ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน เมื่อสิ่งมีชีวิตตายลงบางส่วนจะสะสมทับถมปนอยู่กับตะกอนต่าง ๆ ทั้งบนบกและในทะเลภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ซากสิ่งมีชีวิตจะเปลี่ยนสภาพเป็นอินทรียวัตถุ เมื่อเวลาผ่านไปบริเวณดังกล่าวจะค่อย ๆ ทรุดตัวหรือจมตัวลงภายใต้ผิวโลกลึกมากขึ้น และจากแรงกดที่เพิ่มมากขึ้นตลอดจนอุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลทำให้อินทรียวัตถุแปรสภาพก่อให้เกิดแหล่งทรัพยากรเชื้อเพลิงที่มีคุณค่าที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย
สิ่งต่าง ๆ รอบตัวของเรา มีหลายอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากแหล่งเชื้อเพลิงที่เรียกว่า ปิโตรเลียม ปิโตรเลียมเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของมนุษย์และนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย ปิโตรเลียมที่เกิดอยู่ใต้ผิวโลกสามารถนำขึ้นมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างไร
ปิโตรเลียมอยู่ในหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ธาตุไฮโดรเจน ธาตุคาร์บอน และมีก๊าซชนิดอื่น ๆ ปนอยู่ด้วยเล็กน้อย ปิโตรเลียมแบ่งตามสถานะได้ 2 ประเภท คือ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
ภาพตัวอย่างน้ำมันดิบ
ปิโตรเลียมที่สะสมอยู่ในหินต้นกำเนิด เมื่อถูกแรงกระทำจากการไหวตัวของเปลือกโลกหรือด้วยความดันที่เกิดจากน้ำหนักของชั้นหินที่ทับถมอยู่ในตำแหน่งเหนือหินต้นกำเนิดขึ้นไป ปิโตรเลียมจะไหลซึมออกจากหินต้นกำเนิดไปตามรอยแตก รอยแยก และตามรูพรุนของหินไปสู่แหล่งใหม่ที่มีความดันต่ำกว่าแหล่งเดิม เรียกหินที่เป็นแหล่งสะสมตัวใหม่ของปิโตรเลียมว่า หินกักเก็บปิโตรเลียมหรือหินอุ้มปิโตรเลียม
หลายคนคงสงสัยว่า หินกักเก็บปิโตรเลียมมีลักษณะอย่างไร เพราะเหตุใดปิโตรเลียมจึงสามารถไหลเข้าไปสะสมตัวอยู่ได้ ข้อสงสัยนี้สามารถหาคำตอบได้จากกิจกรรมศึกษาลักษณะของหินกักเก็บปิโตรเลียม ในหนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ เชื้อเพลิงเพื่อการคมนาคม ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์ให้ทำการทดลอง สังเกต และอธิบายลักษณะของหินกักเก็บปิโตรเลียม และอธิบายความแตกต่างระหว่างหินกักเก็บปิโตรเลียมและหินชนิดอื่น ๆ ขั้นตอนการทำกิจกรรมให้ใช้แว่นขยายพิจารณาลักษณะเนื้อหิน จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ หินทราย หินปูนและหินแกรนิต จากนั้นให้หยดน้ำมันพืช 1 หยด ลงบนผิวหน้าหินทั้ง 3 ชนิด และสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งในกิจกรรมนี้จะให้น้ำมันพืชแทนน้ำมันดิบ
หินทราย | หินปูน | หินแกรนิต |
การหยดน้ำมันพืชลงไปที่ผิวหน้าของหิน
ในการทำกิจกรรม มีคำถามชวนคิดที่จะช่วยไขปัญหาเกี่ยวกับลักษณะของหินกักเก็บปิโตรเลียม ดังนี้
เนื้อหินทั้ง 3 ชนิด มีลักษณะต่างกันหรือไม่ อย่างไร
น้ำมันพืชสามารถไหลซึมเข้าสู่หินชนิดใดได้บ้าง
หินที่น้ำมันพืชสามารถไหลซึมเข้าไปได้ มีลักษณะเนื้อหินต่างจากหินชนิดอื่น ๆ ที่นำมาทดสอบอย่างไร
ตัวอย่างผลการทำกิจกรรม
ชนิดหิน |
ลักษณะเนื้อหิน
|
การเปลี่ยนแปลงของน้ำมันพืช
|
หินทราย
|
เนื้อหยาบ ประกอบด้วยเม็ดแร่ขนาดเล็ก ที่ผิวหน้าของหินสามารถมองเห็นรอยต่อระหว่างเม็ดแร่ได้บ้าง |
น้ำมันพืชซึมลงไปในเนื้อหินได้ |
หินปูน
|
เนื้อเนียนละเอียดมาก มองไม่เห็นรอยต่อหรือช่องว่างระหว่างผลึกแร่ |
น้ำมันพืชยังคงปรากฏอยู่ที่ผิวหน้าของหิน |
หินแกรนิต
|
เนื้อหยาบ ผลึกแร่เกาะกันแน่นแข็ง มองไม่เห็นรอยต่อหรือช่องว่างระหว่างผลึกแร่ |
น้ำมันพืชยังคงปรากฏอยู่ที่ผิวหน้าของหิน |
การหยดน้ำมันพืชลงไปที่ผิวหน้าของหิน
จากการวิเคราะห์ สามารถสรุปผลการทำกิจกรรมได้ว่า การที่น้ำมันพืชสามารถไหลซึมลงไปในเนื้อหินทรายได้ ภายในเนื้อหินทรายจะต้องมีช่องว่างระหว่างเม็ดแร่ และช่องว่างดังกล่าวจะต้องมีลักษณะเชื่อมต่อกัน เพื่อให้น้ำมันพืชไหลซึมเข้าไปสะสมตัวอยู่ได้
การเชื่อมโยงความรู้ที่ได้จากการทำกิจกรรมสู่หินกักเก็บปิโตรเลียมในธรรมชาติ สามารถสรุปได้ว่า ในธรรมชาติ หินกักเก็บปิโตรเลียมจะต้องเป็นหินที่มีรูพรุนหรือมีช่องว่างระหว่างเม็ดแร่หรือมีรอยแตก รอยแยกภายในเนื้อหิน และรูพรุนหรือช่องว่างดังกล่าวต้องมีลักษณะเชื่อมต่อกัน เพื่อที่จะสามารถกักเก็บน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติไว้ได้ กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมง่าย ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจลักษณะของหินกักเก็บปิโตรเลียมที่อยู่ลึกใต้ผิวโลกได้
ในธรรมชาติหากหินกักเก็บปิโตรเลียมถูกปิดทับด้วยหินที่มีเนื้อละเอียดแน่น ที่เรียกว่า หินปิดกั้นปิโตรเลียม จะทำให้ปิโตรเลียมไม่สามารถไหลซึมผ่านหินเนื้อละเอียดแน่นนี้ขึ้นสู่ผิวโลกได้ ลักษณะโครงสร้างที่ปิโตรเลียมถูกกักเก็บอยู่ในหินกักเก็บปิโตรเลียมและมีหินปิดกั้นปิดทับไว้นี้ เรียกว่า แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและน้ำ ภายในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
เราทราบแล้วว่าใต้ผิวโลกมีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ใต้ผิวโลกบริเวณใดมีแหล่งกักเก็บดังกล่าว ?
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นหาแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม โดยใช้วิธีการสำรวจอย่างเป็นขั้นตอน การสำรวจปิโตรเลียมแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ๆ คือ การสำรวจทางธรณีวิทยา การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ และการเจาะสำรวจ
เมื่อค้นพบแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมแล้ว และพบว่าแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมคุ้มค่ากับการลงทุน ผู้ประกอบการจะวางแผนผลิตปิโตรเลียม การเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมมีทั้งการเจาะหลุมบนบกและในทะเล น้ำมันดิบที่ได้จากหลุมผลิตส่วนใหญ่จะมีน้ำปนอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องทำการแยกน้ำออกก่อน จากนั้นจึงนำน้ำมันดิบที่ได้ขนส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันดิบ โดยทางเรือหรือยานพาหนะอื่น ๆ ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ได้จากหลุมผลิตจะถูกแยกออกเป็นก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจึงนำก๊าซธรรมชาติที่ได้ไปเพิ่มความดัน และส่งผ่านเข้าสู่ท่อขนส่งไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว จะถูกขนส่งทางเรือไปยังโรงกลั่นน้ำมันดิบ
ภาพขั้นตอนการสำรวจปิโตรเลียม
ผลิตภัณฑ์ จากปิโตรเลียมที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบและกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ
ปิโตรเลียมที่ได้จากแหล่งผลิต ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแต่ละชนิดที่ได้จากปิโตรเลียม มีสมบัติเหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์ต่างกัน จึงต้องมีการแยกองค์ประกอบของไฮโดรคาร์บอนออกเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการกลั่นน้ำมันดิบหรือการแยกก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ และกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติมีอยู่มากมาย เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่น ๆ เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากปิโตรเลียม
จากภาพตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากปิโตรเลียม ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราได้ใช้ประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ช่วยให้การดำเนินชีวิตของเรามีความสะดวกสบาย แต่ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ที่ใช้แล้วหมดไปและมีอยู่อย่างจำกัด ต้องใช้เวลานานหลายร้อยล้านปีจึงจะเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีก และการสำรวจและการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งปิโตรเลียมต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เราทุกคนจึงควรใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวนี้อย่างรู้คุณค่า และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ
บรรณานุกรม
ราชบัณฑิตยสถาน. (2544). พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร: อรุณการพิมพ์.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กระทรวงศึกษาธิการ.(2554). หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ เชื้อเพลิงเพื่อการคมนาคม ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)