Digital Creativity กับการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา
ในด้านการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Creativity ในบ้านเราแม้จะมีผู้ที่มีฝีมือและมีผลงานสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมติดระดับโลก เช่น บริษัท อิลลูชั่น จำกัด ที่สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ยอมรับจนได้รางวัลยอดเยี่ยมของโลก 2 ปีซ้อน แต่ก็เป็นผลงานความสำเร็จในส่วนของผู้สร้างสรรค์กลุ่มหนึ่งเท่านั้นแต่สำหรับนักออกแบบโดยทั่วไป ยังมีอีกมากมายนักที่ยังมีปัญหาในการทำงาน แม้จะมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ขาดความคิดในเรื่องกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ การคิดที่ส่งผลในการรับรู้ในวงกว้าง และที่สำคัญคือความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค ที่ไม่เข้าใจในการใช้เครื่องมือทำงาน ไม่สามารถประยุกต์การนำเครื่องมือไปใช้งานอย่างแท้จริง ไม่เห็นความสำคัญของการใช้งานเครื่องมือเพราะมองแต่ในมุมของการออกแบบเท่านั้น
ความเข้าใจเรื่องการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่มีเนื้อหาด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านกราฟิก ในบ้านเราถูกเข้าใจในเรื่องการสนับสนุนให้ผู้เรียน มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือเป็นประเด็นหลัก เช่น การเรียนโปรแกรม Photoshop ต้องคิดว่าเมื่อเรียนเสร็จแล้วจะสามารถตกแต่งภาพได้ตามใจนึกโดยไม่เคยคิดถึงความเป็นจริง ที่ผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถที่ไม่เหมือนกัน บางคนมีทักษะในการควบคุมมือจึงเรียนรู้การใช้เครื่องมือได้เร็ว แต่บางคนฝึกเท่าไรก็ไม่สามารถวาดเส้นโค้งได้แต่เขาอาจมีความคิดที่ดี มีแนวทางที่น่าสนใจ มีการเข้าใจในการแก้ปัญหางานที่พิมพ์ไม่ได้ ดังนั้นการวัดผลจึงไม่ได้วัดที่ผลงานในมิติเดียว เพราะผู้เรียนแต่ละคนเมื่อจบไปทำงานอาจไม่ใช่ทำหน้าที่เป็น Designer ทุกคน ซึ่งในงานแขนงใดแขนงหนึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ตำแหน่งเดียว แต่ทุกคนต้องทำงานเป็นทีม ดังนั้นการที่จะทำการสอนและการวัดผลในวิชาเหล่านี้ จึงไม่สามารถวัดที่ชิ้นงานที่ปรากฎในขั้นตอนสุดท้ายเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องมีกระบวนการที่สามารถตรวจสอบแนวความคิดก่อนจะสำเร็จเป็นชิ้นงานได้ด้วย
เราจะปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไร
ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนในบ้านเราส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริหาร ไม่มีความเข้าใจในศาสตร์เฉพาะด้าน แต่มักเอาความคิดของตัวเองทำเป็นนโยบาย แล้วให้ระดับปฏิบัติงานนำไปดำเนินงาน ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับกระบวนการผลิตและกระบวนการคิดเพื่อบรรลุเป้าหมายในหลักสูตรนั้น ๆ หรือบางครั้งก็วัดผลสำเร็จที่การใช้งานอุปกรณ์ชั้นสูง แต่ไม่ใสใจเรื่องความพร้อมของผู้สอนและซอฟต์แวร์ที่จะนำไปใช้ ทำให้ผลที่ได้รับไม่สามารถสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ของวิชานั้น ๆ
คราวนี้เรามาดูแนวทางและวิธีการที่สามารถนำไปปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนของเราให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริง โดยที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนรู้มีความเข้าใจในกระบวนการและสามารถนำเอาไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการเรียนรู้ในวิธีการใช้เครื่องมือแต่ไม่รู้ว่าจะใช้เครื่องมือเมื่อไร หรือไม่รู้จักวิธีการประยุกต์เครื่องมือเอาไปใช้ในงาน ซึ่งโดยปกติแล้วการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือของ Adobe มีหลักสูตรให้กับผู้สอน และสถาบันการศึกษาสามารถเข้าไปดาวน์โหลด หรือสมัครเข้าไปใช้หลักสูตรได้ที่ ADOBE EDUCATION EXCHANGEโดยไปที่เว็บไซต์ https://edex.adobe.com สามารถนำหลักสูตรและตัวอย่างโครงงานที่จะให้ผู้เรียนปฏิบัติไปใช้ได้เลย
หลักสูตรที่ Adobe ได้ทำขึ้นมานี้ เป็นหลักสูตรที่ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็น และให้ข้อเสนอแนะกับทีมงานการศึกษาของ Adobe ที่สำนักงานใหญ่ของ Adobe ที่เมืองซานโฮเซ่ เกือบ 10 ปีมาแล้ว เพื่อวางแนวทางการสอนในระดับ K-5 ถึง K-12 ซึ่งปัจจุบัน Adobe ยังยึดแกนเดิมของหลักสูตรนั่นคือเป้าหมาย และกระบวนการเดิมไว้ ส่วนรายละเอียดได้ถูกปรับไปตามพัฒนาการของซอฟต์แวร์ที่มีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนั้นผู้เขียนได้นำมาประยุกต์ในการสอนระดับอุดมศึกษาบ้านเราทั้ง ๆ ที่เป็นหลักสูตรระดับมัธยมปลายเท่านั้น แต่เนื่องจากบ้านเรานักศึกษาส่วนใหญ่จะมาจากสายสามัญ จึงไม่ได้รับการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้มาก่อน เมื่อสอบเข้าในระดับอุดมศึกษาจึงมาเริ่มต้นใหม่ทำให้การเรียนในระดับอุดมศึกษาในบ้านเรากลายเป็นการมาเริ่มต้นใช้งานคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ แทนที่จะเรียนเรื่องความคิดสร้างสรรค์และนำเครื่องมือมาประยุกต์ใช้ได้ทันที ก็ต้องมาเรียนพื้นฐานทำให้ส่งผลไปถึงการคิดงานการสร้างงานที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะยังไม่เชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือ
ผู้เขียนได้รับโอกาสดีในปี พ.ศ. 2557 โดยได้ไปสอนที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จึงได้นำเอาหลักสูตรที่ทำไว้สำหรับระดับ K-9 (ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น) ไปใช้สอนอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากหลักสูตรของ Adobe ต้องสอน 72 ชั่วโมง แต่ผู้เขียนได้สอนจริง ๆ สัปดาห์ละ 2 คาบเท่านั้น (ประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาตามหลักสูตรของ Adobe) ผู้เขียนจึงหยิบเอาเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Digital Imaging ไปสอนตามที่หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมา แล้วผู้เขียนได้พบว่า หลักสูตรที่ทางโรงเรียนได้นำมาสอนนั้นมีหนังสือคู่มือการเรียนที่ไม่สอดคล้องกับความรู้พื้นฐานของนักเรียนหนังสือเรียนประกอบมีเนื้อหาเพ้อฝันมากเกินไป ไม่อยู่บนพื้นฐานของการให้นักเรียนได้เข้าใจในเรื่อง Digital Imaging แต่กลับเอาวิธีการเฉพาะแบบมืออาชีพมาสอน ซึ่งความล้มเหลวของการเรียนการสอนแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตรไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ไม่เชี่ยวชาญงานศิลปะได้ทำการปรับตัวเลย แต่เป็นการยัดเยียดเนื้อหาที่ควรจะนำไปสอนในระดับวิชาชีพมาให้นักเรียนที่อนาคตอาจจะเป็นนักบัญชีแพทย์ นักกฎหมาย ก็ได้ ทำให้การเรียนการสอนไม่สนุก เด็กไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิด เพราะคิดว่าตัวเองไม่ถนัด โดยเฉพาะการเรียนที่ไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนฝีมือ ได้เรียนในห้องเรียนเพียงแค่สัปดาห์ละ 2 คาบ เมื่อกลับบ้านก็ไม่รู้จะฝึกมือที่ไหนไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีซอฟต์แวร์ แล้วอย่างนี้จะให้เด็กที่เรียนสามารถทำงานตามตำราที่กำหนดให้ได้อย่างไร
เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปสอน ได้สัมผัสถึงปัญหาจากเนื้อหาในหลักสูตร และคู่มือการเรียนโดยเฉพาะเรื่องการสอนการใช้งานโปรแกรม Photoshop ซึ่งผู้เขียนเองในฐานะผู้ทดสอบโปรแกรม Adobe และใกล้ชิดกับทีมงาน นอกจากนี้ยังรับรู้ถึงแนวคิดในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้ทราบว่า หนังสือประกอบการเรียนในวิชานี้ที่นำมาให้นักเรียนได้เรียนรู้นั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สภาพความพร้อมของนักเรียน เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้ให้ความรู้พื้นฐานของเรื่อง Digital Image อย่างแท้จริงแต่กลับไปให้ความสำคัญในด้านศิลปะ และเน้นในเรื่องเทคนิคการใช้เครื่องมือมากกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริง การเรียน Digital Imaging ในระดับนี้นักเรียนไม่ใช่เป็นนักเรียนในสายอาชีพคือยังไม่รู้เลยว่านักเรียนจะเป็นนักออกแบบ ช่างภาพ หรือแพทย์ นักกฎหมายในอนาคต ดังนั้นในการเรียนการสอนอาจไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรม Photoshop เพียงอย่างเดียว เพราะมีหลายปัจจัยที่ไม่เอื้อให้กับการเรียนการสอนอย่างแท้จริงทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคคลากร โรงเรียนไม่มีงบประมาณพอที่จะซื้อซอฟต์แวร์ใช้ในห้องปฏิบัติการ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของซอฟต์แวร์ได้ทัน ดังนั้นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในด้านการเรียนการสอนคือจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนเข้าใจเรื่อง Digital Imagingในระดับพื้นฐาน สามารถฝึกฝนได้ด้วยตัวเอง และสามารถนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง โดยที่เราต้องบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนได้ด้วย
แนวทางพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอน และเป็นประโยชน์สำหรับเด็กนักเรียน จนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือนำไปต่อยอดในการเลือกเรียนสายอาชีพในวันข้างหน้าได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเริ่มจากให้นักเรียนเข้าใจในกระบวนการทั้งหมดก่อนสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเริ่มต้นจาก "ศัพท์เฉพาะทาง (Terminology)" ที่จำเป็นในการนำไปสู่วิธีการ และทักษะในการใช้งานในเรื่อง Digital Imaging
สำหรับวิธีการสอนที่ได้นำไปใช้ในห้องเรียนนั้น ก่อนอื่นผู้สอนต้องสำรวจความรู้พื้นฐานของผู้เรียน ด้วยการพูดคุยและทดสอบฝีมือทางด้านศิลปะ ด้วยวิธีง่ายคือให้เขาวาดรูปลงบนกระดาษที่เกี่ยวกับตัวเอง จะใส่ความคิดแบบไหน จะวาดอย่างไรให้เขาคิดโดยอิสระ เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ต้องเป็นภาพที่บอกเล่าตัวตนของตนเองได้มากที่สุด หลังจากนั้นก็เก็บงานมาพิจารณา เราจะทราบถึงแนวคิดของผู้เรียน และทักษะเบื้องต้นว่านักเรียนคนไหน มีแนวโน้มในการทำงานและสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนคนไหนที่ไม่ชอบงานประเภทนี้หรือไม่มีความถนัด เราก็จะสามารถคัดกรองได้ระดับหนึ่ง ทำให้ง่ายในการสอนในขั้นตอนต่อไป
เนื่องจากเวลาในการเรียนการสอนมีไม่มากเท่าที่จะต้องให้นักเรียนใช้งานโปรแกรม Photoshop เพราะก่อนที่จะเรียนเรื่อง Photoshop ได้ นักเรียนต้องเรียนรู้ในรูปแบบวิทยาศาสตร์เสียก่อน นั่นคือ เรียนเรื่อง Color Mode, Resolution และ File Format แต่หลายคนมักเข้าใจว่าต้องไปเน้นเรื่องการตกแต่งการใช้เครื่องมือ ซึ่งความจริงแล้ว ความรู้พื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้ก่อนใช้เครื่องมือ
ผู้เขียนได้ทำการประยุกต์การใช้เครื่องมือที่สอดคล้องกับคำสั่งตกแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop ด้วยการให้นักเรียนใช้งานโปรแกรมตกแต่งภาพที่อยู่ใกล้ตัวและใช้เกือบทุกวัน คือโปรแกรมตกแต่งภาพในโทรศัพท์มือถือ ในอุปกรณ์ที่นักเรียนใช้หรือในโปรแกรมที่เป็นโซเชียลมีเดีย อย่าง Instagram ที่โปรแกรมเหล่านี้ ล้วนมีคำสั่งที่เป็นพื้นฐานของโปรแกรม Photo Editing ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำสั่ง Brightness, Contrast และอื่น ๆ ซึ่งคำสั่งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานที่ผู้ใช้โปรแกรมตกแต่งภาพต้องรู้ ดังนั้น ผู้สอนจึงสามารถสอนการใช้งานจากคำสั่งเหล่านี้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าจะต้องใช้อย่างไร เมื่อไร และใช้แล้วได้ผลอย่างไร สุดท้ายของการเรียนการสอนในวิชานี้ ต้องสอนเรื่องรูปแบบไฟล์ ขนาดไฟล์ที่เหมาะสมในการใช้งานในแต่ละสื่อ โดยการยกตัวอย่างจากการใช้ภาพกับโซเชียลมีเดีย ที่หลายคนใช้งานโดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริงใช้แบบลองผิดลองถูก ซึ่งอย่างน้อยเราก็จะบรรลุเป้าหมายในเรื่องให้นักเรียนเข้าใจเครื่องมือที่ใช้งานเพื่อนำไปใช้ได้จริงมากกว่าการทำหลักสูตรที่เพ้อฝัน และยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในช่วงเวลานี้
บทสรุป
ในการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Creativity และ Technology นั้น ต้องพยายามให้นักเรียนใช้ความคิดที่เป็นระบบ รู้จักการแก้ปัญหา แต่ไม่ต้องเน้นเครื่องมือมากนัก เพราะเครื่องมือต่าง ๆ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพตลอดมีการปรับเปลี่ยนเวอร์ชั่นและวิธีการทำตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แต่แนวคิดในการประยุกต์การใช้เครื่องมือ ว่าจะใช้เมื่อไหร่เวลาไหน จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์งานได้มากกว่าการเรียนรู้เทคนิคแบU Step by Step ที่กำลังจะหมดยุคสำหรับการเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ในไม่ช้านี้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
-
12608 Digital Creativity กับการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา /article-technology/item/12608-2022-07-25-08-20-30-12เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง