การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแบบชีวิตวิถีใหม่ เกิดสังคมแบบใหม่ที่เรียกว่า "สังคมเสมือน" มีการติดต่อสื่อสารกันโดยผ่านสื่อสังคม (Social Media) ส่งข่าวสารข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต อาจจะร่วมกันทำกิจกรรมที่สนใจด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ
สสวท. โดยฝ่าย GLOBE จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้แนวทางการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแก่ครูและนักเรียน เพื่อเพิ่มศักยภาพทำงานวิจัยของนักเรียน โดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาให้สูงขึ้น ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ในด้านทักษะความรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา รวมทั้งส่งเสริมการออกแบบนวัตกรรมและทักษะด้านเทคโนโลยี
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้ มีหัวข้อสัมมนาทั้งหมด 13 หัวข้อ และจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยมีรายละเอียดดังตาราง 1
ตาราง 1 หัวข้อสัมมนาการส่งเสริมการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ครั้งที่ | หัวข้อสัมมนา |
1 | การทำงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์เรื่อง ดิน |
2 | การทำงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์เรื่อง บรรยากาศ |
3 | การทำงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์เรื่อง เทคโนโลยี |
4 | การทำงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์เรื่อง น้ำ |
5 | การทำงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์เรื่อง สิ่งปกคลุมดิน /สิ่งมีชีวิต |
6 | การทำงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์เรื่อง นวัตกรรมน้ำ |
7 | การทำงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์เรื่อง การวิเคราะห์ แปลผลและแปลความหมายข้อมูล |
8 | การสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งแวดล้อมอย่างง่าย (Live on Facebook) |
9 | แนะนำเกมของ GLOBE (Live on Facebook) |
10 | สำรวจสิ่งแวดล้อมและการวิเคราะห์คำถามวิจัย |
11 | การเขียนเค้าโครงงานวิจัย (5W1H) |
12 | การสร้าง GLOBE Teacher Account และ การส่งข้อมูลตรวจวัดสิ่งแวดล้อม (Data Entry) |
13 | การจัดการข้อมูล สรุป และนำเสนอข้อมูล |
การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบออนไลน์ มีประเด็นหรือเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย ดังนี้
1.การประชาสัมพันธ์
สามารถใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ข่าวหนังสือพิมพ์ เฟซบุ๊กหรือไลน์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจสำหรับการจัดสัมมนาออนไลน์ เพราะต้องสื่อสารและชี้แจงให้ครู นักเรียน และผู้สนใจได้รับทราบจุดประสงค์ หัวข้อ กำหนดการของการจัดสัมมนา รวมทั้งวิธีการสมัครเข้าร่วมสัมมนาอย่างชัดเจน ดังภาพ 1
ภาพ 1 การประชาสัมพันธ์
2. หัวข้อสัมมนา
หัวข้อสัมมนา ควรเป็นประเด็นที่ทันสมัย น่าสนใจ หรือเป็นประโยชน์ที่ดึงดูดให้ผู้สนใจเข้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนา รวมทั้งต้องมีรายละเอียดเนื้อหาโดยย่อ ชื่อวิทยากร วิธีการดำเนินงาน เพื่อดึงดูดความสนใจผู้ฟังให้ติดตามรับฟังวิทยากรตั้งแต่ต้นจนจบ ดังภาพ 1
3. เนื้อหา
การเตรียมเนื้อหาต้องกระชับ และเข้าใจง่ายภายในระยะเวลาที่จำกัด ก่อนเริ่มการจัดสัมมนา ผู้จัดงานต้องชี้แจงกับวิทยากรเกี่ยวกับขอบเขตเนื้อหาการบรรยายที่เหมาะสมกับครู ระดับความรู้ของนักเรียน รวมทั้งเวลาในการบรรยาย เพื่อให้วิทยากรสามารถจัดเตรียมเนื้อหาที่จะบรรยายได้เหมาะสม จัดหาสื่อ เกม หรือกิจกรรมเสริมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นผู้เข้าร่วมสัมมนา และช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ดังภาพ 2 นอกจากนี้ผู้จัดงานควรสอบถามสิ่งที่วิทยากรต้องการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจัดเตรียมมาก่อนเข้าสัมมนา เช่น การ Download Application หรือการสมัครสมาชิกในเว็บไซต์ต่างๆ
ภาพ 2 การโชว์วีดิทัศน์เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไชยะบุรีใจกลางแม่น้ำโขงที่เป็นนวัตกรรมด้านระบบนิเวศ
4. ความเร็วอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการจัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะช่วยให้การบรรยายของวิทยากรต่อเนื่องและน่าสนใจติดตาม เช่น การสาธิตการใช้อุปกรณ์ตรวจวัด การนำเสนอข้อมูลการตรวจวัดแบบ Real Time ดังภาพ 3
ภาพ 3 อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิพื้นผิว และการใช้แอปพลิเคชัน
5. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้จัดงาน
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้จัดงานต้องจัดเครื่องมือและอุปกรณ์จำเป็นให้พร้อมสำหรับการจัดสัมมนาออนไลน์ เช่น ไมโครโฟน คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับโปรแกรมที่ต้องการใช้งาน และต้องมีการทดลองระบบก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับอุปกรณ์ในวันจัดสัมมนา เพราะการจัดสัมมนาออนไลน์ในแต่ละครั้ง จะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอน และไม่สามารถเลื่อนการจัดได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การจัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์นั้นเหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) มากกว่าการจัดสัมมนาในห้องประชุม ดังตารางเปรียบเทียบ (ตาราง 2)
ตาราง 2 เปรียบเทียบรูปแบบการจัดสัมมนาออนไลน์กับการจัดสัมมนาในห้องประชุม
หัวข้อ | จัดสัมมนาแบบออนไลน์ | จัดสัมมนาในห้องประชุม |
งบประมาณ | ใช้งบประมาณน้อย | ใช้งบประมาณสูงกว่า |
ห้องประชุม | ไม่ต้องใช้ห้องประชุมที่มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนา | ใช้ห้องประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องจัดระบบภาพ แสงเสียง เวที ในห้องประชุม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาร่วมกิจกรรมได้ชัดเจน |
อาหารว่าง | ไม่ต้องเตรียมอาหารว่างและเครื่องดื่ม | ต้องจัดเตรียมอาหารว่างและเครื่องดื่มให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา |
การเดินทางของผู้ร่วมสัมมนา | ผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่ต้องเดินทาง เพราะสามารถเข้าร่วมสัมมนาได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ทำให้สะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง | - ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องเดินทางเพื่อมาร่วมสัมมนา - ต้องเสียเวลาเดินทาง เกิดความเหนื่อยล้า และขาดสมาธิในการร่วมกิจกรรม |
การเดินทางของวิทยากร | วิทยากรไม่ต้องเดินทาง แต่ต้องมีอุปกรณ์ใช้ในการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต | วิทยากรจะต้องเดินทางมายังตามสถานที่ที่กำหนดในกำหนดการ |
การเก็บข้อมูลและจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนา | ใช้ระบบบันทึกเวลา Login รายบุคคลที่เข้าร่วมงานได้อย่างชัดเจน | ถ้ามีจำนวนคนเข้าร่วมงานมาก การนับจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนาแบบ Real Time ทำได้ยาก |
กิจกรรมระหว่างสัมมนา | การประชุมที่ต้องมีการลงคะแนน ระบบ Poll ของ Webinar สามารถนับคะแนนได้เร็วกว่าแบบ Real Time | ไม่สามารถบันทึกระยะเวลาที่อยู่ในห้องประชุมเป็นรายบุคคลได้ |
การมีปฏิสัมพันธ์ | ระบบสัมมนาออนไลน์ เมื่อมีคำถามจะพิมพ์ใส่ในระบบ จึงทำให้มีการปฏิสัมพันธ์กันได้ตลอดเวลา จากนั้นวิทยากรสามารถมาอ่านคำถามแล้วตอบในภายหลัง | การสัมมนาแบบห้องประชุมจะถามคำถามได้เมื่อวิทยากรให้ซักถาม หรือต้องยกมือถาม |
หมายเหตุ: ข้อจำกัดที่พบในการสัมมนาแบบออนไลน์ คือ
ㆍการดำเนินการด้านการจัดเวิร์กช็อป การแบ่งกลุ่ม หรือทดลองที่ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ใช้ลงมือปฏิบัติจริง และการดูแลผู้เข้าร่วมสัมมนา มีความยุ่งยากมาก
ㆍความชัดเจนในการฟังเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากผู้เข้าร่วมสัมมนาใช้อุปกรณ์แตกต่างกัน ใช้อินเทอร์เน็ตคนละสัญญาณอาจทำให้การได้ยินเสียงไม่ชัดเจนหรือต่อเนื่องเท่าที่ควร จึงเป็นข้อจำกัดที่จะต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ รูปแบบและเนื้อหาของการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมทักษะ ที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 สามารถเชื่อมโยงเข้ากับทักษะอื่นๆ ได้เพิ่มเติม ได้แก่
1. ทักษะการคิดวิจารณญาณ (Critical Thinking Skill) ในระหว่างบรรยาย วิทยากรจะนำเสนอข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย พร้อมกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลนั้น โดยหลังจากจบสัมมนาผู้เข้าร่วมสัมมนาจะสามารถประเมินผลและประยุกต์ใช้ข้อมูลสารสนเทศและความรู้ต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล (ภาพ 4)
2. ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration Skill) ผู้ร่วมสัมมนาสามารถแสดงความคิดเห็นและรับทราบความคิดเห็นของผู้อื่นในระหว่างเข้าร่วมสัมมนาผ่านช่องทาง Chat หรือ Google Classroom ได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถตอบคำถามจากวิทยากรได้ถูกต้องและรวดเร็ว (ภาพ 5)
3. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ในระหว่างสัมมนา ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถสื่อสารกับเพื่อนครูวิทยากร และบุคคลอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ความคิดเห็นระหว่างกันได้ รวมถึงสามารถอธิบาย และนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทาง Google Slide โดยใช้ภาษาที่ถูกต้องและสื่อสารได้อย่างชัดเจน เข้าใจได้ง่าย ดังภาพ 5 https://www.facebook.com/GLOBEThailandFamily/videos/137973754377788/
ภาพ 4 การใช้คำถามกระตุ้นผู้เข้าร่วมสัมมนาระหว่างบรรยาย
ภาพ 5 การถาม-ตอบระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาผ่านช่องทาง Chat และ Google Slide
4. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking Skill) ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาจะมีโอกาสได้เห็นแนวคิดต่างๆ ที่กระตุ้นทักษะความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานวิจัย ในการเรียนรู้ และการประยุกต์ความรู้ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ จนสามารถสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ เทคนิค วิธีการ และ/หรือกระบวนการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยได้ (ภาพ 6)
5. ทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Skill) ผู้เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้า การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันความรู้ร่วมกับผู้ร่วมสัมมนาท่านอื่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถฝึกการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ (ภาพ 6)
6. ทักษะทางอาชีพและการใช้ชีวิต (Career Skill & Life Skill) การเข้าร่วมสัมมนาแบบออนไลน์นั้นแตกต่างจากการเข้าร่วมสัมมนาในห้องประชุม ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการเข้าร่วมสัมมนาบริบท และสภาพแวดล้อม
ภาพ 6 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีในด้านต่างๆ
การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID -19 ทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมเสมือน ดังนั้น การจัดสัมมนาออนไลน์จึงเป็นแนวทางอีกแนวทางหนึ่ง ที่สามารถให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องอยู่เฉพาะในห้องเรียนการวางแผนอย่างเป็นระบบ การมีขั้นตอนชัดเจน จะทำให้ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 229 มีนาคม - เมษายน 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
GLOBE Thailand. (2563). สัมมนาการส่งเสริมการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หัวข้อ บรรยากาศ. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.facebook.com/GLOBEThailandFamily /videos/137973754377788/
คณาจารย์คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา. (2563). ก้าวทันสังคมดิจิทัลด้วยไอซีที (Moving Forward in a Digital Society with ICT). สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564, จาก https://www.informatics.buu.ac.th/88510159/chapters/chapter_8.pdf.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2563). สสวท.ชวนครูสัมมนาออนไลน์ทำงานวิจัยอย่างไรให้สร้างสรรค์ เรื่อง การวิเคราะห์ แปลผลและแปลความหมายข้อมูล. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564, จาก http://www.ipst.ac.thindex.php/hews-and-announcemments/training-seminar/itemn/4918-2020-12-08-07-35-10.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)