คำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัล (Digital Hate Speech)
เนื่องจากข้อมูลในโลกไซเบอร์ไม่ได้มีเพียงข่าวสาร ข้อเท็จจริง หรือเนื้อหาที่สร้างความบันเทิงเพียงด้านเดียว แต่ยังมีข้อมูลข่าวสารที่เต็มไปด้วยอคติและความรุนแรง ผลกระทบจากการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังที่มีต่อบุคคล และกลุ่มคนอื่น ๆ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างจากตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น แนวคิดทางการเมือง ชนชั้น ศาสนา เพศสภาพ เป็นผู้ที่เคารพสิทธิ์และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่หลากหลายได้อย่างรับผิดชอบ
ภาพความรู้สึกของผู้ถูกกลั่นแกล้งรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
หรือการแสดงออกซึ่งความเกลียดชังผ่านสื่อออนไลน์
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Cyberbullied.jpg , Courtesy graphic - US Department of Defense
คำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัล คือ การแสดงออกซึ่งความเกลียดชังผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ทั้งที่เป็น คำพูด ตัวอักษร สื่อวิดิทัศน์ ข้อความ และการสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ ทั้งที่เป็นการผลิตขึ้นมาใหม่ การผสมผสานเนื้อหาใหม่กับเนื้อหาที่มีการผลิตไว้แล้ว และการนำเสนอเนื้อหาที่ผลิตไว้แล้วในรูปแบบใหม่ผ่านพื้นที่ออนไลน์ซึ่งเข้าถึงได้โดยมีเทคโนโลยีเครือข่าย หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, YouTube และ Twitter เป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดที่ผู้สื่อสารจะใช้แพร่กระจายสารแห่งความเกลียดชัง เนื่องจากสามารถสื่อสารได้ทั้งภาพและเสียงและมีผู้เข้าชมจำนวนมาก และมีการส่งต่อหรือแบ่งปันได้ง่าย
วัตถุประสงค์ของคำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัล การแสดงคำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัลที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่า ความเป็นมนุษย์ หรือยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ได้แก่ การไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ชัดเจน มีแนวโน้มสร้างความเข้าใจที่ผิดหรือมีอคติต่อกลุ่มเป้าหมาย ยั่วยุหรือทำให้เกิดความเกลียดชัง กำจัดกลุ่มเป้าหมาย
รูปแบบของการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง
1) การด่า ด้วยการใช้ภาษาหยาบคาย รุนแรง ดูถูก เหยียดหยาม
2) การสร้างความเข้าใจผิด การโน้มน้าวใจชักจูงให้เชื่อถือด้วยข้อมูลผิด
3) การนิยามคนอื่น ในเชิงลดคุณค่า ทำให้มีความหมายเชิงลบ กลายเป็นตัวตลก
4) การสื่อสารที่สร้างความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งพวกเขาพวกเราแยกออกชัดเจน
5) การสื่อความหมายปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน การกีดกันออกจากสังคม
6) การตีตราประทับภาพเหมารวมตายตัวในเชิงลบ
7) การยุยงปลุกปั้น ปลุกระดมให้ผู้อื่นร่วมเกลียดชัง สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง
8) การระดมกำลังไล่ล่า ขู่คุกคาม การลงทัณฑ์ทางสังคม รุมประณามอย่างรุนแรงด้วยกลุ่มบุคคล
คำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัล เป็นสาเหตุของการกลั่นแกล้งรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) ที่เป็นการแสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้อื่นโดยการส่งข้อความหรือโพสต์สิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อผู้อื่นหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความก้าวร้าวทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เป็นการแสดงความก้าวร้าวผ่านคำพูดหรือตัวอักษรและเป็นการแสดงพฤติกรรมคุกคามผู้อื่นที่เกิดขึ้นในบริบทของเทคโนโลยี ที่มีเจตนามุ่งร้ายและการส่งต่อรูปภาพหรือข้อความเกี่ยวกับเรื่องเพศโดยมีเจตนาที่จะทำร้ายหรือสร้างความอับอายแก่ผู้อื่น คำพูดและการสื่อสารในโลกดิจิทัลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการแสดงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนในโลกดิจิทัลของบุคคล เพื่อการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจอันดีและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นบนโลกดิจิทัล
แหล่งที่มา
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน. (2561). ความฉลาดทางดิจิตอล (Digital Intelligence: DQ) และการศึกษาการรังแกกันบนโลกไซเบอร์ของวัยรุ่น. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2562, จาก http://cclickthailand.com/contents/research/งานวิจัยDQ_CBสสย.-final.pdf
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน. (2562). การพัฒนาพลเมือง MILD จุดเน้นตามช่วงวัย. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2562,
จาก http://cclickthailand.com/ชุดความรู้สำหรับครู/ความรู้/การพัฒนาพลเมือง-midl-จุดเน้นตามช่วงวัย
Willard, N. (2007). Cyberbullying and cyberthreats: Responding to the challenge of online social aggression, threats, and distress. Champaign, IL :Research Press.
-
10962 คำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัล (Digital Hate Speech) /article-technology/item/10962-digital-hate-speechเพิ่มในรายการโปรด