เซลล์ไฟฟ้าเบื้องต้น
เซลล์ไฟฟ้าเบื้องต้น
ไฟฟ้าเกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมี ทำได้โดยการนำแท่งวัตถุต่างกัน 2 ชนิด เช่นแท่งสังกะสีและแท่งทองแดง นำไปจุ่มลงในกรดกำมะถันเจือจางหรือกรดซัลฟูริก ที่ถูกเรียกว่า อิเล็กโตรไลต์ (Electrolyte) ใส่ไว้ในโถแก้ว ผลดังกล่าวทำให้เกิดการแยกตัวของประจุไฟฟ้าขึ้น แท่งสังกะสีแสดงศักย์ไฟฟ้าออกมาเป็นลบ แท่งทองแดงแสดงศักย์ไฟฟ้าออกมาเป็นบวก การตรวจสอบโดยการนำมิเตอร์ไปต่อคร่อมระหว่างขั้วทั้งสอง มิเตอร์จะแสดงค่าแรงดันออกมา ส่วนประกอบของไฟฟ้าเกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีเบื้องต้นนี้ เรียกว่า โวลตาอิกเซลล์ (Voltaic cell) หรือเซลล์กัลวานิก
ภาพประกอบบทเรียนเซลล์ไฟฟ้าเบื้องต้น
ที่มา https://pixabay.com ,OpenClipart-Vectors
เซลล์กัลวานิก (Galvanic cell) คือ เซลล์ไฟฟ้าเคมีชนิดหนึ่งที่เปลี่ยนพลังงานเคมีเป็น พลังงานไฟฟ้า โดยทั่วไป ประกอบด้วยครึ่งเซลล์ 2 ครึ่งเซลล์มาต่อเข้าด้วยกัน และเชื่อมวงจรภายในให้ครบวงจรโดยใช้สะพานไอออนต่อไว้ระหว่างสารละลายในแต่ละครึ่งเซลล์
รูปที่ 1 แสดงอิเล็กตรอนไหลในเซลล์จากขั้วแอโนด (-) ไปยังขั้วแคโทด (+) อิเล็กตรอนเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ขั้วแคโทด และอิเล็กตรอนไหลเข้าหาขั้วแคโทดเกิดปฏิกิริยารีดักชัน
ที่มา : https://binicookese.wordpress.com/2015
ครึ่งเซลล์ (Half cell) คือ ระบบที่มีสารจุ่มอยู่ในไอออนของสารนั้น ถ้าสารที่จุ่มเป็นโลหะก็ใช้โลหะนั้นเป็นขั้ว เช่น Zn จุ่มใน Zn2+ Zn ทำหน้าที่เป็นขั้วไฟฟ้า
แสดงครึ่งเซลล์สังกะสี และครึ่งเซลล์ทองแดง
ที่มา : http://119.46.166.126/self_all/selfaccess12/m6/704/lesson1/index4.php
แต่ถ้าสารที่จุ่มเป็นก๊าซหรือไอออนของสารในรูปสารละลาย จะต้องใช้ขั้วเฉื่อย เช่น Pt หรือ ขั้ว C (แกร์ไฟต์) เป็นขั้วแทน เช่น
- ก๊าซ H2 (g) จุ่มใน H+ (aq) โดยมี Pt เป็นขั้ว
- ก๊าซ Cl2 จุ่มใน Cl- (aq) โดยมี Pt เป็นขั้ว
- Fe2+ (aq) จุ่มในสาระลาย Fe3+ (aq) โดยมี Pt เป็นขั้ว
สะพานไอออน (Salt bridge)
สะพานไอออน (Salt bridge) คือ ตัวเชื่อมต่อวงจรภายในของแต่ละครึ่งเซลล์เข้าด้วยกันให้ครบวงจร ไอออนในแต่ละครึ่งเซลล์สามารถไหลผ่านสะพานไอออนนี้ได้ สะพานไอออนเป็น ตัวกันไม่ให้สารละลายในครึ่งเซลล์ทั้งสองผสมกัน
การสร้างสะพานไอออน
ทำได้โดยบรรจุสารระลายอิ่มตัวของเกลือ KNO3 ปนวุ้นที่ร้อนลงในหลอดแก้วรูปตัวยูให้เต็มพอดี เมื่อเย็นลงสารละลายที่ปนวุ้นนี้จะแข็งตัวในหลอดแก้ว แต่ละปลายอุดด้วยใยแก้ว ซึ่งนำไปใส่วางค่อมให้ปลายหลอดแก้วแต่ละปลายจุ่มอยู่ในสารละลายของแต่ละครึ่งเซลล์ หลักจากเสร็จต้องทำความสะอาดด้วยน้ำ แล้วแช่ไว้ในสารละลายอิ่มตัวของ KNO3 ในน้ำ สะพานไอออนดังกล่าวสามารถนำไปใช้ซ้ำกันหลายครั้งได้
แสดงสะพานไอออน
ที่มา : https://my.dek-d.com/mowii/writer/viewlongc.php?id=688154&chapter=4
ในการปฏิบัติการเคมี เราทำสะพานไอออนง่าย ๆ ด้วยกระดาษกรองกว้างประมาณ 1 cm ยาว ๆ ชุบสารละลายอิ่มตัว KNO3 ให้เปียกหมดทั้งแผ่น นำไปใช้แทนสะพานไอออนได้
สมบัติของสารที่ใช้ทำสะพานไอออน
-
เป็นสารประกอบไอออนิกที่ละลายน้ำแตกเป็นไอออนได้ดี มีปริมาณไอออนเกิดขึ้นมาก
-
ไอออนต้องไม่ทำปฏิกิริยาเคมีกับสารใด ๆ ในสารละลายของครึ่งเซลล์ทั้งสอง
-
ไอออนบวกและลบที่แตกตัวได้จากสารต้องสามารถในการเคลื่อนที่เร็วใกล้เคียงกัน
-
สารที่ใช้ทำสะพานไอออน มีหลายชนิด เช่น KNO3 KCl NH4Cl
-
ต้องเป็นสารละลายอิ่มตัว ประกอบด้วยไอออนมาก
หน้าที่ของสารที่ใช้ทำสะพานไอออน
-
ทำให้ครบวงจรไฟฟ้า เพราะเชื่อมทั้งสองเซลล์เข้าด้วยกัน
-
รักษาสมดุลระหว่างไอออนบวก และไอออนลบ ของสารละลายอิเล็กโตรไลต์แต่ละ ครึ่งเซลล์ตลอดเวลาที่มีการถ่ายโอนอิเล็กตรอนเกิดขึ้นในเซลล์กัลวานิก โดยไอออนบวกและไอออนลบจะเคลื่อนที่จากสะพานไอออนลงสู่สารละลายในแต่ละครึ่งเซลล์ เพื่อทำให้ประจุในแต่ละครึ่งเซลล์สมดุล
การรักษาสมดุลของประจุ ที่เกิดจากไอออนของสารละลายอิเล็กโตรไลต์ ในแต่ละครึ่งเซลล์ ด้วยการระบายไอออน ที่ทำให้เกิดการสะสมประจุผ่านสะพานไอออนลงสู่สารละลายอีกครึ่งเซลล์หนึ่ง เพื่อทำให้ประจุในสารละลายแต่ละครึ่งเซลล์สมดุล เช่น เซลล์กัลวานิก ครึ่งเซลล์ที่เกิด ปฏิกิริยาออกซิเดชันสารละลายในครึ่งเซลล์จะเกิดการสะสมประจุบวก เนื่องจากมีปริมาณไอออนบวกมากกว่าปริมาณไอออนลบเพื่อรักษาสมดุลประจุ จึงระบายไอออนบวก ขึ้นสู่สะพานไอออนไป
ลักษณะสำคัญของเซลล์กัลวานิก
-
กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเป็นกระแสตรง คือ กระแสอิเล็กตรอน
-
อิเล็กตรอนจะไหลจากครึ่งเซลล์ที่ศักย์ไฟฟ้าต่ำไปสู่ครึ่งเซลล์ที่มีศักย์ไฟฟ้าสูง
-
เซลล์กัลวานิกต่างชนิดกัน จะมีค่าศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ต่างกัน และจะมีค่ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับครึ่งเซลล์ที่นำมาต่อกัน
-
เซลล์กัลวานิกที่มีขั้วว่องไวในครึ่งเซลล์ที่แอโนด (ขั้วลบ) โลหะนั้นจะสึกกร่อนมวลลดลง เพราะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ให้อิเล็กตรอนเกิดเป็นไอออนบวก ส่วนขั้วแคโทด (ขั้วบวก) จะมีมวลมากขึ้นเพราะเกิดปฏิกิริยารีดักชัน (รับอิเล็กตรอน)
-
ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในเซลล์กัลวานิกมีการถ่ายโอนอิเล็กตรอน เป็นปฏิกิริยารีดอกซ์
-
เมื่อเกิดอิเล็กตรอนไหลนาน ๆ ในวงจรของเซลล์กัลวานิก จะเกิดการสะสมประจุใน ครึ่งเซลล์กล่าวคือ ครึ่งเซลล์แอโนดที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจะเกิดการสะสมประจุบวก และ ครึ่งเซลล์แคโทด เกิดปฏิกิริยารีดักชัน จะเกิดการสะสมประจุลบ ทั้งนี้เนื่องจากสะพานไอออนไม่สามารถรักษาภาวะสมดุลของประจุไว้ได้ทัน ทำให้อิเล็กตรอนไหลในวงจรลดลง เป็นผลให้ศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ลดลงด้วย และเมื่อแต่ละครึ่งเซลล์สะสมประจุจนถึงขีดหนึ่งจะไม่มีอิเล็กตรอนไหลออกนอกวงจร ขณะนั้นเข็มโวลต์มิเตอร์จะชี้ที่เลขศูนย์ ทั้งนี้เพราะขณะนั้นเกิดภาวะสมดุลเคมีขึ้นในแต่ละครึ่งเซลล์นั้น
แหล่งที่มา
แฟรงค์ เดวิด วี. (2547). ชุดสำรวจโลกวิทยาศาสตร์องค์ประกอบพื้นฐานทางเคมี. กรุงเทพฯ: เพียร์สัน เอ็ดดูเคชัน อินโดไชน่า.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). (2551).หนังสือเรียนเคมีพื้นฐานและเพิ่มเติม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เล่ม 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.
ศรีลักษณ์ พลวัฒนะ, และคณะ.(2551). หนังสือเรียนเสริมฯ เคมีไฟฟ้า ม.4-6 ช.4 สำนักพิมพ์แม็ค บจก. สนพ.
กลับไปที่เนื้อหา
การประยุกต์ใช้เซลล์อิเล็กโทรไลต์
เซลล์อิเล็กโทรไลต์ เป็นเซลล์ที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานเคมี ซึ่งสามารถอาศัยหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การชุบโลหะ การทำโลหะให้บริสุทธิ์ การถลุงแยกแร่ การแยกสารละลายเกลือด้วยกระแสไฟฟ้า
ภาพประกอบบทเรียนประโยชน์ของเซลล์อิเล็กโทรไลต์
ที่มา https://pixabay.com ,OpenClipart-Vectors
การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า (Electroplating)
คือ กระบวนการอิเล็กโทรลิซิสอย่างหนึ่งที่อาศัยพลังงานไฟฟ้าทำให้ไอออนของโลหะชนิดหนึ่ง กลายเป็นโลหะเคลือบ หรือ เกาะบนโลหะอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยหลักการนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การป้องกันการผุกร่อนของโลหะบางชนิด การทำให้โลหะมีความสวยงามและคงทน ฯลฯ
หลักทั่วไปในการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า
-
จัดชิ้นงานที่จะชุบต่อเข้ากับขั้วแคโทด (ขั้วลบ)
-
ต้องการชุบด้วยโลหะใด ให้ใช้โลหะนั้นเป็นแอโนด (ขั้วบวก)
-
สารละลายอิเล็กโทรไลต์ต้องมีไอออนของโลหะที่ใช้เป็นขั้วแอโนด
-
ต้องใช้ไฟฟ้ากระแสตรง และการกำหนดศักย์ไฟฟ้าที่เหมาะสมก็จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม
เช่น ต้องการชุบสร้อยเงินให้เป็นสร้อยทอง นำสร้อยเงินต่อเข้ากับขั้วแคโทด และใช้โลหะทองคำ ต่อเข้ากับขั้วแอโนด โดยใช้สารละลายที่มีไอออนของทอง เช่น Au+ ,Au3+ เป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ แล้วต่อเข้ากับแหล่งกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรง ปรับค่าศักย์ไฟฟ้าให้เหมาะสม จะได้สร้อยทองคำที่ทำจาก โลหะเงิน
ตัวอย่างการชุบชิ้นงานทองแดงโดยใช้ไฟฟ้ากระแสตรง
ภาพที่ 1 แสดงการชุบชิ้นงานด้วยโลหะเงินโดยใช้ไฟฟ้ากระแสตรง
ที่มา : https://il.mahidol.ac.th/e-media/electrochemistry/web/metal_coating.htm
จากภาพอธิบายได้ว่า
- ต่อโลหะเงิน (Ag) เข้ากับขั้วแอโนด หรือขั้วบวก
- ต่อชิ้นงานที่จะเคลือบเข้ากับขั้วแคโทด หรือขั้วลบของแบตเตอรี่
- ใช้สารละลาย Ag+ เป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ เช่น AgNO3(aq)
- ผ่านไฟฟ้ากระแสตรงที่มีศักย์ไฟฟ้าที่เหมาะสมลงไป
เมื่อผ่านไฟฟ้ากระแสตรงลงไปในเซลล์ ดังรูป จะพบว่า อิเล็กตรอนจากแบตเตอรี่จะเคลื่อนลงไปสู่ขั้วแคโทด ทำให้ขั้วนี้มีปริมาณของอิเล็กตรอนมาก และ Ag+ ซึ่งเป็นไอออนบวกก็จะเคลื่อนที่เข้ามารับอิเล็กตรอน เกิดปฏิกิริยารีดักชัน กลายเป็น โลหะเงิน เคลือบอยู่บนชิ้นงาน ขณะเดียวกันที่ขั้วแอโนดซึ่งมีโลหะเงินต่ออยู่ก็จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ Ag+ ลงสู่สารละลายเพื่อชดเชยกับ Ag+ ที่ลดลง ทำให้ความเข้มขันของสารละลายอิเล็กโทรไลต์คงที่ และอิเล็กตรอนที่ขั้วแอโนดไหลเข้าไปที่ขั้วบวก(แคโทด) ของแบตเตอรี่ ทำให้กระแสไฟฟ้าครบวงจร ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นที่ขั้วแอโนด และแคโทด เป็นดังนี้
ที่ขั้วแอโนด ; Ag (s) --- > Ag+ (aq) + e-
ที่ขั้วแคโทด ; Ag+ (aq) + e- --- > Ag (s)
การชุบโลหะให้ผิวเรียบและสวยงามนั้นขั้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
-
สารละลายอิเล็กโทรไลต์ต้องมีความเข้มข้นที่เหมาะสม
-
กระแสไฟฟ้าที่ใช้ต้องปรับค่าความต่างศักย์ให้เหมาะสมกับชนิดและขนาดของชิ้นโลหะที่ต้องชุบ
-
โลหะที่ใช้เป็นแอโนดต้องบริสุทธิ์ และถ้าไม่บริสุทธิ์ต้องใช้สารบางชนิดเติมลงไปเพื่อทำ
ปฏิกิริยา กับสารที่เป็นมลทินไม่ให้มาเกาะบนผิวโลหะที่นำมาชุบ เช่น ในทางอุตสาหกรรมจะใส่สารประกอบไซยาไนด์เพื่อให้ทำปฏิกิริยากับโลหะที่เป็นมลทิน โดยจะ เกิดสารประกอบเชิงซ้อน จึงไม่มารบกวนหรือเกาะบนโลหะที่ต้องการชุบ
- ไม่ควรชุบนานเกินไป ควรชุบเพียง 2 -3 นาทีเท่านั้น
การทำโลหะให้บริสุทธิ์ด้วยไฟฟ้า (Electrorefining)
การทำโลหะให้บริสุทธิ์ เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการถลุงแร่ โดยทั่วไป โลหะที่ถลุงได้จากแร่มักจะมีมลทินปนอยู่เล็กน้อย เพื่อทำให้โลหะนี้บริสุทธิ์มากขึ้นจะใช้กรบวนการอิเล็กโทรลิซิส ที่เรียกว่า Electrorefining ซึ่งมีหลักการดังนี้
- นำโลหะที่จะทำให้บริสุทธิ์ต่อเข้ากับขั้วแอโนด (ขั้วบวก)
- ใช้โลหะบริสุทธิ์อีกแท่งหนึ่งต่อเข้ากับขั้วแคโทด (ขั้วลบ)
- ในสารละลายอิเล็กโตรไลต์ต้องมีไอออนบวกของโลหะที่ต้องการทำให้บริสุทธิ์ประกอบอยู่ด้วย
- ต่อเข้ากับแหล่งกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรง และจัดให้มีศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ที่เหมาะสม
ตัวอย่างการทำโลหะทองแดงที่ได้จากการถลุงแร่คาลโคไพไรด์ (CuFeS2) ให้บริสุทธิ์ด้วยไฟฟ้า
ภาพที่ 2 การทำโลหะทองแดงให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีการอิเล็กโทรลิซิส
ที่มา : http://119.46.166.126/self_all/selfaccess12/m6/704/lesson2/index3.php
การถลุงแร่ทองแดงชื่อว่า คาลโคไพไรด์ (CuFeS2) จะได้โลหะทองแดงที่บริสุทธิ์ 99 % เท่านั้น ถ้าต้องการทำให้บริสุทธิ์ขึ้นอีกต้องนำโลหะทองแดงที่ได้นี้ไปผ่านกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส แยกมลทินในทองแดงออก
มลทินที่พบในโลหะทองแดงมี 2 ชนิด คือ
-
โลหะที่ถูกออกซิไดส์ง่าย (พวกนี้มีค่า E0 ต่ำ ) เช่น Zn , Fe
-
โลหะที่ถูกออกซิไดซ์ยาก (พวกนี้มีค่า E0 สูง ) เช่น Pt , Au , Ag
การจัดเครื่องมือดังรูป 2 ต่อ Cu ที่ไม่บริสุทธิ์เข้ากับขั้วแอโนด และ Cu บริสุทธิ์เข้ากับขั้วแคโทด จุ่มขั้วทั้งสองในสารละลายอิเล็กโทรไลต์ CuSO4 ผสมกับ H2SO4 แล้วต่อให้ครบวงจรกับ แบตเตอรี่ ผ่านไฟฟ้ากระแสตรงที่มีศักย์พอเหมาะลงไป จะพบว่าเกิดปฏิกิริยาขั้นที่ขั้วแอโนด และแคโทดดังนี้
ขั้วแคโทด ; Cu2+ (aq) + 2e- --- > Cu (s)
ขั้วแอโนด ; เป็นขั้วที่ต่อกับ Cu ไม่บริสุทธิ์ จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันขึ้น โดยโลหะ Cu และพวกที่เป็นมลทิน เช่น Zn , Fe (มีค่า E0 ต่ำ ) จะให้อิเล็กตรอนและเกิดเป็นไอออนบวก คือ Cu2+ , Zn2+ , และ Fe2+ ส่วนพวกมลทินที่มี E0 สูง เช่น Ag , Pt , Au จะให้อิเล็กตรอนยาก จะตกเป็นตะกอนลงที่แอโนด เรียกตะกอนของโลหะพวกนี้ว่า Anode mud
Cu (s) --- > Cu2+ (aq) + 2e-
Zn (s) --- > Zn2+ (aq) + 2e-
Fe (s) --- > Fe2+ (aq) + 2e-
ไอออนบวกของโลหะที่เกิดจากแอโนดในสารละลาย คือ Zn2+ (E0 = -0.76 V) , Fe2+ (E0 = -0.41 V) ซึ่งมีค่า E0 ต่ำกว่า Cu2+ (E0 = +0.34 V) ดังนั้นจึงพบว่า Cu2+ จะเข้าไปรับอิเล็กตรอนและเกิดปฏิกิริยารีดักชันเป็นโลหะ Cu ที่แคโทดได้ดีกว่า Zn2+ , และ Fe2+ ซึ่งรับอิเล็กตรอนยากกว่าและมีโอกาสเกิดเป็นโลหะที่แคโทดได้น้อย จึงทำให้โลหะทองแดงที่แยกได้ที่ขั้วแคโทด มีความบริสุทธิ์ 99.95 %
H2SO4 ที่เติมลงไปจะมีหน้าที่ไปกัดกร่อนให้ Cu , Zn และ Fe เสียอิเล็กตรอนเกิดเป็นไอออนเร็วและง่ายขึ้น
แหล่งที่มา
แฟรงค์ เดวิด วี. (2547). ชุดสำรวจโลกวิทยาศาสตร์องค์ประกอบพื้นฐานทางเคมี. กรุงเทพฯ: เพียร์สัน เอ็ดดูเคชัน อินโดไชน่า.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). (2551).หนังสือเรียนเคมีพื้นฐานและเพิ่มเติม
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เล่ม 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.
ศรีลักษณ์ พลวัฒนะ, และคณะ.(2551). หนังสือเรียนเสริมฯ เคมีไฟฟ้า ม.4-6 ช.4 สำนักพิมพ์ แม็ค บจก. สนพ.
กลับไปที่เนื้อหา
ประโยชน์ของเซลล์กัลวานิก
เซลล์กัลวานิกในเชิงพาณิชย์ คือ เซลล์กัลวานิกที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทำการค้าขายในเชิงพาณิชย์ จำแนกออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
- เซลล์ปฐมภูมิ (Primary cell)
คือ เซลล์ไฟฟ้าที่เมื่อสร้างเสร็จแล้วนำไปใช้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกได้ทันที เมื่อใช้ไปแล้วส่วนประกอบบางส่วนจะหมดเปลืองไปโดยไม่กลับคงคืนเป็นสภาพเดิมได้อีก หรือไม่สามารถนำกลับไปอัดไฟและนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น เซลล์ดาเนียล เซลล์แห้ง เป็นต้น
- เซลล์ทุติยภูมิ (Secondary cell หรือ Reversible cell)
คือ เซลล์ไฟฟ้าที่เมื่อสร้างเสร็จแล้วต้องนำไปอัดไฟก่อนแล้วจึงจะนำไปใช้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกได้ เมื่อใช้ไปแล้วส่วนประกอบบางส่วนจะหมดเปลือง และแปรสภาพไป แต่ทำให้กลับสู่สภาพเดิมได้โดยนำนำเซลล์ไฟฟ้าอัดไฟใหม่ เช่น เซลล์สะสม ไฟฟ้าแบบตะกั่ว เซลล์นิกเกิล - แคดเมียม เป็นต้น
ภาพประกอบบทเรียนประโยชน์ของเซลล์กัลป์วานิก
ที่มา https://pixabay.com ,OpenClipart-Vectors
เซลล์แห้ง (Dry cell)
คือ เซลล์กัลวานิกซึ่งประกอบด้วยสารที่ไม่ไหลหกออกนอกเซลล์ได้ สารเหล่านี้จะอยู่ในรูปของของแข็ง หรือกึ่งของเหลวที่ไม่สามารถไหลได้อย่างรวดเร็ว เซลล์แห้งสามารถอยู่ในรูปกรด หรือเบส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสารอิเล็กโทรไลต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- เซลล์แห้งชนิดกรด (Acidic dry cells) คือ เซลล์แห้งที่ใช้สารอิเล็กโทรไลต์ที่มีสมบัติเป็นกรด เช่น ถ่านไฟฉาย
- เซลล์แห้งชนิดเบส (Alkaline dry cells) คือ เซลล์แห้งที่ใช้สารอิเล็กโทรไลต์ที่มีสมบัติเป็นเบส เช่น เซลล์แอลคาไลน์ เซลล์ปรอท เซลล์เงิน
ตัวอย่างของเซลล์แห้ง
ก. ถ่านไฟฉาย เป็นเซลล์ปฐมภูมิชนิดเซลล์แห้ง ชนิดกรด นิยมใช้เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในวิทยุ ของเล่นเด็ก และหลอดไฟ flash สำหรับถ่ายรูป อาจจะเรียกชื่อหนึ่งว่า เซลล์เลอคังเช ( Leclanche cell) ผู้ประดิษฐ์เซลล์ชนิดนี้คือ Georges Leclanche นักวิศวกรชาวฝรั่งเศส ประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1866
ถ่านไฟฉายมีศักย์ไฟฟ้าของเซลล์เริ่มต้น ประมาณ 1.5 โวลต์ แต่ถ้าใช้ไปนาน ๆ ศักย์ไฟฟ้าของเซลล์จะตกเหลือประมาณ 0.8 โวลต์ ขณะที่เกิดปฏิกิริยาจะเกิดสารผลิตภัณฑ์สะสมอยู่ภายในเซลล์ และถ้าเซลล์นี้ถูกทิ้งไม่ใช้เป็นวัน ๆ ศักย์ไฟฟ้าของเซลล์จะกลับเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 โวลต์ ขณะนั้นสารผลิตภัณฑ์ที่เกิดจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในอิเล็กโทรไลต์นั้น
ส่วนประกอบของถ่านไฟฉาย
ถ่านไฟฉาย 1 เซลล์ ประกอบด้วย 2 ขั้ว คือ ภาชนะที่ทำด้วยสังกะสีเป็นขั้วแอโนด และใช้แกรไฟต์ (คาร์บอน) เป็นขั้วแคโทด เป็นแท่งอยู่ตรงกลาง และของผสมที่ชื้นของแอมโมเนียมคลอไรด์ (NH4Cl) แมงกานีส (IV) ออกไซด์ ซิงค์คลอไรด์ และสารเฉื่อยที่เป็นฉนวน ได้แก่ สารที่เป็นเศษขี้เลื่อย ของผสมนี้ถูกแยกออกจากกันด้วยกระดาษแผ่นรูพรุนแยกจากสังกะสีแอโนด เมื่อเซลล์ขับกระแสไฟฟ้าออกมาจะพบว่าที่แอโนด สังกะสีถูกออกซิไดส์เกิดสังกะสีไอออนและอิเล็กตรอน และที่แคโทด แมงกานีส (IV) ออกไซด์ เกิดปฏิกิริยารีดักชัน โดยแมงกานีสเปลี่ยนเลขออกซิเดชันจาก +4 ใน MnO2 เป็น +3 ใน Mn2O3 ปฏิกิริยาที่เกิดในถ่านไฟฉายเป็นดังนี้
แอโนด(ขั้วลบ) หรือขั้ว Zn ; Zn (s) -- > Zn2+ (aq) + 2e- E0 = +0.763 V
แคโทด (ขั้วบวก) หรือขั้วแกร์ไฟต์ ;
MnO2 (s) + 2NH4+ (aq) + 2e- -- > Mn2O3 (s) + 2NH3 (g) + H2O (l) E0 = +0.50 V
ปฏิกิริยาสุทธิของเซลล์ ;
Zn(s) + MnO2 (s) + 2NH4+ (aq) -- > Zn2+ (aq) + Mn2O3 (s) + 2NH3 (g) + H2O (l) ; = 1.26 V
ศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ที่คำนวณได้ ทำที่ภาวะมาตรฐาน (250 C 1 atm) แต่ศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ในถ่านไฟฉายกลับเป็น 1.5 ค่าทั้งสองนี้ต่างกันเล็กน้อย เพราะถ่านไฟฉายประกอบด้วยสารที่มีความเข้มข้นสูงกว่าความเข้มข้นที่ภาวะมาตรฐาน
ก๊าซแอมโมเนียที่เกิดขึ้นที่ขั้วแคโทด ทำปฏิกิริยากับสังกะสีไอออน เกิดสารเชิงซ้อน [ Zn(NH3)4]2+ ดังนี้ Zn2+ (aq) + 4NH3 (g) -- > [ Zn(NH3)4]2+(aq)
ปฏิกิริยานี้ช่วยลดความเข้มข้นของสังกะสีไอออน ทำให้ศักย์ไฟฟ้าของเซลล์เกือบคงที่ และช่วยป้องกันไม่ให้โมเลกุลของก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งเป็นฉนวนรวมตัวกันเป็นชั้นบาง ๆ ไปเกาะที่ผิวขั้วแคโทด เรียกว่า เกิด Polarization ซึ่งจะทำให้กระแสไฟฟ้าหยุดไหลหรือลดลงได้
ถ่านไฟฉายเป็นเซลล์ปฐมภูมิที่มีอายุการใช้งานสั้นเมื่อเทียบกับราคาแล้วจะแพงกว่า และเกิด พลังงานต่อหนึ่งหน่วยมวลต่ำ (0.0666 kwh/kg) สังกะสีที่ใช้ทำภาชนะ ผุกร่อนง่าย ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะการผุกร่อนง่ายของสังกะสีทำให้เซลล์รั่วแตกออก เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้
ข. เซลล์อัคคาไลน์ (Alkaline dry cells) เป็นเซลล์ปฐมภูมิ มีหลักการเดียวกันกับถ่านไฟฉาย แต่สารละลายอิเล็กโตรไลต์จะใช้ สารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ภาชนะที่ทำด้วยสังกะสีจึงไม่ผุกร่อนได้ง่ายใน OH- ขั้วแอโนดถูกล้อมรอบด้วยสารผสมระหว่างสังกะสีกับโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์มีลักษณะเป็นกาว (Paste) ส่วนที่ขั้วแคโทดมีสารละลายผสมระหว่างแมงกานีส (IV) ออกไซด์กับแกรไฟต์ล้อมรอบ เซลล์ ชนิดนี้มีศักย์ไฟฟ้าของเซลล์เท่ากับ 1.54 โวลต์ เกือบคงที่ และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าถ่านไฟฉาย เมื่อเทียบราคาแล้วถูกกว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในเซลล์เป็นดังนี้
ที่แอโนด ; Zn(s) + 2OH- (aq) -- > ZnO (s) + H2O (l) + 2e-
ที่แคโทด ; 2MnO2 (s) + H2O (l) + 2e- -- > Mn2O3 (s) + 2OH- (aq)
ปฏิกิริยาสุทธิของเซลล์ คือ Zn(s) + 2MnO2 (s) -- > Zn(OH)2 (s) + Mn2O3 (s)
1.2. เซลล์ทุติยภูมิ (Secondary cell หรือ Reversible cell)
เป็นเซลล์กัลวานิก ที่สารตั้งต้นที่ถูกใช้ไปแล้วสามารถทำให้กลับคืนมาใหม่ได้ โดยการผ่านไฟฟ้ากระแสตรงลงไปในเซลล์ในปริมาณที่พอเหมาะ เรียกกระบวนการนี้ว่า อัดไฟ (Charging หรือ Recharging) ก่อนจะนำเซลล์ไปใช้ต้องนำไปอัดไฟเสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกได้ เมื่อใช้ไปนาน ๆ สารตั้งต้นจะถูกใช้หมดไป จึงต้องนำไปอัดไฟใหม่เพื่อให้สารผลิตภัณฑ์กลับมาเป็นสารตั้งต้นใหม่อีกครั้ง แล้วสามารถนำไปใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าต่อได้ เช่น เซลล์สะสมไฟฟ้าแบบตะกั่ว เซลล์นิกเกิล-แคดเมียม
ก. เซลล์สะสมไฟฟ้าแบบตะกั่ว (Lead storage battery) เป็นเซลล์กัลวานิกชนิดเซลล์ทุติยภูมิ ที่สามารถอัดไฟนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเนื่องจากตะกั่วเป็นธาตุที่มีความหนาแน่นสูง จึงเป็นผลทำให้เซลล์ชนิดนี้ให้พลังงานต่อหนึ่งหน่วยมวลต่ำ (0.022 Kwh/kg) เมื่อนำเซลล์สะสมไฟฟ้าแบบตะกั่วต่อกันเป็นอนุกรม 6 เซลล์ มีศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ประมาณ 12 โวลต์ แต่ละเซลล์ประกอบด้วยแอโนด เป็นตะกั่วอัด พื้นผิวขรุขระเป็นรูพรุน และแคโทดเป็นแผ่นตะกั่วเคลือบหุ้มด้วยเลด (IV) ออกไซด์ (PbO2) ขั้วทั้งสอง จุ่มในสารละลายกรดกำมะถันเข้มข้น 40% โดยมวล (ประมาณ 5.3 mol/dm3 ) มีความถ่วงจำเพาะ 1.3 และถ้าความถ่วงจำเพาะต่ำกว่า 1.1 จะต้องนำไปอัดไฟใหม่
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการจ่ายไฟของเซลล์สะสมไฟฟ้าแบบตะกั่ว เป็นดังนี้
ที่ขั้วแอโนด ; Pb (s) + SO42- (aq) -- > PbSO4 (s) + 2e-, E0 = +0.356 V
ที่ขั้วแคโทด ;
PbO2 (s) + 4H+ (aq) + SO42- (aq) + 2e- -- > PbSO4 (s) + 2H2O (l) , E0 = +1.685 V
ปฏิกิริยาสุทธิเป็นดังนี้
Pb (s) + PbO2 (s) + 4H+ (aq) + 2SO42- (aq) -- > 2PbSO4 (s) + 2H2O (l) , = +2.041 V
ขณะที่เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในวงจรของเซลล์จะเกิดตะกอน PbSO4 ตกลงที่ก้นภาชนะ ความเข้มข้นของกรดกำมะถันลดลง และลดลงถึงจุดหนึ่งต้องนำไปอัดไฟใหม่
แหล่งที่มา
แฟรงค์ เดวิด วี. (2547). ชุดสำรวจโลกวิทยาศาสตร์องค์ประกอบพื้นฐานทางเคมี. กรุงเทพฯ:
เพียร์สัน เอ็ดดูเคชัน อินโดไชน่า.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). (2551).หนังสือเรียนเคมีพื้นฐานและเพิ่มเติม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เล่ม 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.
ศรีลักษณ์ พลวัฒนะ, และคณะ.(2551). หนังสือเรียนเสริมฯ เคมีไฟฟ้า ม.4-6 ช.4 สำนักพิมพ์แม็ค บจก. สนพ.
กลับไปที่เนื้อหา
-
9788 เซลล์ไฟฟ้าเบื้องต้น /lesson-chemistry/item/9788-2019-02-21-06-37-12เพิ่มในรายการโปรด