ความคิดสร้างสรรค์กับนักประดิษฐ์
หากกล่าวถึงนักประดิษฐ์ หลายคนคงนึกถึง ทอมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากที่สุดในยุคนั้น (ปี ค.ศ. 1847 - 1931) เขาได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์จำนวนมากกว่า 1,000 ขึ้นโดยที่สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดคันขึ้นมาเอง แต่เป็นการพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์ดั้งเดิมและการเลียนแบบแนวคิดจากผู้อื่น ซึ่งเอติสันนอกจากจะเป็นนักประดิษฐ์แล้วเขายังเป็นนักธุรกิจอีกด้วย ผลงานที่รู้จักกันดีคือการประดิษฐ์หลอดไฟที่ทำให้พวกเรามีใช้กันอยู่จนปัจจุบันนี่เอง
ทอมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)
(ที่มา: http://en.wkjpedia.org/wiki/File:Thomas_Edison2.jpg)
การจะเป็นนักประดิษฐ์หรือเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถทำได้ การพัฒนาตนเอง หมั่นฝึกฝนเพื่อให้เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การเกิดแนวคิดใหม่ ๆ สามารถช่วยให้เราเป็นนักคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ดังที่ ทอมัส แอลวา เอดิสัน ได้กล่าวไว้ว่า
"Genius is one percent inspiration, and ninety-nine percent perspiration."
ซึ่งหมายถึงอัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์และอีก 99 เปอร์เซ็นต์คือความอุตสาหะหรือจากหยาดเหงื่อแห่งความพยายามนั่นเอง
ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ หรือการพัฒนาต่อยอดของเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward de Bono) ผู้โด่งดังในทฤษฎีที่เรียกว่าหมวกหกใบ (Six Thinking Hats ได้กล่าวถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ไว้ว่า "There is no doubt that creativity is the most important human resource of all. Without creativity, there would be no progress, and we would be forever repeating the same patterns." ซึ่งหมายความว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เราคือความคิดสร้างสรรค์หากไม่มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว เราคงไม่มีการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นและเราก็คงทำในแบบเดิม ๆ ตลอดไป
เอ็ดเวิร์ต เดอ โบโน (Edward de Bono)
(ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Edward_ de_Bono.jpg)
ปัจจุบันมีการกล่าวถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์กันอย่างแพร่หลายแม้กระทั่งในบทความของเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21th Century Skill.) ก็มีการกล่าวอ้างถึงความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) ซึ่งประกอบไปด้วยการคิดอย่างมีวิจารณญาน (critical thinking) การสื่อสาร (communication) ความร่วมมือ (collaboration) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ในยุคปัจจุบัน
มีผู้ให้ความหมายของคำว่าความคิดสร้างสรรค์ไว้หลายความหมาย เช่น เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2545) ได้ให้ความหมายว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Creative thinking) การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่สู่ความคิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2551) ได้ให้ความหมายว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นความสามารถทางสมองมนุษย์ที่คิดได้กว้างไกลหลายแง่มุม หลายทิศทางนำไปสู่การคิดประดิษฐ์สิ่งของและแนวทางการแก้ปัญหาใหม่
โดยรวมแล้วความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องของการคิดเพื่อการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ หรือเพื่อการพัฒนาต่อยอดของเดิม นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการคิดเพื่อแก้ปัญหาอีกด้วยโดยความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ (workable) ไม่ใช่แค่การเพ้อฝันเท่านั้นและต้องมีความเหมาะสม (appropriate) ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งแปลกใหม่แต่ต้องมีองค์ประกอบของความมีเหตุมีผลและคุณค่าภายใต้ที่ยอมรับกันทั่วไป ซึ่งลักษณะของความคิดสร้างสรรค์แบ่งได้เป็น 4 ลักษณะด้วยกัน (Torrance, 1979) ได้แก่
- ความคิดริเริ่ม (originality) เป็นลักษณะความคิดที่แปลกใหม่ แตกต่างจากความคิดเดิม ประยุกต์ให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นที่ไม่ซ้ำของเดิม
- ความคิดคล่อง (fluency) เป็นความสามารถในการคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็วและมีปริมาณมากในเวลาอันจำกัด
- ความคิดยืดหยุ่น (flexibility) เป็นความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทางดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งไปเป็นหลายสิ่งได้
- ความคิดละเอียดลออ (elaboration) เป็นความคิดในรายละเอียดเพื่อตกแต่งหรือขยายความคิดหลักให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การเกิดความคิดสร้างสรรค์อาจแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่
แนวทางแรก : เกิดจากจินตนาการแล้วคิดวิเคราะห์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ จินตนาการของคนเรามีความสำคัญมากเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งส่วนมากมักเริ่มจากปัญหาหรือความต้องการของมนุษย์ จึงทำให้เราต้องคิดหาสิ่งใหม่ ๆ แต่อย่างไรก็ตามจินตนาการและความฝันนั้นอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเสมอไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพินิจพิเคราะห์ให้ดีแล้วทดลองหรือสร้างสรรค์มันออกมา
แนวทางที่สอง : เกิดจากการต่อยอดความคิดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากความคิดของคนเรามักเริ่มจากการมีประสบการณ์และความรู้เดิม ทำให้เราสามารถคิดต่อยอดหรือพัฒนาปรับปรุงสิ่งเดิมให้ดีขึ้น ในบางครั้งเราอาจได้แนวคิดจากคนอื่นมาพัฒนาเป็นสิ่งใหม่หรือเชื่อมโยงกับของเดิมที่เรามีอยู่ ซึ่งความคิดลักษณะนี้เองที่ทอมัส เอดิสัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์นั้นได้นำมาใช้ในงานธุรกิจสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จำนวนมากของเขานั่นเอง จนบางครั้งมีผู้กล่าวว่าแท้ที่จริงแล้ว เอดิสัน คือผู้ลอกเลียนแบบ
ที่ดีนี่เอง อย่างไรก็ตามความคิดของเอดิสันไม่ได้เป็นการลอกเลียนแบบทั้งหมด แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดความคิดของผู้อื่นเพื่อนำมาซึ่งสิ่งประดิษฐ์เพื่อการใช้งานและการค้ามีงานวิจัยหลายชิ้นพยายามศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ หรือได้คำตอบของการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น บทความงานวิจัยชื่อ The cognitive neuroscience of creativity (Arne, 2004) ได้สรุปสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ดังภาพ
ภาพแสดงสถานการณ์ของการเกิดความคิดสร้างสรรค์
(ที่มา: Ame Dietrich, Psychonomic Bulletin & Review, 2004)
Dietrich ได้อธิบายว่าความคิดสร้างสรรค์ของคนเราอาจเกิดได้ใน 4 สถานการณ์ ได้แก่ สถานการณ์ของการเรียนรู้และความพยายาม (cognitive-deliberate) ซึ่งตัวอย่างนี้สามารถเห็นได้จากการพยายามและการเรียนรู้ของทอมัส เอดิสันในการลองผิดลองถูกหลายครั้งโดยไม่ย่อท้อ สถานการณ์ที่สอง เป็นเรื่องของการเรียนรู้และความบังเอิญ (cognitive-spontaneous) ซึ่งตัวอย่างของสถานการณ์นี้คือ นิวตัน (Isaac Newton) ที่เป็นคนชอบการเรียนรู้และด้วยความบังเอิญของการเจอลูกแอปเปิ้ลหล่นทำให้เขาคิดหาเหตุผลอันนำมาซึ่งกฎแรงโน้มถ่วงของโลก สถานการณ์ที่สาม เป็นเรื่องของอารมณ์และความพยายาม (emotion-deliberate) ซึ่งตัวอย่างสถานการณ์นี้คือการเกิดความรู้ใหม่ของอาร์คิมีดีส ที่พยายามครุ่นคิดหาวิธีวัดน้ำหนักของทองคำอย่างไม่ย่อท้อ กระทั่งได้มาผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการลงอ่างน้ำแล้วได้คิดว่าการแทนที่น้ำของวัตถุนั่นเอง และสถานการณ์ที่สี่คืออารมณ์และความบังเอิญ (emotion -spontaneous) ซึ่งตัวอย่างสถานการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับนักศิลปะหรือนักดนตรีเป็นหลัก
นอกจากนั้น Steven Johnson ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อWhere good ideas come from: the natural history of innovation (Johnson, 2010)ซึ่งได้อธิบายถึงสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนเราเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดีโดยเนื้อความส่วนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า การเกิดความคิดสร้างสรรค์ของคนเรามักมาจากการต่อยอดความคิดจากการได้แลกเปลี่ยนความคิดจากผู้คนที่ต่างพื้นฐานความรู้กัน ทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ และยังได้กล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ว่า การมุ่งมั่นทดลองให้ห้องปฏิบัติการไม่ใช่หนทางของการเกิดความคิดใหม่ ๆ ของนักวิทยาศาสตร์ แต่เกิดขึ้นจากการได้ไปร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างหาก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการได้พบปะผู้คนและได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน เป็นสถานการณ์ที่สำคัญของการเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ Johnson พบว่าร้านกาแฟเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะคนส่วนมากมักมาพบปะและพูดคุยกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาต่อยอดความคิดเดิมนั่นเอง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Dietrich, Arne. (2004). The cognitive neuroscience of creativity. Psychonomic Bulletin & Review, 11, 1011-1026.
Framework for 21st Century Learning. Retrieved January 2,2013, from http://www.p21.org
Johnson, Steven. (2010). Where good ideas come from: the natural history of innovation. New York: Riverhead
Books.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2545). การคิดเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพมหานคร: ซักเซสมีเดีย.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเสริมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีการออกแบบและเทคโนโลยี.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. กระทรวงศึกษาธิการ. (2551) ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
-
12791 ความคิดสร้างสรรค์กับนักประดิษฐ์ /article-science/item/12791-2023-01-20-06-29-50เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง