ระบบภูมิคุ้มกัน
ระบบภูมิคุ้มกัน
โลกทุกวันนี้มีอันตรายอยู่รอบตัว ทั้งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็น อย่างเช่นตอนนี้ หลายคนคงกำลังวิตกกังวลกับโรค COVID-19 ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก แต่เพื่อนๆ รู้หรือไม่ ในร่างกายของเรามีระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ที่คอยช่วยป้องกันเราจากอันตรายที่อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอมรอบตัว ทำให้เรายังคงแข็งแรงอยู่ได้ มารู้จักระบบภูมิคุ้มกันของเราให้มากขึ้น และดูว่าระบบนี้ทำงานอย่างไร
สิ่งแปลกปลอมรอบตัวเรา
ร่างกายมีโอกาสได้รับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย ไวรัส จากการสัมผัส การกิน หรือการหายใจ เมื่อรับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปแล้ว บางคนเจ็บป่วย แต่บางคนไม่มีอาการ เป็นเพราะประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคนต่างกัน
อวัยวะและเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
ร่างกายมีอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ป้องกัน ดักจับ และทำลายสิ่งแปลกปลอม โดยมีเซลล์เม็ดเลือดขาวในหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง และยังสะสมอยู่ในอวัยวะ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นหน่วยป้องกันที่สำคัญของร่างกาย
กลไกต่อต้านและทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย
เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอันตราย ร่างกายจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ตอบสนอง โดยมีกลไกต่อต้าน/ทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกายมี 2 แบบ คือ แบบไม่จำเพาะ และ แบบจำเพาะ ซึ่งทั้งสองแบบจะทำงานร่วมกัน
1. กลไกต่อต้าน/ทำลายสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะ
กลไกนี้เปรียบเสมือนแนวป้องกันที่ช่วยต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่เนื้อเยื่อหรือที่อยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกายแล้ว แต่ถ้าแนวป้องกันนี้ถูกทำลาย เช่น มีบาดแผลที่ผิวหนัง ร่างกายยังมีกลไกการต่อต้านแบบไม่จำเพาะอีกอย่างคือ การอักเสบและการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มที่คอยดักจับและทำลายเชื้อโรคที่ผ่านเข้ามาในร่างกาย
2. กลไกต่อต้าน/ทำลายสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะ
เมื่อแอนติเจน (antigen) ซึ่งอาจเป็นเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกาย จะกระตุ้นกลไกการต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว 2 ชนิด คือ เซลล์บี (B cell) และ เซลล์ที (T cell) เซลล์บีและเซลล์ทีจะจับกับแอนติเจนอย่างจำเพาะ และจะกระตุ้นให้เซลล์บีพัฒนาไปเป็นเซลล์พลาสมา (plasma cell) ทำหน้าที่สร้างและหลั่งแอนติบอดี (antibody) สำหรับเซลล์ทีที่ถูกกระตุ้นมีหลายชนิดและทำหน้าที่ต่างกัน เช่น
- เซลล์ทีที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมหรือเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส (cytotoxic T cell)
- เซลล์ทีผู้ช่วย (helper T cell) ซึ่งกระตุ้นการทำงานและการแบ่งเซลล์ของเซลล์เม็ดเลือดขาว
ในการตอบสนองดังกล่าวเซลล์บีและเซลล์ทีบางส่วนจะพัฒนาไปเป็นเซลล์ความจำ (memory Cell) ที่มีความจำเพาะต่อแอนติเจนนั้น ทำให้เมื่อได้รับแอนติเจนชนิดเดิมอีกในครั้งต่อไป จะตอบสนองและสร้างแอนติบอดีได้อย่างรวดเร็ว
หลักปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค COVID-19
สำหรับโรค COVID-19 เกิดจากโคโรนาไวรัส สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ที่มีไวรัสอยู่ในร่างกาย ดังนั้นการเข้าใกล้ผู้ที่ไอหรือจาม อาจหายใจเอาไวรัสเข้าไป รวมทั้งการสัมผัสสิ่งของร่วมกันกับผู้ที่มีไวรัสปนเปื้อนอยู่
ติดตามสาระดี ๆ ได้ที่ Facebook : IPST Thailand
อ้างอิง
- หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (พ.ศ. 2561)
- หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เล่ม 1 (พ.ศ. 2562)
-
11611 ระบบภูมิคุ้มกัน /article-biology/item/11611-2020-06-05-09-38-52เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง