ถึงแม้ว่าโรคนี้ไม่รุนแรงไม่มีชื่อติดโผในโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนเราในอันดับต้น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด แต่โรคนี้ก็ทำให้ตายได้ เป็นที่น่าตกใจไม่น้อยที่ในปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพที่มักจะมองข้าม ภาวะขาดวิตามิน บี 1 กำลังบั่นทอนร่างกายของคนเราหลาย ๆ คน รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ซึ่งอาจจะร้ายแรงที่ทำให้ตายได้
มีข่าวดังทางหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน 2 วันติดต่อกันอีกแล้ว คือวันเสาวร์ที่ 15 และ 16 มกราคม 2559 คือ เรือประมง ส.สมบูรณ์ 19 และ เรือประมง ทรัพย์สิงห์ไทย 20 มีลูกเรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุในขณะที่ลอยลำจับปลาอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย จำนวน 6 คน เป็นคนไทย 1 คน และคนกัมพูชา 5 คน นอกจากนี้ยังมีลูกเรืออีกทั้ง 2 ลำ มีอาการล้มป่วยอีก 25 คน ซึ่งเรือประมงที่ออกจับปลากลางมหาสมุทรแต่ละครั้งเป็นเวลานานกว่า 9 เดือน ทำให้ใต้ก๋งเรือตัดสินใจนำเรือกลับเข้าฝั่งที่จังหวัดระนอง แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เอาเรือเข้าเทียบท่าทันที ต้องทอดสมอลอยลำอยู่ก่อนจนกว่าการตรวจสอบจะมั่นใจได้ว่า ลูกเรือที่เสียชีวิตหรือล้มป่วยไม่ได้เกิดจากการระบาดของเชื้อโรคที่ร้ายแรง
เรือประมงเข้าเทียบท่าเรือจังหวัดระนอง
เพื่อลำเลียงลูกเรือที่เจ็บป่วยและเสียชีวิต ลงจากเรือ
ขอบคุณ ภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มกราคม 2559
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะทีมสอบสวนโรค ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีลูกเรือประมงเสียชีวิตและเจ็บป่วยได้กล่าวยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคติดต่อร้ายแรงอย่างแน่นอน เพราะระบบการป้องกันโรคระบาดของไทยเข้มงวดมาก หลังจากทราบสถานการณ์ก็ไม่ได้ให้เอาเรือเข้าเทียบท่าทันที เมื่อการสอบสวนจนมั่นใจแล้วจึงจะนำเรือเข้าเทียบท่าได้ เพื่อนำไปรักษาที่โรงพยาบาล ระนอง
จากการตรวจเลือดทางวิทยาศาสตร์ของห้องปฏิบัติการ การซักประวัติผู้ป่วยและการตรวจร่างกายของลูกเรืออีก 25 คน พบว่ามีอาการบวม มีประวัติปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องมีอาการชา ลักษณะนี้เข้าได้กับการขาด วิตามิน บี 1 และมีผู้ป่วย 2 รายที่ขาดวิตามิน บี 1 อย่างรุนแรง
และจากการซักประวัติเหมือนกันหมด คือมีอาการช่วง 2 สัปดาห์ เริ่มมีแขนขาบวม จากนั้นเริ่มอ่อนแรงที่ขาก่อน บางรายมีอาการปวดบริเวณท้องหรือลำตัว ซึ่งตรงนั้นอาจอธิบายได้ว่าเป็นลักษณะของความผิดปกติของไขสันหลงบริเวณนั้น บางรายอาการรุนแรงจนไม่มีแรง ในรายที่เป็นมากอาจจะไม่บวมแต่มีอาการทางหัวใจ หอบเหนื่อย น้ำท่วมปอด เสียชีวิต ซึ่งหลังจากมีอาการเหนื่อยหอบแล้วระยะเวลาดำเนินไปเร็วมาก และไม่จำเป็นต้องมีการติดเชื้อจากเชื้อโรคอื่น ๆ ก็ทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
เมื่อตรวจสอบอาหารที่ลูกเรือกินพบว่า อาหารส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น แป้ง เช่น ข้าวขาวหรือข้าวขัดสี มันเทศ มันสำปะหลัง ซึ่งถ้าหากย่อยแป้งเป็นพลังงานจะต้องใช้วิตามิน บี 1 แต่กลับไม่ได้รับวิตามินบี 1 เข้าไปทดแทน ร่างกายจึงใช้วิตามิน บี 1 ที่สะสมอยู่ในร่างกายซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 มิลลิกรัม ซึ่งก็จะหมดภายใน 1 เดือน ยิ่งการทำการประมงต้องใช้แรงงานมากยิ่งกระตุ้นให้ร่างกายขาดวิตามิน บี 1 ได้เร็วขึ้น
การแสดงออกของโรคขาดวิตามิน บี 1 จะคล้ายกับโรคหัวใจวาย หรือแขนขาลีบจะคล้ายกับการติดเชื้อในเส้นประสาท หรือเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันแปรปรวน และทำให้เส้นประสาทอักเสบ ซึ่งการรักษาจะต้องทดแทนด้วย วิตามิน บี 1 แต่คนส่วนใหญ่หรือหมอเองบางครั้งไม่ทันได้คิดถึงเรื่องนี้
นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า จากการเสียชีวิตของลูกเรือประมง 6 คน และและมีอาการป่วยอีก 25 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 คนที่อาการรุนแรงเ ลูกเรือทั้งหมดมีอาการลักษณะเข้าข่ายร่างกายขาด วิตามิน บี 1 อย่างรุนแรง ทางกรมควบคุมโรคจะดำเนินการรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น และต้องผ่าพิสูจน์ลูกเรือที่เสียชีวิตทั้ง 6 คน โดยแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลระนอง และเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยทั้งหมดทั้งก่อนและหลังการฉีดวินามิน บี 1 เพื่อตรวจยืนยันการขาดวิตามิน บี 1
นายแพทย์ ชัยพร สุชาติสุนทร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่าหลังจากคณะทีมตรวจสอบ ได้ทำการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว และได้รับการยืนยันว่าสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของลูกเรือไม่ใช่เกิดจากโรคระบาดใหม่หรือโรคระบาดทั่วไป แต่เป็นเพราะร่างกายขาดวิตามิน บี 1 อย่างรุนแรง เพราะการออกทะเลจับปลาครั้งหนึ่ง ๆใช้เวลานานประมาณ 9 เดือนเศษ
นายแพทย์สาธาณสุขจังหวัดระนอง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาดูลูกเรือประมงอย่างใกล้ชิด และได้ฉีด วิตามิน บี 1 และแจกวิตามิน ซี ให้ลูกเรือกินด้วย และแพทย์จะฉีดวิตามิน บี 1 ให้กับลูกเรือทุกคน วันละ 1 เข็ม เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้กล่าวว่า อาหารที่มีวิตามิน บี 1 เช่น อาหารธัญพืชเต็มเมล็ด จมูกข้าว ข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ด ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย ขนมปังโฮลวีท เนื้อ ปลา ไก่ ไข่ นม ผักใบเขียว มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ส้ม มะเขือเทศ เป็นต้น
ส่วนอาหารที่ควรจะหลีกเลี่ยงซึ่งเป็นอาหารที่ทำลาย วิตามิน บี 1 คือ ข้าวขาว หรือข้าวขัดสี มัน ถึงแม้จะมีวิตามิน บี 1 อยู่บ้าง แต่แป้งเยอะจะทำให้ร่างกายมีการใช้วิตามิน บี 1 เพิ่มากขึ้นเพื่อเอาแป้งมาใช้เป็นพลังงาน นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารดิบ ๆ เช่น ปลาดิบ หอยลายดิบ ปลาร้าดิบ ปลาส้มดิบ แหนมดิบ ซึ่งเป็นตัวทำลายวิตามิน บี 1 สูงมากเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องทำงานในที่ที่มีอาหารการกินจำกัดเป็นเวลานาน คือให้กินวิตามิน บี 1 บี 6 และ บี 12 ซึ่งจะมีวิตามิน บี 1 ในปริมาณที่เข้มข้น อย่างน้อย 100 มิลลิกรัม ถึงแม้ไม่มีอาการก็ยังสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง
ด้านนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณะสุข ได้เปิดเผยว่าเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก ได้กำชับให้สาธารณสุขจังหวัดที่มีผู้ประกอบการประมงที่ต้องออกจับปลาในทะเล มหาสมุทรเป็นเวลานาน ๆ ประสานไปยังสำนักงานประมงและสมาคมประมงในแต่ละจังหวัด เตรียมความพร้อมก่อนออกเรือประมง โดยให้จัดเตรียมอาหารทดแทนวิตามิน บี 1 เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ ข้าวโพด ลูกเดือย ฯลฯ นำขึ้นไปเก็บสำรองไว้บนเรือด้วย เนื่องจากการออกจับปลาแต่ละครั้งใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ
สุนทร ตรีนันทวัน
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ สสวท.
ข้อมูลอ้างอิง
1. ธัญชนิต. (2558 , พฤษภาคม). พร่องวิตามิน บี 1 ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม. นิตยสาร ชีวจิต. ปีที่
17 (22).
2. อภิวรรณ เสาเวียง . โรคที่ถูกลืม ขาดวิตามิน บี 1 ถึงตาย หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ . วันเสาว์ ที่ 16
มกราคม พ.ศ. 2559 หน้า 12
3. เตือนประชาชน ระวังป่วยโรคขาด วิตามิน บี 1 (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.dailynews.
co.th/politics/373728 สืบค้น 18/01/2559.
4. 6 ลูกเรือประมงระนองดับ พบขาดวิตามิน บี 1 รุนแรง รอผลสารคัดหลั่ง 3 วัน (Online) เข้าถึง
ได้จาก http://www.thairath.co.th/content/562629 สืบค้น 18/01/2559
5. รู้ทันโรคขาดวิตามิน บี 1 (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.thairath.co.th/clip/36541
สืบค้น 18/01/2559