เราได้อะไรมา และเสียอะไรไปจากการสร้างเขื่อน
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพักผ่อนที่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภา หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างการเดินทางโดยเรือเพื่อเข้าไปด้านในของอ่างเก็บน้ำ สองข้างทางมีแต่พื้นน้ำที่เวิ้งว้าง กว้างใหญ่เห็นยอดภูเขาหินปูนเรียงราย มองเผิน ๆ แล้วทำให้รู้สึกเหมือนกำลังล่องเรืออยู่กลางทะเลที่รายล้อมไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยจำนวนมาก ระหว่างการเดินทางมัคคุเทศก์ได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเขื่อนรัชชประภา แต่มีประเด็นหนึ่งที่สะดุดความสนใจของผู้เขียนคือใต้ผืนน้ำสีเขียวมรกตนี้ มีหมู่บ้าน วัดวาอารามและโรงเรียนจมอยู่ ผู้เขียนจึงสอบถามก็ได้ความว่า ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อน พื้นที่บริเวณนี้เคยมีผู้คนอาศัยอยู่หลายหมู่บ้าน แต่เมื่อมีโครงการที่จะสร้างเขื่อน รัฐบาลได้เวนคืนที่ดินโดยมอบพื้นที่ทำกินใหม่ให้กับราษฎร เพื่อเป็นการทดแทนพื้นที่เดิม ทำให้ผู้คนต้องอพยพออกไป เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จพื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนก็จมอยู่ใต้น้ำและกว่าจะได้เขื่อนมาจะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับเก็บน้ำ จึงต้องมีการแผ้วถางป่า อพยพผู้คนและสัตว์ป่ามีผลทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้ฟังเช่นนี้ ผู้เขียนจึงเกิดคำถามว่า การสร้างเขื่อนมีประโยชน์จริงหรือ
อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภา
แนวคิดในการสร้างเขื่อน เริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และพลังงานที่ประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลกประสบอยู่ ประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ตุรกี รวมถึงประเทศไทย ต่างก็มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำขึ้น ในการสร้างเขื่อนที่ขวางลำน้ำขนาดใหญ่บางครั้งอาจส่งผลกระทบกับหลาย ๆ ประเทศที่ลำน้ำนั้นไหลผ่าน เช่นโครงการสร้างเขื่อนที่ลำน้ำโขง ซึ่งจะมีเนื้อที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 806,000 ตารางกิโลเมตร และจะส่งผลต่อประเทศจีน ลาว ไทย พม่า เวียดนามและกัมพูชา
เขื่อนรัชชประภา
การสร้างเขื่อนนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน โดยช่วยชะลอความเร็วของน้ำปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยประสบอยู่เป็นประจำ โดยมีการเก็บกักน้ำไว้ในช่วงที่น้ำหลากและปล่อยน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรในช่วงฤดูที่ขาดแคลนน้ำ เช่น ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาทำให้พื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่บริเวณอำเภอคีรีรัฐนิคมและอำเภอพุนพินสามารถปลูกพืชได้ผลดีในฤดูแล้ง อีกทั้งยังสามารถใช้พลังงานจากน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงอีกด้วย นอกจากนี้เขื่อนบางแห่งยังใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ
แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขื่อนมักจะสร้างบริเวณหุบเขาที่มีลำน้ำไหลผ่านและสร้างขวางลำน้ำ เพื่อให้มีน้ำมาสะสมบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อน ดินบริเวณนั้นจะถูกน้ำท่วมขัง ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และในการสร้างเขื่อนจะใช้พื้นที่กว้างใหญ่ ซึ่งบางพื้นที่อาจเป็นพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เสียหาย ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ พืชพรรณที่อยู่บริเวณนั้นล้มตาย ซึ่งพืชบางชนิดอาจเป็นพันธุ์ที่หายาก พื้นที่ป่าแปรสภาพเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนที่หนีน้ำไม่ทันต้องจบชีวิตลง บางส่วนไม่มีที่อยู่อาศัย จนต้องมีการอพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่สร้างเขื่อน ดังเช่น การอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนรัชชประภา ในปี พ.ศ. 2529 นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแหล่งน้ำ จากระบบนิเวศแบบน้ำไหลกลายเป็นแบบน้ำนิ่ง สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในระบบนิเวศน้ำไหลจะลดจำนวนลงและยังส่งผลต่อการอพยพของปลาหลายสายพันธุ์
จะเห็นได้ว่าการสร้างเขื่อนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ในการสร้างเขื่อนแต่ละครั้ง จึงมีกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสมอ ดังเช่นกรณีพิพาทในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่จังหวัดแพร่ แล้วผู้อ่านมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 41 ฉบับที่ 182 พฤษภาคม - มิถุนายน 2556
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Postel, S. & Richter, B. (2003). Rivers for life : anaging water for people and nature. Washington,D.C. : Island Press.
World Wildlife Fund. (2004). Rivers at risk : dams and the future of freshwater ecosystems. Retrieved January 28, 2013, from http://assets.panda.org/downloads/riversatriskfullreport.pdf
-
12831 เราได้อะไรมา และเสียอะไรไปจากการสร้างเขื่อน /article-science/item/12831-2023-01-27-06-45-12เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง