ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร
ความเจริญของกรุงเทพฯ ทำให้วิถีการดำรงชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การทำงาน การเดินทาง การคมนาคม การกินอาหารสำเร็จหรืออาหารใส่ถุงจากตลาด ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม นั่นคือคนกรุงเทพฯถูกจำกัดด้วยกรอบเวลา เป็นเหตุให้สุขภาพถูกละเลยทำให้คนกรุงเทพมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs ที่เกิดจากวิถีการดำรงชีวิตหรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคมากขึ้นจนน่าตกตลึง ปัจจุบันโรคที่เป็นโรคฮิต ที่คร่าชีวิตคนไทยสูง คือ
1. โรคมะเร็ง เรียกได้ว่าเป็นโรคที่ครองแชมป์ของคนไทยติดต่อกันมา 5 ปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละประมาณ 50,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาไม่เคยลด โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดที่เป็นทางการ คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งในช่องปาก ฯลฯ
2 โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันในเลือดสูง
3. โรคต่อมไร้ท่อ เป็นโรคกลุ่มเบาหวาน ต่อมหมวกไต
4. โรคจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น มะเร็งตับ ตับแข็ง ตับอักเสบ ฯลฯ
ดร. พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร
30 มิถุนายน 2559
ขอบคุณ ภาพประกอบจาก http://www.tnamcot.com/content/503058
ประชากรถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ การดูแลสุขภาพเพื่อให้ห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆและจากข้อมูลดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังนั้นต่อมาจึงมีการตั้ง ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร ขึ้นมา
ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ คนกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้มีการเปิดศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร ณ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพ และทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เรื่องนี้สู่ประชาชนต่อไป
ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ปัจจุบันการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยแต่ละโรคของคนกรุงเทพฯ เพื่อใช้ในการเตือนภัยด้านสุขภาพยังไม่สมบูรณ์ เพราะหน่วยงานที่ดูแลมีหลายหน่วย การบันทึกจัดเก็บข้อมูลจึงมีลักษณะต่างคนต่างเก็บ ขาดการนำมาวิเคราะห์และประมวลผลร่วมกัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่แท้จริง ดังนั้นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จึงมีแนวคิดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น โดยโครงสร้างการทำงานของศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพฯ จะมีการทำงานในรูปคณะกรรมการ มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมดำเนินการ โดยมองว่าถ้าสามารถเชื่อมต่อข้อมูลด้านสุขภาพต่าง ๆ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด จะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องมากขึ้น นำไปสู่การแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวนี้จึงนำไปสู่การตั้ง ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ คนกรุงเทพมหานคร
ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร จะทำหน้าที่แจ้งข่าวข้อมูลเตือนภัยสุขภาพ สาเหตุที่ทำให้สุขภาพของคนกรุงเทพฯเสื่อมลง ที่สำคัญคือศูนย์นี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูล ด้านการบำบัดรักษาของโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตกรุงเทพฯ และก็จะมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์แปลผล ประชาสัมพันธ์เสนอให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เสียสุขภาพ เช่น การบริโภคน้ำตาลเท่าใดจึงจะไม่เป็นโรคเบาหวาน การลดความเครียดที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง การลดกินเค็มที่นำไปสู่โรคไต เป็นต้น
ดร. พิจิตต รัตตกุล กล่าวว่า ประชาชนสามารถรับข้อมูลเตือนภัยสุขภาพได้ โดยทางศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพฯ จะมีการแถลงข่าวหรือกระจายข่าวผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบรายละเอียดข้อมูลด้านสุขภาพ ทั้งนี้ในอนาคตจะพัฒนาระบบคอลเซ็นเตอร์ของศูนย์และเชื่อมโยงระบบกับสายด่วน กทม. 1555 อีกด้วย
ดร.นายแพทย์ วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าจากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2554 พบว่าคนกรุงเทพฯเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมาก สาเหตุการเสียชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2549 – 2556 ได้แก่โรคมะเร็งทุกชนิด โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งคนกรุงเทพฯมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ คนกรุงเทพฯ จึงอยากให้คนกรุงเทพฯ ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิชัยเอกพลากร อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชุน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้กล่าวว่าจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับคนกรุงเทพฯคือ คนกรุงเทพฯมีการบริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในขณะที่ในกลุ่มเด็กอายุ 2 – 14 ปี มีการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมกรุบกรอบสูงกว่าประชากรเด็กในภาคอื่น ๆ ของประเทศ และนอกจากนี้คนกรุงเทพฯได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการออกกำลังกายน้อยมากเมื่อเทียบกับทุกภาคของประเทศ ส่งผลให้คนกรุงเทพฯเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย ไขมัน และคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย
เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯได้เข้าถึงเข้าใจบทบาทของศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพฯ ที่จะช่วยเหลือประชาชนทุกเพศทุกวัย หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ หน่วยงานทางการศึกษา ได้ร่วมมือช่วยกันประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เรื่อง ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนในกรุงเทพฯได้เข้าใจ ใช้ประโยชน์ จากทางศูนย์ และในขณะเดียวกันประชาชนทั่วประเทศก็ได้ใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน.
สุนทร ตรีนันทวัน
ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ สสวท.
ข้อมูลอ้างอิง
1. ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพฯ (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.thairath.co.th/content/
639952 สืบค้น 09/07/2559
2. ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ คนกรุงเทพมหานคร (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.dailynews.co.th/
bangkok/506080 สืบค้น 09/07/2559
3. ห่วงภัยสุขภาพ คนเมืองกรุง (Online) เข้าถึงได้จาก http://thaihealth.or.th/Content/31831-
ห่วงภัยสุขภาพ%20เมืองกรุงฯ.ทส สืบค้น 09/07/2559
4. ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ เผยคนกรุงเลี่ยงผักผลไม้-ติดน้ำอัดลม (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.
thaihealth.or.th/Content/31825-ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ%20เผยคนกรุงเลี่ยงผักผลไม้-ติดน้ำอัดลม.
html สืบค้น 09/07/2559
5. 5 อันดับโรคยอดฮิต ที่คร่าชีวิตคนไทยสูงสุด (Online) เข้าถึงได้จาก http://monavie.blogspot.
com/p/5.html สืบค้น 069/27/2559
-
4812 ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร /article-science/item/4812-2016-09-06-10-56-59เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง