รู้ทันแบคทีเรีย
หากจะกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กและให้ทั้งประโยชน์และโทษ หนึ่งในสิ่งที่คนเราจะนึกถึงนั้นคือ แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เชื้อแบคทีเรียนั้นแตกต่างจากเชื้อราที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีหลายเซลล์ และต่างจากเชื้อไวรัสที่เป็นเพียงสารพันธุกรรมซึ่งมีขนาดเล็กมาก แบคทีเรียชนิดที่ก่อโรค เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจแทรกตัวเข้าไปสู่ในเซลล์ต่างๆ สร้างสารพิษ หรือกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองจนเกิดความผิดปกติได้
แบคทีเรียเป็นเซลล์ที่มีชีวิตซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่มีการศึกษากันมา ช่วงขนาดของแบคทีเรียเริ่มตั้งแต่แบคทีเรียที่เล็กพอ ๆ กับไวรัสที่ใหญ่ที่สุด ไปจนถึงเซลล์แบคทีเรียที่ใหญ่ที่สุดที่มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งหมายความว่าแบคทีเรียอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ตั้งแต่ 0.1-600 ไมโครเมตร จะเห็นได้ว่าแบคทีเรียมีความหลากของขนาดอย่างยิ่ง แบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่สุดคือ Mycoplasma แบคทีเรียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีรายงานมาคือ Epulopiscium fishelsoni
ภาพตัวอย่างเชื้อแบคทีเรีย
ที่มา : https://pixabay.com ,qimono
การเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์
แบคทีเรียมีเจริญเติบโต และการเจริญพันธุ์ โดยการแบ่งเซลล์การเจริญเติบโตโดยทั่วไป หมายถึง การเพิ่มขนาด แต่สำหรับแบคทีเรียจะหมายถึงการเพิ่มจำนวน ส่วนการเจริญพันธุ์จะหมายถึงการสร้างแบคทีเรียเซลล์ใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือ จำนวนของแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยทั่วไปแบคทีเรียมีการเพิ่มจำนวนโดยการแบ่งตัวเองจาก 1 เซลล์เป็น 2 เซลล์ (binary fission) และเป็นการแบ่งเซลล์ตามขวาง (transverse fission) ก่อนที่จะมีการแบ่งเซลล์ แบคทีเรียเซลล์นั้นจะมีขนาดยาวขึ้น มีการสร้าง DNA,RNA โปรตีนชนิดต่างๆ และสารประกอบอื่นๆ ขึ้นภายในเซลล์ ต่อมาจะมีการสร้างผนังกั้นเซลล์ทางขวาง แบ่งเซลล์ออกเป็น 2 ส่วน จากนั้น เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่จึงแยกออกจากกันเป็น 2 เซลล์ การเจริญเติบโตของแบคทีเรียในแต่ละช่วงที่เพิ่มจำนวนขึ้นเท่าตัวนั้น การติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายๆ โรค เช่น อหิวาตกโรค โรคปอดบวม วัณโรค โรคฉี่หนู โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียนั้นอยู่รอบตัวเรา ทั้งในร่างกาย บนผิวหนัง และในสิ่งแวดล้อมที่เราสัมผัสอยู่ ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มักเป็นเชื้อประจำถิ่นที่ไม่ก่อโรค แต่ก็มีแบคทีเรียหลายชนิดที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะก่อโรคทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ได้ ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิตเลยทีเดียว
ประเภทของเชื้อแบคทีเรีย
-
หากแบ่งตามรูปร่าง หลักๆ จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียรูปร่างกลม (Cocci) และแบคทีเรียรูปร่างแท่ง (Bacilli)
-
หากแบ่งตามส่วนประกอบบนผนังและเยื่อหุ้มเซลล์ จะแบ่งเป็น แบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive) และ แบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative) ซึ่งเมื่อย้อมด้วยสีแกรมจะมองเห็นสีแตกต่างกัน
-
หากแบ่งตามการใช้ออกซิเจน จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียที่ต้องใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) และแบคทีเรียที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ในการเจริญเติบโต
ภาพรูปร่างพื้นฐานของแบคทีเรีย
ที่มาภาพ : http://thainurseclub.blogspot.com/2014/08/bacteria-iii.html
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบต่างๆ
แบคทีเรียนั้นสามารถเข้าไปก่อโรคในแทบทุกระบบทั่วร่างกาย เนื่องจากแบคทีเรียแต่ละชนิดมีแหล่งที่อยู่ และกลไกการก่อโรคแตกต่างกันไป ดังนี้
-
การติดเชื้อที่ผิวหนัง มักก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบ แผลติดเชื้อ ฝี หรือหนอง ขึ้นที่ผิวหนังบริเวณดังกล่าว ซึ่งแบคทีเรียที่มักเป็นตัวการ คือแบคทีเรียแกรมบวกรูปร่างกลม นอกจากนี้ ยังมีแบคทีเรีย anaerobic บางชนิดที่ทำให้เกิดสิวด้วย
-
การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ โรคในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ คออักเสบ ปอดบวม ทอนซิลอักเสบ ซึ่งอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียที่มักก่อโรคในทางเดินหายใจมีหลายชนิด และอาจก่อความรุนแรงที่ก่อให้เกิดโรควัณโรคด้วย
-
การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ โดยปกติทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่ไม่ก่อโรคอาศัยอยู่ แต่บางครั้งเราก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ จนเกิดการอักเสบและลุกลามมายังทางเดินปัสสาวะส่วนบนได้ เชื้อที่มักก่อโรคในทางเดินปัสสาวะ
-
การติดเชื้อที่ทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคลำไส้อักเสบและอาหารเป็นพิษ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดบิดเกร็งท้อง และท้องร่วง ที่เกิดจากเชื้อหลายชนิด รวมถึงอหิวาตกโรคด้วย
-
การติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ โรคในระบบสืบพันธุ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส ซึ่งสาเหตุมาจากแบคทีเรีย ที่ติดต่อกันได้ทางการมีเพศสัมพันธ์
-
การติดเชื้อในระบบประสาท โรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในเด็ก ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด หรือแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากทางเดินหายใจ นอกจากนี้ แบคทีเรียบางชนิดยังสามารถสร้างสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทได้ เช่น แบคทีเรียที่ก่อโรคบาดทะยัก
-
การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากแหล่งอื่นๆ และลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดไปยังทั่วร่างกาย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจมาจากระบบหรืออวัยวะใดก็ได้ และเป็นเชื้อชนิดใดก็ได้ หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น ถือเป็นภาวะรุนแรงฉุกเฉินที่อาจทำให้ผู้ป่วยช็อกและเสียชีวิตได้
การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
โรคติดเชื้อแบคทีเรียนั้นติดต่อได้ทั้งจากสิ่งแวดล้อม และจากคนสู่คน ดังนั้น เราจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรคได้ โดย
-
ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะแบคทีเรียที่เราสัมผัสอยู่เป็นประจำและไม่ก่อโรค หากร่างกายเราอ่อนแอลงแบคทีเรียดังกล่าวก็อาจก่อโรคได้
-
รักษาความสะอาดและสุขอนามัย โดยการล้างมือก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เลือกทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ จัดการที่อยู่อาศัยไม่ให้สกปรก อาบน้ำชำระร่างกายเป็น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรค
-
มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยสวมถุงยางอนามัย และหากทราบว่าคู่นอนเป็นโรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาให้หาย
-
ไม่กลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้
-
หลีกเลี่ยงการทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หรือไม่ได้อยู่ในการควบคุมของแพทย์ เพราะจะทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นที่มีประโยชน์ถูกกำจัด ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และอาจส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นดื้อยาด้วย
ในความสำคัญด้านคุณประโยชน์ของแบคทีเรียนั้นก็มีมากมาย สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ในซากสิ่งมีชีวิตทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารในสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศแบคทีเรียในของเสียสามารถสร้าง วิตามิน บี12 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ช่วยสร้างเซลล์ประสาทให้แข็งแรงที่และในด้านอุตสาหกรรม ยังมีการนำแบคทีเรียมาช่วยในกระบวนการผลิตในหลายส่วนเช่น ผลิตกรดแลกติค กรดอะมิโน น้ำส้มสายชู น้ำปลา นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ผลิตยาปฏิชีวนะบางชนิด ใช้ฟอกหนังรวมไปถึงประโยชน์ของแบคทีเรียทางด้านการศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์และใช้ในงานเทคโนโลยีชีวภาพปัจจุบันเริ่มมีการนำแบคทีเรียบางชนิดมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดวัชพืช เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจ
แหล่งที่มา
แบคทีเรีย.สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://haamor.com/th
การจำแนกแบคทีเรีย.สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://thainurseclub.blogspot.com/2014/08/bacteria-iii.html
-
9795 รู้ทันแบคทีเรีย /lesson-biology/item/9795-2019-02-21-07-08-54เพิ่มในรายการโปรด