ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าเราทุกคนต้องปรับตัวกันในทุกด้าน ไม่เว้นแม้กระทั่งด้านการศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากสถานการณ์นี้ ทำให้ทุกโรงเรียนได้รับผลกระทบอย่างมากที่ต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจาก On-site มาเป็น Online ผู้สอนซึ่งเป็นกลไกสำคัญก็ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เช่นเดียวกันกับการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ ให้กับผู้เรียน โดยที่ต้องยังคงประสิทธิภาพการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสูงสุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัตินั้น เมื่อต้องเรียนแบบออนไลน์ นอกจากปัญหาด้านเครื่องมือที่จะใช้เรียนออนไลน์แล้ว ผู้เรียนหลายๆ คนอาจมีข้อจำกัดในการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ สารเคมีหรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดปริมาณต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ตัวช่วยสำคัญที่ผู้สอนหลายคนเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตินี้คือ การนำคลิปมาใช้ประกอบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ผู้สอนแต่ละคนมีวิธีการที่แตกต่างกันไปในการนำคลิปมาใช้ ซึ่งมีทั้งการนำมาใช้ประกอบการสอน ที่ผู้เรียนกับผู้สอนมีการพบหน้าเวลาเดียวกันแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ (Synchronous) รูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้สอนสามารถตอบโต้และให้ข้อมูลย้อนกลับกับผู้เรียนได้ทันที หรือรูปแบบที่ผู้เรียนกับผู้สอนไม่พบหน้ากัน หรือเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่เกิดขึ้นคนละเวลา (Asynchronous) ซึ่งรูปแบบนี้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียน อย่างไรก็ตาม ผู้สอนควรจัดเตรียมสื่อให้พร้อม รวมทั้งกำหนดช่วงเวลาให้ผู้เรียนไปศึกษาเนื้อหาหรือทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้สอนอาจจัดการเรียนรู้ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid)(Amiti, 2020)
บทบาทของผู้สอนในการสอนแบบออนไลน์
ในอดีตเราอาจพบว่า การสอนแบบออนไลน์มักประสบปัญหาบางประการ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของผู้เรียน และการทำให้ผู้เรียนจดจ่ออยู่กับเนื้อหาที่กำลังเรียน (Carwile, 2007) การสอนออนไลน์มักจะเป็นรูปแบบการบรรยายที่มีผู้สอนพูดอยู่ฝ่ายเดียว โดยไม่ได้สนใจการตอบสนองของผู้เรียนเท่าที่ควร (Passive learning) แต่ในปัจจุบันรูปแบบการสอนออนไลน์ได้พัฒนาไปอย่างมาก โดยผู้สอนมีความเข้าใจวิธีการที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การสอนออนไลน์มีจุดมุ่งเน้นในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดและทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือส่งเสริมการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน เช่นเดียวกับการสอนแบบเผชิญหน้า ดังนั้นหากต้องการให้บรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว ผู้สอนต้องมีการเตรียมตัวอย่างดี โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการสอนที่ชัดเจน ออกแบบกระบวนการสอนให้น่าสนใจ ต้องก้าวข้ามบทบาทเดิม ๆ ของการสอนออนไลน์ที่ผู้สอนเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitators) ผู้สอนต้องจัดหาสื่อที่มีประสิทธิภาพและน่าสนใจ สร้างบรรยากาศหรือสถานการณ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนเชิงรุก (Active learning) สร้างสังคมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน (Feedback) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปพัฒนา หรือสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เรียนด้วยตนเองได้มากที่สุด (Gold, 2001; Carswell, 2001) โดยอาจจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการอ่าน การเขียน การทำงานเป็นกลุ่ม ทั้งนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมาก มีฟังก์ชันหลากหลายที่ช่วยเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนได้มากขึ้น เช่น ผู้เรียนสามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ทันที มีช่องแชทหรือช่องทางให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นหรือตอบคำถาม หรือมีฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ผู้เรียนสามารถใช้แสดงความรู้สึก หรือแสดงการมีส่วนร่วมในขณะเรียนได้ ดังนั้นการสอนแบบถ่ายทอดความรู้เพียงทางเดียวด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีจึงไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป
ปัจจุบันมีสื่อต่าง ๆ มากมายที่ผู้สอนสามารถเลือกมาประกอบการสอนเพื่อสร้างความสนใจ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และยังช่วยในด้านการวัดประเมินผล เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว e-book PowerPoint แอปพลิเคชัน หรือเกมต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีคลิปการสอนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สอนได้เลือกไปปรับใช้ ให้เหมาะกับการสอนหรือบริบทของตนเอง เช่น คลิปการสอนออนไลน์ project14 ของ สสวท. ซึ่งมีการนำเสนอคลิปการสอนอย่างเต็มรูปแบบทั้งในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยคลิปการสอนออนไลน์ project14 มีการนำเสนอเนื้อหาตามลำดับขั้น การสอนตั้งแต่การนำเข้าสู่บทเรียน การทำกิจกรรม การอภิปราย ไปจนถึงการสรุปเนื้อหา และยังมีตัวอย่างคำถามหรือแบบฝึกหัดแทรกระหว่างคลิป เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดสอบความเข้าใจในขณะชมคลิปอีกด้วย
ภาพตัวอย่างคลิป project14 วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา
ในการนำคลิปมาประกอบการสอนออนไลน์ ผู้สอนควรมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยอาจใช้คำถามสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือได้ฝึกคิดและแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมให้การจัดการเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แนวทางการนำคลิปมาใช้ประกอบการสอนออนไลน์
การนำคลิปมาประกอบการสอนออนไลน์ สามารถทำได้หลายรูปแบบ ผู้สอนอาจพิจารณาตามความเหมาะสมในด้านเนื้อหา บริบท เวลา หรือความพร้อมของผู้เรียนได้ ดังนี้
1. ให้ผู้เรียนศึกษาคลิปด้วยตนเอง โดยผู้สอนอาจจัดเตรียมใบงานให้ผู้เรียนทำประกอบ ระหว่างหรือหลังชมคลิปเพื่อตรวจสอบสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคลิป
2. ให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาบางส่วนจากคลิปมาล่วงหน้า จากนั้นทำกิจกรรมหรืออภิปรายเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ร่วมกับผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ
3. ผู้สอนใช้คลิปมาประกอบการสอน โดยอาจมีการเลือกเปิดคลิปบางส่วน เช่น ช่วงการทำกิจกรรมที่บางครั้งผู้เรียนอาจหาอุปกรณ์เองไม่ได้ เมื่อต้องเรียนแบบออนไลน์ หรือเลือกใช้สถานการณ์ต่าง ๆ ในคลิปมานำเข้าสู่บทเรียน หรือเปิดคลิปให้ผู้เรียนชมช่วงท้ายบทเรียนเพื่อเพิ่มความเข้าใจเนื้อหานั้น ๆ
ทั้งนี้ วิธีการที่ 3 อาจเป็นวิธีที่ผู้สอนหลายคนนิยมใช้ เนื่องจากคลิปสามารถช่วยแก้ปัญหาความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ต้องมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นอกจากนี้ การใช้คลิปยังช่วยให้ผู้เรียนสามารถสังเกตผลการทำกิจกรรมได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงจากการนำคลิปมาประกอบการสอนออนไลน์
ครูรัตนากร สังข์ขรณ์ หรือ ครูปัท ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านศาลาลัย ครูธัชวุฒิ กงประโคน หรือครูแก่น ผู้สอนวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ และครูภาธินี รัตนนิลอมร หรือครูไหม ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาล 1 (ทุ่งฟ้าบดราษฎร์บำรุง) เป็นผู้สอนที่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการสอน อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยทั้งสามท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการปรับตัวจากการสอนแบบ On-site ที่มีการพบหน้ากับนักเรียนตามปกติ มาเป็นการสอนแบบผสมผสานระหว่าง On-site และ Online และการสอนแบบ Online อย่างเต็มรูปแบบ โดยครูปัทได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า ในช่วงแรกๆ ของการปรับตัว ตนเองประสบปัญหาในเรื่องการจัดเตรียมสื่อการสอน เนื่องจากในภาวะปกติการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ จะต้องเน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์โรคระบาด ครูปัทได้เลือกใช้คลิปมาประกอบการสอนทั้งแบบผสมผสาน และแบบ Online โดยวิธีการที่ครูปัทใช้ คือ ครูยังเป็นผู้ดำเนินการสอนตามปกติ โดยในกิจกรรมที่นักเรียนสามารถหาอุปกรณ์ได้ ครูปัทจะให้เวลานักเรียนไปลองทำกิจกรรมด้วยตนเองมาก่อน แล้วมาสังเกตผลจากคลิปรวมถึงอภิปรายร่วมกันอีกครั้งตอนเจอกับนักเรียนแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ดังนั้น วิธีการของครูปัท คือ เลือกใช้เนื้อหาหรือกิจกรรมบางส่วนในคลิปมาเปิดให้นักเรียนชม ประกอบการสอนของตนเอง โดยครูมีหน้าที่คอยป้อนคำถาม เพื่อกระตุ้นการคิดและจัดทำใบงานให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติระหว่างเรียน
ภาพตัวอย่างการสอนโดยใช้คลิปการสอนออนไลน์ Project14 ของครูปัท
ครูแก่นก็เป็นครูอีกท่านหนึ่ง ที่ใช้คลิปมาประกอบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ โดยวิธีการเลือกใช้คลิปของครูแก่นจะแตกต่างกันไปตามเนื้อหาที่จะสอน บางเนื้อหาครูแก่นก็ให้นักเรียนดูคลิปทั้งคลิป จากนั้นจะมาอภิปรายและสรุปเนื้อหาร่วมกันอีกครั้ง เมื่อเจอกันแบบออนไลน์ และจบกิจกรรมด้วยการทำแบบทดสอบ หรือบางครั้งก็มอบหมายให้นักเรียนไปทำกิจกรรมมาก่อน โดยอาจศึกษาวิธีทำจากคลิป แล้วมานำเสนอและอภิปรายผลการทำกิจกรรมร่วมกันในชั้นเรียนออนไลน์ หรืออาจให้งานนักเรียนไปดูคลิป เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนเพิ่มเติม นอกจากนี้ บางเนื้อหาครูแก่นจะเลือกบางส่วนของคลิปมาใช้ประกอบการสอน โดยจะมีการหยุดคลิปเป็นช่วง ๆ แล้วตั้งคำถามให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่สังเกตได้จากคลิป นอกจากนี้ ครูแก่นได้ใช้ฟังก์ชันต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มที่ใช้สอนออนไลน์ เช่น การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนได้อภิปรายกันในกลุ่มย่อย ดังเช่นการเรียนแบบ On-site ครูแก่นให้ความคิดเห็นว่าการสอนแบบออนไลน์นั้นมีเสน่ห์ ครูสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาประกอบการสอนได้ เช่น แอปพลิเคชันหรือเกมต่าง ๆ ซึ่งสามารถกระตุ้นความสนใจของนักเรียนได้เป็นอย่างดี และยังช่วยในการวัดประเมินผลนักเรียนได้อีกด้วย เช่น การใช้แอปพลิเคชัน Padlet Google Form โดยปัจจุบันแอปพลิเคชันต่าง ๆ นั้นมีหลากหลายและได้ถูกพัฒนาให้มีรูปแบบที่ใช้ง่าย สนุก สวยงาม และมีความน่าสนใจ ซึ่งครูสามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของการสอนของตนเอง
ภาพตัวอย่างการสอนโดยใช้คลิปการสอนออนไลน์ Project14 ของครูแก่น
สำหรับครูไหมก็มีการเลือกใช้คลิปมาประกอบการสอนเช่นกัน โดยมีรูปแบบการใช้ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับเนื้อหาและกิจกรรม แต่ส่วนมากครูไหมจะนำคลิปมาเปิดและมีการหยุดคลิปเป็นระยะๆ เพื่อให้นักเรียนคิด ตอบคำถาม หรือลงมือปฏิบัติด้วยตนเองด้วย ครูไหมให้ความคิดเห็นว่าธรรมชาติของนักเรียนในช่วงวัยระดับประถมศึกษาจะมีความสนใจหรือจดจ่อระยะสั้น การที่ให้นักเรียนชมคลิปนาน ๆ อาจทำให้นักเรียนขาดความสนใจในสิ่งที่กำลังเรียน ดังนั้น ครูจะไม่เปิดคลิปให้นักเรียนชมยาวต่อเนื่องทั้งคลิป แต่ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าสู่บทเรียนและคอยถามคำถาม
ภาพตัวอย่างการสอนโดยใช้คลิปการสอนออนไลน์ Project14 ของครูไหม
รวมถึงชวนนักเรียนอภิปรายโต้แย้งกัน นอกจากนี้ ยังมีการทำใบงานประกอบระหว่างการสอน และมีแบบฝึกหัดทดสอบความเข้าใจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งครูไหมก็มีการใช้คลิปเพื่อเป็นสื่อให้นักเรียนศึกษาเนื้อหามาล่วงหน้า ถ้ากิจกรรมไม่ซับซ้อนก็อาจให้นักเรียนลองทำกิจกรรมด้วยตนเองแล้วมาอภิปรายผลร่วมกันภายหลัง แต่ถ้ากิจกรรมไหนมีความซับซ้อน หรือหาอุปกรณ์ได้ยาก เช่น กิจกรรมที่มีการใช้เครื่องชั่งสปริง กิจกรรมที่มีการใช้สารเคมี หรือกิจกรรมที่ต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก ครูไหมจะจัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนมาดูผลการทำกิจกรรมจากคลิปด้วยกัน หรือดูการสาธิตจากครูแล้วอภิปรายร่วมกัน นอกจากนี้ บางครั้งมีการมอบหมายให้นักเรียนไปศึกษาเนื้อหาโดยดูคลิปมาล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวในการเรียนหรือดูคลิปภายหลังจบบทเรียน เพื่อเป็นการทบทวนเนื้อหาที่เพิ่งเรียนไป
ทั้งครูปัท ครูแก่น และครูไหม ให้ความคิดเห็นตรงกันเกี่ยวกับข้อดีของการใช้คลิปประกอบการสอนว่า ช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงกิจกรรมได้ง่าย สังเกตผลการทำกิจกรรมได้อย่างชัดเจน และสามารถทบทวนได้หลายรอบเท่าที่ต้องการ ซึ่งถือว่าคลิปเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับครูในการแก้ปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามการใช้คลิปไม่สามารถทดแทนสิ่งจำเป็นในการเรียนวิทยาศาสตร์นั่นคือ การเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้โดยต้องให้นักเรียนได้มีโอกาสคิดและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ทักษะส่วนนี้อาจจะขาดหายไปถ้าครูให้นักเรียนมีโอกาสแค่ฟังการบรรยายหรือดูผลการทำกิจกรรมจากในคลิปออนไลน์เท่านั้น ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัด เช่น การไม่สามารถหาอุปกรณ์มาให้นักเรียนใช้ทำกิจกรรมได้ ครูต้องเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับนักเรียน โดยอาจใช้สถานการณ์ในคลิปออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ตั้งคำถามเพิ่มเติมให้นักเรียนคิด และอาจหาแบบฝึกหัด โจทย์ หรือสถานการณ์ที่ท้าทายมาให้นักเรียนใช้ความรู้และทักษะในการแก้ปัญหาเพิ่มเติม
แม้วิกฤติจากโควิด-19 จะหนักหน่วง และเรายังอาจต้องเผชิญต่อไป แต่ผลพลอยได้จากการปรับตัวจากสถานการณ์นี้ทำให้เราได้เห็นแนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนการสอน เช่น การจัดการเรียนรู้โดยใช้คลิปออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีความยืดหยุ่นที่ผู้สอนสามารถเลือกไปประกอบการสอนของตนเอง ตลอดจนผู้เรียนก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตามความต้องการ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เลวร้ายเสมอไปหากเรามองในมุมบวก สถานการณ์โควิด-19 เป็นจุดกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาโดยเปิดโลกทัศน์ให้เราพัฒนาการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
"ครูต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ถ้าเกิดปัญหาเราต้องคิดว่าจะหาอะไรมาทดแทนให้นักเรียนได้บ้าง ให้เปิดใจ การเรียนออนไลน์ก็สนุกไปอีกแบบ มีเกมและแอปพลิเคชันอีกเยอะที่เด็กสนใจ สามารถนำมาใช้ได้" ครูรัตนากร สังข์ขรณ์ (ครูปัท) ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านศาลาลัย
"เอาใจนักเรียนมาใส่ใจเรา ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเด็กเราจะชอบแบบไหน เขาจะเรียนเข้าใจหรือไม่ อย่ายึดตัวเราเป็นที่ตั้ง ถ้าเราสอนให้สนุก ดึงดูด เด็กเขาก็จะสนใจเรียนเอง" ครูธัชวุฒิ กงประโคน (ครูแก่น) ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ
"ครูในยุคปัจจุบันต้องปรับตัวให้ทันสมัย การเรียนออนไลน์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด แต่เป็นสิ่งที่นักเรียนใช้กันอยู่แล้ว เด็กสมัยนี้เขาอยู่กับเทคโนโลยี ครูทุกคนทำได้เพียงแต่ต้องเปิดใจและหาวิธีการทำให้การสอนของเราสนุกและน่าสนใจ" ครูภาธินี รัตนนิลอมร (ครูไหม) ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาล 1 (ทุ่งฟ้าบดราษฎร์บำรุง)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 50 ฉบับที่ 235 มีนาคม - เมษายน 2565
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Amiti, F. (2020). Synchronous and asynchronous e-learning. European Journal of Open Education and E-learning Studies. 5(2): 250-256.
Carswell, A.D. (2001). Facilitating student learning in an asynchronous learning network. Dissertation Abstracts International. 62(03): 1110.
Carwile, J. (2007). A constructivist approach to online teaching and learning. Inquiry, 12(1), Spring 2007, 68-73. Retrieved February 8, 2022,from https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ833907.pdf.
Gold, S. (2001). A constructivist approach to online training for online teachers in Journal of Asynchronous Learning Networks. 5(1). Retrieved February 8, 2022,from http://www.aln.org/publications/jaln/v5n1/pdf/v5n1_gold.pdf.
Julie, C. (2007). A constructivist approach to online teaching and learning. Inquiry, 12(1), Spring 2007, 68-73. Retrieved February 8, 2022,from https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ833907.pdf.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)