การเล่นเชิงวิศวกรรม (Engineering Play) กับเด็กปฐมวัย
การเล่นเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในระดับปฐมวัย National Association for the Education of Young Children (NAEYC, 2020) ระบุว่า การเล่นเป็นแนวปฏิบัติในการจัดประสบการณ์ที่เอื้อต่อพัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสนุกสนานแล้ว การเล่นยังช่วยพัฒนาความคิด เชิงสัญลักษณ์ จินตนาการ ความสัมพันธ์ ภาษา ร่างกาย ทักษะการแก้ปัญหา การกำกับตนเอง ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ (สสวท., 2563) การเล่นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กทุกคนตั้งแต่วัยแรกเกิด การเล่นอย่างมีความหมายเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเนื่องจากในขณะที่เด็กเล่นเด็กจะเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2561)
การเล่นเชิงวิศวกรรมคืออะไร
การเล่นเชิงวิศวกรรม (Engineering Play) เป็นมุมมองหรือกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจการเล่นของเด็กในฐานะกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมเบื้องต้น (Early Engineering Design Process) ที่คล้ายคลึงกับวิธีคิดและการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของวิศวกร การเล่นเชิงวิศวกรรมจึงเป็นการเล่นที่เน้นการคิดและการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการก่อสร้างของเด็กปฐมวัย (Gold et al., 2021; Bairaktarova et al. 2011) โดยที่เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบซ้ำๆ เช่น ระบุปัญหา กำหนด เป้าหมาย สร้าง ทดสอบ แก้ไข และทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสำรวจเชิงสร้างสรรค์อย่างอิสระในการออกแบบ สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ โครงสร้าง ระบบต่างๆ ด้วยตนเอง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เน้นการเล่นเป็นฐานซึ่งเต็มไปด้วยโอกาสในการเรียนรู้วิศวกรรม (Gold et al., 2020; Lottero-Perdue, 2019; Bairaktarova et al., 2011) เช่น ใช้บล็อกหรือท่อนไม้ในการสร้างเครือข่ายถนน สร้างปราสาทหรือบ้านจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุเหลือใช้
การเล่นเชิงวิศวกรรมมีประโยชน์อย่างไร
การเล่นเชิงวิศวกรรมเปิดโอกาสให้เด็กได้ขยายความคิดเกี่ยวกับโลกรอบตัวของเด็กผ่านการสำรวจ สร้างสรรค์ และแก้ปัญหาด้วยสื่อวัสดุ ที่มีอยู่ เรียนรู้กี่ยวกับคุณสมบัติของวัสดุ น้ำหนัก ขนาด และรูปร่าง ความสมดุล โครงสร้าง และความแข็งแรง (Selly, 2017) ช่วยส่งเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์และมิติสัมพันธ์ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับการวางแผนและความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความคิดและการกระทำ เช่น การยับยั้งชั่งใจ การยึดหยุ่นทางความคิด (Gold et al., 2021; 2020) การเล่นเชิงวิศวกรรม ยังเป็นการฝึกจิตนิสัยทางวิศวกรรม (Engineering Habits of Mind) ของเด็ก เช่น การเรียนรู้วิธีทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์หรือ จินตนาการ รวมทั้งยังช่วยเปิดโอกาสในการพัฒนาภาษา และความสัมพันธ์แบบร่วมมือกันอีกด้วย
พฤติกรรมการเล่นเชิงวิศวกรรม
พฤติกรรมการเล่นเชิงวิศวกรรมเป็นการกระทำของเด็กที่สะท้อนการมีส่วนร่วมในการออกแบบเชิงวิศวกรรมซึ่งคล้ายคลึงกับการทำงานของวิศวกร พฤติกรรมที่บ่งชี้การคิดเชิงวิศวกรรมเบื้องต้น (Early Engineering Thinking) ผ่านการเล่นบล็อกปลายเปิดในเด็กวัย 3 - 5 ปี ซึ่งเด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบซ้ำๆ เช่น การตั้งคำถาม การกำหนดเป้าหมาย การแก้ปัญหา การก่อสร้าง (Construction) การทดสอบวิธีแก้ปัญหา การประเมินสิ่งที่สร้างขึ้น การอธิบายการทำงานของสิ่งต่างๆ และการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Bairaktarova et al., 2011; Bagiati & Evangelou, 2016)
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue มหาวิทยาลัย SUNY Oswego และมหาวิทยาลัย Concordia ของสหรัฐอเมริกา ยังได้ศึกษา สังเกต และบันทึกข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นเชิงวิศวกรรมของเด็กปฐมวัยในการเล่นบล็อกที่มีการใช้ภาษาและการกระทำที่มีความเฉพาะซึ่งสะท้อนถึงกระบวนการออกแบบที่เด็กๆ สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ร่วมกับเพื่อน และได้นำเสนอพฤติกรรมการเล่นเชิงวิศวกรรมของเด็กปฐมวัย ในการเล่นบล็อก 9 ประการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสังเกตการเล่นเชิงวิศวกรรมของเด็ก แสดงดังตาราง 1
ตาราง 1 พฤติกรรมการเล่นเชิงวิศวกรรมของเด็กปฐมวัย (Gold et al, 2017 as cited in Gold et al., 2021)หมายเหตุ ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือการสังเกตที่มีลิขสิทธิ์ซึ่งผู้เขียนได้รับอนุญาตในการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาจากผู้วิจัย
พฤติกรรมเหล่านี้ มักจะพบได้ในระหว่างการเล่นบล็อก อย่างไรก็ตาม การเล่นอิสระและการเล่นบล็อกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างโอกาสทางวิศวกรรมให้กับเด็ก (Selly, 2017) เนื่องจากเด็กทุกคนอาจไม่ได้มีส่วนร่วมทางวิศวกรรมเสมอไป ดังคำกล่าวที่ว่า “แม้การเล่นปลายเปิดหรือการเล่นอิสระนั้นจะมีบทบาทสำคัญ แต่การเล่นดังกล่าวไม่เพียงพอให้เด็กทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการเล่น ที่เอื้อต่อการเรียนรู้วิศวกรรมการออกแบบและการมีจิตนิสัยทางวิศวกรรม” (Lottero-Perdue, 2019)
ครูจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการเล่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นก่อสร้างกับสื่อปลายเปิดนอกจากบล็อก เช่น วัสดุ Loose Parts หรือชิ้นส่วนเคลื่อนย้ายได้ วัสดุธรรมชาติ การเล่นในศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centers) หรือมุมประสบการณ์ต่างๆ การเล่นในพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ (Making Space) การเล่นที่ใช้จินตนาการ (Imaginative Play) ซึ่งเด็กได้ออกแบบประสบการณ์การเล่นภายใต้ข้อจำกัดที่เด็กสร้างขึ้นซึ่งเด็กเป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์การเล่นตามบทบาทและใช้อุปกรณ์ประกอบฉากที่ตนเองเป็นผู้กำหนดหรือกำหนดร่วมกัน (Bodrova & Leong, 2017) เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิศวกรรมในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการผ่านการมีส่วนร่วมในการเล่นเชิงวิศวกรรมอย่างเต็มที่
แนวทางการเสริมต่อการเรียนรู้ในการเล่นเชิงวิศวกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย
ครูหรือผู้ใหญ่มีบทบาทสำคัญในการเป็นนั่งร้าน (Scaffold) หรือการเสริมต่อประสบการณ์และการเรียนรู้ทางวิศวกรรมเพื่อให้เด็กก้าวผ่านพื้นที่รอยต่อของพัฒนาการ (Zone of Proximal Development) ไปสู่ความสามารถในการทำสิ่งนั้นๆ และสิ่งที่คล้ายกันได้ด้วยตนเองตามแนวคิดของ Vygotsky (1978, as cited in Bodrova & Leong, 2018) โดยบทบาทของครูคือ เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการเล่นเชิงวิศวกรรมให้แก่เด็ก ทั้งแง่การจัดสภาพแวดล้อมและสื่อการเรียนรู้ การสร้างบรรยากาศ การสังเกตเด็ก การใช้คำถาม และการให้คำแนะนำเพื่อกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วม ในกระบวนการออกแบบวิศวกรรม รวมถึงการเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง หรือชีวิตประจำวันของเด็กเพื่อให้เด็กสนใจในบทบาทของวิศวกรรมและเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์ การช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม และสร้างเสริมจิตนิสัยทางวิศวกรรมของเด็ก (Lottero-Perdue, 2019; Bairaktarova et al., 2011) ซึ่งต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคลที่มีความชอบ ความสนใจ ความสามารถ และความถนัดที่แตกต่างกัน และความเหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2561, NAEYC, 2020) แนวทางการเสริมต่อการเรียนรู้ในการเล่นเชิงวิศวกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยครอบคลุมบทบาทของครูในการเตรียมการก่อนการเล่นเชิงวิศวกรรมและในระหว่างการเล่นวิศวกรรมของเด็กมีดังนี้ (Gold et al., 2020; Weigel et al., 2019; Selly, 2017)
ภาพจาก: freepik.com/freepik
ภาพจาก: freepik.com/freepik
1. การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมและสื่อที่เอื้อต่อการเล่นเชิงวิศวกรรม
สภาพแวดล้อมและสื่อถือเป็นกุญแจสำคัญในการเล่นเชิงวิศวกรรม ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจ สร้างสรรค์ และทดสอบความคิดของตนเอง และการเล่นหรือการทำงานร่วมกันกับเพื่อน อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางที่ช่วยสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ครูจึงควรจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื่อต่อการเล่นเชิงวิศวกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสสำรวจ ทดสอบ แก้ปัญหา และจัดเตรียมสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่หลากหลาย น่าสนใจ สร้าง แรงบันดาลใจให้กับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ สร้างสรรค์ ทดสอบความคิด และแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวกในการใช้งาน ความน่าสนใจ ความหลากหลาย ทั้งนี้ ควรมีการหมุนเวียน ปรับเปลี่ยน แนะนำสื่อใหม่ ๆ เป็นระยะ เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมและสื่อเหล่านั้นมีชีวิตชีวา
1.1การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเล่นเชิงวิศวกรรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centers) หรือมุมประสบการณ์ สำหรับเล่นเชิงวิศวกรรม เช่น ศูนย์บล็อกหรือศูนย์ก่อสร้างสำหรับให้เด็ก ได้สร้างบ้าน อาคาร ถนน เมือง หรือโครงสร้างต่างๆ ศูนย์ศิลปะสำหรับให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสำรวจรูปร่าง พื้นผิว พื้นที่ เล่นกับสี เส้น ลวดลาย สำรวจวิธีการสร้างโครงสร้างสามมิติโดยใช้วัสดุที่หลากหลาย ออกแบบ ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ศูนย์หนังสือสำหรับให้เด็กได้สำรวจโลกรอบตัว ที่มนุษย์สร้างขึ้นผ่านหนังสือภาพ นิทาน นิตยสาร หรือสื่ออื่นๆ
- พื้นที่เล่นก่อสร้างบริเวณกลางแจ้ง เช่น เล่นสร้างหรือออกแบบ ทางลาดชัน โดยอาจใช้กระดานหรือระแนงไม้เพื่อทดสอบวิธีการทำให้ ลูกบอล ลูกปิงปอง ลูกเทนนิส หรือวัตถุทรงกลมอื่นๆ เคลื่อนที่ลงบนทางลาด และตามเส้นทางต่างๆ
- พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ (Maker Space) สำหรับเล่น สำรวจ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยมีวัสดุปลายเปิดที่มีความหลากหลาย ทั้งวัสดุ ขนาด พื้นผิว รวมถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น วัสดุเหลือใช้ สี กาว กรรไกร ข้อต่อ เฟือง เชือก
ภาพจาก: junkyardrascals.com.au/JunkyardRascals
1.2 การจัดเตรียมสื่อที่เอื้อต่อการเล่นเชิงวิศวกรรม ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
- วัสดุปลายเปิด loose parts หรือชิ้นส่วนที่เคลื่อนย้ายได้ วัสดุธรรมชาติ วัสดุเหลือใช้ เช่น กิ่งไม้ ท่อนไม้ หินมน ทราย ดินเหนียว น้ำ กล่อง ลังกระดาษ แกนกระดาษชำระ กระป๋อง ภาชนะ กรวย ท่อพลาสติก รางน้ำ แผ่น CD สวิตช์ หน้าปัทม์ โทรศัพท์ที่ไม่ใช้แล้ว
- บล็อกหรือตัวต่อหลากหลายประเภทเพื่อให้เด็กได้สำรวจ คุณสมบัติต่างๆ เช่น รูปทรง ขนาด ความหนา น้ำหนัก พื้นผิว วัสดุ
ภาพจาก: unsplash.com/YianniMathioudakis
- อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับเล่นก่อสร้างที่ปลอดภัย เช่น ท่อ พลาสติกและข้อต่อ ทางลาด อุโมงค์ ล้อ ยางรถ รถเข็น ลูกบอล เชือก เฟือง รอก คันโยก ตลับเมตร ค้อน ไขควง ประแจ น็อต คีม
- หนังสือภาพ นิทาน หนังสือ นิตยสาร หรือสื่อที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรืองานวิศวกรรมประเภทต่างๆ เช่น บ้าน อาคาร เมือง ไฟฟ้า เทคโนโลยี แพทย์
- โปสเตอร์หรือบัตรภาพพร้อมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเพื่อให้เด็กและครูสามารถสอดแทรกคำศัพท์ได้อย่างสะดวกในขณะเล่น เพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงประสบการณ์ทางวิศวกรรมในชีวิตจริง เช่น ภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆ สิ่งประดิษฐ์ ยานพาหนะ เทคโนโลยี งานของวิศวกรในสาขาต่างๆ
การจัดสภาพแวดล้อมนอกห้องเรียนในพื้นที่เล่นก่อสร้าง
ของโรงเรียน Kindergarten Fröbelhaus ในเยอรมนี
2. การสร้างบรรยากาศและการมีส่วนร่วมในการเล่นเชิงวิศวกรรม
การจัดเตรียมเพียงวัสดุ อุปกรณ์ที่น่าสนใจสำหรับเด็กนั้นยังไม่เพียงพอต่อการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมสำหรับเด็ก การสร้างบรรยากาศ การสังเกต การใช้คำถาม และการให้คำแนะนำเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ช่วยให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้วิศวกรรมอย่างมีจุดมุ่งหมายมากยิ่งขึ้น การให้เด็กได้สะท้อนคิดถึงการวางแผน การแก้ปัญหา และการปรับปรุงจะช่วยให้เด็กได้คิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง (Metacognition)
2.1 การสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนจิตนิสัยทางวิศวกรรมและ การปฏิบัติทางวิศวกรรม ตัวอย่างเช่น
- แสดงความสนใจในวิธีการทำงานและใส่ใจต่อคำอธิบายของเด็ก
- ชื่นชมความมุ่งมั่นพยายามและผลงานของเด็ก เสริมแรงให้กำลังใจเมื่อเด็กยังทำไม่สำเร็จ
- สนับสนุนให้เด็กร่วมกันแก้ปัญหา รับฟังความคิดเห็น ใส่ใจ ต่อผู้อื่น
- สนับสนุนให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเล่นก่อสร้างกับบล็อกหรือวัสดุปลายเปิด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่กล้าหรือไม่มั่นใจในการร่วมเล่นกับเพื่อน
2.2 การมีส่วนร่วมในการเล่นเชิงวิศวกรรมของเด็ก การสังเกต การใช้คำถาม และการให้คำแนะนำเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบวิศวกรรมในจังหวะที่เหมาะสมอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่รบกวนการเล่นของเด็ก ตัวอย่างเช่น
ภาพจาก: unsplash.com/MarkusSpiske
- สังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของเด็กในการเล่นเชิงวิศวกรรม เช่น การเลือกและการใช้งานวัสดุของเด็ก การจัดการกับปัญหา การเล่น และการสื่อสารกับเพื่อน การมุ่งมั่นพยายาม
- ใช้คำถามปลายเปิดในจังหวะที่เหมาะสมอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เด็กได้บอกเล่าความคิด แผนการ วิธีการ การออกแบบ การสร้าง การเลือกใช้วัสดุ การทดสอบ การประเมิน ปัญหาที่พบ หรือแนวทางแก้ปัญหา เช่น หนูกำลังทำอะไรอยู่ หนูจะทำอะไร หนูคิดว่าจะใช้อะไรทำ.. ได้บ้าง ทำไมหนูถึงเลือก...มาสร้าง.... หนูวางแผนไว้อย่างไร หนูคิดว่าทำไม... ที่หนูสร้างถึงล้ม หนูคิดว่าน่าจะปรับตรงไหนได้บ้าง หนูลองเล่าให้ฟังหน่อยว่า หนูออกแบบ/สร้าง...ของหนูอย่างไร
- ให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาโดยเชื่อมโยงความรู้เดิมของเด็กโดยถามคำถามหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวัสดุที่เลือกใช้
- สอดแทรกหรือเสริมคำอธิบายของเด็กโดยใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง กับวิศวกรรมอย่างเหมาะสมกับวัย เช่น สมดุล ลาด เอียง โครงสร้าง ต้นแบบ ทดสอบ รวมถึงคำศัพท์ทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจำนวน รูป เรขาคณิต ขนาด แบบรูป
สรุป
การเล่นเชิงวิศวกรรมเป็นการเล่นที่เน้นการคิดและการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการก่อสร้างของเด็ก ตัวอย่างเช่น การเล่นกับบล็อก หรือวัสดุปลายเปิดอื่นๆ ที่แสดงถึงพฤติกรรมการเล่นเชิงวิศวกรรม เช่น สื่อสารเป้าหมาย ก่อสร้าง แก้ปัญหา ริเริ่ม สร้างสรรค์ ทดสอบ/ประเมิน ผลการออกแบบวิธีแก้ปัญหา ครูหรือผู้ที่ดูแลเด็กมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเล่นเชิงวิศวกรรมของเด็ก ทั้งในด้านการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสื่อปลายเปิดซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของการเล่นเชิงวิศวกรรมเพื่อเอื้อให้เด็กได้สำรวจและเล่นอย่างอิสระ สนับสนุนให้เด็กได้เล่นก่อสร้าง สังเกตพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมของเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้บอกเล่าความคิด ใช้คำถาม ชวนสนทนา สอดแทรก คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง และเสริมแรงให้กำลังใจเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็ก ในการออกแบบเชิงวิศวกรรมและสร้างจิตนิสัยทางวิศวกรรมโดยจำเป็นต้อง คำนึงถึงความเหมาะสมกับพัฒนาการ ความสามารถ ความสนใจ และบริบทของเด็กเป็นรายบุคคล อีกทั้งความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ครูหรือผู้ที่ดูแลเด็กพึงตระหนักว่า การเล่นของเด็กนั้นมีหลากหลายรูปแบบ และมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป การให้อิสระแก่เด็กในการเล่นเป็นสิ่งจำเป็น และการมีส่วนร่วมของผู้ใหญ่เพื่อเสริมต่อการเรียนรู้ในการเล่นของเด็กนั้นควรมีความสมดุลในจังหวะที่เหมาะสมและเป็นธรรมชาติโดยไม่ขัดจังหวะหรือรบกวนการเล่นของเด็ก
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายให้ผู้อ่านได้รับองค์ความรู้และเกิดความตระหนักเพื่อสนับสนุนการเล่นเชิงวิศวกรรม ของเด็กปฐมวัย อีกทั้งอาจต่อยอดโดยปรับและประยุกต์ใช้สื่ออุปกรณ์ที่มีอยู่หรือ หาได้ง่ายในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และมีจุดมุ่งหมายมากยิ่งขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 53 ฉบับที่ 248 พฤษภาคม – มิถุนายน 2567
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/248/4/
บรรณานุกรม
Bagiati, A., & Evangelou, D. (2016). Practicing Engineering While Building with Blocks: identifying engineering thinking. European Early Childhood Education Research Journal, 24(1): 67-85. https://doi.org/10.1080/1350293X.2015.1120521.
Bairaktarova, D. & Evangelou, D. & Bagiati, A. & Brophy, S. (2011). Early Engineering in Young Children’s Exploratory Play with Tangible Materials. Children, Youth and Environments, 21(2): 212-235. http://www.colorado.edu/journals/cye.
Bodrova, E. & Leong, D. J. (2018). Tools of the Mind: a vygotskian early childhood curriculum. In Fleer, M. & van Oers, B. (eds). International Handbook of Early Childhood Education. Springer International Handbooks of Education. https://doi.org/10.1007/978-94-024-0927-7_56.
Gold, Z. S. & Elicker, J. & Beaulieu, B. A. (2020). Learning Engineering Through Block Play: stem in preschool. YC Young Children, 75(2): 24–29. https://www.jstor.org/stable/26979142
Gold, Z. S. & Elicker, J. & Evich, C. D. & Mishra, A. A. & Howe, N. & Weil, A. E. (2021). Engineering Play with Blocks as an Informal Learning Context for Executive Function and Planning. Journal of Engineering Education, 110(4): 803–818. https://doi.org/10.1002/jee.20421.
Lottero-Perdue, P. S. (2019). Engaging Young Children in Engineering Design: encouraging them to think, create, try and try again. In Cohen, L. & Waite-Stupiansky, S. (Eds.), STEM in Early Childhood Education. Taylor and Francis.
National Association for the Education of Young Children. (2020). Developmentally Appropriate Practice [Position Statement]. NAEYC. Selly, P. B. (2017). Teaching STEM Outdoors: activities for young children. Redleaf Press.
Weigel, D. & Byington, T. & Kim, Y. (2019). Engineering in the Preschool Classroom. University of Nevada Cooperative Extension. https://naes.agnt.unr.edu/PMS/ Pubs/116_2019_05.pdf.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 สำหรับเด็กอายุ 3 - 6 ปี. สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2563). กรอบการเรียนรู้และแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ใน ระดับปฐมวัย ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560. โกโกพริ้นท์ (ไทยแลนด์).
-
18341 การเล่นเชิงวิศวกรรม (Engineering Play) กับเด็กปฐมวัย /article-science/item/18341-04-02-2025เพิ่มในรายการโปรด