อาณาจักรสัตว์
อาณาจักรสัตว์ (1)
อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia หรือ Metazoa) ปัจจุบันอาณาจักรสัตว์จัดเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ บางพวกเซลล์ยังไม่รวมกลุ่มเป็นเนื้อเยื่อ เช่น พวกฟองน้ำ สิ่งที่เหมือนกันในกลุ่มสัตว์ คือ เป็นพวกเฮเทอโรโทรปซึ่งไม่สามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง (Heterotrophic Organism) หรือในแง่ของนิเวศวิทยาจัดสัตว์ไว้ในกลุ่มผู้บริโภค (Consumer) ต้องได้อาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดี
ภาพที่ 1 ความหลากหลายของอาณาจักรสัตว์
ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/ea/Animal_diversity.jpg, MathKnight
กำเนิดของสัตว์อาณาจักรสัตว์ การศึกษาเสนอว่าบรรพบุรุษของสัตว์มีวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษของฟังใจ โดยบรรพบุรุษร่วมอาจมีลักษณะคล้ายโคแอนโนแฟลเจลเลต (Choanoflagellate) ในปัจจุบัน แต่หลักฐานแรกทางซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ที่ยอมรับได้มีลักษณะคล้ายสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) พบซากดึกดำบรรพ์มากขึ้นในต่อ ๆ มาซึ่งเกิดจากการแพร่กระจายของสัตว์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแก๊สออกซิเจนมากพอที่สัตว์ใช้ในการดำรงชีวิต ทำให้สัตว์ต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด
ลักษณะของสัตว์ โดยทั่วไปเราสามารถแยกสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ได้โดยใช้ลักษณะดังต่อไปนี้
-
เป็นเซลล์ชนิดยูคาริโอต (Eucaryotic Cell)
-
เป็นผู้บริโภคตลอดชีวิตเพราะสังเคราะห์อาหารเองไม่ได้
-
มีหลายเซลล์ (Multicellular) บางพวกยังไม่มีเนื้อเยื่อแต่ส่วนใหญ่หลายเซลล์รวมกันเป็นเนื้อเยื่อเป็นอวัยวะ และเป็นระบบอวัยวะ
-
การเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ตอบสนองสิ่งเร้าได้อย่างรวดเร็ว บางชนิดอาจมีการเคลื่อนที่บางช่วงของชีวิต เช่น ฟองน้ำ ในระยะเป็นตัวอ่อนจึงจะมีการเคลื่อนที่
ลักษณะต่าง ๆ ที่ใช้แยกกลุ่มของสัตว์
-
ลักษณะโครงสร้างภายนอก หากมีลักษณะเหมือน ๆ กันจัดไว้กลุ่มเดียวกัน
-
เนื้อเยื่อสัตว์ บางชนิดยังไม่แยกเนื้อเยื่อออกเป็นชั้น ๆ เช่น ฟองน้ำสัตว์ บางพวกมีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น (Diploblastic) บางพวกมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น (Triploblastic)
พวกที่มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้โดยใช้ช่องว่างลำตัว (Coelom; coel =ช่องว่าง)
ก. พวกที่ไม่มีช่องว่างในลำตัว (Acoelomate) คือ ไม่มีช่องว่างในชั้นของเนื้อเยื่อหรือระหว่างชั้นของเนื้อเยื่อ ได้แก่ หนอนตัวแบน
ข. พวกที่มีช่องว่างเทียมในลำตัว (Pseudocoelomate; pseudo = เทียม) คือ ช่องว่างที่ไม่ได้อยู่ในเนื้อเยื่อชั้นกลาง (Mesoderm) ช่องว่างนั้นอาจอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นนอก (Ectoderm) กับเนื้อเยื่อชั้นกลาง หรืออยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นกลางกับเนื้อเยื่อชั้นใน (Endoderm) สัตว์ในกลุ่มนี้ได้แก่ หนอนตัวกลม บางพวกมีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ได้แก่ หนอนตัวกลม โรติเฟอร์ (Rotifer)
ค. พวกที่มีช่องว่างที่แท้จริง (Coelomate) หมายถึง สัตว์ที่มีช่องว่างอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นกลาง (mesoderm) ได้แก่ กุ้ง ปู แมลง หอย ไส้เดือนดิน และสัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นต้น
- สมมาตร (Symmetry) การแบ่ง 2 ซีกที่มีลักษณะเหมือนกันเรียกว่า สมมาตร แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
ก. สมมาตรแบบครึ่งซีกหรือแบบด้านข้าง (Bilateral Symmetry) สัตว์พวกนี้ผ่าได้ในแนวเดียวเท่านั้น ที่ให้ซีกซ้ายและซีกขวาเหมือนกัน พบใน ไส้เดือนดิน หอย สัตว์ที่มีขาเป็นปล้อง (Arthropod) หนอนตัวกลม หนอนตัวแบน และสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด
ข. สมมาตรแบบรัศมี (Radial Symmetry) แบ่งตามรัศมีแล้วได้สมมาตรทุกครั้ง สัตว์เหล่านี้จะมีรูปโคน (Cone Shape) หรือรูปกรวยหรือรูปจาน ได้แก่ แมงกะพรุน ไฮดรา หวีวุ้น
-
โครงร่างแข็งหรือกระดูก (skeleton) บางชนิดมีโครงร่างแข็งอยู่นอกร่างกาย (Exoskeleton) เช่น กุ้ง ปู บางชนิดมีโครงร่างแข็งอยู่ภายในร่างกาย (Endoskeleton) เช่น สัตว์มีกระดูกสันหลัง
-
การมีปล้อง (Segmentation) ที่เกิดจากเนื้อเยื่อชั้นกลางสัตว์ที่ไม่มีปล้อง ได้แก่ ฟองน้ำแมงกะพรุน เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่มีปล้อง ได้แก่ ไส้เดือนดิน อาร์โทรพอด (Arthropod) คอร์เดท (Chordate)
-
ทางเดินอาหาร ทางเดินอาหารของสัตว์สามารถใช้เป็นเกณฑ์แบ่งกลุ่มสัตว์ได้
ก. ใช้ช่องทางเดินน้ำแทนทางเดินอาหาร (Spongocoel) พบในฟองน้ำ
ข. ทางเดินอาหารที่มีทางเข้าออกทางเดียวกันช่องว่างนี้เรียกว่าช่องแกสโตรวาสคูลาร์ (Gastrovascular Cavity) ทำหน้าที่ย่อยอาหาร ลำเลียง หายใจ และขับถ่าย ได้แก่ ไฮดรา ปะการัง แมงกะพรุน
ค. ทางเดินอาหารชนิดสมบูรณ์มีทางเข้าทางหนึ่งและทางออกอีกทางหนึ่ง ทำหน้าที่ย่อยอาหารอย่างเดียว ส่วนใหญ่พบในสัตว์ที่มีสมมาตรชนิดครึ่งซีก ยกเว้นหนอนตัวแบน
-
การสืบพันธุ์ มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในสัตว์ชั้นต่ำ เช่น ฟองน้ำ ไฮดรา แมงกะพรุน ในสัตว์ชั้นสูงจะมีการสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ
-
การเปลี่ยนแปลงของบลาสโทพอร์ (Blastopore) บลาสโทพอร์ที่เกิดในระยะแกสตรูลา (Gastrula) ของตัวอ่อน จะมีการเปลี่ยนแปลง 2 แบบ คือ แบบโพรโทสโทเมีย (Protostomia) คือพวกที่บลาสโทพอร์เจริญไปเป็นปาก และแบบดิวเทอโรสโทเมีย (deuterostomia) คือพวกที่บลาสโทพอร์เจริญไปเป็นทวารหนัก
-
การเจริญในระยะตัวอ่อน ในสัตว์พวกโพรโทสโทเมียมีการเจริญของตัวอ่อน 2 แบบ คือ แบบที่มีตัวอ่อน (Larva) ระยะโทรโคฟอร์ (Trochophore) เรียกว่าพวกโลโฟโทรโคซัว (Lophotrochozoa) และกลุ่มที่มีการลอกคราบ (Ecdysis) ระหว่างการเจริญเติบโต เรียกว่าพวกเอกไดโซซัว (Ecdysozoa)
นักชีววิทยาเชื่อว่าสัตว์ต่าง ๆ มีวิวัฒนาการมาจากสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์เดียว ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ถึง 9 ไฟลัม ดังนี้
-
ไฟลัมพอริเฟอรา (Porifera) ได้แก่ ฟองน้ำ (Sponges)
-
ไฟลัมซีเลนเทอราตา (Coelenterata) หรือไนดาเรีย (Cnidaria) เช่น ไฮดรา แมงกะพรุน กัลปังหา ปะการัง เป็นต้น
-
ไฟลัมแพลทีเฮลมินทิส (Platyhelminthes) เช่น พลานาเรีย พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ เป็นต้น
-
ไฟลัมนีมาเทลมินทิส (Nemathelminthes) หรือนีมาโทดา (Nematoda) เช่น หนอนตัวกลมชนิดต่าง ๆ พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ พยาธิโรคเท้าช้าง เป็นต้น
-
ไฟลัมแอนเนลิดา (Annelida) เช่น ไส้เดือนดิน ปลิง ทากดูดเลือด แม่เพรียง เป็นต้น
-
ไฟลัมมอลลัสคา (Mollusca) เช่น หมึก หอยฝาเดียว หอยสองฝา ลิ่นทะเล เป็นต้น
-
ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda) ได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ กุ้ง ปู แมงมุม แมงดาทะเล หมัด เห็บ เพรียงหิน กิ้งกือ ตะขาบ เป็นต้น
-
ไฟลัมเอไดโนเดอร์มาตา (Echinodermata) เช่น ดาวทะเล เม่นทะเล ปลิงทะเล พลับพลึงทะเล อีแปะทะเล (เหรียญทะเล) เป็นต้น
-
ไฟลัมคอร์ดาตา (Chordata) ได้แก่ เพรียงหัวหอม และสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดต่าง ๆ
แหล่งที่มา
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5 (รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พจน์ แสงมณี. (2552). Compact ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: แม็ค.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
อาณาจักรสัตว์ (2)
ผลจากการใช้ลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้สามารถจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ออกเป็นไฟลัมต่าง ๆ ตามสายวิวัฒนาการ ดังนี้
ภาพที่ 1 ฟองน้ำและปะการัง
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:A_Guantanamo_sponge_-a.jpg, Timothy W. Brown
กลุ่มที่ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง
I.ไฟลัมพอริเฟอรา (Phylum Porifera) (L. porus = รู + ferre = มี)
ไฟลัมนี้ยังไม่มีมื้อเยื่อที่แท้จริง พบทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำเค็ม มักพบอยู่ตามโขดหิน ก้อนหินตั้งแต่ระดับชายฝั่งทะเลจนถึงทะเลลึก มีหลายสีสวยงามรูปร่างภายนอกไม่มีสมมาตร (Asymmetry) รูปร่างเป็นก้อน ๆ บางชนิดมีลักษณะคล้ายแจกัน อาจคิดว่าไม่ใช่สัตว์เพราะไม่เห็นการเคลื่อนที่ มีรูพรุนเป็นทางน้ำเข้า (Ostium) ซึ่งมีขนาดเล็กส่วนทางน้ำออก (Osculum) มีขนาดใหญ่กว่าแต่มีจำนวนน้อยกว่าทางน้ำเข้าภายในลำตัวมีโพรง (Spongocoel) และทางเดินของน้ำอยู่ทั่วไป สัตว์บางชนิด เช่นกุ้ง ปู ขนาดเล็กเข้าไปอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นบริเวณที่มีฟองน้ำมาก ๆ จะมีสัตว์เล็ก ๆ หลบซ่อนหาอาหารอยู่มาก ทำให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นมีอาหารอุดมสมบูรณ์
ระบบทางน้ำ (Canal system) น้ำเข้าผ่าน Ostium และออกทาง Osculum มี 3 แบบ
-
Asconoid เป็นแบบที่ง่ายที่สุด
-
Scyconoid เป็นแบบที่ค่อนข้างยุ่งยากมากขึ้น
-
Leuconoid เป็นแบบที่สลับซับซ้อนมากที่สุด
ภาพที่ 2 ระบบทางน้ำของฟองน้ำ Asconoid (ซ้ายมือ) Scyconoid (ตรงกลาง) Leuconoid (ขวามือ)
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Porifera_body_structures_01.png, Philcha
ด้านในของลำตัวมีเซลล์ปลอกคอ (Collar cell) หรือโคแอโนไซต์ (Choanocyte) มีแฟลเจลลาช่วยโบกน้ำให้ผ่านเซลล์ น้ำที่ผ่านเข้ามาจะนำอาหารพวกแพลงก์ตอนและออกซิเจนเข้ามา เมื่อโบกให้น้ำออกน้ำจะพาของเสียออกไปด้วย
ฟองน้ำคงรูปร่างอยู่ได้เพราะมีโครงร่างแข็ง ๆ เรียกว่า ขวาก หรือ สปิคุล (Spicule) สปีคุลนี้ใช้เป็นเกณฑ์แยกกลุ่มของฟองน้ำ ได้แก่ สปิคุลที่มีหินปูนเป็นองค์ประกอบ (Calcareous Spicule) สปิคุลที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ (Siliceous Spicule) สปิคุลที่มีเส้นใยโปรตีนเป็นองค์ประกอบที่เรียกว่า สปันจิน (Spongin) หรือเป็นทั้งซิลิกาและใยสปอนจิน
การสืบพันธุ์ของฟองน้ำมีทั้งการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศและแบบอาศัยเพศ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ได้แก่ การสืบพันธุ์โดยการแตกหน่อ (Budding) การขาดเป็นท่อน (Fragmentation) หรือการสร้างเจมมูล (Gemmule) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง สำหรับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มีทั้งแบบสองเพศในตัวเดียวกัน (Monoecious) และแบบแยกเพศ (Diecious) เกิดการปฏิสนธิภายใน โดยส่วนใหญ่แล้วฟองน้ำอาศัยอยู่ในน้ำเค็ม แต่มีบางชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด เมื่อเป็นตัวเต็มวัยฟองน้ำมักเกาะอยู่กับที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็กมักพบอาศัยอยู่ในแนวปะการัง
นักชีววิทยาได้จำแนกออกเป็น 4 คลาส (Class) ดังนี้
(1) Class Calcarea มีโครงร่างเป็นหินปูน พบอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล เช่น ฟองน้ำหินปูน
(2) Class Hexactinellida มีโครงร่างเป็นสารซิลิกา เช่น ฟองน้ำแก้ว
(3) Class Dermospongiae มีโครงร่างแข็งเป็นสารซิลิกาหรือเป็นโครงร่างเส้นใยโปรตีน (spongin fiber) หรืออาจเป็นโครงร่างที่มีทั้งซิลิกาและเส้นใยโปรตีนรวมกัน เช่น ฟองน้ำถูตัว ฟองน้ำน้ำจืด
(4) Class Sclerospongiae เป็นฟองน้ำที่พบอาศัยอยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นเกาะอยู่ตามแนวปะการังทั่วไป
กลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง - แบบที่ 1 แบบกลุ่มที่มีสมมาตรแบบรัศมี
II. ไฟลัมไนดาเรีย (Phylum Cnidaria) (Knid = ต่อย)
เป็นสัตว์น้ำที่มีน้อยชนิดในน้ำจืดแต่มากชนิดในน้ำทะเลตั้งแต่ชายฝั่งทะเลระดับน้ำขึ้นน้ำลงจนกระทั่งถึงทะเลลึกเซลล์รวมตัวกันเป็นเนื้อเยื่อที่แท้จริงแล้วจัดตัวเป็นเนื้อเยื่อ 2 ชั้นคือเนื้อเยื่อชั้นนอกและเนื้อเยื่อชั้นในระหว่าง 2 ชั้นนี้ มีเยื่อมีโซเกลีย (Mesoglea) แทรกอยู่ภายในลำตัว ยังไม่มีระบบของอวัยวะที่ชัดเจน มีช่องว่างเรียกว่าแกสโทรวาสคิวลาร์ (Gastrovascular Cavity) รูปร่างสมมาตรแบบรัศมี บางชนิดรูปร่างคล้ายกระดิ่งคว่ำ เรียกว่า เมดูซา (Medusa) ว่ายน้ำได้ บางชนิดรูปร่างยาวคล้ายต้นไม้ เรียกว่า โพลิป (Polyp) มีด้านฐานยึดติดกับที่ด้านตรงข้ามเป็นปาก มีเทนทาเคิล (Tentacle) หรือหนวดอยู่รอบ ๆ ปาก ใช้จับอาหารโดยที่เซลล์บนเทนทาเคิลเป็นเซลล์พิเศษ เรียกว่า ไนโดไซต์ (Cnidocyte) ซึ่งภายในเซลล์นี้มีเข็มพิษคือ เนมาโทซิสต์ (Nematocyst) ที่สัตว์อื่นถูกแล้วอาจเป็นอัมพาต เมื่อสัตว์ถูกยิงด้วยเข็มพิษนี้แล้วจะถูกจับกินเข้าทางเดินอาหาร มีระบบประสาทชนิดร่างแห (Nerve net) บางชนิดมีอวัยวะสำหรับใช้ในการทรงตัวหรือสตาโตซิสต์ (Statocyst) บางชนิดมีอวัยวะรับแสง (Eyespot)
การสืบพันธุ์มีทั้งการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อ และการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศที่มีเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกันเกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายโดยการปฏิสนธิข้ามตัว ตัวอ่อน เรียกว่า พลานูลา (Planula) ซึ่งว่ายน้ำได้โดยใช้ซิเลีย เช่น ไฮดรา แมงกะพรุน ปะการัง กัลปังหา ซีแอนนีโมนี (ดอกไม้ทะเล)
ปัจจุบันมีการค้นพบสัตว์ในไฟลัมนี้แล้วประมาณ 9,000 ชนิดจำแนกออกเป็น 4 คลาส คือ
-
Class Hydrazoa พบทั้งในแหล่งน้ำจืดและทะเลมีรูปร่างทั้งแบบโพลิปและเมดูชาเซลล์ เช่นไฮดรา แมงกะพรุนน้ำจืด โอบิเลีย บางชนิดมีโครงร่างแข็งเป็นสารจำพวกหินปูน เช่น ปะการังแตน
-
Class Scyphozoa พบอาศัยอยู่ในทะเลทั้งหมดมีรูปร่างแบบเมดูซา เช่น แมงกะพรุนจาน
-
Class Cubozoa อาศัยอยู่ในทะเลมีรูปร่างเป็นแบบ cutical จึงเรียกว่า แมงกะพรุนถัง
-
Class Anthozoa อาศัยอยู่ในทะเล เช่น ดอกไม้ทะเล (sea anemone) ปะการังถ้วย ปะการังหิน กัลปังหา
ภาพที่ 3 แมงกะพรุน
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Jelly_cc11.jpg, Dan90266.
ประโยชน์ของสัตว์ในไฟลัมนี้ในแง่ของอาหารและการแพทย์ ได้แก่ แมงกะพรุน แต่แมงกะพรุนบางชนิดก็มีพิษร้ายแรงจนอาจถึงตายได้ถ้าสัมผัส เช่น แมงกะพรุนหมวกนักรบ (Portuguese man-of-war) ส่วนในแง่ระบบนิเวศหรือการอนุรักษ์ ได้แก่ ปะการัง เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด รวมทั้งปลาสวยงาม ปะการังใช้เวลายาวนานกว่าจะมีขนาดยาวเพียง 1 นิ้ว
แหล่งที่มา
เชาวน์ ชิโนรักษ์ และพรรณี ชิโนรักษ์. (2541). ชีววิทยา 2. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.
บพิธ จารุพันธุ์ และนันทพร จารุพันธุ์. (2545). สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง I โพรโทซัว ถึง ทาร์ดิกราดา. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พจน์ แสงมณี. (2552). Compact ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: แม็ค.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
อาณาจักรสัตว์ (3)
ภาพที่ 1 หนอนตัวแบน
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pseudoceros_dimidiatus.jpg, Richard Ling
กลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง (ต่อ) แบบที่ 2 แบบกลุ่มที่มีสมมาตรแบบครึ่งซีกหรือแบบด้านข้าง
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโพรโทสโทเมียและกลุ่มดิวเทอโรโทเมีย
1. กลุ่มโพรโทสโทเมีย
ตัวอ่อนมีปากเกิดก่อนทวารหนักและมีตัวอ่อนแบบโทรโคฟอร์
1.1 กลุ่มโพรโทสโทเมียและมีตัวอ่อนแบบโทรโคฟอร์
III. ไฟลัมแพลทีเฮลมินทิส (Phylum Platyhelminthes) (Gr. platy = แบน + helminthes = หนอน) ได้แก่ หนอนตัวแบน
ซึ่งแบนทางด้านบน-ล่างเป็นพวกไม่มีช่องว่างลำตัว (Acoelomate) และมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น (triploblastic) มีทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์มีรูเปิดรูเดียวแต่ทางเดินอาหารแตกแขนงไปทั่วร่างกายไม่มีอวัยวะสำหรับแลกเปลี่ยนแก๊สโดยตรงอาศัยการแพร่ผ่านผิวของลำตัวอวัยวะขับถ่ายใช้เฟลมเซลล์ (Flame Cell) ระบบประสาทมีลักษณะคล้ายขั้นบันไดในตัวเดียวมี 2 เพศอาจผสมได้ในตัวเอง
หนอนตัวแบนบางชนิดดำรงชีวิตแบบอิสระเช่นพลานาเรีย (Planaria) มีลำตัวอ่อนนิ่มเคลื่อนที่โดยอาศัยซิเลีย (Cilia) มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศโดยการปฏิสนธิข้ามตัว (Cross-Fertilization) และการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการงอกใหม่ (Regeneration)
หนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต (Parasite) ผิวมีคิวติเคิล (Cuticle) หนา มี 2 เพศในตัวเดียวกัน (Hermaphrodite) สามารถสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้ เช่น พยาธิตัวตืด
ปัจจุบันพบสัตว์จำพวกหนอนตัวแบนประมาณ 13,000 ชนิดแบ่งออกเป็น 3 คลาส คือ
(1) Class Turbellaria ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบอิสระพบทั้งในแหล่งน้ำจืดทะเลและบนบกเช่น พลานาเรีย หนอนหัวขวาน
(2) Class Trematoda ดำรงชีวิตแบบปรสิตมีรูปร่างคล้ายใบไม้ เช่น พยาธิใบไม้ในตับคนพยาธิใบไม้ในตับแกะ พยาธิใบไม้ในหอยกาบน้ำจืด
พยาธิใบไม้ (Fluke) ในคน แบ่งตามตำแหน่งที่พบในร่างกายมี 4 กลุ่มคือ
- พยาธิใบไม้ในตับ (Liver Fluke)
- พยาธิใบไม้ในปอด (Lung Fluke)
- พยาธิใบไม้ในลำไส้ (Intestinal Fluke)
- พยาธิใบไม้ในเลือด (Blood Fluke)
เหตุที่คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นโรคพยาธิในตับมากกว่าคนในภาคอื่น ๆ เพราะ คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมบริโภคปลาน้ำจืดดิบ ปลาน้ำจืดดิบ ๆ สุก ๆ หอยน้ำจืดดิบ รวมทั้งผักสดที่ไม่ได้ล้างสะอาด
(3) Class Cestoda ดำรงชีวิตแบบปรสิต มีลำตัวแบนยาว ไม่มีระบบทางเดินอาหาร เช่นพยาธิตัวตืด ชนิดต่าง ๆ
IV. ไฟลัมมอลลัสคา (Phylum Mollusca) (mollis = อุ่นนุ่ม)
ลักษณะเด่นของสัตว์กลุ่มนี้คือ มีลำตัวนิ่ม ปกคลุมด้วยแมนเทิล (Mantle) อาจไม่มีเปลือกแข็งหุ้ม เช่น หมึก แต่ส่วนใหญ่มีเปลือกแข็งหุ้ม ได้แก่ หอยทุกชนิด ทั้งฝาเดียวและสองฝา ลิ่นทะเล ลำตัวของมอลลัสก์ประกอบด้วย 3 ส่วนคือเท้า (Foot) ใช้เคลื่อนที่ขุดดินว่ายน้ำยึดเกาะอวัยวะภายใน (Visceral Mass) และแมนเทิล (Mantle) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเปลือกที่มีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตหุ้มลำตัว เป็นไฟลัมที่มีปริมาณสปีชีส์รองลงมาจากสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา ระบบทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ มีระบบหมุนเวียนเลือดแบบวงจรเปิด หายใจด้วยเหงือกหรือปอด สัตว์ในไฟลัมนี้มีทั้งอยู่ในน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย บนบก บนต้นไม้ ส่วนใหญ่หากินอิสระ ยกเว้นบางพวกยึดเกาะติดกับที่ เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยมือเสือ หอยที่เคลื่อนที่ได้มีกล้ามเนื้อด้านท้องทำหน้าที่เป็นเท้า หมึกใช้หนวดและไซฟอนพ่นน้ำ หอยที่อยู่บนบกมักใช้ปอดหายใจแทนเหงือก มีอวัยวะขับถ่าย เรียกว่า เมทาเนฟริเดียม (Metanephridium) มีเพศแยกกัน (Dioecious) มีทั้งการปฏิสนธิภายในและการปฏิสนธิภายนอกมักออกลูกเป็นไข่
หอยหลายชนิด เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยแครง หอยเป๋าฮื้อ หอยขม หอยหลอด หอยเสียบ รวมทั้งหมึกถูกนำมาใช้เป็นอาหาร เปลือกหอยหลายชนิดรวมทั้งมุกนำไปใช้ทำเครื่องประดับ ทำภาชนะหรือประกอบเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนั้นยังมีการสะสมเปลือกหอยเป็นงานอดิเรก เปลือกหอยบางชนิดหายากและมีราคาแพงมาก เปลือกหอยแมลงภู่นำไปเผาทำแคลเซียมคาร์บอเนตหรือนำไปบดผสมอาหารเลี้ยงเป็ดไก่ ทำให้ไข่มีเปลือกแข็งไม่แตกง่ายสีไข่แดงสดดี
หอยบางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น หอยโข่ง หอยขม เป็นพาหะของพยาธิบางชนิด หอยทากยักษ์ (African Snail) ระบาดมากในช่วงฤดูฝนทำลายพืชผักเสียหาย หอยเชอรี่ กัดกินต้นข้าวทำให้ข้าวในนาเสียหาย เพรียงเจาะไม้ทำลายเรือ
ในปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเกิดมลภาวะ หากนำหอยในแหล่งน้ำเหล่านั้นมาบริโภค สารพิษหรือปรสิตที่อยู่ในแหล่งน้ำเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดสู่คนต่อไป เพราะหอยฝาเดียวบางชนิดเป็นที่อยู่ของปรสิต เช่น พยาธิใบไม้ ส่วนหอยสองฝากินอาหารโดยกรองสารในน้ำกิน (filter feeder) สารพิษต่าง ๆ จึงสะสมอยู่ในหอยสองฝาก่อนถ่ายทอดสู่คนกินหอยเหล่านั้น
ปัจจุบันพบมอลลัสก์แล้วประมาณ 100,000 ชนิดแบ่งออกเป็นคลาสต่าง ๆ ดังนี้
-
Class Monoplacophora ตัวมีลักษณะรูปไข่ มีเปลือกอันเดียว อวัยวะภายในมีลักษณะแบ่งเป็นปล้อง ๆ (Internal Metamerism) ได้แก่ หอยฝาละมี (Neopilina)
-
Class Polyplacophora พบอยู่ตามชายฝั่งทะเลบริเวณน้ำขึ้นน้ำลงมัก เกาะอยู่กับหินเปลือกอยู่ด้านบนมี 8 แผ่นตามขวาง ได้แก่ ลิ่นทะเล (Chiton)
-
Class Gaspropoda เป็นพวกหอยฝาเดียว ส่วนใหญ่มีเปลือกที่เวียนเป็นเกลียว เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ หอยทากจิ๋วปากแตร หอยเต้าปูน หอยสังข์แตร
-
Class Bivalia เป็นพวกหอยสองฝา มักฝังตัวตามโคลนหรือทราย เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยกาบ หอยนางรม หอยหลอด หอยมือเสือ
-
Class Scaphopoda มีลักษณะสำคัญคือ รูปร่างเป็นหลอดที่เปิดออกทั้ง 2 ข้าง มีความยาวของเปลือกประมาณ 2-6 เซนติเมตร มักฝังตัวอยู่ในโคลนหรือทราย เช่น หอยงาช้าง
-
Class Cephalopoda พบอาศัยอยู่ในทะเลมีลักษณะโดยทั่วไปคือ ลำตัวยาว เท้าพัฒนาไปเป็นเทนทาเคิล (หนวด) ระบบประสาทเจริญดี เช่น หอยงวงช้าง (Nautilus) หมึก
ภาพที่ 2 หอยงวงช้าง (Nautilus)
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Nautilus_Palau.JPG, Manuae
แหล่งที่มา
เชาวน์ ชิโนรักษ์ และพรรณี ชิโนรักษ์. (2541). ชีววิทยา 2. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.
บพิธ จารุพันธุ์ และนันทพร จารุพันธุ์. (2545). สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง I โพรโทซัว ถึง ทาร์ดิกราดา. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
_______. (2545). สัตว์ไม่มีกระดูสันหลัง II แอนเนลิดา ถึง โพรโทคอร์ดาทา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พจน์ แสงมณี. (2552). Compact ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: แม็ค.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
อาณาจักรสัตว์ (4)
ภาพที่ 1 หนอนปล้อง
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Alitta_succinea_(epitoke).jpg, Hans Hillewaert
V. ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida) (annelus = วงแหวนหรือวง ๆ)
สัตว์ในไฟลัมแอนเนลิดา มีลำตัวประกอบด้วยปล้องที่แท้จริงต่อกันเห็นได้ชัดเจน จึงเรียกว่าหนอนปล้อง (Segmented Worm) อวัยวะภายในแต่ละปล้องมีลักษณะคล้าย ๆ กันผิวหนังมีคิวทิเคิล (Cuticle) ปกคลุมบาง ๆ และมีต่อมสร้างเมือกเพื่อทำให้ลำตัวเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา มีรยางค์ในแต่ละปล้อง โดยแต่ละชนิดอาจมีรยางค์ที่แตกต่างกันคือ บางชนิดมีรยางค์เป็นเดือย (Setae) เช่น ไส้เดือนดิน บางชนิดเป็นแท่งหรือเป็นแผ่นขา (Parapodia) ใช้พุ่ยน้ำ เช่น แม่เพรียง แอนเนลิดามีกล้ามเนื้ออยู่ 2 ชนิด คือ กล้ามเนื้อวง (circular muscle) และกล้ามเนื้อตามยาว (Longitudinal muscle) มีช่องว่างลำตัวหรือโพรงลำตัว (Coelom) ที่แท้จริง การลำเลียงเลือดเป็นระบบปิด มีหลอดเลือดตามยาวทั้งด้านบนและด้านล่างของลำตัว โดยมีหัวใจเทียมเป็นตัวเชื่อม การหายใจบางชนิดใช้ผิวหนัง บางชนิดใช้เหงือกหรือแผ่นขาพาราโพเดีย ระบบขับถ่ายของเสียที่เป็นของเหลวใช้เนฟรีเดียม (Nephridium) ปล้องละ 1 คู่ ส่งของเสียออกบริเวณผิวหนังด้านนอก ระบบประสาทมีสมองเป็นปม ระบบสืบพันธุ์บางชนิดแยกเพศ บางชนิดไม่แยกเพศแต่ก็ไม่สามารถผสมพันธุ์ในตัวเอง เพราะไข่กับสเปิร์มเจริญไม่พร้อมกัน บางชนิดสืบพันธุ์ได้โดยการแตกหน่อ ส่วนใหญ่อยู่อย่างอิสระ บางชนิดขุดรูหรือสร้างหลอด บางชนิดอาศัยร่วมกับสัตว์อื่น บางชนิดเป็นปรสิตภายนอก บางชนิดมีประโยชน์กับเกษตรกรทำให้ดินร่วนซุย เช่น ไส้เดือนดิน รวมทั้งใช้เป็นเหยื่อล่อปลา พวกปลิงน้ำจืดหรือทากดูดเลือดเป็นปรสิตภายนอกของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
ทากและปลิงน้ำจืด มีสารที่ป้องกันเลือดแข็งตัวเรียกว่า ไฮรูดิน (Hirudin) เมื่อปลิงน้ำจืดกัดคนหรือสัตว์เลือดจะไหลไม่หยุด เพราะปลิงปล่อยสารไฮรูดินใส่แผลที่กัด ทำให้เลือดไม่แข็งตัวจึงใช้ปลิงดูดเลือดรักษาโรคบางอย่าง ดำรงชีวิตเป็นปรสิตชั่วคราวโดยดูดเลือดของสัตว์อื่น
ส่วนไส้เดือนดินดำรงชีวิตโดยการกินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหารไส้เดือนดินจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะทำให้ดินมีลักษณะร่วนซุยดินมีความพรุนมีอากาศแทรกอยู่และช่วยหมุนเวียนสารในระบบนิเวศ โดยการกินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร เมื่อขับถ่ายออกมาจึงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่พืช
หนอนปล้องดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำเป็นส่วนใหญ่พบทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม บางชนิดอาจฝังตัวอยู่ในหลอดหรือว่ายน้ำเป็นอิสระ บางชนิดอาศัยอยู่บนบก ที่พบแล้วมีประมาณ 8,900 ชนิด แบ่งออกเป็น 3 คลาส ดังนี้
(1) Class Polychaeta ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล มีบางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยและน้ำจืด มีลักษณะสำคัญคือ มีรยางค์ยื่นออกจากลำตัวคล้ายใบพาย (Parapodia) ตลอดลำตัว มีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย เช่น แม่เพรียง บุ้งทะเล หนอนพู่ฉัตร
(2) Class Oligochaeta อาศัยอยู่ทั้งบนบกและในแหล่งน้ำจืด มีเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน แต่มีการผสมพันธุ์ข้ามตัว เช่น ไส้เดือนดิน หนอนแดง
(3) Class Hirundinea อาศัยอยู่ทั้งบนบกและแหล่งน้ำจืดดำรงชีวิตแบบปรสิตภายนอก เช่นปลิงน้ำจืด ทากดูดเลือด
VI. ไฟลัมนีมาโทดา (Phylum Nematoda) (nematode = เส้นด้าย)
ไฟลัมนีมาโทดา เรียกกลุ่มสิ่งมีชีวิตในไฟลัมนี้ว่า หนอนตัวกลม (Round Worm) ลำตัวไม่เป็นปล้อง พบได้ทั่วไปทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และบนบก มีทั้งดำรงชีพแบบปรสิตและหากินอิสระลักษณะทั่ว ๆ ไป มีขนาดเล็กยาวไม่เกิน 7 มิลลิเมตร ลำตัวกลมเรียวยาว แต่ยังมีสมมาตรแบบครึ่งซีก แหลมหัวแหลมท้าย มีทางเดินอาหารสมบูรณ์ ด้านหัวเป็นปากทางด้านหางเป็นทวารหนัก ไม่มีรยางค์ มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น แต่มีกล้ามเนื้อตามยาวเท่านั้นมีช่องว่างลำตัวเทียม (Pseudocoelom) ในการเจริญเติบโตมีการลอกคราบ ไม่มีระบบหมุนเวียนเลือด ผิวหนังมีคิวทิเคิล (Cuticle) เคลือบหนาทำให้ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี มีระบบขับถ่ายโดยเซลล์พิเศษทำหน้าที่เป็นต่อมพิเศษ เรียกว่า ต่อมเรเนตต์ (Renette gland) นำของเหลวที่เป็นของเสียออกไปทิ้งนอกตัว ไม่มีระบบหมุนเวียนเลือด ระบบประสาทเป็นวงแหวนรอบหลอดอาหารและต่อเนื่องเป็นเส้นยาวอยู่ตลอดลำตัว อวัยวะเพศแยกเพศกันคนละตัว (Dioecious) ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้และหางไม่งอ มีการผสมพันธุ์ภายในตัว ตัวเมียออกไข่คราวละนับพันฟอง ไข่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีเพราะมีไคทินเคลือบหนา เมื่อฟักเป็นตัวหนอนเล็ก ๆ จะต้องลอกคราบหลายครั้งจนโตเต็มวัย ได้แก่ พยาธิปากขอ (Hook Worm, Necator Americanus) พยาธิไส้เดือน (Ascaris Lumbricoides) พยาธิตัวจี๊ด พยาธิเส้นด้าย
การป้องกันพยาธิปากขอ ประการแรกคือ การถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการระบาด รวมทั้งการไม่เดินเท้าเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรไม่ควรเดินน้ำแฉะ ๆ ด้วยเท้าเปล่า
การป้องกันพยาธิไส้เดือน การล้างผักสดก่อนบริโภคนั้น ต้องล้างให้สะอาดจริง ๆ เสียก่อนหรืออาจต้มให้สุก
พยาธิตัวจี๊ด เมื่อเข้าสู่คนจะอยู่ตามกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการบวมตามบริเวณนั้น ๆ พร้อมกับรู้สึกว่ามีการเคลื่อนที่ไปตามแขน ไหล่ แก้ม ปาก หนัง ตา การป้องกันตัวจี๊ดได้โดยการไม่รับประทานปลาดิบเช่น ส้มฟัก
สรุปการแก้ปัญหาโรคพยาธิชนิดต่าง ๆ คือ
-
กินอาหารที่ผ่านการทำให้สุก
-
หากกินผักสดต้องล้างสะอาด
-
ถ่ายอุจจาระในส้วมการ
-
ใส่รองเท้า
-
ไม่กินอาหารที่ตกลงสู่พื้นดินแล้ว
พบหนอนตัวกลมอาศัยอยู่ทั่วไปทั้งแหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำเค็ม ดินชื้นแฉะ บางชนิดดำรงชีวิตแบบอิสระ บางชนิดเป็นปรสิตในร่างกายของคน สัตว์และพืช ที่พบแล้วมีประมาณ 12,000 ชนิด เช่น หนอนในโคลน หนอนน้ำส้มสายชู พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ พยาธิโรคเท้าช้าง และพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย
ภาพที่ 2 พยาธิปากขอ
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hookworms.JPG
แหล่งที่มา
เชาวน์ ชิโนรักษ์ และพรรณี ชิโนรักษ์. (2541). ชีววิทยา 2. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.
บพิธ จารุพันธุ์ และนันทพร จารุพันธุ์. (2545). สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง I โพรโทซัว ถึง ทาร์ดิกราดา. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
_______. (2545). สัตว์ไม่มีกระดูสันหลัง II แอนเนลิดา ถึง โพรโทคอร์ดาทา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5 (รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พจน์ แสงมณี. (2552). Compact ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: แม็ค.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
อาณาจักรสัตว์ (5)
ภาพที่ 1 สิ่งมีชีวิตในไฟลัมอาร์โทรโพดา
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Arthropoda.jpg
VII. ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda) (Gr. Arthros = ข้อ + podos = เท้า)
เป็นไฟลัมที่มีสัตว์มากชนิดที่สุด คือ มากกว่าสัตว์ในไฟลัมอื่น ๆ รวมกัน มีประมาณ 1 ล้าน สปีชีส์ สัตว์ในไฟลัมนี้เรียกว่า พวกอาร์โทรพอด (Arthropod)
ลักษณะเด่นคือ ลำตัวเป็นปล้องที่แท้จริง มีขาหรือรยางค์เป็นข้อปล้องและลำตัว สารประกอบแข็งคือ ไคทิน จัดเป็นโครงร่างภายนอก (Exoskeleton) ทำให้ต้องสลัดเปลือกทิ้งเป็นระยะ ๆ เมื่อเจริญเติบโตจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัย เรียกว่า การลอกคราบ (Ecdysis) ส่วนใหญ่แบ่งลำตัวแยกออกได้เป็น 3 ส่วนคือ หัว อก และท้อง บางชนิดบางส่วนอาจเชื่อมติดกันลำตัวแบ่งเป็นปล้อง ๆ แต่ละปล้องมักมีรยางค์ 1 คู่ ระบบหมุนเวียนเลือดแบบเปิด โดยมีหัวใจที่มีหลอดเลือดเล็ก ๆ สูบฉีดเข้าสู่ช่องว่างของซีลอมเรียกว่า ฮีโมซีล (Hemocoel) แล้วหมุนเวียนทั่วร่างกายจนกลับเข้าหัวใจอีกครั้ง สำหรับสารที่รับออกซิเจนเรียกว่า ฮีโมไซยานิน (Haemocyanin) อวัยวะใช้แลกเปลี่ยนแก๊สมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น ในแมลงมีรูสไปราเคิล (Spiracle) ต่อกับท่อลม (Trachea) บางชนิดมีปอดแผง (Book Lung) ส่วนพวกที่อยู่ในน้ำใช้เหงือก ส่วนอวัยวะขับถ่ายที่มีหลายชนิด เช่น ในแมลงมีท่อมัลพิเกียน (Malpighian tubules) ต่อมเขียว (Green Gland) ในกุ้ง เป็นต้น อวัยวะรับสัมผัสมีตาเดี่ยวหรือตาประกอบรับภาพ มีหนวด (Antenna) รับสัมผัสมีอวัยวะเกี่ยวกับการทรงตัว
จากลักษณะตัวอย่างสัตว์พวกอาร์โทรพอดนี้สามารถแยกออกเป็นกลุ่มหรือคลาสได้จากลักษณะของการเชื่อมติดกันระหว่างหัวกับอก หรือการแยกกันของหัวกับอก ลักษณะการมีหนวด และจำนวนขา แบ่งออกเป็นคลาสต่าง ๆ ดังนี้
-
Class Merostomata อาศัยอยู่ในทะเล ได้แก่ แมงดาทะเล มีลักษณะสำคัญคือ ส่วนหัวและส่วนอกเชื่อมรวมกัน เรียกว่า cephalothorax มีรยางค์คู่แรกทำหน้าที่กินอาหารมีขาเดิน 4 คู่ ปลายขาคู่สุดท้ายใช้ขุดทรายเพื่อฝังตัวหายใจโดยใช้ book gill ในประเทศไทยพบแมงดาทะเลเพียง 2 ชนิด คือ แมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม และแมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม
ในปัจจุบันแมงดาทะเลมีปริมาณลดน้อยลงมาก เนื่องจากมลภาวะของทะเล ซึ่งรับน้ำเสียจากแผ่นดินโดยไม่มีป่าไม้ชายเลนทำหน้าที่เป็นกันชนคอยกรองของเสีย รวมทั้งความมักง่ายของผู้คนที่นิยมทิ้งขยะลงทะเล นอกจากนั้นการนำไข่แมงดาทะเลมาบริโภคเป็นการทำลายการแพร่พันธุ์ของแมงดาทะเลโดยตรง
-
คลาสอะแรคนิดา (Arachnida) สัตว์ในคลาสนี้เรียกว่าอะแรคนิด (Arachnid) สัตว์กลุ่มนี้ เช่น แมงป่อง แมงมุม เห็บ ไร มีลักษณะสำคัญคือ มีส่วนหัวและส่วนอกเชื่อมกันเป็น cephalothorax มีตาแบบ simple eye มีรยางค์ 6 คู่โดยคู่ที่ 1 และ 2 ใช้จับอาหารและรับความรู้สึกมีขาเดิน 4 คู่ ไม่มีหนวด หายใจโดยใช้ปอดแผง (Book Lung) ขับถ่ายโดยใช้ท่อมัลพิเกียน มีเพศแยกกัน ปล้องสุดท้ายของแมงมุมมีอวัยวะทำหน้าที่ชักใย ส่วนแมงป่องจะปรับเป็นอวัยวะที่ใช้ล่าเหยื่อและป้องกันตัวอาศัยอยู่บนบกทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีแมงมุมทะเล (Sea Spider) หากินอยู่ตามพื้นทะเล
-
คลาสไดโพลโพดา (Diplopoda) สัตว์ในคลาสนี้เรียกว่า มิลลิพิด (Millipede) มีลักษณะสำคัญคือส่วนหัวมีหนวด 1 คู่ลำตัวมีรยางค์ปล้องละ 2 คู่ไม่มีเขี้ยวพิษ หายใจโดยใช้ระบบท่อลม ไม่มีเมทามอร์โฟซิส (Metamorphosis) มีเพศแยกกัน มีการปฏิสนธิภายใน กินพืชเป็นอาหาร เช่น กิ้งกือ กิ้งกือกระสุนพระอินทร์
ภาพที่ 2 สิ่งมีชีวิตในกลุ่มมิลลิพิด
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Millipede_-_Belize.jpg, Thomas Shahan
-
คลาสชิโลโพดา (Chilopoda) สัตว์ที่อยู่ในคลาสนี้เรียก เซ็นติพิด (Centipede) สัตว์กลุ่มนี้ได้แก่ตะขาบซึ่งมีเขี้ยวพิษที่กัดแล้วจะปล่อยพิษออกมาด้วยทำให้เจ็บปวดและมีการบวมแดงบริเวณที่ถูกกัดแต่โดยธรรมชาติแล้วมันกินซากเน่าเล็ก ๆ เช่นเดียวกันถึงถือลักษณะเด่นคือลำตัวแบนยาวเห็นปล้องชัดเจนแต่ละปล้องมีขาเดิน 1 คู่ที่หัวมีหนวด 1 คู่มีเขี้ยวและต่อมพิษ 1 คู่ ใช้สำหรับป้องกันตนเองและจับเหยื่อเป็นอาหาร หายใจโดยใช้ระบบท่อลม มีเพศแยกกัน มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ไม่มีเมทามอร์โฟซิส กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น ตะขาบ ตะเข็บ ตะขาบฝอย
ตะขาบและกิ้งกือ กินซากเน่าเปื่อยแล้วถ่ายออกมาทำให้จุลินทรีย์ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น สารอนินทรีย์ที่เกิดจากการย่อยสลายนั้น พืชสามารถนำไปใช้ได้เป็นการนำสารเข้าสู่ระบบหมุนเวียนสารในระบบนิเวศต่อไป
ภาพที่ 3 สิ่งมีชีวิตในกลุ่มเซนติพิด
ที่มา: https://www.flickr.com/photos/jannysooria/2080133553, Janani
แหล่งที่มา
เชาวน์ ชิโนรักษ์ และพรรณี ชิโนรักษ์. (2541). ชีววิทยา 2. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.
บพิธ จารุพันธุ์ และนันทพร จารุพันธุ์. (2545). สัตว์ไม่มีกระดูสันหลัง II แอนเนลิดา ถึง โพรโทคอร์ดาทา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5 (รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พจน์ แสงมณี. (2552). Compact ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: แม็ค.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
อาณาจักรสัตว์ (6)
ภาพที่ 1 สิ่งมีชีวิตในคลาสอินเซ็คตา
ที่มา: https://pixabay.com/th/photos/ผีเสื้อ-มหาศาล-ใหญ่-ธรรมชาติ-ปีก-1779419/, TheDataMaster
-
คลาสอินเซ็กตา (Insecta) หรือคลาสเฮกซาโพตา (Hexapoda) ได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีมากทั้งสปีชีส์และจำนวนตัว ลักษณะเด่นของแมลง คือ ลำตัวแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ หัว อก และท้อง ส่วนหัวมีหนวด 1 คู่ตา 1 คู่ อาจเป็นตาเดี่ยวหรือตาประกอบ ปากมีหลายแบบ ได้แก่ ปากกัด เช่นจิ้งหรีด ตั๊กแตน ปากดูด ได้แก่ ผีเสื้อ ปากแทงดูด ได้แก่ ยุง ปากเลีย ได้แก่ แมลงวัน เป็นต้น ส่วนอก แบ่งเป็น 3 ปล้อง แต่ละปล้องมีขาที่เป็นข้อปล้องละ 1 คู่ (จึงมีขา 3 คู่) ปล้องอก 2 ปล้องท้าย มีปีกปล้องละคู่ แต่บางพวกอาจมีปีกที่ปล้องหนึ่งปล้องใดของสองปล้องนี้เพียงปล้องเดียวหรืออาจไม่มีปีกเลย ส่วนท้องมี 9-11 ปล้องระบบหายใจใช้ท่อลม แยกเพศ ปฏิสนธิภายใน มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและลอกคราบในการเจริญเติบโต (Metamorphosis)
การเจริญเติบโตของแมลงมีความแตกต่างกันแมลงบางชนิดอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเลยมีแต่การเปลี่ยนขนาด เช่น สามง่าม แมลงบางชนิดเมื่อฟักจากไข่รูปร่างคล้ายตัวเต็มวัยเพียงแต่ต่างกันที่ความยาวของปีก เช่น ตั๊กแตน แมลงบางชนิดเมื่อวางไข่แล้วไข่ฟักเป็นตัวหนอนเพื่อกินอาหารอย่างเดียว จากนั้นก็เข้าเกราะเป็นดักแด้แล้วออกมาเจริญเป็นตัวโตเต็มวัย เช่น ผีเสื้อ ไหม ด้วงชนิดต่าง ๆ แมลงบางชนิดตอนเป็นตัวอ่อนอยู่ในน้ำ เช่น ชีปะขาว แมลงปอ เป็นต้น
มนุษย์จึงทำลายแมลงด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งตี จับบี้ เผา จนกระทั่งในปัจจุบันนิยมใช้สารเคมีฆ่าแมลง ซึ่งนอกจากได้ผลอย่างรวดเร็วและทำลายแมลงได้ครั้งละมาก ๆ แล้วยังหาได้ง่ายและราคาไม่แพง แต่มีผลเสียมากมาย อาจทำให้แมลงดื้อยา และการถ่ายทอดปริมาณสารเคมีไปยังสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในห่วงโซ่อาหารและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นรวมทั้งคนได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้
แมลงยังเป็นส่วนหนึ่งของสายใยอาหารของระบบนิเวศ เมื่อทำการกำจัดแมลงศัตรูพืชบางชนิดจนสูญพันธุ์ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ปัจจุบันหันมาใช้สิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูในธรรมชาติเป็นตัวควบคุม ทั้งตัวเบียน ตัวห้ำ และเชื้อโรค โดยเรียกกระบวนการนี้ว่าการควบคุมโดยชีววิธี (Biological Control) เช่น ใช้จุลินทรีย์ที่เป็นปรสิตทำลายหนอนกระทู้ ใช้แมลงปอทำลายหนอนผีเสื้อ ใช้เชื้อบีที (Bt) (Bacillus thuringensis) ในการกำจัดหนอนใยผัก หนอนเจาะฝักและลำต้น เป็นต้น
วงจรชีวิตของแมลง แมลงแต่ละชนิด มีการเจริญเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป การเปลี่ยนแปลงนี้คือ Metamorphosis มีอยู่ 4 แบบ
1) Ametamorphosis เป็นวงจรชีวิตของแมลงที่ไม่มี metamorphosis เลย ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่เหมือนพ่อแม่ทุกประการ ต่างกันตรงที่ขนาดเล็กกว่า พบในพวกแมลงที่ไม่มีปีกบางชนิด เช่น ตัวสามง่าม แมลงหางดีด
2) Gradual metamorphosis เป็นวงรชีวิตของแมลงแบบที่มี Metamorphosis ค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ครบขั้น ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไขเป็นตัวที่มีลักษณะทั่ว ๆ ไป คล้ายพ่อแม่ แต่ตัวเล็กกว่า ยังไม่มีปีหและอวัยวะสืบพันธุ์ แล้วค่อย ๆ เจริญวัยขึ้นและมีปีกเกิดขึ้นทีละน้อย ๆ จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่และเริ่มมีปีกเกิดขึ้น เรียกว่า Nymph พบในแมลง เช่น ตั๊กแตน จักจั่น เพลี้ยต่าง ๆ เหา ปลวก ไรไก่
3) Incomplete metamorphosis คล้ายกับ gradual metamorphosis แต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเกิดขึ้นมากกว่า ตัวอ่อนที่ออกจากไข่หากินอยู่ในน้ำ จึงมีเหงือกหายใจ แต่ลักษณะทั่วไปยังคงเหมือนตัวเต็มวัยบ้างแล้ว เมื่อจะโตเต็มวัย ขะชึ้นมาจากน้ำ และลอกคราบครั้งสุดท้าย แล้วเปลี่ยนเป็นหายใจในอากาศ ตัวอ่อนที่อยู่ในน้ำและขึ้นมาจากน้ำ เรียกว่า Naiad แมลงที่มีวงจรชีวิตแบบนี้ เช่น ชีปะขาว แมลงปอ
4) Complete metamorphosis เป็นวงจรชีวิตของแมลงแบบที่มี metamorphosis ครบ 4 ขั้น คือ ขั้นแรกเป็นไข่ ขั้นที่ 2 เป็นตัวอ่อนที่ออกจากไข่ ลักษณะคล้ายหนอน เรียกว่า ตัวหนอน หรือ ตัวแก้ว หรือตัวบุ้ง (Larva) หรือในยุง เรียกว่า ลูกน้ำ เพียงแต่กินและนอนเท่านั้น ต่อมาขั้นที่ 3 เป็นตัวดักแด้ (Pupa) ในยุงเรียกว่า อ้ายโม่ง เป็นขั้นที่อยู่นิ่งกับที่ หยุดกิน หยุดเคลื่อนไหว บางชนิดชักใยห่อตัว เช่น ตัวไหม ระหว่างอยู่ในดักแด้ร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ แล้วจะออกจากดัดแด้ กลายเป็น ตัวเต็มวัย (Adult) บินออกมา โดยมีรูปร่างเหมือนพ่อแม่ทุกประการ แมลงส่วนใหญ่จะมีวงจรชีวิตแบบนี้ เช่ง ด้วงต่าง ๆ ผีเสื้อ ยุง แมลงวัน ผึ้ง
ภาพที่ 2 ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในคลาสอินเซ็คตา (ด้วงแรด)
ที่มา: https://pixabay.com/th/photos/ด้วงเขตร้อน-ด้วงแรด-ด้วงยักษ์-196746/, Josch13
-
คลาสครัสเทเชีย (Crustacea) สัตว์ในคลาสนี้รวมเรียกว่า ครัสเทเชียน (Crustacean) ลักษณะเด่นที่ต่างจากอาร์โทรพอด คือ หัวและอกเชื่อมติดกัน เรียกว่า เซฟาโลทอแรกซ์ (Cephalothorax) อีกส่วนคือส่วนท้องมีรยางค์เป็นคู่ ๆ 2 คู่แรกเป็นหนวด ที่อกมีขาเดิน 5 คู่ ที่ท้อง 5 คู่แรกเป็นขาว่ายน้ำและเปลี่ยนไปทำหน้าที่เฉพาะ เช่น เป็นที่เกาะของไข่ในตัวเมีย ในตัวผู้ขาว่ายน้ำ 2 คู่แรกเปลี่ยนไปทำหน้าที่ส่งอสุจิให้ตัวเมียขณะผสมพันธุ์ หายใจด้วยเหงือก ขณะเจริญเติบโตมีเมทามอร์โฟซิส สัตว์ในคลาสนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจในแง่ของการเป็นอาหารมนุษย์ ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู ไรน้ำ ไรน้ำเค็ม ซึ่งเป็นอาหารของกุ้งวัยอ่อน ส่วนปูม้า ปูทะเล เป็นอาหารได้อย่างดี ยกเว้น ปูนา ซึ่งทำลายต้นข้าว โดยการกัดกินชาวนามักใช้การปราบด้วยวิธีกล คือ ฝังตุ่มหรือปีบ เอาไว้ดักปูให้ตกลงไป ซึ่งเป็นการปราบปได้ดีกว่าวิธีใส่ยาฆ่าปู
ภาพที่ 3 ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในคลาสครัสเทเชีย
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:OdontodactylusScyllarus2.jpg, Roy L. Caldwell
แหล่งที่มา
เชาวน์ ชิโนรักษ์ และพรรณี ชิโนรักษ์. (2541). ชีววิทยา 2. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.
บพิธ จารุพันธุ์ และนันทพร จารุพันธุ์. (2545). สัตว์ไม่มีกระดูสันหลัง II แอนเนลิดา ถึง โพรโทคอร์ดาทา.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5 (รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พจน์ แสงมณี. (2552). Compact ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: แม็ค.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
อาณาจักรสัตว์ (7)
2. กลุ่มดิวเทอโรโทเมีย
VIII. ไฟลัมเอไคโนเดอร์มาตา (Phylum Echinodermata)
สัตว์ที่อยู่ในไฟลัมนี้ เรียกว่า เอไคโนเดอร์ม (Echinodem; Gr. Echinos = หนาม, ขรุขระ + derma = ผิวหนัง) เป็นสัตว์ทะเลทั้งหมด ลักษณะสำคัญ คือ ผิวหนังหยาบและขรุขระ มีหนามแหลมปกคลุมทั่วตัว มีระบบโครงร่างภายใน (endoskeleton) เป็นหินปูนหรือแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) และปกคลุมด้วยชั้นเอพิเดอร์มิส (epidermis) ตอนเป็นตัวอ่อน (larva) มีสมมาตรชนิดครึ่งซีก (bilateral symmetry) เมื่อโตเต็มวัยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นสมมาตรชนิดรัศมี (radial symmetry) อาจมีแฉก 4 หรือ 5 หรือทวีคูณของ 5 ไม่มีส่วนหัวและส่วนท้ายที่ชัดเจนเหมือนในสัตว์อื่น บางพวกมีด้านปากติดกับพื้นทวารหนักอยู่ด้านบนเหนือปาก การเคลื่อนที่ใช้ระบบท่อน้ำ (water vascular system) ที่ดัดแปลงมาจากช่องว่างลำตัวและส่งไปยังเท้าท่อ (tube feet) ที่ยืดหดตัวได้ตามแรงดันน้ำ การแลกเปลี่ยนแก๊สใช้เหงือก ซึ่งเป็นถุงบาง ๆ ยกเว้น ปลิงทะเลที่หายใจด้วยเรสไปราทอรีทรี (respiratory tree) ที่มีลักษณะคล้ายต้นไม้อยู่ภายในตัวติดกับทวารหนัก ไม่มีอวัยวะขับถ่าย มีระบบประสาทชนิดวงแหวนรอบปากและแตกแขนงเป็นแนวรัศมีไปยังอวัยวะต่าง ๆ
การสืบพันธุ์สัตว์ในไฟลัมนี้มีทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ จะมีการแยกเพศ (dioecious) มีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (external fertilization) ระยะตัวอ่อนมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนกระทั่งกลายเป็นตัวเต็มวัยการดำรงชีวิตจะอาศัยอยู่ในทะเลเท่านั้น ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ บางชนิดสามารถงอกอวัยวะขึ้นทดแทนอวัยวะที่ขาดหายไปได้ (regeneration) ปัจจุบันพบแล้วประมาณ 6,000 ชนิด แบ่งออกเป็น 5 คลาส (class) คือ
Class Asteroidea (Gr. aster = ดาว + eidos = เหมือน) มีรูปร่างลักษณะเป็นแฉก ลำตัวมีหนาม มีโครงร่างแข็ง ท่อขามีทั้งชนิดที่มีปุ่มดูดและไม่มีปุ่มดูด เคลื่อนที่ได้ ได้แก่ ดาวทะเล (starfish หรือ sea star)
Class Ophiuroidea (Gr. ophis = งู + oura = หาง + eidos) มีรูปร่างลักษณะเป็นแฉก ลำตัวมีหนาม เคลื่อนที่ได้ ได้แก่ ดาวเปราะ (brittle star)
Class Echinoidea มีรูปร่างหลายแบบ เช่น เป็นก้อนกลม ทรงกระบอก เป็นแผ่นไม่มีร่องแขน บางชนิดมีหนามสั้น บางชนิดมีหนามยาว เคลื่อนที่ได้ ได้แก่ หอยเม่นหรือเม่นทะเล (sea urchin) เหรียญทะเลหรืออีแปะทะเล (sand dollar)
Class Holothuroidea (Gr. holothourion = แตงกวาทะเล) มีรูปร่างแบบทรงกระบอก ไม่มีแขน ไม่มีหนาม เคลื่อนที่ได้ ได้แก่ ปลิงทะเล (sea cucumber)
Class Crinoidea (Gr. krinon = ต้นลิลี่) มีรูปร่างคล้ายถ้วย ลำตัวไม่มีหนาม เกาะอยู่กับที่เป็นส่วนใหญ่ ท่อขาไม่มีปุ่มดูด ได้แก่ ดาวขนนกและพลับพลึงทะเล (sea lily)
เอไคในเดิร์มบางชนิดสามารถนำไปเป็นอาหารได้ เช่น ปลิงทะเลหรือไข่เม่นทะเล มีผู้นำดาวทะเลมาดัดแปลงทำเป็นเครื่องประดับ ดาวทะเลบางชนิดทำลายปะการัง กินหอยนางรมในฟาร์มหอยนางรม สำหรับหนามแหลมของเม่นทะเลเป็นอันตรายต่อผู้ที่ดำน้ำหรือเล่นน้ำทะเล
ภาพที่ 1 อีแปะทะเลหรือเหรียญทะเล
ที่มา: https://pxhere.com/th/photo/175810
ภาพที่ 2 ซาลามานเดอร์ (amphibian)
ที่มา: https://pixabay.com/, Stefan Hoffmann.
IX. ไฟลัมตอร์ดาตา (Phylum Chordata)
ลักษณะเด่นของสัตว์ในไฟลัมนี้ คือ โนโทคอร์ด (notochord) อยู่เหนือทางเดินอาหารซึ่งเป็นแท่งยาวยืดหยุ่นได้ มีอยู่ตลอดความยาวลำตัว อาจมีตลอดชีวิตหรือมีอยู่เฉพาะในบางช่วงของชีวิต ช่องเหงือก (gill slit) มีอยู่เป็นคู่ ๆ เกิดทางด้านข้างของคอหอย (pharyngeal gill) ในระยะเอ็มบริโอทำหน้าที่ กรองอาหารในน้ำที่ไหลเข้ามา ในพวกฉลามและกระเบนเห็นช่องเหงือกได้คลอดรวด ในพวกสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีช่องเหงือกพัฒนาไปเป็นโครงสร้างต่าง ๆ เช่น ท่อยูสเตเชียนในหูส่วนกลาง ต่อมทอนซิลต่อมพาราไทรอยด์ ท่อประสาท (nerve cord) เป็นหลอดกลวงอยู่ทางด้านหลัง (dorsal) เหนือโนโทคอร์ดและเหนือทางเดินอาหาร เรียกว่า dorsal nerve cord ในขณะที่สัตว์ไฟลัมอื่น ๆ จะมีระบบประสาทอยู่ทางด้านท้อง (ventral) เรียกว่า ventral nerve cord อีกทั้งยังมีหางอยู่ด้านท้ายของทวารหนัก ซึ่งพบในสัตว์ส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังมีลักษณะของสัตว์ชั้นสูงทั่ว ๆ ไป เช่น มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น (endoderm, mesoderm และ ectoderm) มีสมมาตรแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry) มีหัวใจอยู่ด้านท้อง มีโครงร่างค้ำจุนอยู่ในร่างกาย (endoskeleton) เป็นต้น
สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พวกไม่มีกระดูกสันหลังหรือโพรโทคอร์เดท (invertebrate หรือ protochordate) กับพวกมีกระดูกสันหลัง (vertebrate)
กลุ่มโพรโทคอร์เดต (protochordate) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง บางพวกมีโนโทคอร์ดตลอดชีวิต เช่น แอมฟิออกซัส (Amphioxus; Gr. amphi = ทั้งสอง + oxys = แหลม, คม) แต่บางพวกมีโนโทคอร์ดเฉพาะระยะตัวอ่อน เช่น เพรียงหัวหอม (tunicate)
นักชีววิทยาได้จำแนกสัตว์ในไฟลัมนี้ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
1. กลุ่มที่ยังไม่มีกระดูกสันหลัง มี 2 subphylum คือ
1.1 ยูโรคอร์เดต (Urochordate) เป็นสัตว์ที่มีถุงหุ้มตัวเป็นสารพวกเซลลูโลสระยะตัวเต็มวัยไม่มีโนโทคอร์ดคอหอยมีช่องเหงือก (gill slits) ทางเดินอาหารมีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) ไม่มีเส้นประสาทขนาดใหญ่บริเวณหลัง ไม่มีอวัยวะรับสัมผัส มีระบบหมุนเวียนเลือดแบบวงจรเปิด มี 2 เพศในตัวเดียวกัน (monoe) มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ เกาะอยู่กับที่ตามโขดหินขอนไม้เสาสะพานมีหลายสี ได้แก่ เพรียงหัวหอม (tunicate)
1.2 เซฟาโลคอร์เดท (Cephalochordate) เป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาวประมาณ 4-8 ซม. หัวท้ายแหลม รูปร่างคล้ายปลา มีโนโทคอร์ดยาวตลอดลำตัวตลอดชีวิต ไม่มีสมอง มีช่องเหงือกที่คอหอย และมีหาง ชอบฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายบริเวณชายฝั่งทะเล ได้แก่ แอมฟิออกซัส
2. กลุ่มที่มีกระดูกสันหลัง (Vertebrate) แบ่งออกเป็น
2.1 สัตว์มีกระดูสันหลังที่ไม่มีขากรรไกร
I. คลาสไซโคลสโตมาตา (Class Cyclostomata) คือ ปลาที่ไม่มีขากรรไกร ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไปแล้ว มีโครงร่างเป็นกระดูกอ่อน ไม่มีครีบคู่ มีแต่ครีบหลังและครีบหาง มักเป็นปรสิต พบในเขตหนาวแถบยุโรปและอเมริกา เช่น ปลาปากกลม ที่รู้จักกันดี คือ แฮกฟิช (hagfish) และแลมเพรย์ (lamprey)
2.2 สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีขากรรไกร
II. คลาสคอนดริคไทอิส (Class Chondrichthyes) เป็นปลากระดูกอ่อนที่มีขากรรไกรและครีบคู่เจริญดี มีการแลกเปลี่ยนแก๊สโดยใช้เหงือกภายนอก มีช่องเหงือก 5-7 คู่ มีการปฏิสนธิภายในร่างกายและออกลูกเป็นตัว มีปากด้านล่างและมีฟันหลายแถว มีเกล็ดคมปกคลุมผิว เช่น ฉลามวาฬ กระเบน ปลาฉนาก
III. คลาสออสติอิคไทอิส (Class Osteichthyes) เป็นปลากระดูกแข็งทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีโครงร่างเป็นกระดูกแข็ง มีแคลเซียมฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีครีบเนื้อนิ่ม ซึ่งพบเฉพาะปลามีปอด (lung fish) และปลาโบราณ ชื่อ ซีลาคานธ์ (coelacanth) กับกลุ่มที่มีครีบเป็นเส้น (ray-in) มีขากรรไกรเจริญดีและมีครีบคู่ 2 คู่ คือ ครีบอกและครีบสะโพก หายใจโดยใช้แผ่นปิดเหงือก (operculum) มีถุงลม (air bladder) ช่วยควบคุมการลอยตัวในน้ำ ส่วนใหญ่มีการปฏิสนธิภายนอกและออกลูกเป็นไข่ มีหัวใจ 2 ห้อง มีปากอยู่ด้านหน้าสุดของลำตัว พบทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาทู ปลากะพง ปลาตีน
IV. คลาสแอมฟิเบีย (Class Amphibia) เรียกว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibian) มีลักษณะสำคัญ คือ มีผิวหนังเปียกชื้นตลอดเวลา เพื่อช่วยแลกเปลี่ยนแก๊ส ไม่มีเกล็ดปกคลุมร่างกาย ขาคู่หน้าสั้นกว่าขาคู่หลัง ซึ่งเป็นขาที่มีความแข็งแรง ทำให้การเคลื่อนที่ของสัตว์กลุ่มนี้มีประสทธิภาพมากขึ้น เป็นสัตว์เลือดเย็น (poikilotherm) ไข่มีวุ้นหุ้ม ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ หายใจด้วยเหงือก ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บนบกหายใจด้วยปอด หัวใจมี 3 ห้อง มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างขณะที่มีการเจริญเติบโต (metamorphosis) จากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย มีการปฏิสนธินอกร่างกาย เช่น กบ อึ่งอ่าง เขียด คางคก ซาลามานเดอร์ (จิ้งจกน้ำ) งูดิน
V. คลาสเรปทิเลีย (Class Reptilia) เป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีผิวแห้งปกคลุมด้วยสารเคราทิน (keratin) มักมีเกล็ดปกคลุมหรือมีกระดองช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย นิ้วมีเล็บแหลมคม มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ออกลูกเป็นไข่โดยไข่มีเปลือกห่อหุ้ม เป็นสัตว์เลือดเย็นมีขา 2 คู่ยกเว้นงู หายใจด้วยปอด มีหัวใจ 4 ห้องไม่สมบูรณ์เพราะห้องล่างไม่มีเยื่อกั้นยกเว้นจระเข้ มีถุงแอลแลนทอยด์ (allantois) ทำหน้าที่เก็บของเสีย ตัวอย่างสิ่งมีชีวิต เช่น กิ้งก่า ตุ๊กแก จิ้งจก งู เต่า ตะพาบน้ำ จระเข้
VI. คลาสเอเวส (Class Aves) เป็นสัตว์ปีก มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน โดยพบซากดึกดำบรรพ์ของอาร์คีออพเทริกซ์ (Archaeopteryx) ที่มีลักษณะเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน คือมีเกล็ดที่ขา มีกรงเล็บ มีฟัน และมีหางยาว แต่มีขนเหมือนขนนก สัตว์ปีกมีขนแบบแผง (feather) ปกคลุมร่างกาย กระดูกมีรูพรุน ทำให้น้ำหนักเบาช่วยให้บินได้ง่าย ปากเป็นจะงอย ไม่มีฟัน มีเกล็ดที่ขา เป็นสัตว์เลือดอุ่น (homeotherm) มีอุณหภูมิของร่างกายคงที่ มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกหุ้ม มีหัวใจ 4 ห้องสมบูรณ์ หายใจโดยใช้ปอด เช่น นก ไก่ เป็ด ห่าน ปัจจุบันมีนกหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และนกบางชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น นกเงือก
VII. คลาสแมมมาเลีย (Class Mammalia) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีขนแบบเส้น (hair) ปกคลุมร่างกาย เพศเมียมีต่อมน้ำนม ผลิตน้ำนมเป็นอาหารให้ตัวอ่อน เป็นสัตว์เลือดอุ่น มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ตัวอ่อนเจริญอยู่ในมดลูก ได้รับอาหารผ่านทางรกและสายสะดือ มีหัวใจ 4 ห้องสมบูรณ์ เซลล์เม็ดเลือดแดงที่โตเต็มที่ไม่มีนิวเคลียส หายใจโดยใช้ปอด ส่วนใหญ่ออกลูกเป็นตัว มีบางชนิดออกลูกเป็นไข่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
กลุ่มมอโนทรีม (monotremes) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ออกลูกเป็นไข่ เช่น ตุ่นปากเป็ด ตัวกินมด พบในประเทศออสเตรเลียและนิวกินี
กลุ่มมาร์ชูเพียล (marsupials) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีระยะเวลาตั้งท้องสั้นมาก ลูกที่คลอดออกมาจะมีขนาดเล็ก ต้องเข้าไปอยู่ในถุงหน้าท้องของแม่ ซึ่งภายในมีหัวนมที่ผลิตน้ำนมให้ลูกอ่อน เช่น จิงโจ้ โคอาลา โอพอสซัม
กลุ่มยูเทเรียน (eutherians) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีรก มีระยะเวลาตั้งท้องนาน ตัวอ่อนเจริญอยู่ภายในมดลูกจนสมบูรณ์จึงคลอดออกมา เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ รวมทั้งไพรเมตด้วย
ไพรเมต (primate) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีสมองขนาดใหญ่ ขากรรไกรสั้น มีมือและเท้าสำหรับยึดเกาะ มีเล็บแบน มีพฤติกรรมในการเลี้ยงดูลูกอ่อนและพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โพรซิเมียน (prosimian) ได้แก่ ลิงลมหรือนางอาย ลิงทาร์ซิเออร์ และแอนโทรพอยด์ (anthropoid) ได้แก่ ลิงมีหาง เช่น ลิงแสม ลิงบาบู ซึ่งเป็นลิงโลกเก่า และลิงสไปเดอร์ ซึ่งเป็นลิงโลกใหม่ ลิงไม่มีหาง เช่น ชะนี อุรังอุตัง กอริลลา ชิมแปนซี มนุษย์
แหล่งที่มา
เชาวน์ ชิโนรักษ์ และพรรณี ชิโนรักษ์. (2541). ชีววิทยา 2. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พจน์ แสงมณี. (2552). Compact ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: แม็ค.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
-
11530 อาณาจักรสัตว์ /lesson-biology/item/11530-2020-05-01-03-04-18เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง