น เหตุที่อาจารย์ใหญ่ส่งปาสเตอร์ไปเรียนที่แห่งนี้เพื่อหวังต้องการให้ปาสเตอร์นั้นกลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยอาร์บัวส์นั่นเอง แต่ปาสเตอร์ได้เรียนอยู่ที่นี่ไม่นานก็ต้องออกเพราะบิดาของเขามารับกลับบ้านเนื่องจากเขาป่วยเป็นโรคคิดถึงบ้านอย่างรุนแรงจนเกือบเป็นโรคประสาทในเวลาต่อมา
ผลงานที่สำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับปาสเตอร์
การค้นพบวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับปาสเตอร์มากที่สุด คือ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้ว่าในขณะนั้นโรคนี้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ระบาดอย่างมากในขณะนั้น แต่โรคนี้นั้นก็สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนมากมายเนื่องจากถ้าผู้ใดถูกสุนัขบ้ากัดแล้วจะต้องเสียชีวิตทุกราย และสัตว์ที่ป่วยโรคนี้ก็จะต้องตายด้วย โดยที่ไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันแต่อย่างใด ปาสเตอร์ค้นคว้าว่าเชื้อพิษสุนัขบ้านั้นอยู่ที่น้ำลายของสัตว์ ดังนั้นเมื่อโดนน้ำลายสุนัขที่เป็นโรคนี้ไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตามที่เป็นแผลเชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเข้าสู่เข้าผิวหนังจากบริเวณที่เป็นแผล ปาสเตอร์จึงนำเชื้อตัวนี้มาเพาะเป็นวัคซีนและได้นำไปทดลองกับสัตว์ ผลตอบรับกลับออกมาได้อย่างดีเยี่ยม แต่ปาสเตอร์นั้นยังไม่กล้านำมาทดลองกับคนจนวันหนึ่งมีเด็กชายที่ถูกสุนัขบ้ากัด พ่อกับแม่ของเด็กชายคนนั้นพามาให้ปาสเตอร์ได้ทำการรักษาจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ปาสเตอร์จะได้ทดลองยากับคนเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าเด็กชายคนนั้นไม่ได้ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้าการค้นพบครั้งนี้ของปาสเตอร์จึงทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นจากการทดลองวัคซีนรักษาโรคพิษสุนัขบ้า และเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1888 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และยังก่อตั้งอีกหลายแห่งในประเทศต่าง ๆทั่วโลกรวมถึงก่อตั้งในประเทศไทยด้วย โดยในประเทศไทยนั้นสถาบันแห่งนี้มีชื่อว่า “สถานเสาวภา” สถาบันเหล่านี้ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ทดลองและค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่าง ๆ และยังช่วยบุกเบิกวิชาแพทย์แขนง “วิทยาภูมิคุ้มกัน” ซึ่งสามารถป้องกันโรคได้หลายชนิด รวมไปถึงโรคหัด โรคโปลิโอ และโรคคอตีบ
ช่วงสุดท้ายของปาสเตอร์
ภายหลังจากที่เขาได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ขึ้น เขาได้ล้มป่วยจากอาการเส้นโลหิตแตก จึงทำให้ปาสเตอร์มีอาการเป็นกึ่งอัมพาต แต่เขานั้นก็ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำขอสถาบันแห่งนี้อยู่ จนกระทั่งเขาได้เสียชีวิตในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1894 ด้วยวัย 72 ปี ศพของเขาได้ถูกฝังไว้ในสุสานหินอ่อนภายในสถาบันแห่งนั้นด้วยความสง่างาม และเขายังได้มีประพันธ์คำจารึกไว้ที่สุสานของตนเองเตรียมไว้ มีความว่า “กฎที่มีตัวเราเป็นเครื่องมือ คือกฎแห่งสันติภาพ การงาน และสุขภาพนั้น ย่อมเสาะหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยให้มนุษย์ พ้นจากความหายนะที่ตามล้างผลาญ”
อย่างไรก็ตามผลงานจากการคิดค้นและค้นคว้าต่าง ๆ ของปาสเตอร์นั้นสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลให้แก่สาธารณชน สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากมายจากโรคร้าย อีกทั้งยังวางรากฐานสำคัญสำคัญต่อการแพทย์สมัยใหม่ให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และในวาระฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปีของปาสเตอร์ ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศให้วันเกิดของปาสเตอร์นั้นเป็นวันหยุดทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเป็นเกียรติอันสูงสุดที่ยังไม่มีใครเคยได้รับแม้กระทั่งประธานาธิบดี ปาสเตอร์ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลกในฐานะนักชีววิทยาคนสำคัญของโลกทำให้มีสถานที่ต่าง ๆ มากมายนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อสถานที่นั้น ๆ เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับหลุยส์ ปาสเตอร์
แหล่งที่มา
หลุยส์ ปาสเตอร์. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2563.จาก https://storyhis.wordpress.com/2014/12/08/หลุยส์-ปาสเตอร์/
หลุยส์ ปาสเตอร์ทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จ. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2563. จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_18081
หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้พิชิตจุลินทรีย์ต้นเหตุโรคร้ายทำลายชีวิตชาวโลก. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2563. จาก https://www.takieng.com/stories/9328
หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศสเสียชีวิต. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2563. จาก https://guru.sanook.com/25466/
-
11335 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 18 Louis Pasteur /article-science/item/11335-18-louis-pasteurเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง