ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ
ในทุกๆ ระบบนิเวศจะต้องมีความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตร่วมกันและเกิดการถ่ายทอดพลังงานและมวลสาร การถ่ายทอดมวลสารจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เมื่อมีการตาย กลายเป็นเศษซาก หรือมีการขับถ่ายของเสีย สารประกอบอินทรีย์เหล่านี้จะถูกผู้ย่อยสลายเปลี่ยนแปลงให้เป็นสารอนินทรีย์ปะปนอยู่ในแหล่งธรรมชาติต่างๆ สารประกอบเหล่านี้บางตัวจะอยู่ในรูปที่สิ่งมีชีวิตอื่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เกิดการหมุนเวียนธาตุจากสิ่งมีชีวิตสู่สิ่งแวดล้อม และจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่สิ่งมีชีวิต หมุนเวียนเป็นวัฏจักรเพื่อรักษาสมดุลของสภาพธรรมชาติไว้ สิ่งมีชีวิตต้องการสารต่าง ๆ มาใช้เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นธรณีภาค อุทกภาค หรือแม้แต่ในบรรยากาศ ต่างก็มีสารที่สิ่งมีชีวิตปะปนเป็นองค์ประกอบอยู่ทั้งสิ้น สารต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหมุนเวียนจากภาคหนึ่งไปสู่อีกภาคหนึ่งได้ หรืออาจหยุดชั่วคราวไม่หมุนไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้
วัฏจักรของสาร (Biogeochemical cycle) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของสารหนึ่งไปอีกสารหนึ่ง มีการเปลี่ยนตำแหน่งจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งหรือจากสิ่งมีชีวิตชนิดชนิดหนึ่งไปยังอีกชนิดหนึ่ง แต่ในที่สุดจะหมุนเวียนกลับไปยัง สภาพเดิมอีก วัฏจักรของสารหรือการหมุนเวียนของสาร เป็นการหมุนเวียนจากสิ่งไม่มีชีวิตผ่านสิ่งมีชีวิต แล้วหมุนเวียนกลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม องค์ประกอบตามธรรมชาติว่าด้วย สิ่งมีชีวิต ดำรงชีวิตโดยใช้แร่ธาตุและสารจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะพบแร่ธาตุต่างๆ อยู่ตามธรรมชาติ ในรูปของสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรของสาร โดยในบทเรียนนี้นักเรียนจะได้ศึกษาวัฏจักรของสารเบื้องต้น ดังนี้
วัฏจักรของน้ำ น้ำจัดเป็นทรัพยากรที่สามารถเกิดการหมุนเวียนทดแทนขึ้นใหม่ได้ น้ำประมาณ 97 % เป็นน้ำในมหาสมุทร และอีก 3% เป็นน้ำที่ขั้วโลก แม่น้ำลำธาร น้ำใต้ดิน และอื่น ๆ ในการหมุนเวียนของน้ำเริ่มจากแสงแดดที่ส่องมายังโลก โดยใช้พลังงานจากแสงแดดนี้จะมีผลต่อการละเหยและการคายน้ำของพืช เมื่อไอน้ำตกกระทบความเย็นจะเกิดการควบแน่น (Condensation) แล้วตกมาสู่แผ่นดินและมหาสมุทรหมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป จึงทำให้เกิดวัฏจักรของน้ำ แบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้
1.วัฏจักรสั้น (Short cycle) เป็นวัฏจักรที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากพื้นน้ำ และพื้นดินระเหย กลายเป็นไอลอยขึ้นไปในบรรยากาศแล้วกลั่นตัวกลายตกลงมาเป็นน้ำฝนหมุนเวียนกลับ สู่พื้นดินและพื้นน้ำต่อไป
2.วัฏจักรยาว (Long cycle) เป็นวัฏจักรที่เกี่ยงข้องกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต วัฏจักรนี้เริ่มจากน้ำ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นดินและพื้นน้ำ น้ำที่ได้จากการคายน้ำของพืชจากการหายใจ จากร่างกายของพืชและสัตว์ เมื่อสิ่งมีชีวิตตายลง ในน้ำในร่างกายจะระเหยกลายเป็นไอ ลอยตัวอยู่ในบรรยากาศแล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำตกลงมาเป็นฝน หมุนเวียนกลับคืนสู่พื้นน้ำพื้นดิน และสิ่งมีชีวิตอีกด้วย หมุนเวียนเป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป
ภาพตัวอย่างการเกิดวัฏจักรของน้ำ
ที่มา https://nawattagum.wordpress.com
วัฏจักรคาร์บอน หมายถึง คาร์บอนเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต เป็นองค์ประกอบของสารพันธุกรรม เป็นองค์ประกอบของโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต สิ่งมีชีวิตได้รับคาร์บอนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกพืชได้รับคาร์บอนจากอากาศในรูปคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนั้นคาร์บอนบางส่วนอยู่ในรูปสารละลายกรดคาร์บอนิกแทรกซึมอยู่ในดิน แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีกระบวนการหมุนเวียนออกจากสิ่งมีชีวิตผ่านสิ่งไม่มีชีวิตสู่บรรยากาศมีการหมุนเวียนกันไปเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุดโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกเปลี่ยนเป็นอินทรียสารที่มีพลังงานสะสมอยู่ ต่อมาสารอินทรียสารที่พืชสะสมไว้บางส่วนถูกถ่ายทอดไปยังผู้บริโภคในระบบต่าง ๆ โดยการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากสิ่งมีชีวิตคืนสู่บรรยากาศและน้ำได้หลายทาง ได้แก่ การหายใจของพืชและสัตว์ การย่อยสลายและการขับถ่ายของสัตว์และที่เป็นตัวการในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยกาศเป็นจำนวนมากคือการเผ่าไหม้ของถ่านหิน น้ำมัน และคาร์บอเนต
การเผาไหม้ถือว่าเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มามาก เช่น การเผาไหม้ไม้ ถ่านหินและปิโตรเลียมเปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้อย่างรวดเร็วมาก ก๊าซคาร์ไดออกไซด์จากการเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรมและจากรถยนต์อาจทำให้ปริมาณก๊าซชนิดนี้ในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณก๊าซซึ่งรักษาระดับคงที่มาเป็นเวลาหลายพันล้านปีอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี อาจทำให้วัฏจักรคาร์บอนในระบบนิเวศไม่สมดุลอีกต่อไป
ภาพตัวอย่างการเกิดวัฏจักรคาร์บอน
ที่มา https://sites.google.com/a/samakkhi.ac.th/rabb-niwes-m-3-10/watcakr-khxng-sar/watcakr-kharbxn
วัฏจักรไนโตรเจน ไนโตรเจนในรูปของแก๊สมีอยู่ในบรรยากาศมากถึง 78 % และเป็นธาตุที่มีอยู่ในโมเลกุล ของคลอโรฟิลล์และโปรตีน สิ่งมีชีวิตจะใช้ไนโตรเจนในรูปของโปรตีน พืชบางชนิดจะนำ ไนโตรเจนมาใช้โดยอาศัย แบคทีเรียเช่น ไรโซเบียม อาศัยอยู่ร่วมกับรากตระกูลถั่ว ซึ่งมีความสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศและในดินแล้วเปลี่ยนให้เป็นสารประกอบไนโตรเจน ได้แก่ ไนเตรต และเกลือแอมโมเนีย ที่มีสมบัติละลายน้ำได้ พืชจะดูดซึมสารประกอบไนโตรเจน แล้วนำมาสังเคราะห์เป็นโปรตีน ไนโตรเจนเป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชปัจจุบันมนุษย์ได้นำธาตุไนโตรเจน มาทำเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี เป็นส่วนมาก ซึ่งทำให้ผลผลิตของพืชเพิ่มขึ้น แต่กลับส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ภาพตัวอย่างการเกิดวัฏจักรไนโตรเจน
ที่มา http://tom.ji42.com/?p=22660
วัฏจักรฟอสฟอรัส กระบวนการที่ฟอสฟอรัสถูกหมุนเวียนจากดินสู่ทะเลและจากทะเลสู่ดิน ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า กระบวนการการตกตะกอน ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติเพียงน้อยมาและเกิดขึ้นจากการ เปลี่ยนแปลง ของธรณีวิทยา ฟอสฟอรัสนำมาใช้หมุนเวียนระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ในปริมาณจำกัด ฟอสฟอรัสจะหายไปในห่วงโซ่อาหาร ในลักษณะตกตะกอนของสารอินทรีย์ ไปสู่พื้นน้ำ เช่น ทะเล แหล่งน้ำต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งของฟอสฟอรัสจะอยู่ในรูปของสารประกอบ ซึ่งทับถมกันเป็นกองฟอสเฟต รวมทั้งโครงกระดูก เปลือกหอย และซากปะการังใต้ทะเล และมหาสมุทร โพรติสต์ในทะเล ที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ สามารถนำเอาสารประกอบฟอสเฟตเหล่านี้ไปใช้ได้ ทำให้มีปริมาณแพลงก์ตอนพืชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แพลงก์ตอนนพืชเหล่านี้ถูกกิน โดยแพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์อื่นๆ ต่างกินกันต่อ ๆ ไปตามห่วงโซ่อาหาร ๆ ฟอสฟอรัสจะถูกถ่ายทอดไป ตามลำดับขั้นเช่นเดียวกัน จนกระทั่งในที่สุดสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านั้นตาย หรือขับถ่ายลงน้ำ จะมีจุลินทรีย์บางพวกเปลี่ยนฟอสฟอรัส ให้เป็นสารประกอบฟอสเฟตอยู่ในน้ำอีกครั้ง
ภาพตัวอย่างการเกิดวัฏจักรฟอสฟอรัส
ที่มา https://sites.google.com/a/samakkhi.ac.th/rabb-niwes-m-3-10/watcakr-khxng-sar/watcakr-fxsfxras
แหล่งที่มา
วันทนีย์ หมวดเมือง. วัฏจักรของสารในระบบนิเวศ. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2562, จาก http://www.kuchinarai.ac.th/document/wanthanee/tree.pdf
วัฏจักรของสารในระบบนิเวศ . สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2562, จาก https://sites.google.com/a/nps.ac.th/sawai2558/withyasastr/kar-hmunweiyn-khxng-sar-ni-rabb-niwes
กลับไปที่เนื้อหา
ห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ
ในธรรมชาติ การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มักมีความเกี่ยวข้องกัน "การที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งกินสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งเพื่อที่จะดำรงชีวิต" พฤติกรรมตามธรรมชาตินี้เรียกว่า ห่วงโซ่อาหาร (Food chain) และในห่วงโซ่อาหารจะมีความเชื่อมโยงกัน หรือที่เราเรียกว่า สายใยอาหาร (Food web) โดยทั่วไปในห่วงโซ่อาหารหนึ่งๆ จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่น้อยกว่า 6 ชนิด แต่ในหนึ่งสายใยอาหารอาจมีมากกว่า 1,000 ชนิด พลังงานเริ่มต้นในระบบนิเวศคือแสงอาทิตย์ ถูกเปลี่ยนไปเป็นโมเลกุลของแป้งและน้ำตาลโดยผู้ผลิต ซึ่งได้แก่ พืชสีเขียว พลังงานนี้ถูกถ่ายทอดต่อไปจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค การถ่ายทอดพลังงานดังกล่าวแสดงได้ด้วยห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหาร
สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในระบบนิเวศต่างก็มีบทบาทในการถ่ายทอดพลังงาน ซึ่งสิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ บทบาทด้านพลังงานของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศจากพืชผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคพืช ผู้บริโภคสัตว์ ผู้บริโภคทั้งพืชและสัตว์ และผู้ย่อยสลายอินทรียสาร ตามลำดับดังนี้
-
ผู้ผลิต (producer) คือสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้ทั้งหมดในระบบนิเวศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดโดยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสง เนื่องจากมีคลอโรฟีลล์เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ พืชสีเขียว สาหร่าย โพรทิสต์ รวมทั้งแบคทีเรียบางชนิด สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นพลังงานเคมีและเก็บไว้ในโมเลกุลของสารอาหารพวกแป้งและน้ำตาล จากนั้นจะถ่ายทอดพลังงานนี้ให้กับกลุ่มของ ผู้บริโภคต่อไป นอกจากนี้พืชที่ดักจับแมลงได้ เช่น ต้นสาหร่ายข้าวเหนียว เพราะสามารถสังเคราะห์อาหารจากแสงได้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงเช่นเดียวกับพืชสีเขียวทั่วไป
-
ผู้บริโภค (consumer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารได้เอง ต้องอาศัยการบริโภคผู้ผลิตหรือผู้บริโภคด้วยกันเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีพ ผู้บริโภคยังสามารถแบ่งออกตามลักษณะและการกินได้ดังนี้
- ผู้บริโภคพืช (herbivore) ถือเป็นผู้บริโภคลำดับที่หนึ่ง เช่น กระต่าย วัว ควาย ม้า กวาง ช้าง เป็นต้น
- ผู้บริโภคสัตว์ (carnivore) ถือเป็นผู้บริโภคลำดับที่สอง เช่น เหยี่ยว นกฮูก เสือ งู เป็นต้น
- ผู้กินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore) ถือเป็นผู้บริโภคลำดับที่สาม เช่น ไก่ นก แมว สุนัข คน เป็นต้น
- ผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์ (scavenger) ถือว่าเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย เช่น แร้ง ไส้เดือนดิน กิ้งกือ ปลวก เป็นต้น
- ผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์ (decomposer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ ดำรงชีพอยู่ได้โดยการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ใช้เป็นพลังงาน ดังนั้นผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์จึงเป็นผู้ที่ทำให้ สารอนินทรีย์หรือแร่ธาตุต่าง ๆ หมุนเวียนกลับคืนสู่ระบบนิเวศ และผู้ผลิตสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตอีกด้วย
ห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหาร
ห่วงโซ่อาหาร (Food chain) หมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในเรื่องของการกินต่อกันเป็นทอดๆ จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ทำให้มีการถ่ายทอดพลังงานในอาหารต่อเนื่องเป็นลำดับจากการกินต่อกัน เป็นลำดับเชื่อมโยงเส้นตรงในสายใยอาหารโดยเริ่มจากพืชและต่อด้วยสัตว์กินพืชจากนั้นจะเกิดการกินเป็นทอดๆ ห่วงโซ่อาหารแตกต่างจากสายใยอาหาร เพราะสายใยมีเครือข่ายความสัมพันธ์การกินที่ซับซ้อน แต่ห่วงโซ่มีเส้นทางการกินเพียงอย่างเดียวเป็นเส้นตรงเท่านั้น ตัววัดทั่วไปที่ใช้บอกจำนวนโครงสร้างเชิงอาหารของสายใยอาหารคือ ความยาวห่วงโซ่อาหาร ในรูปแบบง่ายที่สุด ความยาวของห่วงโซ่อาหาร คือ จำนวนเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับฐานของสายใย และความยาวโซ่เฉลี่ยของสายใยทั้งหมด คือ ค่าเฉลี่ยเลขคณิตของความยาวห่วงโซ่ทั้งหมดในสายใยอาหาร
ในการเขียนโซ่อาหาร ให้เขียนโดยเริ่มจากผู้ผลิต อยู่ทางด้านซ้าย และตามด้วยผู้บริโภคลำดับที่ 1, ผู้บริโภคลำดับที่ 2, ผู้บริโภคลำดับที่ 3 ต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงผู้บริโภคลำดับสุดท้าย และเขียนลูกศรแทนการถ่ายทอดพลังงานจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังอีก สิ่งมีชีวิตหนึ่ง หรือ เขียนให้หัวลูกศรชี้ไปทางผู้ล่า และปลายลูกศรหันไปทางเหยื่อนั่นเอง
ชนิดของโซ่อาหาร
-
ห่วงโซ่อาหารแบบผู้ล่า(Predator chain or Grazing food chain) เริ่มจากผู้ผลิตคือพืช ตามด้วยผู้บริโภคอันดับต่างๆ การถ่ายทอดพลังงานจึงประกอบด้วย ผู้ล่า (Predator) และเหยื่อ (Prey) ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารที่เป็นการกินกันของสัตว์ผู้ล่า (สัตว์กินพืช สัตว์กินเนื้อ)อาจเป็นพวกขูดกิน (Grazing food chain) ซึ่งห่วงโซ่เริ่มต้นที่สัตว์พวกขูดกินอาหาร เช่น หอยทากและสัตว์กินพืชอื่นๆ เช่น สัตว์เคี้ยวเอื้อง
ผักกาด ---- > หนอน ---- > นก ---- > คน
-
ห่วงโซ่อาหารแบบปรสิต(Parasitic chain) เริ่มจากผู้ถูกอาศัย (Host) ถ่ายทอดพลังงานไปยังปรสิต
(Parasite) และต่อไปยังปรสิตอันดับสูงกว่า (Hyperparasite) โดยภายในห่วงโซ่นี้จะใช้การเกาะกินซึ่งกันและกัน เป็นห่วงโซ่อาหารที่เริ่มต้นจากภาวะปรสิต ตัวอย่างเช่น
ไก่ ---- > ไรไก่ ---- > โปรโตซัว ---- > แบคทีเรีย
-
ห่วงโซ่อาหารแบบเศษอินทรีย์(Detritus chain) โดยลักษณะห่วงโซ่อาหารจะเริ่มต้นจากการย่อยสลายซากอินทรีย์โดยพวกจุลินทรีย์ ได้แก่ เห็ดรา แบคทีเรีย หรือซากพืชหรือซากสัตว์ (Detritus) สิ่งที่ไม่มีชีวิตถูกผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์กัดกิน และผู้บริโภคซากอาจถูกกินต่อโดยผู้บริโภคสัตว์ ตัวอย่างเช่น
ซากพืชซากสัตว์ ---- > ไส้เดือนดิน ---- > นก ---- > งู
-
ห่วงโซ่อาหารแบบผสม(Mixed chain) เป็นการถ่ายทอดพลังงานระหว่างสิ่งมีชีวิตหลายๆ ประเภท อาจมีทั้งแบบผู้ล่า และปรสิต เช่น จากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคพืช และไปยังปรสิต ลักษณะโซ่อาหารแบบผสม โดยมีการกินกัน และมีปรสิต เช่น
สาหร่ายสีเขียว ---- > หอยขม ---- > พยาธิใบไม้ ---- > นก
สายใยอาหาร (food web) เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีการถ่ายทอดพลังงานที่ซับซ้อน แสดงถึงการถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศอย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วยความสัมพันธ์ของโซ่อาหารที่หลากหลายในระบบนิเวศ
ภาพสายใยอาหารในระบบนิเวศทุ่งนา
ที่มา พจนา เพชรคอน
จากแผนภาพสายใยอาหาร จะสังเกตเห็นได้ว่าต้นข้าวที่เป็นผู้ผลิตในระบบนิเวศนั้น สามารถถูกสัตว์หลายประเภทบริโภคได้ คือ มีทั้ง วัว ตั๊กแตน ไก่ และ ผึ้ง จัดเป็นสัตว์ที่เป็นผู้บริโภคลำดับที่ 1 และสัตว์ เหล่านั้น ก็สามารถจะเป็นเหยื่อของสัตว์อื่น และยังเป็นผู้บริโภคสัตว์อื่นๆ ได้เช่นกัน ส่วน ไก่ สามารถจะบริโภคตั๊กแตนได้ และในขณะเดียวกัน ไก่ก็มีโอกาสที่จะถูกงูบริโภคได้เช่นกัน ดังนั้นสัตว์บางชนิดในระบบนิเวศจึงสามารถเป็นที่ทั้งเหยื่อและผู้ล่า
แหล่งที่มา
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ.วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. กรุงเทพฯ: บริษัทพัฒนาคุณวิชาการ จำกัด; 2550.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๗ / เรื่องที่ ๓ ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับ สิ่งมีชีวิต / ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2562, จาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=17&chap=3&page=t17-3-infodetail04.html
กลับไปที่เนื้อหา
-
10322 ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ /lesson-biology/item/10322-2019-05-13-06-00-45เพิ่มในรายการโปรด