ความเครียดเรื้อรังกับความอ้วนที่ไม่ตั้งใจ
ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายของเราแทบทุกส่วน ตั้งแต่การทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนปัญหาความต้องการทางเพศและรอบเดือนที่ผิดปกติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่นับรวมผลกระทบเชิงลบที่ความเครียดเรื้อรังมีบทบาทต่อรอบเอวที่เพิ่มขึ้นด้วย
ภาพที่ 1 ความเครียด
ที่มา caio_triana/Pixabay
คำพูดที่ว่า “การกินช่วยบำบัดความเครียดได้” มักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างให้ผู้คนส่วนใหญ่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และแคลอรีสูงอยู่เสมอเวลามีความเครียด โรคอ้วนจึงกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความเสี่ยงด้านสุขภาพและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นของประชากรทั่วโลก
ความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดและความอ้วนจึงเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบาย และเนื่องด้วยฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทต่อการเผาผลาญและการเก็บสะสมไขมัน จึงทำให้กลไกทางชีววิทยาข้อนี้เป็นปัจจัยที่มีความสมเหตุสมผลต่อความเป็นไปได้ระหว่างความเครียดและน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
ทำความเข้าใจการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย
ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือบางครั้งถูกเรียกว่าเป็น ฮอร์โมนแห่งความเครียด มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย
ภาพที่ 2 สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด
ที่มา asommerh-Pixabay
เมื่อคุณพบสถานการณ์ที่เป็นอันตราย เช่น สุนัขตัวใหญ่เห่ากรรโชกใส่คุณในตอนเช้าของวันทำงาน สมองส่วนไฮโพทาลามัสจะส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทเพื่อกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) ซึ่งได้แก่ อะดรีนาลีน (Adrenaline) และคอร์ติซอล (Cortisol) โดยฮอร์โมนอะดรีนาลีนจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ในขณะที่ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะทำหน้าที่ในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและการใช้กลูโคสในสมอง รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
นอกจากนี้ฮอร์โมนคอร์ติซอลยังช่วยยับยั้งการทำงานที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อปฏิกิริยาการตอบสนองแบบต่อสู้หรือวิ่งหนี (fight-or-flight situation) ปรับเปลี่ยนการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการทำงานของระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และกระบวนการเจริญเติบโต ทั้งนี้ระบบเตือนภัยที่ซับซ้อนภายในร่างกายเหล่านี้ยังติดต่อสื่อสารกับสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ แรงจูงใจ และความกลัวด้วย
โดยปกติแล้วการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกายจะสามารถจัดการตัวเองให้กลับเข้าสู่การทำงานปกติได้เมื่อสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามผ่านพ้นไปแล้ว ระดับฮอร์โมนต่างๆ ก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งเมื่อระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีนและคอร์ติซอลลดลง อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตก็จะกลับเข้าสู่กิจกรรมการทำงานที่เป็นปกติตามเดิม
แต่ในกรณีของความเครียดเรื้อรัง กระบวนการตอบสนองต่อความเครียดจะยังคงอยู่ ซึ่งทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดและมีการใช้กลูโคสในสมองที่สูงตามไปด้วย ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายที่นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเช่น ความวิตกกังวล การนอนหลับ ความจำ รวมทั้งบทบาทสำคัญต่อระบบเผาผลาญและการเก็บสะสมไขมันของร่างกาย นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการเรียนรู้สาเหตุและผลกระทบ รวมทั้งวิธีการที่ดีสำหรับการรับมือกับความเครียด
ภาพที่ 3 การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอ้วน
ที่มา RyanMcGuire/Pixabay
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร พยายามตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดเรื้อรังและน้ำหนัก โดยการวัดปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอลในตัวอย่างเส้นผมจากชายและหญิงที่เข้าร่วมการทดลองจำนวน 2,527 ตัวอย่าง ซึ่งนักวิจัยใช้ตัวอย่างเส้นผมที่ยาว 2 เซนติเมตรจากโคนผม เนื่องด้วยโดยเฉลี่ยแล้วผมจะยาวขึ้น 1 เซนติเมตรภายใน 1 เดือน ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สะสมอยู่ในร่างกายในช่วงระยะเวลา 2 เดือน
จากการศึกษาพบว่า เส้นผมของผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMIs) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 (หากใช้เกณฑ์วัดมาตรฐานเส้นรอบเอว ผู้ชายจะอยู่ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 102 เซนติเมตรและผู้หญิงจะอยู่ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 88 เซนติเมตร) ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานนั้นมีระดับฮอร์โมนคอติซอลสูง
แม้ว่าผลการวิจัยจะชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่มีความเครียดเรื้อรังมีความเสี่ยงสูงที่จะมีรอบเอวที่เพิ่มขึ้นและกลายเป็นโรคอ้วน แต่การศึกษาข้างต้นก็ยังไม่ใช่วิธีศึกษาแบบระยะยาว (Longitudinal study) จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้นเพื่ออธิบายถึงสาเหตุและผลกระทบต่อความเชื่อมโยงดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ทีมงานวิจัยนี้ยังคงดำเนินการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการชั่งน้ำหนักและวัดค่าเฉลี่ยๆ ต่างๆ ของผู้เข้าร่วมการทดลองในทุก 4 ปีเพื่อระบุผลกระทบของความเชื่อมโยงของความเครียดและน้ำหนักตัวเมื่อเวลาผ่านไป
อย่างไรก็ดี ความเครียดส่งผลเสียต่อทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต วิธีคลายความวิตกกังวลอย่างเช่น การเล่นโยคะ หรือการนั่งสมาธิ เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง
แหล่งที่มา
Sarah Jackson. (2017, 23 February). Chronic stress could be making you fat
Retrieved October 28, 2017,
from https://theconversation.com/chronic-stress-could-be-making-you-fat-71958
Cheryl S. Grant. Is Chronic Stress Making You Fat? New Science Sounds Alarms.
Retrieved October 28, 2017,
from https://www.rd.com/health/conditions/chronic-stress-makes-you-fat/
Chronic stress puts your health at risk.
Retrieved October 28, 2017,
from https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/stress/art-20046037
Cortisol.
Retrieved October 28, 2017,
from https://en.wikipedia.org/wiki/Cortisol
-
7753 ความเครียดเรื้อรังกับความอ้วนที่ไม่ตั้งใจ /article-science/item/7753-2017-12-04-06-42-40เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง