เทคนิคทางเคมี
บทเรียนที่ 1 มารู้จักอุปกรณ์ทางเคมีกันเถอะ(อุปกรณ์วัดปริมาตร)
ขวดปริมาตร เป็นเครื่องมือที่ใช้เตรียมสารละลายมาตรฐานหรือสารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าสารละลายเดิมได้ ขวดปริมาตรมีหลายขนาดและมีความจุต่าง ๆ กัน เช่น ขนาด 50 มล. 100 มล. 250 มล. 500 มล. 1,000 มล. และ 2,000 มล. เป็นต้น แบ่งตามรูปร่างและลักษณะการใช้ได้ดังต่อไปนี้
1. ขวดปริมาตรฟลอเรนส์ (Florence Flask) หรือเรียกว่า Flat Bottomed Flask มีลักษณะคล้ายลูกบอลลูน มักจะใช้สำหรับต้มน้ำ เตรียมแก๊ส และเป็น wash bottle
2. ขวดปริมาตรก้นกลม (Round Bottom Flask) ขวดปริมาตรชนิดนี้มีลักษณะเหมือนกับ Florence Flask แต่ตรงก้นขวดจะมีลักษณะกลมทำให้ไม่สามารถตั้งได้
3. ขวดปริมาตรทรงกรวย (Erlenmeyer Flask หรือ Conical Flask) ขวดปริมาตรชนิดนี้มีลักษณะเป็นทรงกรวย และมีความจุขนาดต่าง ๆ กัน แต่ที่นิยมใช้กันมากมีความจุเป็น 250-500 มล. สามารถใช้ได้ในหลายกรณี เช่น ในการไตเตรท
4. ขวดปริมาตรกลั่น (Distilling Flask) ขวดปริมาตรชนิดนี้นิยมใช้ในการกลั่นของเหลว
5. Volumetric Flask ขวดปริมาตรชนิดนี้มีลักษณะเป็นขวดคอยาวที่มีขีดบอกปริมาตรบนคอขวดเพียงขีดเดียว นิยมใช้ในการเตรียมสารละลาย โดยทั่วไปจะนำสารนั้นมาละลายในบีกเกอร์ก่อนที่จะเทลงในขวดปริมาตรโดยใช้กรวยกรอง แล้วเทน้ำล้างบีกเกอร์หลาย ๆ ครั้งด้วยตัวทำละลายแล้วเทลงในกรวยกรอง เพื่อล้างสารที่ติดอยู่ให้ลงในขวดให้จนหมด อย่าให้สารละลายใน volumetric flask มีเกิน 2 ใน 3 ของปริมาตรทั้งหมด เทตัวทำละลายลงในขวดโดยผ่านกรวยอีก เพื่อเป็นการล้างกรวย จนขวดมีปริมาตรถึงขีดบอกปริมาตร
การเตรียมสารละลายโดยใช้ขวดปริมาตรมีเทคนิคการทำดังนี้
1. ละลายสารในขวดปริมาตรให้มีปริมาตรประมาณ 3/4 ของขวด ปิดจุกขวดแล้วหมุนขวดปริมาตรด้วยข้อมือให้สารละลายไหลไปทางเดียวกัน เพื่อให้สารในขวดละลายจนหมด (ในกรณีที่สารเป็นของแข็ง) หรือให้สารผสมเป็นเนื้อเดียวกัน (ในกรณีที่สารเป็นของเหลว) ควรจับที่คอขวดปริมาตร อย่าจับที่ตัวขวดปริมาตรเพราะจะทำให้สารละลายอุ่นขึ้นเนื่องจากความร้อนในมือ
2. เติมตัวทำละลายลงในขวดปริมาตรให้ส่วนโค้งเว้าต่ำสุดของสารละลายอยู่ตรงขีดบอกปริมาตร การอ่านปริมาตรต้องให้ระดับสายตาอยู่ในระดับเดียวกันกับขีดบอกปริมาตร เพื่อป้องกันการอ่านปริมาตรผิด
3. ปิดจุกขวดปริมาตรแล้วคว่ำขวดจากบนลงล่าง ทำแบบนี้ 2-3 ครั้ง เพื่อให้สารละลายผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และมีเนื้อสารเท่าเทียมกันทุกส่วน
4. จากข้อ 3 กลับขวดปริมาตรให้อยู่ในลักษณะเดิม แล้วจับคอขวดหมุนไปมาประมาณ 3 รอบ ทำซ้ำจนแน่ใจว่าสารละลายผสมเป็นเนื้อเดียวกัน
กระบอกตวงมีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ 5 มิลลิลิตรจนถึงหลายๆ ลิตร ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดปริมาตรของของเหลวที่มีอุณภูมิไม่สูงกว่าอุณภูมิของห้องปฏิบัติการ กระบอกตวงไม่สามารถใช้วัดของเหลวที่มีอุณภูมิสูงได้เนื่องจากอาจจะทำให้กระบอกตวงแตกได้ กระบอกตวงจะบอกปริมาตรของของเหลวอย่างคร่าว ๆ ถ้าต้องการวัดปริมาตรที่แน่นอนต้องใช้อุปกรณ์วัดปริมาตรอื่นๆ เช่น ไพเพทหรือบิวเรท โดยปกติความผิดพลาดของกระบอกตวงเมื่อมีปริมาตรสูงสุดจะมีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ กระบอกตวงขนาดเล็กใช้วัดปริมาตรได้ใกล้เคียงความจริงมากกว่ากระบอกตวงขนาดเล็กวิธีอ่านปริมาตรของของเหลวในกระบอกตวงนั้นสามารถทำได้โดยการยกกระบอกตวงให้ตั้งตรงและให้ท้องน้ำอยู่ในระดับสายตา และอ่านค่าปริมาตร ณ จุดต่ำสุดของท้องน้ำ
|
ไพเพทเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียง มีอยู่หลายชนิด แต่โดยทั่วไปที่มีใช้อยู่ในห้องปฏิบัติการมีอยู่ 2 แบบ คือ Volumetric pipette หรือ Transfer pipette และ Measuring pipette Transfer pipette ซึ่งใช้ในการวัดปริมาตรได้เพียงค่าเดียว คือถ้าหาก Transfer pipette จุ 25 มล. ก็จะวัดปริมาตรของของเหลวได้เฉพาะ 25 มล. เท่านั้น
Transfer pipette มีหลายขนาดตั้งแต่ 1 มล. ถึง 100 มล. ถึงแม้ไพเพทชนิดนี้จะใช้วัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียงความจริงก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของไพเพท เช่น Transfer pipette ขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.2%Transfer pipette ขนาด 30 มล. มีความผิดพลาด 0.1%Transfer pipette ขนาด 50 มล. มีความผิดพลาด 0.1%Transfer pipette ใช้สำหรับส่งผ่านของสารละลาย ที่มีปริมาตรตามขนาดของไพเพท เมื่อปล่อยสารละลายออกจากไพเพทแล้ว ห้ามเป่าสารละลายที่ตกค้างอยู่ที่ปลายของไพเพท แต่ควรแตะปลายไพเพทกับข้างภาชนะเหนือระดับสารละลายภายในภาชนะนั้นประมาณ 30 วินาที เพื่อให้สารละลายที่อยู่ข้างในไพเพทไหลออกมาอีก ไพเพทชนิดนี้ใช้ได้ง่ายและเร็วกว่าบิวเรท Measuring pipette หรือ Graduated pipette (บางทีเรียกว่า Mohr pipette) จะมีขีดบอกปริมาตรต่าง ๆ ไว้ ทำให้สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง คือสามารถใช้แทน Transfer pipette ได้ แต่ใช้วัดปริมาตรได้แน่นอนน้อยกว่า Transfer pipette และมีความผิดพลาดมากกว่า เช่นMeasuring pipette ขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.3%Measuring pipette ขนาด 30 มล. มีความผิดพลาด 0.3%
กลับไปที่เนื้อหา
บทเรียนที่ 2 มารู้จักอุปกรณ์ทางเคมีกันเถอะ (อุปกรณ์ตวงและวัด)
บีกเกอร์มีหลายขนาดและมีความจุต่างกัน โดยที่ข้างบีกเกอร์จะมีตัวเลขระบุความจุของบีกเกอร์ ทำให้ผู้ใช้สามารถทราบปริมาตรของของเหลวที่บรรจุอยู่ได้อย่างคร่าวๆ และบีกเกอร์มีความจุตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรจนถึงหลายๆลิตร อีกทั้งเป็นแบบสูง แบบเตี้ย และแบบรูปทรงกรวย (conical beaker) บีกเกอร์จะมีปากงอเหมือนปากนกซึ่งเรียกว่า spout ทำให้การเทของเหลวออกได้โดยสะดวก spout ทำให้สะดวกในการวางไม้แก้วซึ่งยื่นออกมาจากฝาที่ปิดบีกเกอร์ และ spout ยังเป็นทางออกของไอน้ำหรือแก๊สเมื่อทำการระเหยของเหลวในบีกเกอร์ที่ปิดด้วยกระจกนาฬิกา (watch grass)
การเลือกขนาดของบีกเกอร์เพื่อใส่ของเหลวนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเหลวที่จะใส่ โดยปกติให้ระดับของเหลวอยู่ต่ำกว่าปากบีกเกอร์ประมาณ 1 - 1 1/2 นิ้วประโยชน์ของบีกเกอร์
1. ใช้สำหรับต้มสารละลายที่มีปริมาณมากๆ
2. ใช้สำหรับเตรียมสารละลายต่างๆ
3. ใช้สำหรับตกตะกอนและใช้ระเหยของเหลวที่มีฤทธิ์กรดน้อยหมายเหตุ :ห้ามใช้บีกเกอร์ทุกขนาดทดลองปฏิกิริยาระหว่างสารโดยเด็ดขาด
หลอดทดสอบมีหลายชนิดและหลายขนาด ชนิดที่มีปากและไม่มีปาก ชนิดธรรมดาและชนิดทนไฟ ขนาดของหลอดทดสอบระบุได้ 2 แบบคือ ความยาวกับเส้นผ่าศูนย์กลางริมนอกหรือขนาดความจุเป็นปริมาตร ดังแสดงในตารางต่อไปนี้
ความยาว * เส้นผ่าศุนย์กลางริมนอก (มิลิเมตร) |
ความจุ (มิลิเมตร) |
|
75 * 11 100 * 12 120 * 15 120 * 18 150 * 16 150 * 18 |
4 8 14 18 20 27 |
หลอดทดสอบส่วนมากใช้สำหรับทดลองปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารต่างๆ ที่เป็นสารละลาย ใช้ต้มของเหลวที่มีปริมาตรน้อยๆ โดยมี test tube holder จับกันร้อนมือหลอดทดสอบแบบทนไฟจะมีขนาดใหญ่ และหนากว่าหลอดธรรมดา ใช้สำหรับเผาสารต่างๆ ด้วยเปลวไฟโดยตรงในอุณหภูมิที่สูง หลอดชนิดนี้ไม่ควรนำไปใช้สำหรับทดลองปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเหมือนหลอดธรรมดา
ขวดชั่งมีลักษณะเป็นขวดเล็กๆ ก้นแบนและข้างตรงที่ปากและขอบของจุกเป็นแก้วฝ้า ขวดชั่งมีหลายแบบทั้งแบบทรงสูง แบบทรงเตี้ย และแบบทรงกรวย และยังมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับปริมาตรหรือความสูงกับเส้นผ่าศูนย์กลางของปาก ขวดชั่งใช้สำหรับใส่สารที่จะนำไปชั่งด้วยเครื่องชั่งแบบวิเคราะห์ |
หลอดหยดมีลักษณะเป็นหลอดแก้วที่ปลายข้างหนึ่งยาวเรียวเล็ก และปลายอีกข้างหนึ่งมีกระเปาะยางสวมอยู่ หลอดหยดใช้สำหรับดูดรีเอเจนต์จากขวดไปหยดลงในหลอดทดสอบที่มีสารอื่นบรรจุอยู่ เพื่อใช้ในการดูปฏิกิริยาเคมีของรีเอเจนต์นั้นๆ
ข้อควรระวังในการใช้หลอดหยดก็คือ :อย่าให้ปลายของหลอดหยดกระทบหรือแตะกับปากหลอดทดสอบ |
เป็นเครื่องชั่งที่มีแขน 2 ข้างยาวเท่ากันเมื่อวัดระยะจากจุดหมุนซึ่งเป็นสันมีด ขณะที่แขนของเครื่องชั่งอยู่ในสมดุล เมื่อต้องการหาน้ำหนักของสารหรือวัตถุ ให้วางสารนั้นบนจานด้านหนึ่งของเครื่องชั่ง ตอนนี้แขนของเครื่องชั่งจะไม่อยู่ในภาวะที่สมดุลจึงต้องใส่ตุ้มน้ำหนักเพื่อปรับให้แขนเครื่องชั่งอยู่ในสมดุล |
วิธีการใช้เครื่องชั่งแบบ (Equal-arm balance)
1.จัดให้เครื่องชั่งอยู่ในแนวระดับก่อนโดยการปรับสกรูที่ขาตั้งแล้วหาสเกลศูนย์ของเครื่องชั่ง เมื่อไม่มีวัตถุอยู่บนจาน ปล่อยที่รองจาน แล้วปรับให้เข็มชี้ที่เลข 0 บนสเกลศูนย์
2. วางขวดบรรจุสารบนจานทางด้านซ้ายมือและวางตุ้มน้ำหนักบนจานทางขวามือของเครื่องชั่งโดยใช้คีบคีม
3. ถ้าเข็มชี้มาทางซ้ายของสเกลศูนย์แสดงว่าขวดชั่งสารเบากว่าตุ้มน้ำหนัก ต้องยกปุ่มควบคุมคานขึ้นเพื่อตรึงแขนเครื่องชั่งแล้วเติมตุ้มน้ำหนักอีกถ้าเข็มชี้มาทางขวาของสเกลศูนย์แสดงว่าขวดชั่งสารเบากว่าตุ้มน้ำหนัก ต้องยกปุ่มควบคุมคานขึ้นเพื่อตรึงแขนเครื่องชั่งแล้วเอาตุ้มน้ำหนักออก
4. ในกรณีที่ตุ้มน้ำหนักไม่สามารถทำให้แขนทั้ง 2 ข้างอยู่ในระนาบได้ ให้เลื่อนไรเดอร์ไปมาเพื่อปรับให้น้ำหนักทั้งสองข้างให้เท่ากัน
5. บันทึกน้ำหนักทั้งหมดที่ชั่งได้
6. นำสารออกจากขวดใส่สาร แล้วทำการชั่งน้ำหนักของขวดใส่สาร
7. น้ำหนักของสารสามารถหาได้โดยนำน้ำหนักที่ชั่งได้ครั้งแรกลบน้ำหนักที่ชั่งได้ครั้งหลัง
8. หลังจากใช้เครื่องชั่งเสร็จแล้วให้ทำความสะอาดจาน แล้วเอาตุ้มน้ำหนักออกและเลื่อนไรเดอร์ให้อยู่ที่ตำแหน่งศูนย์
เป็นเครื่องชั่งชนิด Mechanical balance อีกชนิดหนึ่งที่มีราคาถูกและใช้ง่าย แต่มีความไวน้อย เครื่องชั่งชนิดนี้มีแขนข้างขวาอยู่ 3 แขนและในแต่ละแขนจะมีขีดบอกน้ำหนักไว้เช่น 0-1.0 กรัม 0-10 กรัม 0-100 กรัม และยังมีตุ้มน้ำหนักสำหรับเลื่อนไปมาได้อีกด้วย แขนทั้ง 3 นี้ติดกับเข็มชี้อันเดียวกัน
วิธีการใช้เครื่องชั่งแบบ (Triple-beam balance)
1. ตั้งเครื่องชั่งให้อยู่ในแนวระนาบ แล้วปรับให้แขนของเครื่องชั่งอยู่ในแนบระนาบโดยหมุนสกรูให้เข็มชี้ตรงขีด 0
2. วางขวดบรรจุสารบนจานเครื่องชั่ง แล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักบนแขนทั้งสามเพื่อปรับให้เข็มชี้ตรงขีด 0 อ่านน้ำหนักบนแขนเครื่องชั่งจะเป็นน้ำหนักของขวดบรรจุสาร
3. ถ้าต้องการชั่งสารตามน้ำหนักที่ต้องการก็บวกน้ำหนักของสารกับน้ำหนักของขวดบรรจุสารที่ได้ในข้อ 2 แล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักบนแขนทั้ง 3 ให้ตรงกับน้ำหนักที่ต้องการ
4. เติมสารที่ต้องการชั่งลงในขวดบรรจุสารจนเข็มชี้ตรงขีด 0 พอดี จะได้น้ำหนักของสารตามต้องการ
5. นำขวดบรรจุสารออกจากจานของเครื่องชั่งแล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักทุกอันให้อยู่ที่ 0 ทำความสะอาดเครื่องชั่งหากมีสารเคมีหกบนจานหรือรอบๆ เครื่องชั่ง
หมายเหตุการหาน้ำหนักของสารอาจหาน้ำหนักทั้งขวดบรรจุสารและสารรวมกันก่อนก็ได้ แล้วชั่งขวดบรรจุสารอย่างเดียวทีหลัง ต่อจากนั้นก็เอาน้ำหนักทั้ง 2 ครั้งลบกัน ผลที่ได้จะเป็นน้ำหนักของสารที่ต้องการ
กลับไปที่เนื้อหา
บทเรียนที่ 3 การใช้อุปกรณ์
การที่จะเลือกใช้เครื่องชั่งชนิดใดในการทดลองให้เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับว่าการทดลองนั้นต้องการความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน การใช้เครื่องชั่งต้องมีการระวังและรักษาให้ดี เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของเครื่องชั่งซึ่งทำให้น้ำหนักคลาดเคลื่อนจนไม่สามารถนำมาใช้งานได้
ดังนั้นทุกครั้งที่ใช้เครื่องชั่งผู้ใช้ควรปฏิบัติดังนี้
1. เครื่องชั่งต้องตั้งอยู่ที่บนที่แน่นหนามั่นคง อย่าให้มีการสะเทือน ไม่ควรตั้งรอมหน้าต่างหรือใกล้ความร้อน อย่าให้แสงแดส่องถูกเครื่องชั่งโดยตรง และฐานของเครื่องชั่งต้องอยู่ในแนวระนาบ
2. ก่อนชั่งตรงปรับให้เข็มของเครื่องชั่งอยู่ที่ขีด 0 พอดีและขณะชั่งต้องนั่งตรงกึ่งกลางของเครื่องชั่งเสมอ เพื่อไม่ให้การอ่านน้ำหนักผิดพลาด
3. ห้ามวางสารเคมีที่จะชั่งบนจานเครื่องชั่งโดยตรง เพราะสารเคมีอาจทำให้จานชำรุดเสียหายได้ ต้องใส้สารเคมีบนกระจกนาฬิกาหรือขวดชั่งสารเสมอ อย่าใช้กระดาษรองสารเคมีในการชั่งสารเคมีอย่างเด็ดขาด
4. การชั่งสารที่กัดโลหะต้องใส่สารในขวดชั่งสารที่มีฝาปิดมิดชิด
5. ห้ามนำวัตถุหรือสารเคมีที่ยังร้อนอยู่ไปชั่ง วัตถุที่นำมาชั่งต้องมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิของห้อง
6. ห้ามใช้มือหยิบตุ้มน้ำหนักหรือวัตถุที่จะชั่ง เพราะน้ำหนักอาจเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเหงื่อที่ติดอยู่ที่นิ้วมือ ต้องใช้ปากคีบหยิบตุ้มน้ำหนักหรือใช้กระดาษพับเป็นแผ่นเล็กๆ คาดรอบขวดชั่งหรือตุ้มน้ำหนักเสมอ
7. เมื่อชั่งน้ำหนักของสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องเก็บตุ้มน้ำหนักและแผ่นน้ำหนักหรือเลื่อนตุ้มน้ำหนักมาอยู่ที่ขีด 0 รวมทั้งเก็บวัตถุที่นำมาชั่งออกจากเครื่องชั่งให้หมด ถ้าหากมีสารเคมีหกอยู่บนจานหรือพื้นเครื่องชั่ง ต้องทำความสะอาดโดยทันที8. อย่าชั่งสารที่มีน้ำหนักมากกว่าความสามารถของเครื่องชั่ง โดยปกติเครื่องชั่งในห้องทดลองจะชั่งได้ตั้งแต่ 100 ถึง 200 กรัม ซึ่งผู้ผลิตจะระบุอัตราไว้9. ต้องรักษาเครื่องชั่งให้สะอาดอยู่เสมอหลังจากใช้ทุกครั้งควรคลุมเครื่องชั่งเพื่อป้องกันฝุ่นละออง
1. ก่อนใช้ไพเพทต้องมีการทำความสะอาดโดยดูดน้ำกลั่นเข้าไปจนเกือบเต็ม แล้วปล่อยให้ไหลออกมาจนหมด สังเกตดูว่าถ้าไม่มีหยดน้ำเกาะติดอยู่ภายในแสดงว่าไพเพทสะอาดดีแล้ว
2. เมื่อจะนำไพเพทที่เปียกไปใช้วัดปริมาตร ต้องล้างไพเพทด้วยสารละลายที่จะวัด 2-3 ครั้ง โดยใช้สารละลายครั้งละเล็กน้อยและให้สารละลายถูกผิวแก้วโดยทั่วถึง แล้วเช็ดปลายไพเพทด้วยกระดาษ tissue ที่สะอาด
3. จุ่มปลายไพเพทลงในสารละลายที่จะวัดปริมาตร โดยที่ปลายไพเพทอยู่ต่ำกว่าระดับสารละลายตลอดเวลาที่ทำการดูด เพราะเมื่อใดที่ระดับของสารละลายในภาชนะลดลงต่ำกว่าปลายไพเพทในระหว่างที่ทำการดูด สารละลายในไพเพทจะพุ่งเข้าสู่ปากทันที
4. ใช้ปากดูดหรือเครื่องดูดหรือกระเปาะยางดูดสารละายเข้าไปในไพเพทอย่างช้าๆ จนกระทั่งสารละลายขึ้นมาอยู่เหนือขีดบอกปริมาตร และใช้นิ้วชี้ปิดปลายไพเพทให้แน่นโดยทันที จับก้านไพเพทด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลาง (ไม่ควรใช้ปากดูด ถ้าสารละลายนั้นเป็นสารที่มีพิษ หรือเป็นกรดแก่ ด่างแก่ ต้องใช้เครื่องดูดหรือกระเปาะยางต่อตอนบนของไพเพท)
5. จับไพเพทให้ตั้งตรงแล้วค่อยๆผ่อนนิ้วชี้เพื่อให้สารละลายที่เกินขีดบอกปริมาตรไหลออกไปจนกระทั่งส่วนเว้าต่ำสุดของสารละลายแตะกับขีดบอกปริมาตรพอดี ปิดแน่นด้วยนิ้วชี้และ แตะปลายไพเพทกับข้างภาชนะที่ใส่สารละลาย เพื่อให้หยดน้ำซึ่งอาจจะติดอยู่ที่ปลายไพเพทหมดไป จับไพเพทให้ตรงประมาณ 30 วินาที่เพื่อให้สารละลายที่ติดอยู่ข้างๆ ไพเพทไหลออกหมด
6. ปล่อยสารละลายที่อยู่ในไพเพทลงในภาชนะที่เตรียมไว้โดยยกนิ้วชี้ขึ้น ให้สารละลายไหลลงตามปกติตามแรงโน้มถ่วงของโลกจนหมด แล้วแตะปลายไพเพทกับข้างภาชนะเพื่อให้สารละายหยดสุดท้ายไหลลงสู่ภาชนะ อย่าเป่าหรือทำอื่นใดที่จะทำให้สารละลายที่เหลืออยืที่ปลายไพเพทไหลออกมา เพราะปริมาตรของสารละลายที่เหลือนี้ไม่ใช้ปริมาตรของสารละลายที่จะวัดไพเพทที่ทำเป็นพิเศษเพื่องานที่ต้องการความแน่นอนมากๆ ที่กระเปาะของไพเพจะบอกเวลาที่สารละลายไหลออกหมด ซึ่งเรียกว่า Time of outflow และเมื่อสารละลายไหลออกหมดแล้ว ต้องทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเรียกระยะเวลานี้ว่า Time of drainage
หมายเหตุ
1. การปรับปริมาตรของสารละลายให้อยู่ตรงขีดปริมาตรพอดีนั้น จะต้องไม่มีฟองอากาศเกิดขึ้น ณ บริเวณปลายของไพเพทหรือที่เรียกว่าการเกิด parallax
2. ห้ามเป่าขณะทำการปล่อยสารละลายออกจากไพเพทอย่าเด็ดดาด เพราะการเป่าจะทำให้ผนังด้านในของไพเพทสกปรก และยังทำให้สารละลายที่ติดอยู่กับผนังด้านในของไพเพทแต่ละครั้งแตกต่างกันด้วย ทำให้การวัดปริมาตรของสารละลายที่วัดมีค่าไม่เท่ากันเมื่อได้มีการทดลองซ้ำ แต่ถ้าเป็น Measuring pipette ที่ผู้ผลิตทำรอยแก้วฝ้าที่ปลายบนหรือมีหนังสือแจ้งไว้ จะสามารถเป่าสารละลายออกจากปลายไพเพทนั้นได้
3. หลังจากนำไพเพทไปใช้แล้ว จะต้องทำความสะอาดแล้วล้างด้วยน้ำกลั่นหลายๆ ครั้ง
4. ถ้าหากกระเปาะยางหรืออุปกรณ์ดูดอื่นๆ ไม่มี อาจจะใช้สายยางหรือสายพลาสติกต่อกับก้านของไพเพทก็ได้
บิวเรตต์เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรที่มีลักษณะคล้ายกับ Measuring pipet คือมีขีดบอกปริมาตรต่าง ๆ ไว้ บิวเรตต์มีหลายขนาด ดังนั้นเมื่อจะนำบิวเรตต์ไปใช้จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของงานที่จะนำไปใช้ด้วยก่อนใช้บิวเรตต์จะต้องล้างให้สะอาด และต้องตรวจดูก๊อก สำหรับไขให้สารละลายไหลด้วยว่า อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีหรือไม่ การล้างบิวเรตต์ปกติใช้สารซักฟอก หรือถ้าจำเป็นอาจต้องใช้สารละลายทำความสะอาดในกรณีที่ล้างด้วยสารซักฟอกไม่ออก
การล้างต้องใช้แปรง ก้านยาวถูไปมาแล้วล้างด้วยน้ำประปาหลาย ๆ ครั้งจนแน่ใจว่าสารซักฟอกหรือสารละลายทำความสะอาดออกหมด ต่อจากนั้นจะต้องล้างด้วยน้ำกลั่นเพียงเล็กน้อยอีก 1-2 ครั้งก่อนที่จะนำไปใช้งาน ลักษณะของบิวเรตต์ที่สะอาดจะไม่มีหยดน้ำเล็ก ๆ เกาะอยู่ตามผิวแก้วด้านในของบิวเรตต์ และผิวน้ำจะไม่แตกแยก
สำหรับก๊อกปิดเปิดของบิวเรตต์ก็ต้องทำความสะอาดเช่นเดียวกัน อาจล้างด้วยสารละลายทำความสะอาดหรือตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น เบนซีน หรือแอซีโตน ใช้สำลีเช็ดก๊อกให้จาระบี ที่ทาไว้เดิมออกไป แล้วทาจาระบี ที่ก๊อกใหม่ การทานั้นให้ทาเฉพาะตรงบริเวณ A และ B เท่านั้น โดยบริเวณ A ทาตามขวาง ส่วนบริเวณ B ทาตามยาว การทาจาระบีต้องทาบาง ๆ หากทาหนามากเกินไปจะอุดรูก๊อกของบิวเรตต์ได้
เมื่อจะใส่สารละลายในบิวเรตต์ จะต้องล้างบิวด้วยสารละลายนั้นก่อนโดยใช้สารละลาย ประมาณ 5-10 มล. ใส่ลงไปหมุนบิวเรตต์ เพื่อให้สารละลายเปียกผิวด้านในของบิวเรตต์ อย่างทั่วถึง เปิดก๊อกให้สารละลายไหลผ่านออกทางปลายบิวเรตต์ แล้วเทสารละลายนี้ทิ้งไป อาจทำซ้ำอีก 1-2 ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบิวเรตต์สะอาดจริง ๆ ต่อจากนั้น จึงค่อย ๆ เทสารละลายลงในบิวเรตต์ให้อยู่เหนือระดับ ขีดศูนย์เพียงเล็กน้อย (ก่อนเทสารละลายลงในบิวเรตต์ต้องปิดก๊อกก่อนเสมอ) แล้วปรับปริมาตร โดยให้ส่วนเว้าต่ำสุดของสารละลายอยู่ตรงขีดบอกปริมาตรพอดี
การเทสารละลายลงในบิวเรตต์นี้เทคนิคที่ถูกต้องก็คือ จะต้องเทสารละลายผ่านกรวยกรอง เพื่อไม่ให้สารละลายหก อีกประการหนึ่งถ้าเทสารละลายใส่บีกเกอร์ก่อนแล้วจึงเทลงในบิวเรตต์ ถ้าบีกเกอร์ไม่สะอาดจะทำให้สารละลายนั้นสกปรกหรือความเข้มข้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ วิธีการทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิด ไม่ควรทำอย่างยิ่งกล่าว
โดยสรุปเทคนิคการใช้บิวเรตต์ที่ถูกต้องควรปฏิบัติดังนี้
1. ก่อนนำบิวเรตต์ไปใช้ต้องล้างบิวเรตต์ให้สะอาดด้วยสารซักฟอกหรือสารละลาย ทำความสะอาด ล้างให้สะอาดด้วยน้ำประปาแล้วล้างด้วยน้ำกลั่นอีก 2-3 ครั้ง
2. ล้างบิวเรตต์ด้วยสารละลายที่จะใช้เพียงเล็กน้อยอีก 2-3 ครั้ง แล้วปล่อยให้สารละลาย นี้ไหลออกทางปลายบิวเรตต์
3. ก่อนที่จะเทสารละลายลงในบิวเรตต์ต้องปิดบิวเรตต์ก่อนเสมอ และเทสารละลายลงในบิวเรตต์โดยผ่านทางกรวยกรอง ให้มีปริมาตรเหนือขีดศูนย์เล็กน้อย เอากรวยออกแล้วเปิดก๊อกให้สารละลายไหลออกทางปลายบิวเรตต์ เพื่อปรับให้ปริมาตรของสารละลายอยู่ที่ขีดศูนย์พอดี (ที่บริเวณปลายบิวเรตต์จะต้องไม่มีฟองอากาศเหลืออยู่ หากมีฟองอากาศจะต้องเปิดก๊อกให้สารละลายไล่อากาศออกไปจนหมด)
4. ถ้าปลายบิวเรตต์มีหยดน้ำของสารละลายติดอยู่ ต้องเอาออกโดยให้ปลายบิวเรตต์แตะกับบีกเกอร์หยดน้ำก็จะไหลออกไป
5. การจับปลายบิวเรตต์ที่ถูกต้อง(ดังภาพ) หากใช้บิวเรตต์เพื่อการไทเทรต หรือการถ่ายเทสารในบิวเรตต์ลงสู่ภาชนะที่รองรับจะต้องให้ปลายบิวเรตต์อยู่ในภาชนะนั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สารละลายหก
6. เมื่อปล่อยสารละลายออกจากบิวเรตต์จนสารละลายลดลงถึงขีดบอกปริมาตรสุดท้ายของบิวเรตต์นั้น ๆ ต้องรีบปิดบิวเรตต์ทันที หากปล่อยให้สารละลายเลยขีดบอกปริมาตรสุดท้ายลงมา จะไม่ทราบปริมาตรที่แน่นอนของสารละลายที่ผ่านบิวเรตต์ลงมาอนึ่ง ในกรณีที่ต้องใช้สารละลายที่มีจำนวนมาก และใช้บิวเรตต์ในการถ่ายเท เมื่อปล่อยสารละลายจนถึงขีดบอกปริมาตรสุดท้ายแล้ว ต้องปิดบิวเรตต์ก่อน แล้วจึงเติมสารละลายลงในบิวเรตต์ ปรับให้มีระดับอยู่ที่ขีดศูนย์ใหม่ ต่อจากนั้นก็ปล่อยสารละลายลงมาจนกว่าจะได้ปริมาตรตามต้องการ
กลับไปที่เนื้อหา
บทเรียนที่ 4 เทคนิคการสกัด
เราทราบแล้วว่าตัวละลายต่าง ๆ สามารถละลายได้ในตัวทำละลายแตกต่างกัน คุณสมบัติอันนี้จะนำมาใช้เป็นหลักในการแยกตัวละลายออกจากสารละลายได้เรียกวิธีการเช่นนี้ว่าการสกัดต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงการสกัดตัวละลายโดยใช้ตัวทำละลายที่ไม่ผสมเป็นเนื้อเดียวกันเนื่องจากตัวละลายอาจจะละลายในตัวทำละลายต่าง ๆ ที่ไม่ผสมเป็นเนื้อเดียวกันได้
เมื่อให้สารละลายนั้นมีตัวทำละลายที่ไม่ผสมเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ 2 ชนิด หลังจากเขย่าแล้วตัวละลายจะมีอยู่ในตัวทำละลายทั้ง 2 ชนิดนั้นในปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน อัตราส่วนของความเข้มข้นของตัวละลายที่ละลายในตัวทำละลายในหน่วยโมลต่อลิตรนี้เรียกว่า Distribution coefficient ซึ่งอัตราส่วนนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของตัวทำละลายทั้ง 2 ชนิด และความเข้มข้นทั้งหมดของตัวละลายดังนั้นการสกัดจึงเป็นการเคลื่อนย้ายตัวละลายจากตัวทำละลายชนิดหนึ่งไปยังทำละลายอีกชนิดหนึ่ง โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า กรวยแยก
มีวิธีการทำดังนี้
1. ทำความสะอาดกรวยแยกที่ใช้ให้สะอาด สำหรับที่ก๊อกปิดเปิดให้ทำเช่นเดียวกับบิวเรตต์
2. เทสารละลายที่จะสกัดลงในกรวยแยก ไม่ควรใส่สารละลายมากเกินไปเพราะจะต้อง เติมตัวทำละลายเพื่อสกัดตัวละลายในสารละลายนั้นอีก หากมีมากควรแบ่งทำเป็น 2 หรือ 3 ครั้งก็ได้
3. เติมตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด แล้วปิดจุกให้แน่น
4. เขย่ากรวยแยกเบา ๆ ในแนวนอน แล้วเปิดก๊อกเป็นครั้งคราวหลังจากหยุดเขย่าเพื่อลดแรงดันภายในกรวยแยก
5. นำกรวยแยกไปตั้งในแนวดิ่งบนที่ยึดวงแหวน เพื่อให้สารละลายแยกเป็น 2 ชั้น เอาจุกที่ปิดออก
6. เปิดก๊อกให้สารละลายที่อยู่ชั้นล่างไหลลงในภาชนะรองรับอย่างช้า ๆ
7. ทำซ้ำ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นที่ 3 และใช้ตัวทำละลายในการสกัดใหม่
8. นำสารละลายที่สกัดออกมารวมกันจะเป็นสารที่สกัดได้ทั้งหมด
ข้อควรระวัง
1. เนื่องจากกรวยแยกง่ายและมีราคาแพง ในขณะแยกสารถ้าตั้งอยู่บนที่ยึดวงแหวน ซึ่ง ทำด้วยเหล็กโดยไม่มีสิ่งใดกั้น เมื่อปล่อยให้สารละลายชั้นล่างไหลออกมาจะเกิดฟองอากาศปุดขึ้นจากสารละลาย อาจทำให้กรวยแยกกระเทือนและกระทบกับที่ยึดวงแหวนรุนแรงจนอาจแตกได้ เพื่อป้องกันปัญหานี้ระหว่างที่ยึดวงแหวนกับกรวยแยกจึงควรกั้นด้วยยาง
2. ก๊อกกรวยแยกจะต้องปิดให้อยู่ในตำแหน่งเดิม ก่อนที่จะตั้งกรวยแยก ให้อยู่ใน ตำแหน่งปกติ และควรระมัดระวังในการวางกรวยแยกบนที่ยึดวงแหวนด้วย
3. เมื่อเขย่ากรวยแยกเพื่อให้ตัวทำละลายทั้งสองผสมกัน ความดันภายในกรวยแยกจะเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากความดันไอของตัวทำละลายที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกันนั่นเอง เช่น ถ้าใช้ NaHCO3เติมลงไปในสารละลายที่เป็นกรด ความดันจะสูงขึ้นมากเนื่องจากเกิดก๊าซ CO2 จำเป็นจะต้องลดความดันโดยขณะเขย่ากรวยแยก มือทั้งสองจะต้องจับกรวยแยกให้มีลักษณะดังภาพ คือมือหนึ่งจับที่ก๊อกปิดเปิด อีกมือหนึ่งจับที่จุกปิดเปิดของกรวยแยกค่อย ๆ เปิดก๊อกเพื่อให้ความดันภายในออกไป (อาจทำเช่นนี้หลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งไม่มีความดันภายในกรวยแยก)
4. เมื่อแยกชั้นของของเหลวชั้นล่างในกรวยแยกออกมาแล้ว ตรงรอยต่อระหว่างชั้น ทั้งสองไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ส่วนนี้จึงมีของเหลวทั้ง 2 ชนิดปนกันอยู่ต้องนำมาแยกออกจากกันโดยการกรองเมื่อการสกัดได้สิ้นสุดลงแล้ว
แหล่งอ้างอิง : | ประเสริฐ ศรีไพโรจน์ . เทคนิคทางเคมี . สำนักพิมพ์ประกายพรึก . 2538 |
เสรี ไตรรัตน์ . ปฏิบัติการเคมีทั่วไป . มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ . 2520 |
กลับไปที่เนื้อหา
บทเรียนที่ 5 เทคนิคการไทเทรต
การไทเทรตเป็นการวิเคราะห์หาความเข้มข้นของสารละลายที่ยังไม่ทราบความเข้มข้นจากสารละลายที่ทราบความเข้มข้นแล้วหรือที่เรียกกันว่าสารละลายมาตรฐาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการไทเทรตก็คือบิวเรตต์ตามปกติจะบรรจุสารละลายที่ต้องการหาความเข้มข้นลงในบิวเรตต์ ส่วนสารละลายมาตรฐานบรรจุอยู่ในฟลาส
ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงเทคนิคการไทเทรตเป็นข้อดังนี้
1. ล้างบิวเรตต์ให้สะอาดแล้วตั้งบิวเรตต์ให้มีลักษณะดังภาพ
2. เติมสารละลายที่ต้องการจะหาความเข้มข้นลงในบิวเรตต์ (ใช้กรวยกรอง) ให้มีปริมาตรเหนือขีดศูนย์เล็กน้อย
3. ปล่อยสารละลายออกทางปลายบิวเรตต์อย่างช้า ๆ ลงในบีกเกอร์เพื่อไล่ฟองอากาศที่ อยู่ทางปลายบิวเรตต์ออกไปให้หมด แล้วปรับระดับสารละลายในบิวเรตต์ให้อยู่ตรงขีดศูนย์พอดี
4. ใช้ปิเปตต์ดูดสารละลายมาตรฐานตามปริมาตรที่ต้องการใส่ลงในฟลาส แล้วหยดอินดิเคเตอร์ 2-3 หยดเพื่อใช้เป็นตัวบอกจุดยุติ
5. หยดสารละลายในบิวเรตต์ลงในฟลาสอย่างช้า ๆ พร้อมทั้งแกว่งฟลาสด้วยมือขวาให้วนไปในทิศทางเดียวกัน จนกระทั่งถึงจุดยุติ
หมายเหตุ
1. การจับบิวเรตต์เพื่อปล่อยสารละลายออกจากบิวเรตต์ ควรจัดให้ถูกวิธีคือจับบิวเรตต์ด้วยมือซ้าย จับฟลาสด้วยมือขวาขณะไทเทรตปลายบิวเรตต์จะต้องจุ่มอยู่ในปากฟลาส
2. ขณะไทเทรตควรใช้กระดาษสีขาววางไว้ใต้ฟลาส เพื่อให้สังเกตการเปลี่ยนแปลง สีได้อย่างชัดเจน
3. ในระหว่างการไทเทรตควรมีการล้างผนังด้านในของฟลาสเพื่อให้เนื้อสารที่ติดอยู่ข้าง ๆ ไหลลงไปทำปฏิกิริยากันอย่างสมบูรณ์
4. เมื่อการไทเทรตใกล้ถึงจุดยุติควรหยดสารละลายลงในบิวเรตต์ทีละหยดหรือทีละหนึ่ง หยด เพื่อป้องกันการเติมสารละลายลงไปมากเกินพอ การหยดสารละลายทีละครึ่งหยดทำได้โดยเปิดก๊อกเพียงเล็กน้อย เมื่อสารละลายเริ่มไหลมาอยู่ที่ปลายบิวเรตต์ก็ปิดก๊อกทันที แล้วเลื่อนฟลาสมาแตะที่ปลายบิวเรตต์ใช้น้ำฉีดล้างลงไปในฟลาส (ดูภาพที่ 67)
5. เมื่ออินดิเคเตอร์เปลี่ยนสี ควรตั้งสารละลายทิ้งไว้ประมาณ 30 วินาที หากสีไม่เปลี่ยนแปลงแสดงว่าถึงจุดยุติแล้ว
6. อ่านปริมาตรของสารละลายที่ใช้ในการไทเทรตโดยดูตรงส่วนโค้งเว้าต่ำสุดว่าตรงกับขีดบอกปริมาตรใดข้อแนะนำตามปกติการไทเทรตจะต้องทำซ้ำ 2-3 ครั้ง ดังนั้นเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการทดลอง การไทเทรตครั้งแรกอาจไขสารละลายจากบิวเรตต์ลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อหาจุดยุติอย่างคร่าว ๆ หรือหาปริมาตรของสารละลายโดยประมาณก่อน ในการไทเทรตครั้งที่ 2 หรือ 3 ตอนแรกอาจไขสารละลายจากบิวเรตต์เร็วได้แต่พอใกล้จะถึงจุดยุติก็หยดสารละลายลงไปทีละหยดเพื่อให้ปริมาตรที่ใช้ในการไทเทรตมีความเที่ยงตรงและไม่มากเกินพอ
คัดลอกจาก :หนังสือเทคนิคทางเคมี โดยรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศรีไพโรจน์ สำนักพิมพ์ประกายพรึก 2538 หน้า 87-90
กลับไปที่เนื้อหา
บทเรียนที่ 6 เทคนิคการผสมสารละลาย
วัตถุประสงค์ของการผสมสารละลายก็เพื่อให้ตัวละลายและตัวทำละลายผสมกันอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเทคนิคการผสมสารลายนั้นอาจใช้วิธีเขย่าหลอดทดลองตามที่กล่าวมาแล้วก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีอื่น ๆ ได้อีกหลายวิธี จะขอกล่าวตามลำดับดังนี้
วิธีที่ 1 การกวนสารละลายด้วยแท่งแก้วเป็นการกวนของแข็งให้ละลายในเนื้อเดียวกันกับสารละลายหรือเป็นการกวนให้สารละลายผสมกันโดยใช้แท่งแก้ว การกวนสารละลาย ต้องกวนไปในทิศทางเดียว และระวังอย่าให้แท่งแก้วกระทบกับข้างหลอดทดลองหรือก้นหลอดทดลอง เพราะจะทำให้หลอดทดลองทะลุได้ หากเป็นการผสมสารละลายที่มีจำนวนมากก็ควรใช้ปีกเกอร์แทนหลอดทดลองและใช้เทคนิคการกวนสารละลายเช่นเดียวกัน | |
วิธีที่ 2 การหมุนสารละลายด้วยข้อมือเป็นเทคนิคการผสมสารละลายในหลอดทดลอง กระบอกตวงหรือฟลาสให้มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกันทุกส่วนวิธีหนึ่ง โดยใช้มือจับทางส่วนปลายของอุปกรณ์ดังกล่าวแล้วหมุนด้วยข้อมือให้สารละลายข้างในไหลวนไปทิศทางเดียวกัน |
กลับไปที่เนื้อหา
บทเรียนที่ 7 โครมาโทกราฟีราคาถูก
ธรณี เพ็ชรเสนา*
ในการทำปฏิบัติการเคมี ต้องหมดเปลืองไปกับค่าสารเคมีไม่น้อย ในบางโรงเรียนที่มีเงินงบประมาณน้อยก็ไม่ สามารถจัดหาสารเคมีมา เพื่อทำปฏิบัติการเคมีได้ ต้องทำการทดลองแบบแห้ง คือบรรยายอย่างเดียว บางแห่ง อาจจะเว้นไม่ทำเลย ซึ่งทำให้นักเรียนขาดทักษะในการทำปฏิบัติการ ดังนั้นในการทำปฏิบัติการบางอย่าง เราน่าจะหาสารอื่นมาทดแทน ซึ่งมีราคาถูก หาได้ง่ายในท้องถิ่น นำมาใช้และให้ผลออกมาเหมือนกันก็น่าจะ เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง ซึ่งในบทความนี้เป็นการแยกสีของพืช ด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี โดยใช้ทรายเป็นตัวดูดซับแทนสารดูดซับตัวอื่นและก็ได้ผลดีกว่าการใช้สารดูดซับ
โครมาโตกราฟี แปลว่า การแยกออกเป็นสี ๆ โดย Tsweet ชาวรุสเซีย ในปี ค.ศ. 1906 ได้แยกสารที่สกัดออก จากใบไม้ออกเป็นสีต่าง ๆ ในคอลัมน์เทคนิคทางโครมาโตกราฟีจะเกี่ยวข้องกับการกระจายของสารระหว่าง สารสองวัฏภาค คือ วัฏภาคอยู่กับที่ (Stationary phase) และวัฏภาคเคลื่อนที่ (Mobile phase) ถ้าวัฏภาคอยู่ กับที่เป็นของแข็ง เช่น ซิลิกาเจล หรืออะลูมินาเราเรียกว่า Adsorption Chromatography
และถ้าวัฏภาคอยู่กับ ที่เป็นของเหลวเราเรียกว่า Partition Chromatography ส่วนวัฏภาคเคลื่อนที่จะเป็นของเหลวหรือก๊าซก็ได้ เทคนิคทางโครมาโตกราฟีทำได้ง่าย และไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงก็สามารถใช้แยกสารผสมออกจากกัน ให้ได้สารบริสุทธิ์และยังใช้ในการพิสูจน์สาร (Identify) ได้ด้วยเทคนิคที่ใช้กันทั่วไปได้แก่ คอลัมน์ โครมาโตกราฟี (Column Chromatography) ธินเลเยอร์โครมาโตกราฟี (Paper Chromatography) ซึ่งในที่นี้ จะใช้เทคนิคคอลัมน์โครมาโตกราฟี
คอลัมน์โครมาโตกราฟีจะใช้คอลัมน์แก้วบรรจุผงของตัวดูดซับที่ใช้กันมากคือ อะลูมินา (Alumina; Al2O3) หรือ ซิลิกาเจล (Silica gel; SiO2) ซึ่งซิลิกาเจลใช้ได้ดีมากกับสารเกือบทุกชนิด(สารที่เป็นกรดเป็น กลาง หรือเบสที่อ่อนมากถ้าเป็นเบสแก่จะละลายซิลิกาได้) ส่วนอะลูมินาใช้กับสารที่เป็นเบสและนอกจากนี้ ยังมีอีกมากมาย เช่น MgCO3, CaSO4, CaCO3, Na2CO3, Starch, Sucrose เป็นต้น ทำเป็นผงละเอียดให้ มีพื้นที่ผิวมากเพื่อใช้ดูดซับสารเอาไว้มีบทความซึ่งเขียนโดย Nagubandi Lalitha(2)ได้นำทรายจากแม่น้ำยมนาในประเทศอินเดียมาใช้เป็นตัวดูดซับในการแยกสีสกัดจากพืชโดยใช้ทรายที่ มีขนาด 60-120 mesh นำมาล้าง ด้วยน้ำกลั่น แล้วอบให้แห้งที่ อุณหภูมิ 100ํC ก่อนที่จะทำการบรรจุลงในคอลัมน์ ซึ่งผลการใช้ทรายเปรียบ เทียบกับสารดูดซับอื่น ๆ ได้แสดงไว้ในตารางที่ 1ตารางที่ 1เปรียบเทียบการใช้ทราบกับสารดูดซับต่าง ๆ(2)
Adsorbant | Solvent | Cost | Time | Separation |
Sand | Pet.ether | low | 4 hr | excellent |
Silica gel | Pet.ether; Benzene |
high | 24 hr | good |
Chalk powder | Pet.ether; Benzene |
low | 48 hr | poor |
Alumina | Pet.ether; Benzene |
very high | 48 hr | good |
Cotton wool | Pet.ether; | low | 30 min | poor |
วิธีการทำ (จัดเครื่องมือตามรูป) โดยใช้คอลัมน์โครมาโตกราฟี
หรือถ้าไม่มีอาจใช้บิวเรตแทนก็ได้ใช้สำลี อุดที่ปลายก่อนแล้วจึงใส่ทรายลงไป ประมาณ 3/4 ของความยาวคอลัมน์ ต้องระวังอย่าให้มีฟองอากาศอยู่ ในชั้นของทรายแล้วใช้ปิโตรเลียมอีเธอร์ (60-80 ํc) ใส่ลงไปในคอลัมน์จนเกือบเต็ม เพื่อเป็นการเตรียม คอลัมน์ ก่อนนำหญ้าที่ตัดใหม่ ๆ มาประมาณ 5 กรัม แล้วบดให้ละเอียด
ในครกบดสารกับเอธานอล 10 มิลลิลิตร ผสมกับปิโตรเลียมอีเธอร์ 20 มิลลิลิตร แล้วรินของเหลวที่สกัดได้ลงในกรวยแยก แล้วแยกเอาสาร ที่ละลายในชั้นน้ำไว้ล้างชั้นของสารอินทรีย์ด้วยน้ำปริมาตรเท่า ๆ กัน 4 ครั้ง แล้วเติม Na2SO anhydrous ลงไป นำสารที่ได้ไปกรองผ่านชั้นสำลีลงไปในขวดที่แห้ง
เปิดก๊อกของลัมน์เพื่อให้ปิโตรเลียมอีเธอร์ไหลออกไปจนถึง ระดับผิวบนสุดของชั้นทราย แล้วปิเปตสีที่สกัดได้จากหญ้ามา 2 มิลลิเมตร ใส่ลงในคอลัมน์เบา ๆ (ต้องทำให้ ผิวชั้นบนของทรายเรียบเสมอกันไม่เอียงหรือเป็นหลุมตรงกลาง) เปิดก๊อกปล่อยให้สารไหลลงไปในตัวดูดซับ ใช้สำลีปิดลงไปบนผิวของชั้นทราย แล้วเติมปิโตรเลียมอีเธอร์ลงไป 2 มิลลิเมตรปรับอัตราการไหลให้ช้า ๆ เพื่อให้เกิดการชะได้อย่างสมบูรณ์
ค่อย ๆ เติมปิโตรเลียมอีเธอร์ลงไปครั้งละน้อย ๆ นำขวดครูปชมพูขนาด 25 มิลลิเมตร มารองรับตัวทำละลายที่ไหลออกมาที่ปลายคอลัมน์ และทำการเปลี่ยนขวดรูปชมพูดเมื่อมีสีต่างๆ ถูกแยกออกมาผลการแยกจะได้สีออกมา 4 สี คือ สีเหลือง-เขียว จะเป็นคลอโรฟิล บี ; สีน้ำเงิน-เขียว จะเป็น คลอโรฟิล เอ ; สีเหลือง-ส้ม จะเป็นแซนโธฟิล และสีส้ม จะเป็นแคโรทีน การทดลองนี้ใช้เวลา 4 ชั่วโมง
ในการทดลองนี้ใช้ทรายเป็นตัวดูดซับซึ่งมีราคาถูกมาก หาได้ง่าย ๆ และให้ผลการทดลองที่รวดเร็วเมื่อเทียบ กับการใช้สารดูดซับอื่น ๆ หลีกเลี่ยงการใช้เบนซินซึ่งเป็นสารพิษ และสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนใน เรื่องคอลัมน์โครมาโตกราฟีได้เป็นอย่างดี ท่านผู้อ่านอาจไปทำการทดลองโดยใช้ทรายจากแม่น้ำต่าง ๆ ใน ประเทศไทยมาทำเป็นตัวดูดซับบ้าง แล้วนำมาแยกสารอื่น ๆ ออกมา ก็คงจะได้ข้อมูลออกมามากมายและถ้า ทำได้ผลอย่างไรก็เขียนมาบอกกันบ้างนะครับ
*ภาควิชาเคมี สถาบันราชภัฏเทพสตรี
เอกสารอ้างอิง |
สุภาพ บุณยะรัตเวชปฏิบัติการเคมีอินทรีย์. พิมพ์ครั้งที่ 3, บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2522. Nagubandi LalithaChromatographic Separation of Plant Pigments Using Sand as the Adsorbant.Journal of Chemical Education, Vol 71, No 5, May, 1944. |
กลับไปที่เนื้อหา
บทเรียนที่ 8 เทคนิคการให้ความร้อน
การให้ความร้อนของเหลวใด ๆ ผู้ทดลองจะต้องทราบว่าของเหลวนั้นติดไฟง่ายหรือไม่เมื่อกลายเป็นไอ ดังนั้นการต้มหรือการให้ความร้อนแก่ของเหลว จึงควรระวังให้มากเพราะอาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้ง่าย
เทคนิคที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการให้ความร้อนของเหลวที่ไม่ติดไฟ
1. เมื่อของเหลวอยู่ในหลอดทดลองควรปฏิบัติดังนี้
1.1 ปริมาตรของของเหลวไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของหลอดทดลอง
1.2 ถือหลอดทดลองด้วยที่จับหลอดทดลอง อย่าจับหลอดทดลองด้วยนิ้วมือโดยตรง (ถ้า ไม่มีที่จับหลอดทดลองอาจใช้กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ยาว ๆ พันรอบปากหลอดทดลองหลาย ๆ รอบ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วที่จับกระดาษก็ได้)
1.3 นำหลอดทดลองไปให้ความร้อนโดยตรงจากเปลวไฟควรใช้เปลวไฟอ่อน ๆ และเอียง หลอดทดลองเล็กน้อย พยายามให้ส่วนที่เป็นของเหลวในหลอดทดลองถูกเปลวไฟทีละน้อย พร้อมแกว่งหลอดทดลองไปมา เมื่อของเหลวร้อนจะระเหยกลายเป็นไอข้อควรระวังการต้มของเหลวในหลอดทดลอง
มีข้อที่ควรระมัดระวังดังนี้
1. ขณะให้ความร้อนหลอดทดลองจะต้องหันปากหลอดทดลองออกจากตัวเรา และชี้ไป ในทิศทางที่ไม่มีผู้อื่น หรือสิ่งของอยู่ใกล้ ๆ ทั้งนี้เพราะเมื่อของเหลวเดือดอาจจะพุ่งออกมานอกหลอดทดลองทำให้เกิดอันตรายได้
2. อย่าก้มดูของเหลวในหลอดทดลองขณะกำลังให้ความร้อนเป็นอันขาด เพราะถ้าของ เหลวพุ่งออกมาอาจเป็นอันตรายต่อใบหน้าและนัยตาได้
3. ขณะให้ความร้อนแก่ของเหลวในหลอดทดลอง ต้องแกว่งหลอดทดลองไปด้วยเพื่อให้ ของเหลวในหลอดทดลองเคลื่อนไหวและได้รับความร้อนเท่าเทียมกันทุกส่วน และยังช่วยป้องกันของเหลวพุ่งออกมาด้วย
2. เมื่อของเหลวอยู่ในบีกเกอร์หรือฟลาสมีวิธีทำดังนี้
1. นำบีกเกอร์ตั้งบนตะแกงลวด ซึ่งวางอยู่บนสามขาหรือที่ยึดวงแหวน
2. ให้ความร้อนโดยใช้ตะเกียงก๊าซ
กลับไปที่เนื้อหา
-
7102 เทคนิคทางเคมี /lesson-chemistry/item/7102-2017-06-04-03-48-44เพิ่มในรายการโปรด