แชทบอทการศึกษา ตัวช่วยในการเรียนรู้
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมีความก้าวหน้าอย่างมาก การสืบค้น การตอบคำถามผ่านเว็บไซต์หรือโปรแกรมประยุกต์ ในสมาร์ตโฟนรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย บางครั้งในเวลาที่เราสั่งสินค้าออนไลน์หรือพูดคุยกับร้านค้าผ่านช่องทางการแชททาง Line หรือทาง Facebook Messenger จริงๆ แล้วอาจจะเป็นบอทที่กำลังพูดคุยกับเราอยู่ก็ได้ โดย ChatBot นั้นเข้ามามีบทบาทอย่างมากในธุรกิจออนไลน์ เพื่อช่วยให้เราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งกับผู้ประกอบการและลูกค้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นและช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจง
สำหรับด้านการศึกษานั้น Fryer และ Carpenter ได้ทำการทดลอง โดยขอให้นักเรียน 211 คน สนทนากับบอทของ ALICE และ Jabberwocky ผลตอบรับคือ นักเรียนสนุกกับการใช้แชทบอท รู้สึกสบายใจและผ่อนคลายมากขึ้นในการสนทนากับบอทมากกว่าเพื่อนของนักเรียนเองหรือครู ในประเทศไทยมีวิทยานิพนธ์หลายเรื่องที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับการนำแชทบอทมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน เช่น พิชญะ พรมลา และสรเดช ครุฑจ้อน ได้ศึกษาผลการใช้แชทบอทช่วยในการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสถานศึกษาสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความจำขณะปฏิบัติงานของผู้เรียน กลุ่มที่ใช้แชทบอทช่วยในการจัดการเรียนรู้เรื่องสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสูงกว่าผู้เรียนกลุ่มที่ไม่ใช้แชทบอทในการเรียนเรื่องเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
แชทบอท (Chatbot) เป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักพัฒนาโปรแกรมที่ออกแบบตามความต้องการของหน่วยงาน เพื่อจำลองบทสนทนาของมนุษย์ให้สามารถพูดคุยหรือสื่อสารได้เหมือนกับมนุษย์ผ่านทางเสียง หรือข้อความแบบทันทีทันใด สามารถตอบคำถาม ให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือ ให้ความบันเทิงโดยมีเทคโนโลยี AI เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ที่มา: https://mindphp.com/บทความ/240-ai-machine-learning/5766-chat-bot.html
Chatbot ด้านการศึกษาหรือแชทบอทเพื่อการศึกษา เป็นวิธีการพลิกโฉมการเรียนรู้ของนักเรียนที่ทางโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญ เพราะแชทบอทเป็นเทคในโลยีที่สามารถโต้ตอบกับนักเรียน สามารถสำรวจความต้องการของนักเรียนและนำข้อมูลต่างๆ ของนักเรียนมาจัดการได้ง่ายขึ้น การใช้เทคโลยีนี้เพิ่มในชีวิตประจำวันของนักเรียน จะช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนของนักเรียนทั้งวิธีการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ แชทบอทจะช่วยให้นักการศึกษาหรือครูสร้างสภาพแวดล้อม การเรียนรู้ส่วนบุคคลให้กับนักเรียนได้ และครูจะทราบได้ว่านักเรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาในการเรียนหรือไม่ การใช้งานแชทบอทในการศึกษาจะเป็นกระแสหลักในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า วิธีการที่จะนำแชทบอทและ AI มามีส่วนในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ส่วนบุคคลให้กับนักเรียนมีอะไรบ้าง
1. การสอนเสริม แชทบอทสามารถสร้างระบบสอนเสริมอัจฉริยะได้ โดยนักเรียนสามารถเข้ามาทำแบบฝึกหัดในเรื่องที่ไม่เข้าใจและเสริมเพิ่มเติมในเรื่องที่มีความรู้อยู่แล้วได้ตามความต้องการรายบุคคล และยัง สามารถวิเคราะห์ระดับความเข้าใจของนักเรียนได้ว่าเนื้อหาใดอ่อนและสามารถทำแบบฝึกหัดซ้ำ ๆ ของเนื้อหานั้นได้อย่างไม่จำกัดจนกว่าจะผ่านการประเมินหรือจนกว่าจะพอใจ
2. การสร้างห้องเรียนเสมือนและเพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียน เพราะสมัยนี้นักเรียนคุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีเป็นอย่างดี และสามารถใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อสื่อสารกับผู้อื่น ค้นคว้าข้อมูล และค้นหาความช่วยเหลือที่ดีสุดในงานที่ได้รับมอบหมาย โดยแชทบอทสามารถสร้างห้องเรียนเสมือนที่นักเรียนสามารถเชื่อมต่อกับชั้นเรียนและครู การสนทนา การสอน การสอบ การทำแบบฝึดหัด รับงาน ได้ในที่เดียว
3. แหล่งเรียนรู้และผู้ช่วยสอนที่มีประสิทธิภาพ ครูยุคใหม่ต้องการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการปรับปรุงการเรียนการสอน หากใช้แชทบอทช่วยครูในการจัดการเรื่องที่สามารถทำอัตโนมัติได้ เช่น บอทสามารถตอบคำถามพื้นฐานของนักเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน งานที่ได้รับมอบหมาย หรือวันครบกำหนดส่งงาน ในขณะที่ครูจะคอยตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนทั้งเป็นรายบุคคลและ เป็นรายห้องเรียน
4. การช่วยเหลือนักเรียนทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนบุคคล เพราะเทคโนโลยีช่วยให้นักเรียนเข้าถึงทุกอย่างได้ทันที นักเรียนสามารถบอกความต้องการ และสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนก็สามารถให้ความ ช่วยเหลือหรือตอบสนองได้ทันที ดังนั้น โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา จำเป็นต้องติดตามและมีกระบวนการสื่อสารกับนักเรียนที่ดึงดูดความสนใจของเด็กได้อย่างรวดเร็ว
5. การประเมินผลโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาสามารถใช้แชทบอทช่วยในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น แบบทดสอบ แบบฝึกหัด งานที่ได้รับมอบหมาย สื่อการเรียนรู้ รวมถึงข้อมูลการเรียนรู้ต่างๆ เป็นรายบุคคล นักเรียนสามารถใช้แชทบอทเพื่อเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องทั้งการประเมินระหว่างเรียนและประเมินหลังเรียน และครูสามารถตรวจสอบผลการประเมินและการซ่อมเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้ตลอดการศึกษา
ตัวอย่างแชทบอทที่ สสวท. พัฒนาขึ้นมีทั้งวิชาที่พัฒนาเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้งานและวิชาที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานเป็นสิ่งที่ครูสามารถนำไปใช้ช่วยในการจัดการเรียนการสอนได้ แม้ว่าระบบต่างๆ ยังไม่ครบสมบูรณ์ แต่ก็สามารถพัฒนาต่อในภายหลังจนเป็นแชทบอทที่มีความสามารถครบตามที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ ในวิชาเคมีได้พัฒนาแชทบอทในไลน์แอปพลิเคขันที่ชื่อ ChemBotIPST (เคมบอทไอพีเอสที) ครูและนักเรียนสามารถเพิ่มเป็นเพื่อนและเข้าไปลงทะเบียนและใช้บอทนี้ในการช่วยการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนได้ รายละเอียดบทเรียนจะสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) มีการเลือกเนื้อหาบทเรียนที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียน มีลำดับการเรียนรู้ มีแบบฝึกหัดของแต่ละบทเรียน ซึ่งเมื่อตอบผิดจะมีคำอธิบายเพิ่มเติม นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้
ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาได้พัฒนาแชทบอทในไลน์แอปพลิเคชันที่ชื่อ Mathmeow (แมทเมี้ยว) ครูและนักเรียนสามารถเพิ่มเป็นเพื่อนและเข้าไปลงทะเบียนและใช้บอทนี้ในการช่วยการจัดการ เรียนรู้ของนักเรียนได้ ซึ่งใน Mathmeow จะให้แยกลงทะเบียนระหว่างครูกับนักเรียนเพราะจะมีระบบการติดตามผลการเรียนที่ครูสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของนักเรียนแต่ละคนได้ เนื้อหาและบทเรียนจะสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นแบบฝึกหัดของแต่ละบทเรียน เมื่อตอบผิดจะมีคำอธิบายเพิ่มเติม และหากไม่เข้าใจบทเรียนใด นักเรียนสามารถทำแบบฝึกหัดซ้ำหรือไปเรียนรู้จากคลิปหรือจากคู่มือครู แล้วสามารถกลับมาทำแบบฝึกหัดเรื่องนั้นซ้ำได้ด้วยตนเอง นักเรียนจะได้รับรู้ถึงคะแนนและความสามารถของตนเองและพัฒนาการในการทำแบบฝึกหัดแต่ละครั้ง นอกจากนี้ ครูยังสามารถเข้าไปตรวจสอบและดูคะแนนของนักเรียนในห้องเรียนที่ลงทะเบียนเข้ามาเรียนได้ด้วย ซึ่งเป็นผู้ช่วยที่ดีสำหรับครู
สำหรับวิชาอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานพัฒนา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา วิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีการศึกษาหน้าคงจะได้ใช้ในเวอร์ชั่นทดลอง หากมีความก้าวหน้า ในระบบแชทบอทและหากเปิดโอกาสให้ครูสามารถสร้างแชทบอท เพื่อการเรียนรู้เองได้จะมาบอกกล่าวกันต่อไปหรือหากมีข้อสงสัยหรือสนใจเกี่ยวกับแชทบอทสามารถติดต่อ นวลจันทร์ ฤทธิ์ขำ ได้ทางอีเมล
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 241 มีนาคม – เมษายน 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/241/30/
บรรณานุกรม
มาโนชญ์ แสงศิริ. (2562, 22 กันยายน). การประยุกต์ใช้งาน Chatbot. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.scimath.org/article-technology/item/10452-chatbot.
AdminP. (2565, 7 มีนาคม). แอปพลิเคชั่น Chatbot ในการศึกษา พวกเขาสามารถสอนเรา?. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.ko.in.th/chatbot/.
-
18301 แชทบอทการศึกษา ตัวช่วยในการเรียนรู้ /article-mathematics/item/18301-07-01-2025เพิ่มในรายการโปรด