ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ (natural resources) หมายถึง สิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติซึ่งมีประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะเป็นปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตที่มนุษย์สามารถเสาะแสวงหามาใช้ เช่น พืช สัตว์ แร่ธาตุ ป่าไม้ ถ่านหิน และน้ำมัน เป็นต้น สามารถแบ่งทรัพยากรธรรมชาติออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
-
ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไม่หมดสิ้น (non-exhausting natural resource) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาก พบได้ทุกแห่งในโลก มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทรัพยากรเหล่านี้หากใช้ไม่ดี ไม่มีการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลเหล่านี้อาจเสื่อมสภาพไปจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ได้แก่ น้ำ อากาศ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์
-
ทรัพยากรธรรมชาติที่บำรุงรักษาให้คงสภาพอยู่ได้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่บนผิวโลกตามแหล่งต่าง ๆ ถ้ามนุษย์ใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างถูกต้องและมีการบำรุงรักษาแล้วทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้จะยังคงอยู่และใช้ประโยชน์ได้ตลอดไป ได้แก่ ดิน ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า พลังงานมนุษย์
-
ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วสิ้นเปลือง เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็กินเวลานานนับพันนับหมื่นปีทรัพยากรเหล่านี้ ได้แก่ แร่ธาตุ (รวมทั้งน้ำมันถ่านหิน) และทิวทัศน์ที่สวยงาม
สำหรับทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ น้ำ ดิน อากาศ ป่าไม้และสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ดังนั้น เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและยาวนานที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด จึงต้องมีวิธีใช้วิธีอนุรักษ์บูรณะฟื้นฟูดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ยาวนานที่สุด
ภาพที่ 1 ตัวอย่างทรัพยากรธรรมชาติ
ที่มา: https://pixabay.com/th, vitieubao.
ทรัพยากรน้ำ
ภาพที่ 2 ทรัพยากรน้ำ
ที่มา: https://pixabay.com/th/photos/น้ำ-ลดลง-ของเหลว-สาด-เปียก-1759703, qimono
ความสำคัญของน้ำ
น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนเรา เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร การคมนาคมขนส่ง การประมง และอื่น ๆ น้ำยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตร่างกายคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำหนักตัว น้ำบนผิวโลกมีอยู่ประมาณ 3 ใน 4 ส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มในทะเลและมหาสมุทรถึง 97.41% ส่วนน้ำจืดซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและมีค่ามากที่สุดของสิ่งมีชีวิตมีอยู่เพียง 2.59% น้ำจืดนี้พบอยู่ในรูปของภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกและธารน้ำแข็ง น้ำใต้ดิน และเป็นน้ำจืดที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงเพียง 0.014% เท่านั้น
ส่วนประกอบของน้ำ
น้ำประกอบด้วยออกซิเจน 1 อะตอมและไฮโดรเจน 2 อะตอมเชื่อมติดกันด้วยพันธะโควาเลนต์
คุณสมบัติของน้ำ
น้ำมีความโปร่งใส ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น และไม่มีสี เป็นสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบหลักของลำธาร, แม่น้ำ, และมหาสมุทรในโลก หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ
น้ำที่มนุษย์นำไปใช้ประโยชน์มาจาก 3 แหล่งใหญ่ คือ
-
หยาดน้ำฟ้า (precipitation) หมายถึง น้ำที่ได้จากบรรยากาศที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้ แหล่งน้ำในบรรยากาศจะอยู่ในรูปของไอน้ำในอากาศ เมฆ น้ำ ฝน ลูกเห็บ หิมะ น้ำค้าง
-
น้ำผิวดิน (surface water) ได้แก่ น้ำในแม่น้ำลำคลอง บึง บ่อ ทะเลสาบ ซึ่งได้จากน้ำฝนที่ตกลงมาและที่ไหลซึมออกจากใต้ดินรวมถึงน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะอีกด้วย
-
น้ำใต้ดิน (ground water) หมายถึง น้ำที่อยู่ใต้ผิวดิน ซึ่งเกิดจากการซึมผ่านของน้ำผิวดิน น้ำฝน และหิมะลงสู่ชั้นใต้ดินจนกลายเป็นน้ำในดินและน้ำบาดาลที่เราสามารถขุดและสูบขึ้นมาใช้ได้
ส่วนแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ่อน้ำ บึง คลอง เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ และฝายเพื่อเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นถ้ามีขนาดใหญ่อาจนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ทำการประมงการเกษตรได้ด้วย
น้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เมื่อนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภครวมทั้งใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรมแล้ว ย่อมเกิดการปนเปื้อนด้วยสิ่งโสโครกและสารมลพิษต่าง ๆ กลายเป็นน้ำเสียและปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนทำให้แหล่งน้ำนั้นเน่าเสียจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้
การจัดการทรัพยากรน้ำ
การจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ หมายถึง การป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับน้ำและการนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีพของมนุษย์ จึงต้องมีกระบวนการจัดการกับทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมและถูกต้อง ดังนี้
-
ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
-
มีการวางแผนการใช้น้ำที่คุ้มค่าที่จะกักเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี
-
การใช้น้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งแล้วไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
-
การพัฒนาแหล่งน้ำเดิมด้วยการขุดลอกคูคลอง หนอง บึง ไม่ให้ตื้นเขิน
-
การปลูกป่าโดยเฉพาะในเขตภูเขาสูงที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
-
การแก้ไขปัญหามลพิษของน้ำ
มลพิษทางน้ำและการจัดการ
มลพิษ (pollution) หมายถึง ภาวะที่มีของเสียหรือวัตถุอันตรายและกากตะกอนรวมทั้งสิ่งตกค้างจากสารเหล่านั้นที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
น้ำเสีย (waste water) หมายถึง น้ำที่มีของเสียปะปนอยู่รวมทั้งมีมลสารชนิดต่าง ๆ อยู่ด้วย ได้แก่ น้ำใช้แล้วจากบ้านเรือน จากการซักล้างน้ำชะล้างสิ่งสกปรกของเครื่องจักรและโรงงานน้ำเสียที่มีสารเคมีและโลหะต่าง ๆ เป็นต้น
แหล่งที่มาของน้ำเสียน้ำเสีย เกิดมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากธรรมชาติ น้ำเสียจากบ้านเรือน จากการเกษตรโรงงานอุตสาหกรรม และการทำเหมืองแร่
การตรวจสอบมลพิษทางน้ำ เพื่อเป็นดัชนีบ่งชี้มลพิษทางน้ำหรือเรียกว่า การวิเคราะห์คุณภาพน้ำมีหลายประการ ได้แก่
-
ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำหรือดีโอ (Dissolved Oxygen: DO) หมายถึง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งได้จากออกซิเจนจากอากาศและออกซิเจนที่เกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชน้ำและแพลงก์ตอนพืช ถ้าอุณหภูมิและปริมาณแร่ธาตุในน้ำมีค่ามากออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะมีค่าต่ำลงเพราะออกซิเจนละลายน้ำได้น้อยลง แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีคุณภาพดีมากตามปกติจะมีออกซิเจนละลายอยู่ประมาณ 8 mg/L หรือ 8 ส่วนในล้านส่วน (part per million, ppm) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีทั่วไป มีค่าดีโอประมาณ 5-7 mg/L แต่ในน้ำเน่าเสียค่าดีโอต่ำกว่า 3 mg/L ถ้ามีค่าดีโอสูงจะแสดงว่าแหล่งน้ำมีคุณภาพดีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการอุปโภคบริโภคได้
-
บีโอดี (Biochemical oxygen demand: BOD) หมายถึง ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ในน้ำใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ การวัดตามมาตรฐานสากลใช้วัดค่าบีโอดีภายในเวลา 5 วันที่ 20 องศาเซลเซียสหรือเรียกว่า BOD5 แหล่งน้ำที่มีค่าบีโอดีสูง แสดงว่าน้ำนั้นเน่าเสียและสกปรกมาก เนื่องจากแหล่งน้ำนั้นมีสารอินทรีย์มากจุลินทรีย์ในน้ำ จึงทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้มาก โดยใช้ออกซิเจนในน้ำไปมากด้วย ทำให้ค่าบีโอดีของแหล่งน้ำสูง แต่ถ้าแหล่งน้ำมีค่าบีโอดีต่ำแสดงว่าแหล่งน้ำนั้นมีสารอินทรีย์อยู่น้อยจุลินทรีย์ทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้น้อยจึงใช้ออกซิเจนในน้ำไปน้อย
-
ซีโอดี (Chemical oxygen demand: COD) หมายถึง ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำเสียทั้งที่จุลินทรีย์ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ วิธีนี้ใช้สารเคมีที่เป็นตัวออกซิไดซ์ ค่าซีโอดีสูงกว่าค่าบีโอดีเสมอ (COD > BOD)
-
ปริมาณของแข็งทั้งหมด (total solid) หมายถึง ปริมาณของแข็งในน้ำรวมทั้งที่ละลายน้ำได้ (dissolved solid) และของแข็งที่แขวนลอย (suspended solid) แหล่งน้ำธรรมชาติมีค่าของแข็งในน้ำระหว่าง 100-500 mg/L ส่วนน้ำในแม่น้ำขนาดใหญ่มีค่าของแข็งมากกว่าคือ อยู่ระหว่าง 3,000-30,000 mg/L ลิตร ปริมาณของแข็งที่มีมากเกินไปทำให้แหล่งน้ำขุ่น
-
ปริมาณโลหะหนักและสารฆ่าแมลง โลหะหนักเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต กำจัดได้ยาก ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการในอุตสาหกรรมที่สำคัญมากที่สุด ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ซึ่งจะถ่ายทอดจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นโดยการกินกันเป็นลำดับห่วงโซ่อาหาร ทำให้เกิดการสะสมพิษของโลหะหนักในผู้บริโภคอันดับสุดยอด (top consumer) เช่น การสะสมพิษปรอท ทำให้เกิดโรคมินามาตะ ทำอันตรายระบบประสาทระบบกล้ามเนื้อจนอาจตายได้พิษของตะกั่วที่สะสมในร่างกายมาก ๆ ทำให้เป็นอัมพาตหมดแรงจนทำให้ตายได้ พิษของแคดเมียมทำให้เกิดอิไตอิไต ทำให้กระดูกผุกร่อนและหักง่ายและไปสะสมที่ไตจนอาจตายได้ สารฆ่าแมลงเป็นวัตถุมีพิษ เช่น DDT สลายตัวยากและตกค้างอยู่บนพืชผักเมื่อฝนตกจะชะล้างลงสู่แม่น้ำดีดีทีละลายน้ำได้น้อย แต่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ได้ดี เช่น ไขมัน ดีดีที จึงสะสมในไขมันสิ่งมีชีวิต เช่น แพลงก์ตอนจุลินทรีย์และถูกกินกันตามลำดับห่วงโซ่อาหาร
-
แบคทีเรียโคลิฟอร์ม (coliform) หรือฟิคอลโคลิฟอร์ม (fecal coliform) แบคทีเรียโคลิฟอร์ม หมายถึง แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ และโคลิฟอร์มจะออกจากร่างกายทางอุจจาระ จึงเรียกว่า พวกฟิคอลโคลิฟอร์ม ตัวแทนของแบคทีเรียโคลิฟอร์มคือ Escherichia coli (E. coli) ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้นานกว่าเชื้อก่อโรค และถ้าตรวจพบ E. coli ก็แสดงว่า แหล่งน้ำมีการปนเปื้อนด้วยอุจจาระ น้ำนั้นไม่เหมาะในการนำมาใช้เพื่ออุปโภคบริโภค
-
pH ของแหล่งน้ำ แหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติมีความเป็นกรด-เบสหรือ pH ระหว่าง 6.5-7.5 ถ้าค่า pH ของแหล่งน้ำสูงหรือต่ำกว่านี้มากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ
การบำบัดน้ำเสีย ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
-
กระบวนการทางกายภาพ (physical process) เป็นการกำจัดของแข็งที่ไม่ละลายน้ำออกไปโดยใช้ตะแกรงร่อน (Screening)
-
กระบวนการทางเคมี (chemical process) ได้แก่ การทำให้น้ำเสียเป็นกลาง โดยเดิมกรดหรือเบส
-
กระบวนการทางชีวภาพ (biological process) เป็นการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ทั้งแบบใช้ออกซิเจน (aerobic process) และแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic process)
-
กระบวนการฟิสิกส์และเคมี (physical-chemical process) ใช้ในการบำบัดสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่อยู่ในน้ำเสีย ได้แก่ การใช้ผงถ่านดูดซับ (carbon adsorption)
ส่วนในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจใช้พืชน้ำช่วยบำบัดน้ำเสียได้ เช่น ผักตบชวา ผักกระเฉด ธูปฤาษี หญ้าแฝก กกสามเหลี่ยม และบัว เป็นต้น โดยพืชน้ำดูดสารอินทรีย์ในน้ำไปใช้ในการเจริญเติบโตและยังช่วยกรองหรือกักเก็บกากตะกอนไว้ที่ก้นแหล่งน้ำ
แหล่งที่มา
เกษม ศรีพงษ์. (มปพ). ชีววิทยาแผนใหม่ Modern Biology ม.4 เล่ม 1 ว441. กรุงเทพฯ: ภูมิบัณฑิตการพิมพ์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
ทรัพยากรดิน
ความสำคัญของดิน
ทรัพยากรดิน แบ่งตามการใช้ประโยชน์ได้ 2 ประเภท คือ เนื้อดิน (soil) และที่ดิน (land) เนื้อดินหมายถึง ชั้นของดินบนพื้นผิวโลกใช้ประโยชน์ในการผลิตพืชผลทางการเกษตรและป่าไม้ ส่วนที่ดินใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบกิจการอื่น ๆ เช่น ตั้งโรงงาน
ภาพที่ 1 การใช้ทรัพยากรดินทำการเกษตร
ที่มา: https://pixabay.com/photos/crop-furrows-soil-seeds-1149914, Free-Photos.
การใช้ที่ดิน ดินเป็นแหล่งสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่จะถ่ายทอดไปสู่ผู้บริโภคในระดับต่อ ๆ ไป
ปัจจัยควบคุมการเกิดดิน อาศัยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
-
วัตถุต้นกำเนิดดิน (soil parent material)
-
ลักษณะภูมิอากาศ (climate)
-
กาลเวลา (time)
-
สิ่งมีชีวิต (organisms)
-
ลักษณะภูมิประเทศ
การใช้ประโยชน์จากดิน มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นได้ประโยชน์จากดินดังนี้
-
เป็นแหล่งของปัจจัยสี่ที่จำเป็นของมนุษย์ คือ แหล่งผลิตอาหารหรือแหล่งเพาะปลูกมนุษย์เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย ดินเป็นแหล่งกำเนิดยารักษาโรคและเครื่องนุ่งห่ม
-
เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่น
-
ดินเป็นแหล่งในการเจริญเติบโตของพืชยึดเหนี่ยวและค้ำจุนลำต้นพืช
-
เป็นแหล่งของแร่ธาตุต่างๆที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น แร่เหล็ก ดีบุก และเป็นแหล่งของธาตุอาหารแก่พืช
-
เป็นแหล่งทำการเกษตรและอุตสาหกรรม
-
เป็นที่รองรับของเสียและสิ่งของที่มนุษย์ไม่ต้องการและเป็นที่ทับถมของซากพืชซากสัตว์
ส่วนประกอบของดิน
ดิน มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ
-
สารอนินทรีย์ (inorganic matter) ได้แก่ แร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในเนื้อดินและเป็นตัวควบคุมเนื้อดิน (texture) ซึ่งจะมีปริมาณแตกต่างกัน แร่ธาตุที่มีอยู่ในดินและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) โมลิบดีนัม (Mo) และคลอรีน (Cl) แร่ธาตุเหล่านี้ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
-
สารอินทรีย์ (organic matter) สารอินทรีย์ที่อยู่ในดิน ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่เน่าเปื่อยผุพังจมดินอยู่รวมทั้งสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น แมลงต่าง ๆ ไส้เดือนดิน แบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ช่วยให้ดินมีลักษณะร่วนซุยและเพิ่มสารอินทรีย์ให้แก่ดิน
-
น้ำ (water) อยู่ในสภาพของเหลวและแก๊สและมักอยู่ในช่องว่างระหว่างก้อนดินหรืออนุภาคดิน น้ำที่อยู่ในดินทำให้ดินชุ่มชื้น และทำหน้าที่ลำเลียงแร่ธาตุในดินไปให้พืช และพืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้
-
อากาศ (air) พบแทรกอยู่ระหว่างเม็ดดินที่ไม่มีน้ำอยู่ อากาศนี้จำเป็นในการหายใจของสิ่งมีชีวิตในดินและช่วยในการงอกของเมล็ด
ภาพที่ 2 องค์ประกอบของดิน
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Components_of_Soil_Pie_Chart.png, JasonHS.
ดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชโดยทั่วไปนั้น มีส่วนประกอบในอัตราส่วนโดยประมาณดังนี้ คือ แร่ธาตุ 45% อากาศและน้ำอย่างละ 25% และสารอินทรีย์หรือฮิวมัส 5%
สมบัติของดิน
ดินที่นำมาพิจารณากำหนดคุณภาพของดินแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
1. สมบัติทางกายภาพ หมายถึง การจัดเรียงและยึดกันของอนุภาคของธาตุในดินลักษณะการยึดกันของดินเรียกว่าเนื้อดิน (Soil texture) ลักษณะเนื้อดินที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่มีสาเหตุมาจากวัตถุต้นกำเนิดดินและการผสมกันของอนุภาคดิน (Soil particle) 3 ขนาด คือ อนุภาคดินเหนียว (clay) มีอนุภาคเล็กมากขนาดเล็กกว่า 0.002 มิลลิเมตรอนุภาคดินทรายแป้ง (silt) มีขนาดใหญ่กว่าอนุภาคดินเหนียวคือมีขนาด 0.002-0.02 มิลลิเมตร และอนุภาคดินทราย (sand) มีขนาดอนุภาค 0.02-2 มิลลิเมตร อนุภาคดิน 3 ขนาดผสมกันเกิดเป็นเนื้อดิน 3 กลุ่ม ได้แก่
- ดินทราย (sandy soil) เป็นดินที่มีกำเนิดมาจากหินทราย มีอนุภาคของทรายเป็นลักษณะเด่น จึงมีอนุภาคขนาดค่อนข้างใหญ่และหยาบ มองเห็นด้วยตาเปล่าเนื้อดินหยาบ แต่ละอนุภาคมักไม่ยึดติดกับอนุภาคอื่น จึงร่วนซุยมีความพรุนมากน้ำซึมผ่านได้ง่ายและไม่กักเก็บน้ำ ความสามารถในการยึดธาตุอาหารต่ำความอุดมสมบูรณ์ไม่เหมาะกับการเจริญของพืช
- ดินเหนียว (clay soil) มีขนาดอนุภาคเล็กมากและเนื้อดินละเอียดมาก มีอนุภาคดินเหนียวเป็นลักษณะเด่น เนื้อดินแน่น อุ้มน้ำได้ดี มีความยืดหยุ่น สามารถยึดจับและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้สูง ทั้งอากาศและน้ำระบายผ่านได้ยาก จึงเก็บน้ำไว้ได้นาน เมื่อเปียกน้ำจะเหนียวเหนอะทำให้ไถพรวนยาก แต่เมื่อแห้งจะเป็นก้อนแข็ง
- ดินร่วน เป็นดินที่มีขนาดอนุภาคอยู่ระหว่างดินเหนียวและดินทราย มีเนื้อดินปานกลาง นุ่มมือ ยืดหยุ่นดี อากาศและน้ำระบายผ่านได้ดีปานกลาง มีความชื้นพอเหมาะ สามารถยึดธาตุอาหารพืชได้ดี จึงเหมาะที่จะใช้ในการเพาะปลูก
การจำแนกชนิดดินโดยวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์ส่วนผสมของดินทราย ดินทรายแป้ง และดินเหนียวโดยน้ำหนัก และนำไปหาชนิดของดินจากกราฟ เช่น การวิเคราะห์หาส่วนผสมของดินชุดหนึ่ง ทราบว่าประกอบด้วย ดินทราย 40% ดินทรายแป้ง 40% และดินเหนียว 20% เมื่อพิจารณาจากกราฟ พบว่า เป็นดินร่วน
ภาพที่ 3 กราฟแสดงเปอร์เซ็นต์ของดินทราย ดินทรายแป้ง และดินเหนียว เพื่อจำแนกดิน
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:SoilTexture_USDA.png, Mikenorton.
ลักษณะของเนื้อดินที่แตกต่างกันในแต่ละชนิดจึงมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมที่ต่างกัน
สีของดิน มีประโยชน์ในการจำแนกดินหรือแยกชั้นของดินสีของดินจะขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของดิน เช่น ดินสีดำมีฮิวมัสเป็นส่วนประกอบอยู่มาก จึงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุหรือมีแมงกานีสประกอบอยู่ ดินสีเหลืองปนน้ำตาลเป็นดินที่มีฟอสฟอรัสออกไซด์ ดินสีน้ำเงินมีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ดินสีแดงแสดงว่าเป็นดินที่มีอายุมาก ผ่านการสลายตัวอย่างรุนแรงมาแล้ว จึงไม่มีแร่ธาตุที่เป็นอาหารของพืช เป็นต้น
2. สมบัติทางเคมี หมายถึง pH หรือความเป็นกรด-เบสของดิน ดินในที่ต่าง ๆ มีความเป็นกรด-เบสแตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วย
วิธีวัด pH ของดิน ทำได้โดยนำดินมาละลายน้ำแล้วใช้กระดาษ pH ทดสอบหรือทดสอบด้วยกระดาษยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์ แล้วเปรียบเทียบกับสีที่ข้างกล่อง
-
ถ้าวัดได้ค่า pH 1-6 แสดงว่า เป็นดินเปรี้ยวหรือดินที่เป็นกรด
-
ถ้าวัดได้ pH ตั้งแต่ 8-14 แสดงว่า เป็นดินเค็มหรือดินที่เป็นเบส
-
ถ้าวัดได้ pH = 7 แสดงว่า เป็นดินที่เป็นกลาง
3. สมบัติทางชีวภาพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตหรือสารอินทรีย์ที่อยู่ในดิน ดังนั้นดินบริเวณใดที่มีความอุดมสมบูรณ์จะต้องมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมาก ชนิดของสิ่งมีชีวิตในดิน มีหลายจำพวก
-
จุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กมาก เช่น แบคทีเรีย รา สาหร่าย
-
สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ได้แก่ โพรโทซัว เช่น อะมีบา
-
สัตว์ขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลวก มด ตะขาบ กิ้งกือ และรวมไปถึงหนอน หอยทาก และ ไส้เดือนดิน เป็นต้น
การจัดการทรัพยากรดิน
มลพิษของดินเเละปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน
มลพิษของดิน (Soil pollution) หมายถึง ภาวะที่ดินได้รับสารพิษและของเสียจากแหล่งต่างๆและเกิดการสะสมมากจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
สาเหตุของมลพิษในดิน มีดังนี้
-
การทิ้งสิ่งของต่าง ๆ ลงในดิน
-
การใช้สารเคมีทางการเกษตร สารเคมีบางชนิดสลายตัวได้ช้ามากหรือบางชนิดแทบไม่สลายตัวเลย ทำให้สารพิษตกค้างอยู่ในดิน เช่น อัลดริน (aldrin) ใช้เวลา 1-6 ปี ดีลดริน (dieldrin) ใช้เวลา 5-25 ปี ดีดีที่ใช้เวลา 4-30 ปีในการสลายตัว
-
สารกัมมันตรังสีต่าง ๆ ที่ใช้ทางการแพทย์ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งได้จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หรือปรมาญหรือปฏิกรณ์ปรมาณู
สาเหตุของการเสื่อมโทรมของดิน
-
การพังทลายของดิน (soil erosion) เป็นกระบวนการที่ดินแตกแยกออกจากกันแล้วเคลื่อนย้ายไปแหล่งอื่นโดยอิทธิพลของลมและน้ำ ผลที่เกิดจากการพังทลายของหน้าดิน จะทำให้ดินเกิดเป็นร่องน้ำ เนื่องจากกระแสน้ำที่กัดเซาะและดินชั้นบนที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์จะถูกเคลื่อนย้ายไปทำให้ทำการเพาะปลูกไม่ได้ผลดี นอกจากนี้ยังทำให้อ่างเก็บน้ำและแม่น้ำตื้นเขิน เนื่องจากเกิดการตกตะกอนของดินที่ถูกพัดพามาและยังทำให้เกิดสันดอนขึ้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมทางน้ำ
-
ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ การที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากการปลูกพืชซ้ำซากชนิดเดียวกันติดต่อเป็นเวลานานและการไถพรวนดินที่ผิดวิธี
-
ดินที่มีสมบัติไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช
ดินที่มีความเป็นเบสสูงหรือดินเค็ม เป็นดินที่มี pH มากกว่า 7 เป็นดินที่มีเกลือแกงอยู่มากกว่าปกติดินประเภทนี้มี pH ประมาณ 8.5 ดินเค็มมักพบทางแถบภาคอีสานและแถบชายทะเล ดินเค็มจะทำให้สารอาหารบางชนิดในดินถูกพืชนำไปใช้ไม่ได้ จึงชะลอการเจริญเติบโตของพืชที่ให้ผลผลิตพืชลดลงเนื่องจาก ดินเค็มเป็นอันตรายต่อการงอกของเมล็ด ขัดขวางการหยั่งรากของพืชลงสู่ดิน ดินเค็มจับแน่นกับปุ๋ยเคมีทำให้พืชนำปุ๋ยเคมีไปใช้ไม่สะดวกทำให้ดินแน่นขึ้นการอุ้มน้ำของดินลดลง
การแก้ไขดินเค็ม โดยการชะล้างด้วยน้ำจืดหรือใช้ยิปซัม (หรือแคลเซียมซัลเฟต, CaSO4) ใส่ในดินควบคุมการทำนาเกลือปลูกไม้ยืนต้นที่ทนเค็มทนแล้งได้ดีเช่นต้นยูคาลิปตัสกระถินสะเดาแคบ้านมะขามและควบคุมความชื้นในดินไม่ให้น้ำใต้ดินถูกดูดขึ้นมาที่ผิวหน้าดินจึงไม่ให้เกลือขึ้นมาที่ผิวหน้าดินด้วย
ดินที่มีความเป็นกรดจัด เรียกว่า ดินเปรี้ยวมักมีค่า pH ต่ำกว่า 4 ความเป็นกรดมักเกิดจากกรดกำมะถันเป็นส่วนใหญ่หรือมีแร่ไพไรท์ (FeS2) จะทำให้ผลผลิตจากการเพาะปลูกต่ำ ดินกรดมักพบแถวทุ่งรังสิตไปถึงอยุธยาตอนเหนือ ปทุมธานี สระบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี
การแก้ไขดินกรด โดยใช้ปูนมาร์ลซึ่งเป็นปูนในธรรมชาติในรูปแคลเซียมคาร์บอเนตจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ดินร่วนไม่แน่นทึบและระบายน้ำและอากาศได้ดีนอกจากนี้อาจใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเติม
การจัดการและการแก้ปัญหามลพิษทางดินและปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน
-
การอนุรักษ์ดิน (Soil conservation) หมายถึง การใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างฉลาด คุ้มค่า เหมาะสม และถูกต้องตามหลักวิธีเกษตรกรรมสมัยใหม่
-
การป้องกันการพังทลายของหน้าดิน การพังทลายของหน้าดินเกิดจากความรุนแรงของลมและน้ำที่มาปะทะกับผิวดินทำให้หน้าดินถูกชะพาไปและยังเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่ตัดไม้ทำลายป่าหรือทำการไถพรวนผิดวิธี การป้องกันการพังทลายของหน้าดินมีหลายวิธี ได้แก่
-
การวางระบบการระบายน้ำ ไม่ให้น้ำท่วมขังและกัดเซาะหน้าดินออกไป
-
การปลูกต้นไม้และสงวนรักษาป่าไม้
-
ตามไหล่เขาที่มีความลาดเอียงควรเลือกวิธีปลูกพืชในแนวระดับ
-
การปลูกพืชแบบขั้นบันได
-
การปลูกพืชคลุมดิน และพืชอนุรักษ์ดิน เช่น หญ้าแฝก
-
ไม่ไถพรวนหรือพลิกดิน
- การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดินที่ใช้เพาะปลูกไปนาน ๆ แร่ธาตุในดินจะถูกใช้ไปมากจนอาจหมดไปทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินทำได้โดย การปลูกพืชหมุนเวียน การเพิ่มสารอินทรีย์ให้แก่ดิน และการคลุมดิน
-
การปรับปรุงดินที่มีปัญหาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ดินในแต่ละบริเวณมีสมบัติแตกต่างกัน เช่น ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินเค็ม การแก้ไขดินเค็มโดยควบคุมการทำนาเกลือสินเธาว์ไม่ให้น้ำเกลือไหลออกสู่ไร่นา การล้างดินเค็มเพื่อลดระดับความเค็ม โดยปล่อยน้ำเข้าไปชะล้างเกลือที่ผิวดินการปลูกพืชทนเค็ม เช่น หน่อไม้ฝรั่ง หรือไม้ยืนต้น เช่น กระถินณรงค์ แคบ้าน ขี้เหล็ก มะขาม ช่วยปรับปรุงดินเค็มได้
-
การเลือกใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เหมาะสมกับลักษณะดิน เป็นการจัดการใช้ที่ดินให้ถูกต้องและได้ประโยชน์มากที่สุด
แหล่งที่มา
เกษม ศรีพงษ์. (มปพ). ชีววิทยาแผนใหม่ Modern Biology ม.4 เล่ม 1 ว441. กรุงเทพฯ: ภูมิบัณฑิตการพิมพ์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชา เพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
อากาศ
ความสำคัญของอากาศ
ความสำคัญของอากาศและบรรยากาศ มีดังนี้
-
มีแก๊สที่จำเป็นต่อการมีชีวิตของมนุษย์ สัตว์และพืช
-
มีอิทธิพลต่อการเกิด ปริมาณ และคุณภาพของทรัพยากรอื่น เช่น ป่าไม้และแร่ธาตุ
-
ช่วยปรับอุณหภูมิของโลก
-
ทำให้เกิดลมและฝน
-
มีผลต่อการดำรงชีวิต สภาพจิตใจ และร่างกายของมนุษย์
-
ช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีของดวงอาทิตย์ โดยก๊าซโอโซนในบรรยากาศจะกรองหรือดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งทำให้ผิวไหม้เกรียม เป็นโรคมะเร็งผิวหนังและโรคต้อกระจก
-
ช่วยเผาไหม้วัตถุที่ตกมาจากฟ้าหรืออุกกาบาตให้กลายเป็นอนุภาคเล็ก ๆ
- ทำให้ท้องฟ้ามีสีสวยงาม
ส่วนประกอบของอากาศ
อากาศ เป็นของผสมที่ประกอบด้วยส่วนประกอบหลักที่สำคัญ ได้แก่ ไนโตรเจนจำนวนร้อยละ 78.09 ออกซิเจนร้อยละ 20.94 ก๊าซเฉื่อยซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ก๊าซอาร์กอนร้อยละ 0.93 คาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 0.03 และส่วนผสมของก๊าซฮีเลียม ไฮโดรเจน นีออน คริปตอน ซีนอน โอโซน มีเทน ไอน้ำและสิ่งอื่นรวมกัน ร้อยละ 0.01 ก๊าซออกซิเจนที่พอเหมาะแก่การดำรงชีวิตจะอยู่สูงจากพื้นโลก 5-6 กิโลเมตร
- แก๊ส เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของอากาศ แก๊ส ในอากาศแห้ง 100 ส่วน ประกอบด้วยแก๊สต่าง ๆ ดังนี้
ภาพที่ 2 ส่วนประกอบของอากาศ
ที่มา: https://www.engineeringtoolbox.com/air-composition-d_212.html
-
ของเหลว ของเหลวในอากาศ ได้แก่ ไอน้ำ ซึ่งเกิดจากการระเหยของน้ำจากแหล่งน้ำบนพื้นผิวโลก รวมทั้งการคายน้ำของพืชและการหายใจของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เมื่อไอน้ำที่ถูกปล่อยออกมาลอยขึ้นสู่อากาศ จะทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ฝน เมฆ หมอก และน้ำค้าง ทำให้อากาศมีความชื้น
-
ของแข็ง อากาศยังประกอบด้วย อนุภาคของฝุ่นละอองต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นอนุภาคที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองดิน ละอองหิน ละอองเกสรดอกไม้ หรืออนุภาคที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อนุภาคของฝุ่นละอองจากกระบวนการอุตสาหกรรม การคมนาคม การเผาไหม้ รวมทั้งจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ปะปนอยู่ในอากาศ
คุณสมบัติของอากาศ
อากาศ (Air) คือ ของผสมที่เกิดจากก๊าซหลายชนิด อากาศบริสุทธิ์จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ตามธรรมชาติแล้วอากาศที่บริสุทธิ์จะหาได้ยากมาก และการที่อากาศลอยปนอยู่กับ ลักษณะทางกายภาพจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้
บรรยากาศ (Atmosphere) คือ มวลก๊าซที่ห่อหุ้มตั้งแต่ผิวโลกจนสูงขึ้นไปประมาณ 900 กิโลเมตร โดยจะเกิดร่วมกับลักษณะทางกายภาพอื่น ได้แก่ อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น ลม และอนุภาคฝุ่นผง หรือมลสาร (Pollutant) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำและคงอยู่ได้ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก บรรยากาศที่สูงขึ้น ประมาณ 80 กิโลเมตรจะมีส่วนผสมของก๊าซคล้ายคลึงกัน
ภาพที่ 1 มลพิษที่ปล่อยสูบรรยากาศของนิคมอุตสาหกรรม
ที่มา: https://pixabay.com/, SD-Pictures.
การจัดการทรัพยากรอากาศ
มลพิษทางอากาศ หมายถึง ภาวะอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ก๊าซธรรมชาติอากาศเสียที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยมาก เพราะแหล่งกำเนิดอยู่ไกลและปริมาณที่เข้าสู่สภาพแวดล้อมของมนุษย์และสัตว์มีน้อย กรณีที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ มลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์จากโรงงานอุตสาหกรรมจากขบวนการผลิตจากกิจกรรมด้านการเกษตรจากการระเหยของก๊าซบางชนิด ซึ่งเกิดจากขยะมูลฝอยและของเสีย เป็นต้น
แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญของประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
-
แหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ ในบริเวณที่ใกล้ถนนที่มีการจราจรติดขัด จะมีปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงกว่าในบริเวณที่มีการจราจรคล่องตัว สารมลพิษที่ระบายเข้าสู่บรรยากาศที่เกิดจาก การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน สารตะกั่วและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
-
แหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษทางอากาศจากแหล่ง กำเนิดอุตสาหกรรม เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในบรรยากาศและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน โดยทั่วไปหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
-
เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง
-
เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว ได้แก่ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล และ
-
เชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซ LPG
สารมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งพบว่ามีปริมาณการระบายออกสู่บรรยากาศเพิ่มมากขึ้นทุกปตามปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดมลภาวะของอากาศ มีหลายอย่างด้วยกันคือ
-
พวกที่เป็นอนุภาคของแข็ง เช่น ฝุ่นละอองควัน (อนุภาคของคาร์บอนที่มีขนาดเล็กมากเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง) อนุภาคของโลหะต่าง ๆ การระเบิดภูเขาไฟ การเกิดพายุ หอบฝุ่นละอองมา
-
พวกที่เป็นก๊าซเช่นคาร์บอนมอนอกไซด์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกไซด์ของไนโตรเจนและไฮโดรคาร์บอน
-
พวกที่เป็นของเหลว เช่น ละอองของกำมะถัน
-
สารกัมมันตรังสี
-
สารที่มีชีวิต เช่น ละอองเกสรดอกไม้จุลินทรีย์ต่าง ๆ แมลงและชิ้นส่วนของแมลง
โลหะบางชนิดที่ทำให้เกิดมลภาวะของอากาศและเป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่
ตะกั่ว อันตรายจากพิษของตะกั่ว คือ เส้นโลหิตเสื่อมเชลล์สมองถูกทำลายทำให้เกิดการตกเลือดเกิดโรคทางสมองจิตเสื่อมตาบอดและเป็นอัมพาตได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ เพราะตะกั่วขัดขวางการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดงมีผลร้ายต่อการตั้งครรภ์และการเจริญของทารกในครรภ์ (ปกติร่างกายสามารถขับออกเกือบหมดทางปัสสาวะและอุจจาระถ้ารับมาก ๆ จะสะสมในกระดูกและเนื้อเยื่อ
ปรอท อันตรายจากพิษของปรอท
-
ถ้าเป็นไอปรอทที่เข้าสู่ร่างกายทางลมหายใจจะทำให้เกิดอาการหนาวสั่นเป็นไข้แน่นหน้าอกและอาจถึงตายได้ (ปรอทมีความดันไอสูงสามารถกลายเป็นไอได้ในอุณหภูมิปกติ) สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้ช่วยกำจัดได้ไม่ถึง 10%)
-
ถ้าเป็นสารประกอบของปรอทชนิดกัดกร่อน เช่น เมอคิวริคไนเตรตและเมอคิวริคคลอไรด์ ที่เข้าสู่ร่างกายทางปากจะทำให้ทางเดินอาหารระคายเคืองและอักเสบ
-
ถ้าเป็นสารประกอบของปรอทชนิดไม่กัดกร่อน เช่น เมธิลเมอคิวรี่ที่สะสมอยู่ในเนื้อปลาและเมล็ดพืชที่ฉีดยาฆ่าแมลงชนิดที่มีสารประกอบของปรอทนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายทางปากจะไม่ทำให้เกิดอาการทันที แต่จะไปสะสมในร่างกายจนถึงจุดหนึ่งแล้วจึงแสดงอาการออกมาเช่นทำให้ปวดท้องอาเจียนปวดกล้ามเนื้อกล้ามเนื้อแขนขาเกร็งผิดรูปมีผลต่อระบบประสาทสมองและนัยน์ตาทำให้หมดสติเป็นอัมพาตและถึงตายได้ซึ่งเรียกกันว่า โรคมินามาตะ (Minamata)
แคดเมียม (Cd) อันตรายจากพิษของแคดเมียม ทำให้คลื่นไส้อาเจียนท้องร่วงเป็นตะคริวที่ท้องถ้าร่างกายได้รับเข้าไปมากจะทำให้กระดูกกร่อนกระดูกผุทำให้หักง่าย เพราะรบกวนกลไกการนำ Ca ไปสร้างกระดูกเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงมีการสะสมที่ไต เรียกโรคนี้ว่า โรคอิไตอิไต
แก๊สต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ได้แก่
-
แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
-
แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S)
-
แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
-
แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
-
แก๊สไนตริกออกไซด์ (NO) และแก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
น้ำมันปิโตรเลียม อันตรายที่เกิดขึ้นจากไฮโดรคาร์บอน คือ ทำให้เกิดหมอกควันเกิดความระคายเคืองนัยน์ตา หลอดลม คันตา ผิวหนัง ทำลายคลอโรฟิลของพืช ขัดขวางการผลิตฮอร์โมนของพืชไฮโดรคาร์บอนบางชนิดเมื่อสะสมอยู่ในร่างกายมาก ๆ ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
สารกัมมันตรังสีที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ อันตรายที่เกิดขึ้นจากกัมมันตรังสี คือ ทำให้ระคายเคืองตาจมูกคือมือบวมอาเจียนอาจทำให้เป็นหมัน (เนื่องจากกัมมันตรังสีทำให้โครโมโซมผิดปกติ) หรือถึงแก่ชีวิตได้ อาจทำให้ผิวหนังและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดเป็นมะเร็งทารกในครรภ์ผิดปกติ
สรุปผลเสียที่เกิดขึ้นจากมลภาวะของอากาศ
-
ทำอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์
-
ทำอันตรายต่อพืชและสัตว์
-
ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สิน เช่น ก๊าซ SO2 ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เมื่อถูกกับไอน้ำในอากาศจะกลายเป็นกรดกำมะถัน ทำให้โลหะเกิดการสึกกร่อนทรัพย์สินบางอย่าง เช่น ยาง เปื่อย ยุ่ย และเสียลักษณะการยืดหยุ่น ทำให้สีทาบ้านและสีย้อมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งผสมตะกั่วเสื่อมคุณภาพสีซีดจางเร็วขึ้น
-
ทำความสกปรกให้แก่สิ่งของเครื่องใช้ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด
-
ทำให้อากาศมืดมัว
-
ทำให้ความร้อนบนผิวโลกเพิ่มขึ้นกว่าปกติ เพราะถ้าอากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะดูดความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้มาก
แหล่งที่มา
เกษม ศรีพงษ์. (มปพ). ชีววิทยาแผนใหม่ Modern Biology ม.4 เล่ม 1 ว441. กรุงเทพฯ: ภูมิบัณฑิตการพิมพ์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
ป่าไม้ ,สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (Alien species)
ทรัพยากรป่าไม้
ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้
ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่ใช้แล้วเกิดทดแทนได้อาจเรียกว่า ทรัพยากรธรรมชาติหมุนเวียน เพราะเมื่อนำมาใช้แล้วสามารถเกิดขึ้นทดแทนได้ ถ้ามีการบำรุงรักษาให้ดี และเป็นระบบนิเวศที่มีกลุ่มสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์อาศัยอยู่ร่วมกันนอกจากสิ่งมีชีวิตยังมีสิ่งไม่มีชีวิตอีกด้วยเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์
ภาพที่ 1 ป่าไม้
ที่มา: https://pixabay.com/, jplenio.
กลุ่มสิ่งมีชีวิต ที่อยู่ในป่าที่สำคัญมี 3 กลุ่มคือ
-
พืช ได้แก่ ต้นไม้ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รวมทั้งเถาวัลย์และไม้เลื้อยต่าง ๆ ทำหน้าที่สำคัญ เป็นผู้ผลิต (producer) ในระบบนิเวศและเป็นแหล่งของปัจจัยสี่
-
สัตว์ป่า ได้แก่ สัตว์บก สัตว์น้ำสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทุกชนิด ที่อาศัยอยู่อย่างอิสระในป่า โดยไม่มีใครเลี้ยงดูและเป็นเจ้าของ หน้าที่ของสัตว์ในระบบนิเวศ คือ เป็นผู้บริโภค (Consumer) เป็นอาหารและใช้เป็นยาสมุนไพร แล้วสัตว์ป่ายังช่วยควบคุมสมดุลธรรมชาติของป่าด้วย
-
ผู้ย่อยสลาย (decomposer) ได้แก่ จุลินทรีย์พวกแบคทีเรียและเห็ดราชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวเปลี่ยนอินทรียสารให้เป็นสารอนินทรีย์ที่เป็นสารอาหารของพืช และพืชดูดซึมเอาไปใช้สร้างเนื้อเยื่อพืชได้
การจัดการทรัพยากรป่าไม้
การจัดการทรัพยากรป่าไม้ หมายถึง การใช้ประโยชน์จากป่าไม้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเกิดการสูญเสียน้อยที่สุดและเป็นไปตามความต้องการของมนุษย์มากที่สุด
การจัดการทรัพยากรป่าไม้ มีแนวทางดังนี้
-
การกำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติให้ชัดเจน
-
การปลูกป่าทดแทน
การปลูกป่า ควรแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ ได้แก่
1) ปลูกเพื่อผลิตไม้ที่มีคุณภาพดี ได้แก่ ไม้สัก
2) ปลูกเพื่อผลิตไม้ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ใช้ไม้โตเร็ว
3) ปลูกเพื่อรักษาต้นน้ำลำธารควรปลูกไม้ที่ปกคลุมดินเติบโตเร็วใช้น้ำน้อย
-
ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า
-
การให้ความรู้ การศึกษาและประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของป่าไม้
-
ใช้ประโยชน์จากไม้ทุกส่วนอย่างคุ้มค่า
-
การใช้วัสดุอื่นแทนไม้
-
การกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำแนกเป็น 11 ประเภท ได้แก่
1) อุทยานแห่งชาติ (national park) ในประเทศไทยมีอยู่ 126 แห่ง
2) วนอุทยาน (nature park หรือ forest park)
3) สวนพฤกษศาสตร์ (botanical garden)
4) สวนรุกขชาติ (arboretum)
5) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (wildlife sanctuary)
6) พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ (natural conservation area)
7) พื้นที่สงวนชีวาลัย (biosphere reserve)
8) พื้นที่มรดกโลก (World heritage)
9) ป่าชายเลนอนุรักษ์ (conservation mangrove forest)
10) พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 (watershed class 1)
11) เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (non-hunting area)
สถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย (พ.ศ. 2560-2561)
สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นประเทศไทยปี พ.ศ. 2561 มีร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประเทศไทยในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ใช้สำหรับการคำนวณร้อยละพื้นที่ป่าไม้รายจังหวัดเท่ากับ 517,645.92 ตร.กม. หรือ 323,528,699.65 ไร่
- ปี พ.ศ. 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 138,566,875 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ
- ปี พ.ศ. 2559-2560 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102,156,350.51 ไร่ หรือร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ
- ปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102,488,302.19 ไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ
สภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๑
พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 แบ่งเป็น 6 ภูมิภาค โดยภาคเหนือมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดคือ 38,533429.40 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.17 ของพื้นที่ภาค
ภาพที่ 2 ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยปี พ.ศ. 2560-2561
ที่มา: กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562)
ภาพที่ 3 แผนที่สภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2561
ที่มา: กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562)
สาเหตุของการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลายและนำมาใช้ประโยชน์จนเกินกำลังการผลิตของป่าทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงมากเนื่องจาก
-
การลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย
-
การถางป่าทำไร่เลื่อนลอยและบุกรุกป่าต้นน้ำลำธาร
-
การเกิดไฟป่า ไฟไหม้ป่ามักเกิดในฤดูร้อนของประเทศไทย
-
การสร้างเขื่อนเก็บน้ำ เพื่อการชลประทานหรือเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
-
การทำเหมืองแร่
-
สิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกป่า
ผลกระทบจากการทำลายป่า การทำลายป่า นอกจากทำให้พื้นที่ป่าลดลงแล้วยังเกิดผลกระทบอื่น ๆ ได้แก่
-
สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
-
พื้นที่ต้นน้ำลำธารเสื่อมโทรม
-
เป็นการทำลายแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่า
สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ (alien species) หมายถึง สิ่งมีชีวิตจากต่างแดนที่นำเข้ามาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมักมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตเดิม ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์มี 2 ชนิด คือ
-
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่รุกราน (non-invasive alien species หรือ NIAS) เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่กระทบกับชนิดพันธุ์เดิม เมื่อเข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดสามารถปรับตัวอยู่ได้แค่บางชนิด ไม่สามารถแข่งขันกับสปีชีส์ที่มีอยู่เดิม จึงไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้
-
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (invasive alien species หรือ IAS) สิ่งมีชีวิตที่นำเข้าเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น แพร่พันธุ์ได้เร็ว ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี ทำให้ชนิดพันธุ์ดั้งเดิมถูกรุกราน และพันธุ์ใหม่นี้เข้าแทนที่อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หญ้าขจรจบ ไมยราบยักษ์ กระถินยักษ์ ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศ พืชเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่ว เช่นเดียวกับผักตบชวา ดังนั้นต้องระมัดระวังและป้องกันผลกระทบ เมื่อนำพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามา ผู้น้าเข้าพันธุ์เหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบในสังคมร่วมกัน พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้าพันธุ์เหล่านี้
เนื่องจากการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น นอกจากส่งผลกระทบกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเดิม แล้วยังทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมลดลงด้วย เมื่อชนิดพันธุ์ต่างถิ่นแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมแล้วยังกำจัดได้ยากอีกด้วย เช่น ผักตบชวา หญ้าขจรจบ ไมยราบยักษ์ กระถินยักษ์ ปลาดูด (ปลาซักเกอร์) หอยเชอรี่ จึงควรมีแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดและรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เช่น ไม่ยินยอมให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่แน่ใจว่าจะมีการแพร่ระบาดและรุกรานหรือไม่เข้าประเทศ ถ้ามีการลักลอบนำเข้าต้องทำการกำจัดหรือทำลาย ทำการวิจัยและติดตามผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตั้งแต่เริ่มต้น โดยการสำรวจแยกชนิดพันธุ์ติดตามผลกระทบที่เกิดจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้น พร้อมกับเผยแพร่ความรู้ให้กับสาธารณชนให้ทราบถึงผลกระทบและโทษ หรือผลเสียของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้น ๆ
แหล่งที่มา
กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). กรมป่าไม้ 123 ปี รักป่า รักประชาชน.กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว.
กลับไปที่เนื้อหา
-
11674 ทรัพยากรธรรมชาติ /lesson-biology/item/11674-2020-06-30-07-32-32เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง