อีโคพลาสติก (Eco-plastics) ดีต่อโลกอย่างไร?
เทรนฮิตในโลกปัจจุบันคือการตระหนักรู้ตระหนักคิดด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าหลายประเทศเริ่มนำพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาใช้แทนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมีแล้ว โดยมีการตื่นตัวทั้งด้านนโยบาย การวิจัยและพัฒนา การอุตสาหกรรม และการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเร่งรัดให้เกิดการทดแทนพลาสติกทั่วไปนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นขั้นตอน รวมทั้งมีทิศทางที่เป็นไปอย่างชัดเจน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านวิทยาการและเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ได้ก้าวเป็นผู้นำการผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ โดยเริ่มตั้งแต่การประสบความสำเร็จในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ในระดับอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่นมีการตกแต่งภายในรถยนต์และผลิตโทรศัพท์มือถือด้วยพลาสติกชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการดูดซับน้ำใต้ดินในงานเตรียมการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างสนามบินและโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย
ภาพที่ 1 อีโคพลาสติก
ที่มา http://www.pixabay.com/id-2619717, yeqiancool
แม้ว่าปัจจุบันขยะพลาสติกจะเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งประเทศไทยเองยังติดอันดับปัญหาขยะในทะเลอยู่ในอันดับ 5 หรือ 6 ของโลก นั่นหมายถึงทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมใจแก้ไขและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ การจะแก้ไขให้ได้ผลเร็วต้องทำให้ครบถ้วนในทุก ๆ ด้านของการจัดการขยะมูลฝอย โดยยึดหลักการ 3R plus ซึ่งได้แก่
1. Reduce เป็น R ที่ดีที่สุดเพราะเป็นการลดการเกิด คือ ลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น เช่น พลาสติกซีลขวดน้ำ ฝาแก้ว หลอด เป็นต้น
2. Reuse การนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อให้เกิดการใช้อย่างคุ้มค้า เช่นแก้วพลาสติกหนา สามารถใช้ซ้ำได้
3. Recycle การหลอมกลับมาใช้ใหม่ เป็นการนำพลาสติกที่ชำรุดไม่สามารถใช้ซ้ำได้แล้ว ไปหลอมมาใช้ใหม่ ซึ่งต้องคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพ ขยะเหล่านี้จึงจะเข้าสู่กระบวนการ Recycle ได้ต่อไป
และ plus อีก R คือ Replace หมายถึง ส่วนที่ยังจำเป็นต้องใช้พลาสติกไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง ควรเปลี่ยนมาใช้พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ เช่น แก้ว กล่อง ถุงที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายได้
การนำหลักดังกล่าวมาใช้ในปัจจุบัน อาจไม่พอที่จะแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ในเวลาอันรวดเร็วการจะ ลดให้ได้จริงจังอย่างหวังผล ควรจะตามการเปลี่ยนของเสียไปเป็นพลังงานกลับมาใช้ประโยชน์ Energy recovery และการกำจัดเช่น การนำไปบ่มหมักโดยวิธีทางธรรมชาติ การผลิตแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ กล่องอาหารย่อยสลายได้ ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ต่างๆเหล่านี้เมื่อนำไปหมักร่วมกับขยะอินทรีย์จะได้สารปรับปรุงดิน อาจไม่ได้ขนาดที่จะเรียกว่าปุ๋ยได้แต่ก็จะได้สารที่มีประโยชน์กับต้นไม้ ช่วยให้ต้นไม้งอกงามเขียวขจีได้ หรือการฝังกลบก็จะได้ น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และมวลชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อดินต่อพืชต่อไป
ในปัจจุบันจึงเกิดแนวคิดธุรกิจสีเขียว (green business) ซึ่งเป็นกลยุทธ์เน้นที่การตระหนักความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะความตื่นตัวด้าน สิ่งแวดล้อมที่ใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับตราสินค้าทั้งด้านสังคมและธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดที่ไม่ใช่เพียงผลกำไรแต่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและตราสินค้าที่ดึงดูดผู้บริโภคยุคใหม่ให้ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องปรับกระบวนทัศน์สู่ธุรกิจสีเขียว เพื่อมุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งใช้วัสดุธรรมชาติหรือใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดของเสียหรือมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ทำให้ องค์กรธุรกิจสีเขียวดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green process) ด้วยการ ปรับปรุงกระบวนการ เพื่อลดการปล่อยมลพิษ
เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีการเติบโตรวดเร็ว อันเป็นผลจากการขยายตัวของประชากรและกระแสรักษ์โลกที่กำลังแพร่หลายทุกภูมิภาค ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ ทางเลือกหลักที่ผู้ผลิต และผู้บริโภคให้ความสำคัญลำดับแรก องค์กรชั้นนำพยายามบูรณาการแนวคิดสีเขียวในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การออกแบบสีเขียว (green design) การจัดซื้อสีเขียว (green purchasing) การตลาดสีเขียว (green marketing) รวมถึงการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่ด้วย การแปรสภาพให้กลายเป็นวัตถุดิบสอดคล้องตามแนวคิดวงจรชีวิต ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบจนกระทั่งหมดอายุการ ใช้งาน หรือเรียกว่า นิเวศวิทยาอุตสาหกรรม (industrial ecology) เช่น การใช้วัสดุที่เป็นพิษหรือวัสดุที่ใช้พลังงานแปรรูปน้อยที่สุด การ ใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ดังกรณีผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าค่ายญี่ปุ่นอย่าง โตชิบา ประกาศพันธสัญญาที่เป็นคำมั่นว่าจะมุ่งมั่นเพื่อก้าวสู่ความเป็นบริษัทสีเขียว (eco company) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโตชิบามิได้จำกัดเพียงแค่ การดำเนินกิจกรรม CSR แต่ยังมุ่งประเด็นมิติหลัก คือ กระบวนการ สีเขียว (greening of process) ผลิตภัณฑ์สีเขียว (greening of products) และเทคโนโลยีสีเขียว (greening by technology) โดยให้ ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิตระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการรีไซเคิล โตชิบาประกาศแคมเปญ นวัตกรรมสีเขียว เพื่อโลก สีขาว (green innovation for white world) เป็นทั้งนโยบายองค์กรและ นโยบายการตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างโตชิบากับตราสินค้า อื่น โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายธรรมชาติ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตภัณฑ์โตชิบา ยึดหลัก 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle เพื่อนำไปแปรสภาพกลับมาใช้ได้อีก ตัวอย่างสินค้าสีเขียวของโตชิบา เช่น ตู้เย็นรุ่น สลิมเลดี้ มีการพัฒนาฉนวนกันความร้อนพิเศษที่บางลง ทำให้มีการใช้วัสดุพื้นผิวตู้เย็นลดลงเมื่อถูกทิ้งก็จะก่อขยะน้อยกว่า ตู้เย็นทั่วไป ขณะเดียวกันยังคงมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 ช่วยให้ ผู้บริโภคประหยัดค่าไฟ แอลซีดีทีวี Regza ได้มีการพัฒนาให้เบาลง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ไม่เพียงแค่ลดการใช้วัสดุในการผลิต แต่ยังลด วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์และกินไฟลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังลดการ ใช้วัสดุที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) อาทิ สารตะกั่ว สารปรอท สารแคดเมียม สารโครเมียม รวมถึงลดจำนวนน็อต สกรู และออกแบบให้ประหยัด พลังงาน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด (โกศล ดีศีลธรรม, 2556)
แหล่งที่มา
กิตติมา วัฒนากมลกุล. (2556). ผลิตภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2562 จาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/
โกศล ดีศีลธรรม. (2556). ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกตามธุรกิจเส้นทางสีเขียว. ฉบับที่ 40 ประจำเดือน มิย-กค.2556. หน้า 49-52.
Arnaud Bizard; Brett Lee; Karen Puterrman. "AWARE and Environmental Labeling Programs: One Step Closer to a Sustainable Economy" . ME 589. Retrieved 2007-07-10.
-
10975 อีโคพลาสติก (Eco-plastics) ดีต่อโลกอย่างไร? /index.php/article-chemistry/item/10975-eco-plasticsเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง