Phoebe Snetsinger สตรีผู้เห็นนกมากสปีชีส์ที่สุดในโลก
ถ้าแพทย์บอกว่า คุณมีเวลาอีกไม่กี่ปีที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ คุณจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไรบ้าง
Phoebe Snetsinger
ที่มา www.birdwatcher.cz/clanky _phoebe.html
สำหรับ Phoebe Snetsinger เมื่อเธอทราบผลการวินิจฉัยโรค จากหมอประจำตัวว่าเธอกำลังป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เธอได้ตัดสินใจออกเดินทางดั้นด้นไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อจะได้เห็นนกสปีชีส์ต่างๆ ที่มีในโลกให้ได้จำนวนสปีชีส์มากที่สุด ผลที่ตามมาคือ ก่อนจะเสียชีวิต เธอได้เห็นนกมากถึง 8,398 สปีชีส์ ซึ่งนับว่ามากที่สุด ในประวัติศาสตร์ของความพยายามดูนกโดยบุคคลคนเดียว
ในสายตาของคนทั่วไป การเฝ้าดูนกเป็นงานอดิเรกของคนที่ไม่มีอะไรทำ และเป็นกิจกรรมที่ไม่มีอะไรคอขาดบาดตาย คือถ้าเห็นก็เห็น ถ้าไม่เห็นก็ไม่มีใครจะเป็นอะไร จะมีก็แต่นักปักษีวิทยาอาชีพเท่านั้นที่เฝ้าติดตามดูนกอย่างจริงจัง ครั้นเมื่อเห็นนกแล้ว ก็มักถ่ายภาพและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนกสปีชีส์ที่เห็น เพื่อใช้ในการอ้างอิงต่อไป
ตามปกตินักดูนกมักเป็นผู้ชายวัยกลางคนที่ชอบเดินป่า ปีนเขา ไต่หน้าผาหรือชอบไปในสถานที่ที่เต็มไปด้วยภัยอันตราย จนบางครั้งอาจล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย หรือถูกคนป่าทำร้าย เพราะเข้าใจผิดว่ากำลังสอดแนม นักดูนกจึงต้องใช้เวลานานมาก ในการค้นหานกในป่าที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เพื่อจะได้เห็นและศึกษานกสปีชีส์ที่ไม่มีนักปักษีวิทยาคนใดเคยเห็นและศึกษามาก่อน นักดูนกบางคนอาจมีความต้องการจะเห็นนกมากจนถึงขั้นสามารถสละชีพของตน เพื่อให้ความคลั่งไคล้นี้ลุล่วงก็มีเหมือนกัน
Phoebe Snetsinger เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.1931 ที่ เมือง Lake Zurich รัฐ Illinois ในสหรัฐอเมริกา บิดา Leo Burnett เป็นมหาเศรษฐีด้านธุรกิจโฆษณา เธอได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียน Lake District ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมาก จึงมีเพื่อนเรียนร่วมชั้นเพียง 2 คน และครูที่สอนได้พบว่าเธอมีพรสวรรค์ด้านภาษาและวิทยาศาสตร์มากกว่าด้านอื่นๆ
เมื่ออายุ 11 ปี เธอได้พบ David Snetsinger เด็กหนุ่มที่มีอายุมากกว่าเธอ 2 ปีที่สโมสรกีฬาในเมือง แต่ขณะนั้นเธอไม่เคยคิดแม้แต่น้อยว่าเขาและเธอจะได้เป็นคู่ชีวิตกันในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นเธอได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่ Swarthmore College และสำเร็จปริญญาตรี วิชาเอกภาษาเยอรมัน ด้วยคะแนน เฉลี่ย 4.0 เธอก็ได้ตระหนักว่า ในฐานะที่เป็นผู้หญิงเธอไม่มีตัวเลือกมากในการประกอบอาชีพ เธอจึงต้องทำตัวเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ คือ แต่งงาน มีลูก อีกทั้งต้องไม่คิดจะทำอะไรในเชิงแข่งขันกับผู้ชายอย่างเด็ดขาด นอกจากต้องคอยดูแลครอบครัวและให้สามีเลี้ยง
Phoebe จึงเข้าพิธีสมรสกับ David Snetsinger และได้อพยพ ไปตั้งถิ่นฐานที่ Webster Groves ซึ่งอยู่ใกล้เมือง St. Louis ในรัฐ Missouri
หลังจากที่สามีของเธอเดินทางกลับจากราชการทหารที่เกาหลีแล้ว Phoebe ได้ตัดสินใจเรียนหนังสือต่อ จนสำเร็จปริญญาโทด้านวรรณคดีเยอรมัน และมีความรู้สึกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอได้ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านในชนบทที่ทำหน้าที่ดูแลสามีและลูกๆ เท่านั้น และการทำเช่นนี้ไม่เคยทำให้เธอมีความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญาเลย เธอจึงเริ่มมีอาการซึมเศร้า
วันหนึ่งสตรีเพื่อนบ้านคนหนึ่งได้แวะมาชวนเธอไปดูนกในบริเวณสวนหลังบ้าน โดยให้เธอใช้กล้องส่องทางไกลดูนกต่างๆ ที่ เกาะอยู่ตามยอดไม้ เมื่อเธอได้เห็นนก Blackburnian Warbler (Dendroica fused) เธอรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะตกหลุมรักนกที่มีขนสีสวยและมีรูปร่างปราดเปรียวตัวนั้นทันที จึงตัดสินใจซื้อกล้องสองตาให้ตนเองเพื่อไปดูนกกับเพื่อนๆ สัปดาห์ละหลายครั้ง และได้พบว่าวัย 34 ปีของเธอเริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นมาก เพราะการดูนกเป็นงานอดิเรกทำให้ชีวิตของเธอไม่น่าเบื่อ และเมื่อเธอมีความจำดี อีกทั้งมีความกระตือรือร้นมาก เธอจึงเป็นนักดูนกระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ที่ชอบเดินทางไปสถานที่ห่างไกล จนได้เห็นนกจำนวนประมาณ 2,000 สปีชีส์
ในปี 1981 แพทย์ประจำตัวของเธอได้บอกว่า เธอกำลังเป็นมะเร็งผิวหนัง (melanoma) ขั้นสุดท้าย และจะมีเวลาอยู่บนโลกอีกไม่ถึงหนึ่งปี แทนที่จะพักรักษาตัวที่บ้าน Phoebe ตัดสินใจเดินทางไป Alaska ตามที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อไปดูนกในแถบขั้วโลกเหนือ โดยใช้เงินส่วนหนึ่งของมรดกมหาศาลที่เธอได้รับจากบิดา เมื่อกลับจาก Alaska ถึงบ้าน เธอได้พบว่าเธอรู้สึกดีมากและไม่วิตกกังวลอะไรเลย นับตั้งแต่นั้นมาเธอจึงทุ่มเทความสนใจไปที่นก และตั้งใจจะเห็นนกให้มากสปีชีส์ที่สุดก่อนเสียชีวิต โดยจะไปทุกที่ที่ไม่ใช่บ้าน ทั้งในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอันตราย เช่นในป่าหรือบนภูเขา รวมถึงจะไปในที่ที่มีสถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวาย จนในบางครั้งเธอถูกชาวป่าทำร้ายบาดเจ็บ เช่น เมื่อเธอไปที่ New Guinea, Kenya และ Peru เป็นต้น
ตามปกติ เวลาเดินทางเธอจะนำกล้องสองตา หมวก รองเท้าที่เดินไม่มีเสียง กล้องส่องทางไกล กล้องถ่ายรูปและสมุดบันทึกเพื่อจดข้อมูลเกี่ยวกับนกและสภาพแวดล้อมอย่างละเอียด แม๊ในบางครั้งการเดินทางต้องใช้เงินประมาณระดับแสนบาท แต่เธอก็ยินดีจ่ายเพื่อให้ความประสงค์สุดท้ายของเธอบรรลุเป้าหมาย
แม้จะถูกคุกคามด้วยโรคมะเร็งเป็นระยะๆ เพราะมะเร็งจะกลับมาคุกคามทุก 5 ปี หลังจากที่ภาวะเจ็บรุนแรงได้ลดลง เธอก็จะกลับไปดูนกที่เธอต้องการอีก
นกทุกสปีชีส์ที่เธออ้างว่าเห็นนั้น ได้รับการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ทุกครั้งไปโดย American Birding Association (ABA) ซึ่งเป็นสมาคมดูนกของอเมริกา
เพราะเธอใช้ชีวิตที่เหลือส่วนใหญ่ในการเดินทางไปดูนก ดังนั้นชีวิตครอบครัวจึงถูกกระทบกระเทือนมาก เช่น เธอไม่มีเวลาไปงาน แต่งงาน งานวันเกิด หรืองานศพของเพื่อนหรือของญาติเลย เธอไม่ได้อยู่ดูแลลูก ๆ และสามี เหมือนแม่หรือภรรยาทั่วไป เพราะเธอคิดว่าลูก ๆ และสามีสามารถดำเนินชีวิตไปได้ (แม้จะไม่ดีนัก) ในขณะที่เธอต้องการใช้ชีวิตที่เหลือทำสิ่งที่เธอต้องการ
เมื่อถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ.1999 ขณะ Phoebe เดินทาง อยู่บนเกาะ Madagascar รถบรรทุกที่เธอนั่งได้พลิกควํ่า ทำให้เธอเสียชีวิตทันที เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่เธอได้เห็นนก Helmet vanga (Euryceros prevostii) ที่นักปักษีวิทยาเพิ่งรายงานว่า เป็นนกสปีชีส์ใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน นี่จึงเป็นนกสปีชีส์สุดท้ายที่เธอได้เห็น
สถิติการเห็นนกแสดงว่า Phoebe Snetsinger วัย 68 ปีได้เห็นนก 8,398 สปีชีส์ จึงเป็น 85% ของนกที่มีในโลก ดังนั้นเธอจึงเห็นนกมากสปีชีส์กว่าคนที่เห็นมากรองลงไปเกือบ 2,000 สปีชีส์
บันทึกของเธอเรื่อง Birding on Borrowed Time ได้ถูกตีพิมพ์ในปี 2003 โดยสมาคมดูนกแห่งอเมริกา หนังสือนี้ได้กล่าวถึง ชีวิตของเธอในการเดินทางไปดูนก ความรู้สึกลึกๆ ที่เธอต้องการหนีความคิด เรื่องการที่เธอจะต้องตายไป คิดหมกมุ่นแต่จะดูนก หนังสือยังได้กล่าว ถึงบทสัมภาษณ์บรรดาญาติและเพื่อนบ้านเกี่ยวกับตัวเธอและลูกทั้ง 4 คน โดยเฉพาะ Thomas J. Snetsinger นั้น ได้เจริญรอยตามมารดาคือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนกบนเกาะฮาวายที่กำลังจะสูญพันธุ์
ชีวิตของ Phoebe Snetsinger อาจทำให้ผู้อ่านหลายคนคง ฉุกคิดได้ว่า ในการใช้ชีวิตที่เหลือนั้น เรามีอะไรจะต้องทำอีกบ้าง ก่อน ‘ไป’ สำหรับเธอนั้น เธอต้องการจะเห็นนกทุกสปีชีส์บนโลก และปณิธานนี้ได้อุบัติขึ้นเมื่อแพทย์บอกเธอว่า “เธอจะต้องตายใน อีกไม่นาน”
แม้สังคมโดยรอบจะกำหนดบทบาทให้เธอทำหน้าที่แม่และภรรยา แต่เธอก็ตัดสินใจไปว่าเธอจะใช้ชีวิตในแต่ละวันที่เหลือให้ดีที่สุดอย่างไร ถึงคนบางคนจะคิดว่าการทุ่มเทเวลาไปดูนก หรือความคลั่งนกของเธอเป็นอาการของโรคจิตรูปแบบหนึ่งก็ตาม
ในหนังสือ Life List : A Woman’ s Quest for the World’ s Most Amazing Birds ที่ Olivia Gentile เรียบเรียง และจัดพิมพ์ โดย Bloombury ในปี 2009 นั้น ชีวิตของ Phoebe Snetsinger ได้ให้ข้อคิดว่า การใช้ชีวิตที่ดีและการเผชิญความตายที่ดี ควรเป็นอย่างไร
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 41 ฉบับที่ 180 มกราคม - กุมภาพันธ์ 2556
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
-
12821 Phoebe Snetsinger สตรีผู้เห็นนกมากสปีชีส์ที่สุดในโลก /article-science/item/12821-phoebe-snetsingerเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง