เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) Security
เมื่อพูดถึง Internet of Things ที่เรียกสั้นๆว่า IoT เราสามารถแปลได้ตรงตัวว่า "อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง" หรือ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” คือการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต การเชื่อมโยงนี้ง่ายจนทำให้เราสามารถสั่งการ ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี Internet of Things นี้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพที่ตรงใจผู้ใช้ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ยิ่งไปกว่านั้น Internet of Things มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางธุรกิจ ทางสังคม หรือแม้แต่ช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้
ภาพตัวอย่างอุปกรณ์ในการยืนยันตัวตนรูปแบบ 2-Factor Authentication
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:CryptoCard_two_factor.jpg , Brian Ronald
เทคโนโลยี Internet of Things มีประโยชน์ในหลายด้านทั้งเรื่องการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและเป็นปัจจุบัน ช่วยลดต้นทุน แถมยังช่วยเพิ่มผลผลิตของพนักงานหรือผู้ใช้งานได้ แต่แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ตย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อข้อมูลเหล่านั้น ยิ่งอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นเท่าไหร่ เครือข่ายของ IoT ก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้นและข้อมูลที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นก็จะมีความเสี่ยง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย หาวิธีป้องกันที่สามารถรับมือกับเหล่า Hacker หรือผู้ไม่หวังดีที่ต้องการโจมตีเครือข่าย ขโมยข้อมูลหรือใช้ช่องโหว่ในการเข้าควบคุมเครือข่าย ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทาง IoT จึงจำเป็นต้องพัฒนามาตรการและระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อให้ธุรกิจและการใช้งาน IoT สามารถดำเนินต่อไปได้
ด้วยเหตุนี้จึงมี Internet Of Things (IoT) Security เกิดขึ้น เทคโนโลยีด้าน IoT Security ที่มีความน่าสนใจจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การพิสูจน์ตัวตนบน Internet Of Things (IoT) การพิสูจน์ตัวตนช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ใครเป็นเจ้าของอุปกรณ์ Internet Of Things (IoT) รวมไปถึงสามารถบริหารจัดการผู้ใช้เมื่อมีการใช้อุปกรณ์เช่น รถยนต์อัจฉริยะ ร่วมกันได้ การพิสูจน์ตัวตนบนอุปกรณ์ Internet Of Things (IoT) จะเริ่มเปลี่ยนจากการใช้รหัสผ่านหรือ PIN แบบเดิมๆ ไปเป็นการใช้การพิสูจน์ตัวตนที่ทันสมัยและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น 2-Factor Authentication เป็นวิธีการยืนยันตัวตนรูปแบบหนึ่ง ที่จะต้องให้ผู้ใช้งานใส่รหัสอีกหนึ่งชุด นอกเหนือจาก password ของเราเอง และรหัสนี้ยังมีเวลาหมดอายุอีกด้วย โดยจะมีอายุประมาณ 20 วินาที ใครใส่ไม่ทัน ก็จะมีรหัสชุดใหม่ถูกสร้างออกมา หรือจะเป็น Digital Certificate คือใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้บ่งบอกถึงความมีตัวตนของผู้ ใช้ ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certification Authority : CA) ทำให้ผู้ที่ประกอบธุรกรรมต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถมั่นใจได้ว่าบุคคลหรืออุปกรณ์เครือข่าย เช่น Web Server ที่ทำการติดต่อด้วยมีตัวตนจริง และ Biometrics คือวิธีการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพหรือพฤติกรรม มาใช้ในการตรวจสอบสิทธิหรือแสดงตน เช่น ลายนิ้วมือ เสียง ม่านตา ใบหน้า ดีเอ็นเอ ลายเซ็น เพื่อป้องกันการโจมตี
อีกอย่างหนึ่งคือ Security Analytics บน Internet of Things เราสามารถใช้อุปกรณ์ Internet of Things เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาเหตุการณ์ที่ผิดปกติ หรือขัดกับนโยบายด้านความปลอดภัยได้ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะมีการนำ AI, Machine Learning และ Big Data Analytics เข้ามาใช้สำหรับการคาดการณ์และตรวจจับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ รวมไปถึงลดอัตราการเกิด False Positive หรือผลลวงได้ การทำ Security Analytics บนอุปกรณ์ IoT นี้จะเข้ามาปิดจุดอ่อนของระบบรักษาความปลอดภัยแบบเดิมที่ไม่สามารถตรวจจับและป้องกันการโจมตีที่พุ่งเป้าอุปกรณ์ IoT ได้
จากที่ได้กล่าวไป เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT จะช่วยเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของเราและสังคมรอบข้างไปในทางที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ แต่เราก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลเราด้วยเช่นกันดังนั้นในฐานะผู้ใช้เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Internet of Things และระมัดระวังในการใช้งานเพื่อให้ไม่เกิดความประมาท
แหล่งที่มา
สุธีร์ กิจเจริญการกุล. (2561, 11 มกราคม). 6 เทคโนโลยีด้าน IoT Security สุดฮอตที่ควรจับตามอง. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2562. จาก https://www.catcyfence.com/it-security/article/6-technology-in-iot-security/
Byrd. (2562, 12 สิงหาคม). IoT คืออะไร? เราจะมาอธิบายอย่างง่ายๆให้คุณเข้าใจ. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2562. จาก https://siambc.com/iot-คืออะไร-เราจะมาอธิบายอ/
Zakura Kim. (2560, 12 สิงหาคม). IoT (Internet of Things) คืออะไร เทคโนโลยีอะไรที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตคนยุคดิจิทัลให้ดีขึ้นบ้าง. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2562. จาก https://www.iphonemod.net/what-is-iot-internet-of-things-true-iot.html
-
10988 เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) Security /article-technology/item/10988-internet-of-things-iot-securityเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง