เทคโนโลยี E-learning กับความเป็นไปได้ของคุณครูที่เป็น AI
E-learning (อีเลิร์นนิง) มาจากคำว่า electronic learning ซึ่งแปลตรงตัวเลยก็คือ การเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ขยายความได้ว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานศึกษาด้วยตนเอง แต่สามารถเรียนได้ตามสะดวก ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ โดยจะเรียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือ Gadget อื่นๆ รวมทั้งสมาร์ตโฟนด้วย ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ต้องเชื่อมต่อด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึง platform ทางการศึกษาที่เป็นโรงเรียนเสมือน มีบทเรียน ครู และการบ้านให้ได้ทำหรือมีปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบกันได้ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว หรือ Education Platform เช่น แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนอย่าง Udemy Google Classroom เป็นต้น
ภาพที่ 1 E-Learning
ที่มา pixabay.com/geralt
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai คืออะไร
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai ย่อยมาจาก “Artificial Intelligence” โดยที่การเรียนรู้ของ AI ถูกตั้งค่าไว้โดยระบบทางคอมพิวเตอร์เทคนิค ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้เหมือนมนุษย์ เช่น คิดเลข อ่านบาร์โค้ด แปลงข้อมูลจากรูปถ่าย เป็นต้น
กล่าวได้ว่า AI สามารถรับข้อมูลการใช้งานหรือข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้งานทั้งหมด แล้วนำมาประมวลผลด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งระบบเอาไว้แล้ว หลังจากนั้นก็จัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้เป็น Big Data (ชุดข้อมูลของผู้ใช้งานจำนวนมาก) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆได้ต่อไป
ซึ่งส่วนมากแล้ว AI จะเข้ามามีบทบาทในด้านการแทนที่ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องใช้แรงงานทำกิจกรรมบางอย่างในระบบอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีลักษณะแบบที่ต้องทำรูปแบบเดิมซ้ำๆ และต้องการความแม่นยำสูง เช่น เซนเซอร์การตรวจจับโลหะตอนที่เราเข้าไปในห้างหรือสนามบิน, การใช้แผนที่จาก Google Map, การจองและออกตั๋วหนังแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่การประมวลผลของโปรแกรมการสร้างแบบจำลองสามมิติ ก็ใช้เทคโนโลยี AI เช่นกัน
แนวคิดของการสร้างปัญญาประดิษฐ์ของ AI คือเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบให้มีระบบทำงานเหมือนกับการทำงานของสมองมนุษย์ โดยทำให้การรับข้อมูล (in put) และการตอบสนอง (out put) ของ AI สามารถตอบโต้กับผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์ได้โดยตรง ปัจจุบันก็มีองค์กรที่ให้บริการด้านนี้ เช่น Google, Apple หรือ Alibaba เป็นต้น ที่กำลังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ผู้ใช้ได้รู้สึกเหมือนตอบโต้กับมนุษย์ด้วยกันหรือใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด เช่น SIRI เป็นต้น โดยสมองของ AI นั้นก็คือโครงข่ายประสาทเทียม Neural Networks หรือ Intel สัญลักษณ์ Intel ที่เห็นบ่อยๆบนเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง
ภาพที่ 2 การค้นคว้าด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ที่มา pixabay.com/coyot
แนวโน้มการนำปัญญาประดิษฐ์มาปรับใช้จะไปในแนวทางเดียวกันคือการเรียนรู้เพื่อเก็บข้อมูลมาประยุกต์ใช้ และเพื่อช่วยสร้างประสบการณ์การศึกษาแห่งอนาคต
AI สามารถทำงานแทนคุณครูในหลายๆเรื่อง เช่น งานเอกสาร หรือการออกคำสั่งให้การบ้านนักเรียนตลอดจนการตรวจการบ้านด้วย หรือในอีกกรณีหนึ่ง ระบบ AI อาจสามารถออกข้อสอบได้โดยการป้อนชุดข้อมูลข้อสอบที่เคยใช้มาย้อนหลังไป 10 ปี แล้วนำมาทำการประมวลผล จัดลำดับความยากง่ายของข้อสอบ แล้วส่งไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ของนักเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และเมื่อนักเรียนส่งข้อสอบ ระบบก็อาจจะสามารถประมวลผลแบบอัตโนมัติได้ในทันที และยังสามารถรู้คะแนนข้อสอบของนักเรียนทั้งห้องได้ภายในไม่กี่วินาที กิจกรรมทุกอย่างสามารถเป็นไปได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ผ่านครูที่เป็นมนุษย์เลย หรือคุณครูอาจจะเป็นผู้ควบคุมระบบของ AI อีกทีก็เป็นไปได้เหมือนกัน
ในด้านงานเอกสารที่คุณครูต้องรับผิดชอบเช่น การหาค่ามาตรฐานและประมวลผลเพื่อนำคะแนนของเด็กนักเรียนมาหาเกรดเฉลี่ย ก็สามารถแทนที่ด้วย AI ได้เช่นกันในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มว่า AI จะสามารถคำนวณได้แม่นยำและรวดเร็วกว่าคุณครูที่เป็นมนุษย์อีกด้วย
ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดก็ได้จัดทำองค์ความรู้เพื่อการศึกษาในรูปแบบของ E-book หรือเรียกอีกอย่างว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ให้ผู้สนใจทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงและศึกษาได้โดยไม่ต้องเดินทางไปพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดที่มีข้อมูลหรือหนังสือเล่มเลย
นอกจากนี้หากมองในแง่ของการออกแบบตามบุคลิกลักษณะหรือความชอบส่วนบุคคล AI ก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถปรับหลักสูตรให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนรายบุคคลได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการจดจำข้อมูลการ Search และ การ Download สาระความรู้และ E-book ต่างๆไว้ แล้วรวบรวมเพื่อประมวลผลในการ “เสนอบทเรียนต่อไป” ให้กับนักเรียนคนนั้นได้เลย
สำหรับการทำงานผสมผสานกันระหว่าง AI และคุณครูที่เป็นมนุษย์ก็จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน นั่นก็เพราะว่า การให้ข้อเสนอแนะ ให้ความรู้ การย่อยชุดข้อมูลให้เข้าใจได้ง่าย และการปรับใช้ตามหลักของจิตวิทยาจากคุณครูที่เป็นมนุษย์ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ยังมีคนที่ไม่รู้ว่า “ต้องการจะเรียนอะไร” หรือ “ยังไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัดในการศึกษาเล่าเรียน” ทั้งสองกรณีที่กล่าวไปข้างต้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของเด็กนักเรียน และมนุษย์ก็ยังต้องการความเข้าอกเข้าใจ การโน้มน้าวจูงใจ ตลอดจนกำลังใจที่คุณครูมีให้นักเรียน
ดังนั้นสิ่งที่ AI ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่คุณครูได้นั้น ก็คือการตอบสนอง (Out-put) ทางด้านการรับรู้อารมณ์และความรู้สึก ที่มีแต่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้นที่จะรับรู้ได้ ผ่านน้ำเสียง แววตา และอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ AIเพื่อการศึกษา ก็มีแนวโน้มว่าจะช่วยสนับสนุนคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวดในอนาคตอันใกล้นี้
แหล่งที่มา
Plook Teacher. (08 ตุลาคม 2562). AI กับการส่งเสริมการศึกษา. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2563 .จากhttp://www.trueplookpanya.com/blog/content/75968u
orathai education. พื้นฐานวิชาชีพครู, บทบาทหน้าที่ของครู. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2563 .จากhttps://sites.google.com/site/orathaieducation/home/bthbath-hnathi-khxng-khru
suchaya Kesjamras. AI คืออะไร? ทำความเข้าใจ AI แบบง่าย ๆ. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2563. จาก www.beartai.com/article/tech-article/424875
อิสริยา เลาหตีรานนท์, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อีเลิร์นนิง. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2563 .จาก http://www.royin.go.th
OPEN-TEC. (2019, December 3).AI สมองกล พลิกโฉมการศึกษาโลกอนาคต. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2563 จาก https://www.open-tec.com/th/ai-สมองกล-พลิกโฉมการศึกษา/
-
11662 เทคโนโลยี E-learning กับความเป็นไปได้ของคุณครูที่เป็น AI /index.php/article-technology/item/11662-e-learning-aiเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง