เทคโนโลยีที่น่าสนใจกับการมาของรถยนต์ไฟฟ้าไทย
”ยุคแห่งยานยนต์ไฟฟ้า” เข้าใกล้คำว่าเต็มรูปแบบขึ้นมาทุกที เพราะก็มีรถยนต์ไฟฟ้าได้ถูกนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น แล้วเรารู้จักรถยนต์ไฟฟ้ากันดีแค่ไหน ลองมาติดตามกันได้ในบทความนี้
รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท?
ก่อนอื่นเลยเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เรามาดูประเภทของรถยนต์ไฟฟ้ากันดีกว่าว่ามีกี่แบบ
1.รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEVs)
เป็นรถยนต์ไฟฟ้าชนิดที่ผลิตและวางขายกันอย่างแพร่หลายแล้วในขณะนี้ การทำงานจะใช้ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงน้ำมัน โดย
-
ช่วงออกตัวหรือช่วงรถอยู่นิ่งแต่เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเช่นแอร์หรือเครื่องเสียงอยู่ รถจะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เท่านั้น(ถ้ามีประจุไฟฟ้าพอแต่ถ้าประจุไฟฟ้าไม่พอเครื่องยนต์ก็จะติดตัวเองขึ้นมาอัตโนมัติ)
-
ช่วงขับรถที่ความเร็วสูงขึ้นเครื่องยนต์จะเริ่มทำงานควบคู่ไปกับมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งมักจะทำงานเสริมกำลังกันโดยเฉพาะตอนเร่งตัวมอเตอร์จะช่วยเสริมอัตราเร่งทำให้เครื่องยนต์ไม่จำเป็นต้องทำงานหนักเท่ากับรถแบบที่ใช้น้ำมันอย่างเดียว และในช่วงที่รถยนต์วิ่งด้วยความเร็วคงที่มากพอรถอาจเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่อย่างเดียวก็ได้ กลับกันในขณะที่เครื่องยนต์ติดก็จะแบ่งพลังงานบางส่วนไปชาร์จประจุไฟให้แบตเตอรี่ด้วย
-
ช่วงเบรก มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นเจนเนอเรเตอร์แทนโดยจะแปลงพลังงานจลน์เป็นพลังงานไฟฟ้าชาร์จกลับไปยังแบตเตอรี่
การร่วมกันทำงานดังกล่าวทำให้ลดการใช้น้ำมันและมลพิษไปในตัวด้วย ปัจจุบันมีวางขายกันหลายรุ่นหลายยี่ห้อ เช่น Toyota Camry หรือ Honda Accord เป็นต้น
2. รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid, PHEV)
เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อมาจากแบบไฮบริดโดยการเพิ่มความจุแบตเตอรี่และระบบที่สามารถชาร์จไฟโดยตรงจากการเสียบปลั๊กได้เลย ระยะทางการวิ่งอาจอยู่ในช่วง 20-50 กิโลเมตรซึ่งหมายความว่าถ้าเราใช้รถในชีวิตประจำวันด้วยระยะทางไม่เกินที่ความจุแบตเตอรี่จะวิ่งได้โดยปราศจากเครื่องยนต์ช่วยแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันเลยด้วยซ้ำ!! เพราะเราสามารถชาร์จไฟที่บ้านหรือตามสถานีชาร์จได้ (แต่ยังไงก็ต้องมีค้างถังไว้เผื่อฉุกเฉิน) รถประเภทนี้ถือว่าเริ่มบุกเบิกเข้าสู่ยุคแบบรถใช้ไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้นไปอีกขั้นนึง ตัวอย่างเช่น Toyota Prius Plugin Hybrid , Mecedes Benz A250e
3. รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว (Electric Vehicle, EV)
คือพระเอกที่กำลังเป็นประเด็นให้คุยกันอย่างแท้จริง ตัวรถยนต์จะมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่าปลั๊กอินไฮบริดโดยตัดระบบเครื่องยนต์ใช้น้ำมันออกไปเลย สามารถชาร์จที่บ้านหรือตามสถานีชาร์จได้ วิ่งได้ระยะทางไกลกว่าปลั๊กอินไฮบริดในโหมดใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว รุ่นเล็กๆอย่าง FOMM-ONE วิ่งได้ไกลสุดราว 160 กม. ไปจนถึงรุ่นใหญ่อย่าง Jaguar i-Pace ที่วิ่งได้ระยะทางมากถึง 543 กิโลเมตรเลยทีเดียว!! แต่มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังครอบคลุมทุกย่านทำงานและแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถประเภทนี้ยังคงมีราคาสูงรวมถึงระบบสาธารณูปโภคพวกสถานีชาร์จยังมีไม่เพียงพอและการชาร์จต้องใช้เวลานาน ถ้าหัวชาร์จธรรมดาอาจอยู่ที่ 6-8 ชม. ถ้าหัวชาร์จเร็วอาจทำได้ที่ 2-3 ชม. แถมอย่าลืมว่าถ้าแบตเตอรี่ไม่พอระหว่างทางตัวรถจะไม่มีพลังงานน้ำมันเป็นทางเลือกเลย!! ทำให้การใช้งานยังไม่แพร่หลายนัก แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาของแบตเตอรี่และมอเตอร์ก็เริ่มถูกลงรวมถึงได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐเรื่องลดภาษีและการเพิ่มของสถานีชาร์จทำให้เราเริ่มมีเห็นภาพยุคแห่งยานยนต์ไฟฟ้าชัดเจนขึ้นไปทุกที
4. รถยนต์ไฟฟ้าแบบพลังงานไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV)
เป็นรถที่ใช้กำลังขับโดยมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้นเช่นเดียวกับรถ EV แต่ไฟฟ้าที่นำมาใช้ขับมอเตอร์นั้นได้มาจากการเติมไฮโดรเจนแล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยจะได้ไอสียเป็นไอน้ำซึ่งถือว่าไม่ก่อมลพิษ ระยะเวลาการเติมก็แค่ 5 นาที วิ่งไปได้ไกลเกิน 300 กม. ถือว่าลบจุดด้อยของรถ EV ได้อย่างดี แต่ปัญหาคือการสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนต้องลงทุนสูงมาก รวมถึงความปลอดภัยของถังกักเก็บไฮโดรเจนในรถที่อาจสูงถึง 700 บาร์ ทำให้อนาคตของรถ Fuel Cell ยังดูไกลกว่ารถ EV ที่ดูจะพร้อมในการขายเชิงพาณิชย์มากกว่า ตัวอย่างรถ Fuel Cell เช่น Toyota Mirai
จะเห็นว่ายุคแห่งรถยนต์ไฟฟ้าที่เราพูดถึงนั้นมักจะหมายถึงรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว เสียบชาร์จไฟฟ้าโดยตรงได้ ซึ่งเราจะเน้นไปที่รถที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียวหรือ EV นั่นเอง
การชาร์จไฟสำหรับรถ EV
อย่างที่เรารู้กันว่ารถ EV สามารถชาร์จไฟเข้าโดยตรงได้แม้แต่อยู่ที่บ้านแต่ก็ไม่ใช่ว่าเราสามารถซื้อรถ EV มาซักคันแล้วต่อปลั๊กพ่วงเสียบไฟชาร์จเหมือนเครื่องดูดฝุ่นได้เลยทันที เรามาดูประเภทของการชาร์จแต่ละแบบกัน
1. การชาร์จแบบเร็ว (Quick Charger)
มักจะติดตั้งตามสถานีชาร์จ ทำงานโดยจ่ายไฟกระแสตรง ใช้เวลาประมาณ 0.5-1 ชั่วโมง จากแบตเตอรี่ 0 ไปจนถึง 80% (ขึ้นกับรุ่นรถ) เหมาะกับผู้ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ
2. การชาร์จธรรมดาแบบ Double Speed Charge
สามารถติดตั้งตามบ้านหรือห้างได้ จ่ายไฟเป็นกระแสสลับ ใช้เวลา 4-7 ชม.ขึ้นกับรุ่นรถและกำลังของเครื่องชาร์จที่เรียกว่า Wall box
3. การชาร์จธรรมดาแบบ Normal Charge
เป็นแบบที่ติดตั้งในบ้านได้เช่นกัน ใช้เวลาประมาณ 12-15 ชม.ต่อการชาร์จเต็มขึ้นกับรุ่นรถ ทั้งนี้ การชาร์จทั้งสามแบบจะต้องใช้หัวชาร์จเฉพาะของแต่ละแบบมาเสียบกับตัวรถ สำหรับการชาร์จแบบบเร็วคงไม่มีปัญหาเพราะต้องมาพร้อมสถานีอยู่แล้ว แต่กับแบบ Double Speed และ Normal Charge ที่ติดตั้งที่บ้านนั้นผู้ใช้งานต้องทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับชาร์จใหม่โดยได้รับรองมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญและหม้อแปลงไฟฟ้าที่บ้านต้องมีขนาด 15(45) A ขึ้นไปด้วย ทำให้นอกจากเราต้องเสียเงินซื้อรถ EV มาใช้แล้วเรายังต้องเตรียมความพร้อมสำหรับระบบไฟฟ้าในบ้านด้วย
ภาพรถยนต์ไฟฟ้าขณะชาร์จไฟอยู่ที่สถานีบริการ
ที่มา https://pixabay.com , andreas160578
ความพร้อมและการสนับสนุนรถ EV
1. การผลิตและการนำเข้ารถ EV
จนถึงวันนี้เริ่มมีรถ EV ออกมาวิ่งตามท้องถนนบ้างแล้ว ทางค่ายรถยนต์ต่างๆก็เริ่มนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาขายอย่างเช่น Nissan Leaf Z (1,990,000 บาท) , Hyundai Ioniq Electric (1,749,000 บาท) หรือที่ผลิตในไทยโดยฝีมือคนไทยอย่าง MINE SPA1 (ราคาล้านต้นๆ)ก็มีวางขายแล้วเช่นกัน ซึ่งได้แต่หวังว่าราคาในอนาคตจะถูกลงไปอีก เพราะถ้าเปรียบเทียบราคากับรถขนาดเดียวกันแบบที่ใช้น้ำมันแล้วยังถือว่าแพงอยู่มาก ทางรัฐบาลเองก็ออกแคมเปญลดภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถที่เข้าร่วมโครงการกับ BOI และล่าสุดก็มีการเสนอให้ลดภาษีประจำปีของรถ EV แล้วด้วย
2. สถานีชาร์จ
นอกจากราคารถที่ยังต้องรอให้ลดลงกว่านี้แล้วยังมีเรื่องสถานีชาร์จที่ยังเรียกได้ว่าเพิ่งมีการสร้างได้ไม่กี่แห่งเอง แต่อย่างไรก็ตามทางรัฐก็พยายามผลักดันให้มีการสร้างมากขึ้น ทุกวันนี้เราเริ่มมีสถานีชาร์จทั้งของการไฟฟ้านครหลวง. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ทาง EGAT หรือปั๊มน้ำมัน ปตท., บางจาก หรือทางค่ายรถอย่าง BMW กับ Mercedes-Benz ก็ร่วมมือกับเอกชนรายอื่นติดตั้งสถานีชาร์จแล้วล่าสุดนี้ทาง ปตท. เองก็ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อจะติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในปั๊มของตัวเอง เป็นจำนวน 62แห่งภายในปี 2563 นี้เช่นกัน
3. การรองรับด้านพลังงานไฟฟ้า
จริง ๆ แล้วถ้าวันนึงเราหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น นั่นย่อมหมายถึงการใช้งานไฟฟ้าจะต้องสูงขึ้นในเวลาเดียวกันเพราะทุกคนจะชาร์จไฟตอนกลางคืนเหมือนๆกัน นั่นอาจทำให้เกิดเหตุการณ์แรงดันไฟฟ้าตก, โหลดเกิน, ความถี่ของไฟฟ้าที่จ่ายเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ผลิตหรือส่งไฟฟ้าต้องเตรียมตัวลงทุนแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงรัฐบาลอาจต้องออกมาตรการมาสนับสนุนการใช้งานไม่ให้เกิดปัญหาจากการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในเวลาเดียวกันและนี่เป็นส่วนที่ยากในระดับมหัพภาคที่หลายคนยังไม่พูดถึงอาจเพราะมันดูไกลตัวเป็นเรื่องของรัฐบาลกับโรงไฟฟ้าเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามเรื่องปัญหาด้านพลังงานงานนี้ทางรัฐเองก็มี Roadmap ที่จะพัฒนาระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าภายในช่วงปี 2564 ถึง 2578 ไว้ด้วยเช่นกัน
จากที่นำเสนอไปทั้งหมดนั้น ถ้าเราดูเรื่องของราคารถ สถานีชาร์จ และมาตรการรองรับด้านพลังงานไฟฟ้าแล้ว ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทย ยังอาจเป็นไปได้ยากในช่วง 1-3 ปีนี้ (2562-2564) ในปีสองปีนี้เป็นแน่แท้ เพราะการจะเปลี่ยนโฉมหน้าวงการรถยนต์ไปสู่ยุคใหม่ (แบบ Mass production) อย่างนี้ ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันในทุก ๆ ส่วนทั้งทางภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้ใช้งานเองที่ต้องเตรียมระบบไฟที่บ้านให้พร้อมด้วย แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าทางรัฐเองก็มีการกระตุ้นเรื่องการผลิตโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสนับสนุนการติดตั้งสถานีชาร์จและเตรียมมาตรการด้านพลังงานแล้วก็ทำให้มั่นใจได้เลยว่าในอนาคต เราจะเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าแน่ๆ เพียงแค่ต้องอดทนรออีกหน่อยเท่านั้นเอง
แหล่งที่มา
Bangkok Post. (2020, 11 March). Thailand 'to be regional EV hub' in five years. Retrieved 4 April 2020, from https://www.bangkokpost.com/business/1876469/thailand-to-be-regional-ev-hub-in-five-years
Cristina C, et al. (2011). Integration of Electric Vehicles in the Electric Utility Systems (1st ed). Lindon: Intech Open.
The Star. (2020, 02 February). Electric vehicles to be levied lower registration tax in Thailand. Retrieved 3 April 2020, from https://www.thestar.com.my/news/regional/2020/02/02/electric-vehicles-to-be-levied-lower-registration-tax-in-thailand
The Thaiger. (2020, 4 January). Thailand charges towards an electric car future, with a few speed bumps. Retrieved 4 April 2020, from https://thethaiger.com/hot-news/transport/thailand-charges-towards-an-electric-car-future-with-a-few-speed-bumps
Sheith K. (2019, 13 June). Thailand’s EV dreams facing a setback. Retrieved 4 April 2020, from https://theaseanpost.com/article/thailands-ev-dreams-facing-setback
Ephrat L. (2019, 30 June). The Tesla of Thailand is also an electric utility. Retrieved 4 April 2020, from https://qz.com/1655720/the-tesla-of-thailand-is-also-an-electric-utility/
Carrie H. (2019, 20 June). Thailand: Energy Absolute unveils electric car. Retrieved 4 April 2020, from https://www.electrive.com/2019/06/20/thailands-energy-absolute-unveiled-its-mine-mobility-electric-car/
U.S. Department of energy. (2017, October). Enabling Fast Charging: A Technology Gap Assessment. Retrieved 4 April 2020, from https://www.energy.gov/sites/prod/files/2017/10/f38/XFC%20Technology%20Gap%20Assessment%20Report_FINAL_10202017.pdf
-
11490 เทคโนโลยีที่น่าสนใจกับการมาของรถยนต์ไฟฟ้าไทย /article-technology/item/11490-2020-04-21-08-13-19เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง