ภูมิคุ้มกัน สำคัญอย่างไร
ตามสถานการณ์ที่ทุกคนทราบข่าวกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 (โควิด -19) ซึ่งจากข่าวและรายงานความรุนแรงของโรคนี้ หลายท่านอาจสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะทำให้มีความรุนแรงหรืออาการหนักมากกว่าผู้ป่วยที่ร่างกายมีความแข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันที่ปกติ ซึ่งรายงานความรุนแรงดังกล่าวถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว ผู้เขียนก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันมาฝากให้ได้อ่านกัน เราจะมีวิธีการทำให้ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเกณฑ์ดีได้อย่างไร มาติดตามอ่านกันได้เลย
ภาพจำลองแอนติบอดี หรือ อิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) เป็นโปรตีนที่มีรูปร่างคล้ายตัว Y
ที่มา https://pixabay.com/ , sardenacarlo
รอบตัวเรานั้นเต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่อาจมีสิ่งปนเปื้อนอันไม่พึงประสงค์ หรือมีอันตรายต่อร่างกาย นั่นก็คือพวกเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่ทั้งมองเห็นและมองไม่เห็น และหากเชื้อโรคพวกนี้เข้าไปสู่ร่างกายของคนเราแล้วละก็ นั่นหมายความว่า เราอาจจะเจ็บป่วยหรือเป็นโรคต่าง ๆ ได้ แต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียว เพราะความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ร่างกายของคนเรานั้นมีกลไกการป้องกันและทำลายสิ่งแปลกปลอมเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า ระบบภูมิคุ้มกัน (หรือภูมิต้านทาน)
ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System)
ระบบภูมิคุ้มกันเป็นกลไกการทำงานของร่างกายระบบหนึ่ง ที่เป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกันหรือต่อต้านไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายหรือเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคเหล่านั้น ระบบภูมิคุ้มกันมีกลไกจากสารเคมีที่สร้างขึ้นจากร่างกายเพื่อทำหน้าที่ป้องกันและทำลายเชื้อโรค โดยมีเซลล์สำคัญที่ชื่อว่า เซลล์เม็ดเลือดขาว (white blood cell,(WBC) หรือ leucocyte) ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด ทำหน้าที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคภายในร่างกาย ช่วยกำจัดสารพิษหรือของเสีย และกำจัดเศษเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายที่ถูกทำลายโดยธรรมชาติ
ประเภทของระบบภูมิป้องกัน
-
ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Immunity) คือภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองเพื่อป้องกันและสกัดเชื้อโรค ทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากการติดเชื้อที่มาจากสัตว์อื่น ๆ เช่น ผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ ซึ่งเป็นการป้องกันเชื้อโรคชั้นแรก
-
ภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Adaptive Immunity) คือภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองหลังจากเกิดอาการเจ็บป่วย โดยจะไม่ติดเชื้อเดิมอีก
-
ภูมิคุ้มกันแบบรับมาจากภายนอก (Passive Immunity) คือภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากภายนอกร่างกายเพื่อช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น เด็กที่ดื่มนมแม่จะได้รับภูมิคุ้มกันจากน้ำนมแม่ การฉีดวัคซีน การทานอาหารที่มีส่วนในการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เมื่อผ่านการติดเชื้อใดๆ มาจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อนั้น ๆ มากขึ้น จากการจดจำเชื้อโรคได้จึงช่วยให้ป้องกันเชื้อโรคเหล่านั้นได้ดีขึ้นนั่นเอง
การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีอยู่ด้วยกัน 2 ระบบคือ อาศัยเซลล์ทางตรงและอาศัยเซลล์ทางอ้อม แต่ทั้ง 2 ระบบ จะทำงานโดยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยทันทีที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยทางไหนหรือสาเหตุอะไร ภูมิคุ้มกันของเซลล์ทางตรงก็ทำงานโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจะจับกินทำลายเชื้อโรคทันที ในขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันของเซลล์ทางอ้อมก็จะสร้างสารภูมิต้านทานหรือสารต่อต้านสิ่งแปลกปลอมซึ่งเรียกว่าแอนติบอดี (anti body)ที่เป็นโปรตีนชนิดพิเศษขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค โดยแอนติบอดีจะเข้าไปจับตัวกับเชื้อโรค ไม่ให้เชื้อโรคทำงานหรือไม่สามารถแผลงฤทธิ์ทำร้ายร่างกายได้
ความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายประสบกับปัญหาสุขภาพที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ขาดสารอาหาร ความเครียด ก็อาจส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงซึ่งมีผลทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มผิดปกติได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือโรคตามมาเช่น อาการแพ้หรือโรคหอบหืด อาการติดเชื้อได้ง่าย ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
การสร้างและดูแลระบบภูมิคุ้มกันที่ดี
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าระบบภูมิคุ้มกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงปลอดจากการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่าง ๆ ดังนั้น การดูแลสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ถูกสุขอนามัยตามแนวทางปฏิบัติดังนี้
-
ไม่สูบบุหรี่
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเป็นอาหารที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
-
ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
-
หลีกเลี่ยงภาวะอาการที่ทำให้เสียสุขภาพจิตและความเครียด ทำจิตใจให้เบิกบานสงบสุข เช่น การทำสมาธิ
-
ควบคุมน้ำหนัก และความดันโลหิต
-
พักผ่อนให้เพียงพอ
-
ดูแลรักษาความสะอาดให้ร่างกายอยู่เสมอ
เห็นหรือยังว่าระบบภูมิคุ้มกันสำคัญมากแค่ไหน อย่าลืมใส่ใจและปฏิบัติตามคำแนะนำที่นำมาฝากไว้ให้อ่านกัน และที่สำคัญหากมีความผิดปกติต่อร่างกายซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดการติดเชื้อก็ควรรีบไปพบแพทย์กันนะท่านผู้อ่านทุกท่าน
แหล่งที่มา
นพ.หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม,นพ.ชนินันท์ สนธิไชย .ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก http://nvi.ddc.moph.go.th/Download/EpiModule/ch1_2.pdf
ระบบภูมิคุ้มกัน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพที่ควรรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก https://www.pobpad.com/ระบบภูมิคุ้มกัน-ข้อเท็จ
เม็ดเลือดขาว . สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก http://fat.surin.rmuti.ac.th/teacher/songchai/bloodweb/wbc.htm
เสริมภูมิต้านทานโรค ด้วยการแพทย์ผสมผสาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก https://absolute-health.org/th/blog/post/article-healthtips-11.html
-
11360 ภูมิคุ้มกัน สำคัญอย่างไร /article-science/item/11360-2020-03-12-03-11-14เพิ่มในรายการโปรด