Smart Farm เกษตรดั้งเดิม สู่ เกษตร 4.0
ในสภาวะที่รอบตัวเราทุกคนในตอนนี้ขับเคลื่อนไปด้วยคำว่า Smart รวมไปถึงด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม กำลังต้องการพัฒนาไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม ด้วยแนวคิดและนโยบายภาครัฐไทยแลนด์ 4.0 โดยอาศัยกลไกในการขับคลื่อนที่สำคัญทางด้านบุคคลคือ เกษตรกร และด้านเทคโนโลยี
ภาพที่ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ
ที่มา ณัฐดนัย เนียมทอง
สำหรับบทความนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการเกษตรไทยแบบดั้งเดิม สู่เกษตร 4.0 หรือ เกษตรอัจฉริยะกันก่อน โดยนำเสนอรูปแบบเทคโนโลยีและยกตัวอย่างรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ เป็นแนวทางที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้นำไปศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป
สมาร์ทฟาร์ม หรือ เกษตรอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่ โดยเน้นรูปแบบการบริหารจัดการดูแล พื้นที่เพาะปลุก สภาพแวดล้อม หรือ ดิน น้ำ อากาศ และแสง ให้อยู่ในการควบคุมโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ โดยมีความแม่นยำสูงโดยเน้นเรื่องสำคัญ 3 เรื่องคือ
(1) สารสนเทศหรือข้อมูลการการทำการเกษตร
(2) เทคโนโลยีในการจัดการและดูแล
(3) การบริหารจัดการ
การเกษตรอัจฉริยะมักมีการนำอิเล็กทรอนิกส์ เซ็นเซอร์ มาช่วยในกระบวนการผลิตหรือกระบวนการเพาะปลูก โดยเน้นการประยุกต์ใช้ระบบที่มีการทำงานแบบอัตโนมัติ เปลี่ยนแปลงจากการทำในรูปแบบเดิมที่เน้นการจัดการหรือทำงานโดยการใช้คนงานหรือแรงงาน
การนำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT มาใช้งาน
เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากคือ IoT ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในการปลูกผักแบบโรงเรือนขนาดเล็ก หรือพื้นที่น้อย เช่นแปลงผักเพาะปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกแบบพืชไร้ดิน รองรับการทำงานโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความชื้น มาควบคุมแปลงเกษตรอัจฉริยะที่สามารถจัดการได้อย่างง่าย ๆ สำหรับเกษตรกรยุคใหม่ โดยมีความง่ายในการจัดเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา วางแผนการผลิต ลดความเสี่ยง ควบคุมคุณภาพได้อย่างแม่นยำ
ภาพที่ 2 แปลงเกษตรอัจฉริยะ
ที่มา ณัฐดนัย เนียมทอง
ตัวอย่างการใช้ IoTs เข้ามาใช้ในระบบตรวจสอบความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิในอากาศ และปริมาณแสงในโรงเรือน ซึ่งเป็นการทำงานโดยรับข้อจากอุปกรณ์ระบบเซ็นเซอร์ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านบอร์ดประมวลผลประเภทไมโครคอนโทรลเลอร์ โดยจะเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นในการแสดงผล ตั้งค่า เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสั่งการไปยังอุปกรณ์ปลายทางที่ให้ความชื้น ให้แสง เป็นต้น
ภาพที่ 3 ส่วนประมวลผลประเภทไมโครคอนโทรลเลอร์
ที่มา ณัฐดนัย เนียมทอง
ภาพที่ 4 ตัวอย่างตัววัดความชื้อในอากาศ ตัวพรมน้ำ การให้แสงสว่าง
ที่มา ณัฐดนัย เนียมทอง
อาจมีการใช้ระบบท่อน้ำหยดใต้ดิน โดยมีการทำงานแบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจวัดความชื้น โดยอาจมีการให้ปุ๋ยและน้ำผ่านระบบน้ำหยดนี้ ซึ่งควบคุมระบบผ่านเซ็นเซอร์ โดยการจ่ายน้ำหรือปุ๋ยนั้น ถูกควบคุมการทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นอีขั้นหนึ่ง โดยต้องได้ข้อมูลจากสภาพความชื้นในอากาศและในดิน ผ่านการส่งข้อมูลจาก เซ็นเซอร์วัดความชื้น (Humidity Sensor) ที่ถูกติดตั้งเหนือดินและใต้ดิน ทั้งนี้ เมื่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับพบความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำไป ระบบจะสั่งการปั๊มน้ำให้ทำงาน และพรมน้ำออกมา ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องใช้คนงานในการทำงานระบบ อีกทางหนึ่งก็มีการใช้ควบคุมการทำงานของการให้แสงสว่างด้วยพลังงานไฟฟ้าจากระบบ แผงโซล่าร์เซลล์ด้วย
วิวัฒนาการและพัฒนาการเกษตรของไทยได้เปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และตามกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก ซึ่งเกษตรกรไทยก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นเกษตรกรแห่งยุคสมัยใหม่ได้เช่นกัน
แหล่งที่มา
Branded Content (2560, 31 มีนาคม). ทำไมเกษตรกรไทยต้องใช้ IoTs? หาคำตอบได้ที่ “ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560, จาก
https://brandinside.asia/dtac-smart-farmer-iots/
Thanawat Deemod (2558, 14 มิถุนายน). การเพาะปลูกแบบ Smart Farm. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560, จาก
http://archive.cmmakerclub.com/2015/06/micro/arduino-2/การเพาะปลูกแบบ-smart-farm/
-
7751 Smart Farm เกษตรดั้งเดิม สู่ เกษตร 4.0 /index.php/article-technology/item/7751-smart-farm-4-0เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง