เรียนและเล่นได้ทุกที่กับบอร์ดเกมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Tabletopia
การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในปัจจุบัน ผู้สอนมีแนวโน้มในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหาผ่านสถานการณ์จำลอง การเล่นบอร์ดเกม (Board Games) หรือเกมกระดาน ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนได้เล่น สร้างชิ้นงาน และแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากจะดึงดูดความสนใจแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันเพื่อติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์ เช่น Zoom, Microsoft Teams, Google Meet, Google Classroom ที่สามารถพูดคุยแบบเห็นหน้าตากันได้พร้อมกันหลายคน ทำให้ได้รับความนิยมนำไปใช้ในการจัดประชุม อบรม สัมมนา รวมทั้งนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนด้วย
บทความนี้นำเสนอการจัดการเรียนรู้โดยใช้แพลตฟอร์มสำหรับการเล่นเกม ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในห้องเรียน (Onsite) และทางออนไลน์ที่เรียกว่า “เทเบิ้ลโทเปีย (Tabletopia)” รวมทั้งสอนวิธีการนำบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Board Game) มาสร้างบน Tabletopia โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้หัวข้อทรัพย์สินทางปัญญาผ่านการเล่นบอร์ดเกมออนไลน์ได้ ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความสามารถในการคิด ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ผ่านการเล่นเกมได้อีกด้วย ตัวอย่างเกมใน Tabletopia ดังภาพ 1
Tabletopia เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล (Multi-Platform Digital Environment) ที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยกลุ่มคนผู้นิยมเล่นบอร์ดเกมและมีประสบการณ์ทางด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น
- เป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่ชอบการเล่นเกมเสมือนจริง (Virtual Reality Games) โดยมีเกมต่าง ๆ ที่ได้รับความคุ้มครองแล้ว (Licensed Games) จำนวนมากกว่า 2,000 เกม (เมษายน พ.ศ. 2566)
- เป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ออกแบบเกม (Game Designers) และสำนักพิมพ์ (Publishers) โดยสามารถสร้างเกมต่าง ๆ ประเภทเกมบนโต๊ะ (Tabletop Games) บอร์ดเกมหรือเกมกระดาน ลงในแพลตฟอร์มได้ด้วยตนเอง ด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลในเกม เช่น บอร์ด (Board), ตัวผู้เล่น (Meeple), การ์ด (Card), โทเค็น (Token), เหรียญ (Coin/Disk), ลูกเต๋า (Dice) สามารถแก้ไข บันทึกเกมที่สร้าง และเล่นเกมเหล่านั้นกับผู้อื่นทางออนไลน์ได้
เป็นแพลตฟอร์มสำหรับงานธุรกิจและการศึกษา (Business and Education) โดยผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล หรือโค้ช สามารถสร้างเกมเพื่อให้ผู้อื่นเล่นได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม การปฏิบัติงาน การประกอบอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งการใช้เกมในการจัดการเรียนรู้ (Gamification) เพื่อผู้เรียนได้
ภาพ 1 (ก) ตัวอย่างเกมจากประเทศไทยใน Tabletopia “Recharge บอร์ดเกมสายพันธุ์ไทย” https://tabletopia.com/games/recharge (นวพล กาบแก้ว, 2564)
ภาพ 1 (ข) ตัวอย่างเกมจากต่างประเทศใน Tabletopia
ที่มา : https://tabletopia.com/games
การใช้งาน Tabletopia
ผู้ต้องการใช้งาน Tabletopia สามารถเข้าถึงได้จากคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ผ่านเว็บเบราเซอร์ รองรับการใช้งานได้ทั้งระบบ Mac และ Windows หรือดาวน์โหลดได้จาก Steam, App Store และ Google Play ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. การลงทะเบียนผู้ใช้งาน Tabletopia
เข้าเว็บไซต์ https://tabletopia.com/ สำหรับการใช้งานครั้งแรก ให้คลิกที่ “Sign Up” เพื่อลงทะเบียนโดยใส่อีเมลและรหัสผ่าน หรือสามารถลงทะเบียนโดยการเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ของตนเองได้ เช่น Facebook, Google, Twitter
2. การ Log in เพื่อเข้าใช้งาน
เมื่อผู้ใช้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ต้องการเข้าใช้งานครั้งต่อ ๆ ไป ให้คลิกที่คำว่า “Log In” จากนั้นใส่อีเมลและรหัสผ่านที่ลงทะเบียนไว้ หรือ Log In โดยเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ของตนเอง
ภาพ 3 การ log In เพื่อเข้าใช้งาน Tabletopia
ที่มา : https://tabletopia.com/login
ในหน้าเมนู “PLAYGROUND” จะปรากฏเมนูย่อย 4 เมนู ได้แก่ “HOME”, “FIND & PLAY”, “ALL GAMES” และ “PLAYERS”
อธิบายพอสังเขปได้ดังต่อไปนี้
- เมนู “HOME” จะแสดงตัวอย่างเกมที่แนะนำสำหรับผู้เล่น ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เกมที่ออกใหม่ (New Releases) และตัวอย่างเกมตามประเภทต่าง ๆ เช่น เกมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้สนใจ (Crowdfunding) เกมอย่างง่าย (Easy to Learn) เกมคลาสสิก (Classic) เกมที่ช่วยเหลือกัน (Cooperative) เกมพรีเมียม (Premium) ดังภาพ 4
ภาพ 4 เมนู “HOME” ในเมนู PLAYGROUND ที่มา : https://tabletopia.com/
- เมนู “FIND & PLAY” ใช้สำหรับค้นหาเกมที่ต้องการเล่น โดยจะมีชื่อของผู้เล่นคนอื่น ๆ ที่กำลังออนไลน์ในขณะนั้น ชื่อเกมที่เล่น และจำนวนที่ว่างสำหรับผู้เล่นที่ต้องการเข้าร่วม ดังภาพ 5
ภาพ 5 เมนู “FIND & PLAY” ในเมนู Playground ที่มา : https://tabletopia.com/find-play
- เมนู “ALL GAMES” แสดงเกมทั้งหมดที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกเล่นเกมต่าง ๆ ได้จากเมนูนี้ โดยคลิกเลือกเล่นเกมที่ปรากฏอยู่ด้านล่าง ดังภาพ 6
ภาพ 6 เมนู “ALL GAMES” ในเมนู PLAYGROUND ที่มา : https://tabletopia.com/games
- เมนู “PLAYERS” แสดงชื่อของผู้เล่นที่กำลังออนไลน์อยู่ในขณะนั้น และเกมที่เล่น ดังภาพ 7
ภาพ 7 เมนู “PLAYERS” ในเมนู PLAYGROUND ที่มา : https://tabletopia.com/players
4. การสร้างเกมในหน้าเมนู WORKSHOP
ผู้ใช้งาน Tabletopia นอกจากสามารถเล่นเกมออนไลน์ต่าง ๆ ในหน้าเมนู PLAYGROUND แล้ว ยังสามารถสร้างเกมที่ต้องการในหน้าเมนู WORKSHOP ได้ฟรีจำนวน 1 เกม โดยสามารถจัดเตรียมเกมสำหรับการเล่นได้ 2 แบบ ในหน้าเมนูนี้จะมีเมนูย่อย 2 เมนู ได้แก่ “HOME” และ “OBJECTS” อธิบายพอสังเขปได้ดังต่อไปนี้
- เมนู “HOME” มีข้อมูลที่ควรศึกษาสำหรับการสร้างเกม ได้แก่ สร้างเกมได้อย่างไร การจัดเตรียมเกมเพื่อเริ่มเล่น วีดิทัศน์แนะนำการสร้างเกม และรายการตรวจสอบสำหรับนักออกแบบเกม ดังภาพ 8
ภาพ 8 เมนู “HOME” ในเมนู WORKSHOP ที่มา : https://tabletopia.com/workshop
- เมนู “OBJECTS” หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเล่นเกม ดังภาพ 9 ซึ่งผู้สร้างเกมสามารถเลือกใช้ได้อย่างหลากหลายและไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม ยิ่งใช้วัสดุอุปกรณ์ในเกมมากเท่าไร ยิ่งต้องใช้หน่วยความจำมากขึ้น และต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมเกมนานขึ้นเท่านั้น
ภาพ 9 เมนู “OBJECTS” ในเมนู WORKSHOP
ที่มา : https://tabletopia.com/workshop/objects/featured?accessType=CreativeCommon&ascending=false
บอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญา
บอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นบอร์ดเกมการศึกษา (Educational Board Game) ที่พัฒนาขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สอนสามารถสอนหัวข้อนี้ได้โดยใช้บอร์ดเกมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างและต่อยอดนวัตกรรมโดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ตลอดจนเรียนรู้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง เช่น การได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ รายละเอียดวิธีการเล่นบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาได้อธิบายไว้แล้วในนิตยสาร สสวท. ฉบับที่ 241 โดยสรุปวิธีการเล่นบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดังต่อไปนี้
ผู้เล่นจำนวน 4 คน แข่งขันกันรวบรวมการ์ดทรัพยากรเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ต้องการจากจำนวนทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ หลอดไฟ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ และรถยนต์ โดยแต่ละกลุ่มจะมีวิวัฒนาการของนวัตกรรม 3 ชั้น นวัตกรรมแต่ละชั้นอาจใช้ทรัพยากรในการสร้างแตกต่างกันได้ ผู้เล่นที่สร้างนวัตกรรมได้เป็นคนแรกจะมีสิทธิ์ตรวจสอบเงื่อนไขสิทธิบัตรการประดิษฐ์ คนที่สองจะมีสิทธิ์ตรวจสอบเงื่อนไขสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หากผ่านการตรวจสอบดังกล่าวจะได้ครอบครองสิทธิบัตร และจะได้รับเงินและคะแนนตามประเภทและระดับชั้นของนวัตกรรม หากสร้างได้ตรงกับกระแสสังคม (Trend) ในขณะนั้นจะได้รับคะแนนพิเศษ ผู้เล่นอาจใช้วิธีการต่อยอดนวัตกรรมจากผู้ครอบครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในชั้นที่ต่ำกว่าได้โดยจ่ายค่าเช่าสิทธิบัตร เกมจะจบเมื่อมีผู้เล่นคนใดคนหนึ่งได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของนวัตกรรมชั้นที่ 3 และผู้เล่นคนสุดท้ายในรอบนั้นเล่นจบ จากนั้นนับคะแนนและนับเงินของผู้เล่นแต่ละคน โดยเปลี่ยนเงินเป็นคะแนน ผู้เล่นที่ได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ
การนำบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญามาสร้างบน Tabletopia
การนำบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญามาสร้างบน Tabletopia อธิบายโดยสังเขปดังนี้ ในหน้าเมนู WORKSHOP จะเห็นเมนูย่อยใหม่เกิดขึ้น 1 เมนู คือ “MY GAMES” ในหน้านี้จะแสดงปุ่มสำหรับการจัดเตรียมเกม (CREATE SETUP) ให้พร้อมสำหรับการเล่นเกมนี้ และปุ่มสำหรับการแก้ไขต่าง ๆ (EDIT) ดังภาพ 10 (ก)
เมื่อคลิกที่ “MY GAMES” จะพบคำว่า “Setups” ซึ่งจะเป็นการจัดเตรียมเกม โดยจะมีข้อความว่า “Play Zone” แสดงขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับสร้างห้องเล่นเกมที่ปุ่มด้านล่าง จากนั้นจึงสร้างและจัดเตรียมบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาโดยใช้ OBJECTS ต่าง ๆ ดังอธิบายไปแล้ว (ภาพ 9) ในกรณีนี้จะเป็นการสร้างและเล่นบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาแบบส่วนตัว (Personal) เท่านั้น และเมื่อจัดเตรียมเกมบน Tabletopia เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีข้อความว่า “Published” เพื่อแสดงว่าเกมนี้พร้อมที่เล่นแล้ว จากนั้นเมื่อคลิกที่ห้องสำหรับเล่นเกม จะปรากฏ URL ที่ใช้สำหรับเล่นเกมทรัพย์สินทางปัญญาได้ ดังภาพ 10 (ข)
ภาพ 10 การนำบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญามาสร้างบน Tabletopia (ก) เมนู MY GAMES, ปุ่ม CREATE SETUP และปุ่ม EDIT
ภาพ 10 การนำบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญามาสร้างบน Tabletopia (ข) ข้อความ Setups, Play Zones, Published, ห้องเล่นเกม และ URL สำหรับเล่นเกม
การเล่นบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาบน Tabletopia
เมื่อผู้เล่นใส่ URL สำหรับห้องเล่นเกม จะพบกับชื่อเกมและที่ว่างสำหรับผู้เล่นคนอื่น ๆ โดยผู้เล่นที่เป็น Host สามารถเพิ่มที่ว่างตามจำนวนผู้เล่นที่ต้องการได้ ดังภาพ 11
ภาพ 11 เมื่อใส่ URL สำหรับห้องเล่นบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาบน Tabletopia
เมื่อ Host คลิกที่ปุ่ม Start (ผู้เล่นคนอื่น ๆ คลิกที่ปุ่ม JOIN) Tabletopia จะเริ่มต้นการจำลอง (LOADING) บอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นภาพสามมิติ ซึ่งอาจใช้เวลาสักครู่ และเมื่อบอร์ดเกมประมวลผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเห็นภาพบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาแบบสามมิติที่จัดเตรียมไว้แล้วสำหรับผู้เล่น 4 คน (รวม Host) ผู้สังเกตการณ์หรือผู้เล่นสำรอง 4 คน กระดานสำหรับเล่นเกม 3 กระดาน และกองการ์ดต่าง ๆ 5 กอง ดังภาพ 12
ภาพ 12 บอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาแบบสามมิติบน Tabletopia
ผู้เล่นแต่ละคนจะมีชุดอุปกรณ์แบบสามมิติสำหรับการเล่นเกมตามที่จัดเตรียมไว้แล้ว ดังภาพ 13 ซึ่งในระหว่างการเล่นเกม สามารถจัดวางการ์ดหรืออุปกรณ์แบบเรียงกัน ซ้อนกัน หรือใส่อุปกรณ์ในถุงบรรจุที่เตรียมไว้ก็ได้ตามความต้องการ
ภาพ 13 ตัวอย่างชุดวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้เล่นแต่ละคนตามที่จัดเตรียมไว้แล้ว
นอกจากนี้ ผู้เล่นสามารถใช้คำสั่งต่าง ๆ ในการเล่นบอร์ดเกมทรัพย์สินทางปัญญาแบบสามมิติบน Tabletopia โดยการใช้เมาส์ปรับเปลี่ยนมุมมองภาพจำลองบอร์ดเกมแบบสามมิติบน Tabletopia ได้โดยการคลิกเมาส์ด้านขวาค้างไว้ แล้วเลื่อนไปยังมุมมองที่ต้องการ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการใช้คำสั่งและคำอธิบาย จากการใช้เมาส์บนถุงใส่อุปกรณ์และการ์ดในบอร์ดเกม ดังตารางต่อไปนี้
ตาราง 1 ตัวอย่างคำสั่งและคำอธิบายจากการใช้เมาส์บนถุงใส่อุปกรณ์และการ์ดในบอร์ดเกม
ผู้เล่นสามารถศึกษาคำสั่งและคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่ https://tabletopia.com/ รวมทั้งตัวอย่างวิธีการใช้งาน Tabletopia (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=iCNGL25IXQk&t=1s นอกจากนี้ หากผู้เล่นต้องการจัดเตรียมเกมมากกว่า 1 เกม พร้อมพื้นที่สำหรับจัดเตรียมเกม ตลอดจนการใช้งานต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น สามารถอัปเกรดได้โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่ Tabletopia กำหนดไว้
ด้วยรูปลักษณ์เกมสามมิติที่สวยงามและน่าตื่นเต้นกับเสียงประกอบในเกมของ Tabletopia ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้เรียนแล้ว ยังช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่นบอร์ดเกมผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ Tabletopia ยังช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Student Engagement) โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการออกแบบบอร์ดเกมออนไลน์ที่สนใจได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเล่นเกมเหล่านั้นกับผู้อื่นได้อีกด้วย ผู้สอนสามารถนำ Tabletopia ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ได้ โดยสามารถจัดได้ทั้งในห้องเรียน ในสถานศึกษา และแบบออนไลน์จากที่ต่าง ๆ ก็ได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 243 กรกฎาคม – สิงหาคม 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/243/36/
บรรณานุกรม
นวพล กาบแก้ว. (2564). เว็บช่วยสอน. นิตยสาร สสวท, 49(230): 54–55.
นวพล กาบแก้ว. (2564). เว็บช่วยสอน. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก https://emagazine.ipst.ac.th/230/54/
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2565). คู่มือการเล่นเกมทรัพย์สินทางปัญญา. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2565, จาก https://citly.me/xcWpn
สยามชัย สุกใส. (2566). บอร์ดเกมสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญาสร้างเสริม: การสอนทรัพย์สินทางปัญญาโดยใช้บอร์ดเกม. นิตยสาร สสวท, 51(241): 45–48.
สยามชัย สุกใส. (2566). บอร์ดเกมสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญาสร้างเสริม: การสอนทรัพย์สินทางปัญญาโดยใช้บอร์ดเกม. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2566, จาก https://emagazine.ipst.ac.th/241/47/


