ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสสาร ม.2
รู้จักสสาร
สสาร หรือ matter คือวัตถุดิบ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ อะไรก็ตามที่อยู่รอบตัว ๆ เราล้วนแต่เรียกว่า สสาร คือต้องมีสมบัติที่ประกอบกัน 3 ประการคือ
1.สสารต้องการที่อยู่ คำต้องการที่อยู่คือความสามารถในการครอบครองที่ว่างนั่นคือสมบัติการมีปริมาตรนั่นเอง
2.สสารต้องเป็นที่สัมผัสได้ กล่าวคือต้องมีตัวตน จับต้องได้
3.สสารทุกชนิดจะต้องมีมวล เช่น อากาศแม้ว่าจะมีมวลน้อยมากก็ถือว่ามีมวลจึงถือว่าอากาศเป็นสสารได้
ภาพที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของสสาร อะตอมและโมเลกุล
ที่มา: http://www.weekendhobby.com/offroad/newenergy/Question.asp?ID=1080
หากเราต้องการระบุสสารอย่างจำเพาะเจาะเราจะเรียก สสารนั้นว่า สาร (substance) ซึ่งสสารแต่ละชนิดนั้นมีสมบัติแตกต่างกันไป สมบัติที่เราควรทราบที่จัดว่าเป็นสมบัติทางกายภาพพื้นฐานของสสารแต่ละชนิดคือ จุดเดือด จุดหลอมเหลว ส่วนคำว่าสมบัติทางกายภาพ (Physical properties) เป็นสมบัติที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในของสารโดยที่สมบัติทางเคมียังคงเดิม เช่น นำเกลือNaCl ละลายน้ำ เมื่อกลายเป็นสารละลายก็ยังคงมีรสชาติเค็มเช่นเดิมและประกอบด้วย Na+ และ Cl- เมื่อน้ำระเหยไปก็จะกลับมาเป็นผลึกเกลือ NaCl เช่นเดิม ตัวอย่างที่ควรทราบที่จัดเป็นสมบัติทางกายภาพคือ การเปลี่ยนสถานะ การละลายน้ำ เป็นต้น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างจุดเดือด จุดหลอมเหลวของสสารก่อนเนื่องจากเป็นสมบัติทางกายภาพที่สำคัญแล้วยังเป็นสมบัติเฉพาะตัวของสสารแต่ละชนิดที่จะมีค่าจุดเดือด จุดหลอมเหลวไม่เท่ากัน
จุดเดือด(boiling point) เมื่อเราทำการต้มน้ำจนกลายเป็นไอ น้ำจะเริ่มจะเริ่มเดือดที่อุณหภูมิที่ 100 องศาเซลเซียส ณ ความดัน 1 บรรยากาศ มักมีคำถามเสมอเมื่อไหร่จึงจะเรียกว่าเดือดเพราะแม้ว่าอุณหภูมิยังไม่ถึง 100 องศาเซลเซียส เราก็มักจะพบว่าน้ำนั้นเริ่มกลายเป็นไอ วิธีการง่ายคือให้เราต้มน้ำแล้วปิดฝาแล้ววัดความดันไอของน้ำที่เกิดขึ้นเมื่อใดก็ตามที่ความดันของไอน้ำเท่ากับความดันบรรยากาศภายนอกแสดงว่าถึงจุดเดือดของน้ำแล้ว
จุดหลอมเหลว(melting point) เป็นอีกสมบัติเฉพาะตัวหนึ่งของสสารที่ใช้บอกชนิดของของแข็งได้ ถ้าเรานำก้อนน้ำแข็งจากแก้วที่มีอุณหภูมิประมาณ -10 องศาเซลเซียส มาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) น้ำแข็งก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งอุณหภูมิที่ 0 องศาเซลเซียส น้ำแข็งจะเริ่มกลายเป็นน้ำ อุณหภูมิที่ของแข็งละลายนั้น เราเรียกว่า จุดหลอมเหลว เนื่องจากน้ำแข็งหลอมเหลวที่อุณหภูมิเดียวเท่านั้น ดังนั้นจุดหลอมเหลวจึงเป็นสมบัติเฉพาะตัวของสสาร
มีของแข็งหลายชนิดที่หลอมเหลวยากกว่าน้ำแข็ง เช่น ถ้าเราให้ความร้อนแก่เกลือ NaCl เกลือจะไม่ละลายถ้าอุณหภูมิไม่สูงถึง 800 องศาเซลเซียส
การเปลี่ยนแปลงของสสาร
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของสสารทางกายภาพที่กล่าวมาแล้ว ยังการเปลี่ยนแปลงของสสารที่ก่อให้เกิดสารใหม่เกิดขึ้นซึ่งเราเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงทางเคมีหรือการเกิดปฏิกิริยาเคมี เช่น การเผาน้ำตาลจนหลอมเหลวเป็นคาราเมล เมื่อปฏิกิริยาดำเนินไปจนสิ้นสุดแล้วอนุภาคของน้ำตาลจะกลายเป็นสารอื่น อีกตัวอย่าสงคือการเผาไหม้ ขณะที่กระดาษกำลังติดไฟจะรวมตัวกับออกซิเจนในอากาศเป็นแก๊สที่กำลังลุกไหม้ กระบวนนี้จะเปลี่ยนกระดาษเป็นขึ้เถ้าและแก๊สต่างๆ ไม่คงเหลือเนื้อไม้อีกต่อไป ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เฉพาะเจาะจงถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของสมบัติเฉพาะของสสาร เรียกสมบัตินี้ว่า ความสามารถในการเกิดปฏิกิริยาเคมี (chemical activity) ของสสาร
ชนิดของสสาร
นักวิทยาศาสตร์พบว่าบางครั้งการอธิบายสสารในแง่ขององค์ประกอบหรือสิ่งประกอบเป็นสสารจะช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น สสารแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือของผสมและสารบริสุทธิ์ สารบริสุทธิ์แบ่งเป็นธาตุและสารประกอบ ของผสม (mixture) สารแต่ละชนิดผสมกันยังคงมีสมบัติของมันเองอย่างครบถ้วน เราจะมองไม่เห็นน้ำตาลในน้ำอัดลมแต่เราก็รับรู้รสชาติของมันได้และเราสมารถแยกมันออกจากกันได้ง่ายๆเช่น นำไประเหยน้ำออกด้วยความร้อนสุดท้ายก็จะเหลือเกลือออกมา นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังแบ่งกลุ่มของของผสมโดยอาศัยหลักการความสามารถในการรวมตัวกันของของผสม ของผสมบางอย่างรวมตัวกันอย่างกลมกลืน เราเรียกของผสมชนิดนี้ว่า สารละลาย(solution) เราอาจพูดได้ว่าสารละลายเป็นของผสมที่รวมตัวกันได้อย่างกลมกลืนที่สุด น้ำเชื่อมเป็นตัวอย่างของสารละลาย
สารบริสุทธิ์ (pure substance) ประกอบด้วยสารเพียงชนิดเดียวเท่านั้นและมีสมบัติที่จำเพาะและแน่นอน ตัวอย่างเช่น ถ้านักเรียนพิจารณาน้ำตาลและสมารถมองเข้าไปในอนุภาคเล็กๆที่ประกอบด้วยน้ำตาล นักเรียนจะเห็นว่าน้ำตาลประกอบด้วยสารเพียงชนิดเดียว
สารบริสุทธิ์ จะมีสมบัติเหมือนกันไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราแยกน้ำออกจากน้ำผลไม้ชนิดต่างๆ นักเรียนจะพบว่าน้ำจาก ผลไม้ทุกชนิดยังคงมีลักษณะจำเพาะที่เหมือนกัน
ธาตุ (Element) สารบริสุทธิ์บางชนิดไม่สามารถแยกย่อยลงไปให้เล็กลงได้อีกโดยมีองค์ประกอบเพียงชนิดเดียว เราเรียกสารบริสุทธิ์นี้ว่า ธาตุ วัตถุที่อยู่รอบๆตัวเราล้วนประกอบด้วยธาตุเดียวล้วนๆหรือเป็นธาตุหลายชนิดประกอบกัน ซึ่งปัจจุบันมีการค้นพบธาตุใหม่ขึ้นเรื่อยๆจนปัจจุบันมีธาตุในตารางธาตุทั้งสิ้น 118 ธาตุ แต่หากธาตุต่างๆรวมกันด้วยวิธีการทางเคมีหรือแรงยึดเหนี่ยวทางเคมี(พันธะเคมี) จะเรียกสารนั้นว่า สารประกอบ (Compound)
สารประกอบ(compound) คือสารที่ประกอบด้วยธาตุ 2 ชนิดหรือมากกว่านั้น ตัวอย่าง เช่น O2 เกิดจากการรวมกันของอะตอมออกซิเจนสองอะตอมยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะเคมี CO2 เกิดจากการรวมกันของอะตอมคาร์บอน 1 อะตอมและออกซิเจน 2 อะตอม สมบัติของสารประกอบมักแตกต่างจากสมบัติของธาตุที่เป็นองค์ประกอบ เช่น ธาตุคาร์บอนเป็นของแข็งสีดำ ส่วนออกซิเจนเป็นแก๊สที่มองไม่เห็น เมื่อธาตุทั้งสองมารวมกันผลที่ได้คือสารประกอบชนิดใหม่ที่มีลักษณะต่างออกไป
หากเราลองฉีกกระดาษเป็นแผ่นเล็กๆ จากสองแผ่นเป็นสี่แผ่นจากสี่แผ่นเป็นแปดแผ่น เล็กลงไปอีกจนไม่สามารถทำให้เล็กลงไปได้อีก เราจะได้สิ่งที่เล็กที่สุดที่มีลักษณะอย่างไร เป็นสิ่งเราสงสัยกันไม่เพียงแต่เราเท่านั้น นักปราชญ์ชาวกรีกในสมัยก่อนคริศต์ศักราชก็เช่นกัน ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่าไม่เพียงแต่กระดาษแต่รวมถึงสสารและธาตุชนิดต่างๆในตารางธาตุประกอบด้วยอนุภาคที่มีขนาดเล็กที่สุดเรียกว่า อะตอม หนึ่งในคนแรกๆของนักปราชญ์ชาวกรีกคือ ดิโมคริตุส มีแนวคิดเกี่ยวกับอะตอมนั้นมีชีวิตนั่นคือช่วง 440 ก่อนคริสต์ศักราชโดยเขาได้พยายามศึกษาเกี่ยวกับวัตถุที่มีขนาดเล็ก (ฟิสิกส์ระดับจุลภาค, microscopic) และมีแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างของสสารว่า สสารทั้งหลายประกอบด้วยอนุภาคที่เล็กที่สุด จะไม่สามารถมองเห็นได้ และจะไม่สามารถแบ่งแยกให้เล็กลงกว่านั้นได้อีก แต่ในสมัยนั้นก็ยังไม่มีการทดลอง เพื่อพิสูจน์และสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว ซึ่งดิโมคริตุสเรียกสิ่งเล็กๆที่ไม่สามารถแบ่งให้เล็กลงไปได้ว่า อะโตมอส (atomos) ซึ่งในภาษากรีกมีความหมายว่า “ไม่สามารถตัดได้ (uncuttable)” ซึ่งคำนี้เป็นที่มาคำว่า อะตอม ในปัจจุบัน แม้ว่าชาวกรีกจะเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับอะตอม และนักปราชญ์ในสมัยนั้นก็ได้แบ่งแยกสสารออกเป็น 4 ชนิด คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยอริสโตเติล อธิบายโครงสร้างของสสารว่า สสารมีเนื้อต่อเนื่องไม่มีที่ว่างในเนื้อสสาร และสามารถแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ไม่จำกัด อริสโตเติลเชื่อว่าสรรพสิ่งประกอบด้วยอนุภาคมูลฐาน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟและการเปลี่ยนแปลงของสสารเกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบมูลฐานและบอยล์ แสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบมูลฐานของสสารไม่ใช่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ได้จากการวิเคราะห์หรือการแยกสารโดยวิธีทางเคมีและสนับสนุนว่าสสารประกอบด้วยหน่วยย่อยที่สุดคือ อะตอม แม้ว่า ดิโมคริตุส (Democritus) ได้เสนอแนวคิดที่จะเรียกหน่วยย่อยที่สุดของสสารที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้อีกแล้ว เรียกว่า แต่แนวคิดของดิโมคริตุส ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากนักปราชญ์ร่วมสมัยอย่าง พลาโตและอาริสโตเติล ซึ่งเชื่อว่าธาตุนั้นประกอบด้วยธาตุ 4 ชนิดที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน
กลับไปที่เนื้อหา
อนุภาคของสสาร
ต่อมาวิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้น และนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามทำการ ทดลองค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรูปแบบต่างๆตลอดมา จนกระทั่งเกิดทฤษฎีอะตอมขึ้นมาในปี ค.ศ.1808 จากแนวความคิดของจอห์น ดาลตัน (John Dalton) ซึ่งเป็นครู นักปรัชญาชาวอังกฤษ ผู้เสนอสมมติฐานเกี่ยวกับ อะตอม และเป็นที่ยอมรับและสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น โดยแนวคิดเกี่ยวกับอะตอมของดาลตันได้กล่าวไว้ว่า
1. อะตอมไม่สมารถแบ่งแยก ทำลายหรือทำให้สูญหายได้ ดอลตันคิดว่าอะตอมมีลักษณะเป็นทรงกลมตันคล้ายลูกบิลเลียด จึงทำให้ปัจจุบันนำรูปร่างทรงกลมตันแทนนวคิดแบบจำลองอะตอมของดอลตัน
2. ทุกๆอะตอมของธาตุชนิดเดียวกันจะมีลักษณะเหมือนกัน และแตกต่างจากอะตอมของธาตุอื่น แต่ดอลตันไม่ได้คิดถึงเรื่องไอโซโทป(Isotope) ของธาตุซึ่งอะตอมของธาตุเดียวกันแต่ต่างกันเฉพาะมวลของอะตอมเท่านั้นเอง
3. อะตอมของธาตุตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปสามารถรวมกันเกิดเป็นสารประกอบได้ด้วยอัตราส่วนที่คงที่เสมอ เช่น น้ำเป็นสารประกอบที่ประกอบด้วยอะตอมของธาตุไฮโดรเจนและธาตุออกซิเจนถ้าเปรียบเทียบน้ำจากหลายแหล่งจะพบว่าอัตราส่วนของไฮโดรเจนและออกซิเจนจะมีค่าคงที่เสมอ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังคงยึดถือกันมาในปัจจุบันแต่อย่างไรการเกิดสารประกอบไม่จำเป็นต้องเกิดการรวมกันของธาตุเสมอไปอาจจะเกิดการเกิดปฏิกิริยาระหว่างสาระกอบกับสารประกอบเกิดเป็นสารประกอบชนิดใหม่ก็ได้
4. อะตอมของธาตุต่างชนิดกันมีมวลต่างกัน แนวคิดนี้ทำให้อธิบายได้ว่าทำไมธาตุที่ต่างกันจึงมีสมบัติที่ต่างกัน
นอกจากการศึกษาเรื่องราวของอะตอมแล้วดอลตันเองดอลตันได้เสนอแนวคิดการใช้สัญลักษณ์แทนอะตอมของธาตุ และสารประกอบด้วย เช่นแทน ไฮโดรเจน, แทนออกซิเจน, แทน คาร์บอน, แทน คาร์บอนไดออกไซด์, แทน คาร์บอนมอนอกไซด์ จากการค้นพบดังกล่าว จึงถือได้ว่าจอห์น ดอลตันเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ค้นพบสมบัติของอะตอม และกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับอะตอม
หากถามว่าอะตอมเล็กเพียงใดคงต้องเปรียบเทียบกับสิ่งของในชีวิตประจำวัน เช่น ในหยดน้ำ 1 หยดมีอะตอมของออกซิเจนจำนวนประมาณ 2 พันล้านล้าน อะตอมมีขนาดเล็กมากจนในยุดหนึ่งคิดว่าคงหมดหวังที่จะมองเห็นอะตอม แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถทำให้เราเห็นสิ่งที่คาดว่าจะเป็นอะตอมได้ เครื่องมือนั้นเรียกว่า สแกนนิ่ง ทันเนลลิ่ง ไมโครสโคป(scanning tunneling microscope) ซึ่งมีกำลังขยายสูงมาก ดังนั้นในเมื่อยังไม่เครื่องมือหรือวิธีการใดที่จะทำให้เรามองเห็นลักษณะของอะตอมที่แท้จริงเราจึงจำเป็นต้องจำลองขึ้นซึ่งจะใช้สิ่งที่เรียกว่า แบบจำลองอะตอม (Atomic model) ซึ่งเป็นภาพทางความคิดที่แสดงให้เห็น รายละเอียดของโครงสร้างอะตอมที่สอดคล้อง กับผลการทดลองและใช้อธิบายปรากฎการณ์ ของอะตอมได้ ซึ่งหลังจากสมัยของดอลตัน ผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ในรุ่นต่อมาได้ค้นพบว่าอะตอมมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน มีธรรมชาติที่เป็นไฟฟ้าเกี่ยวข้องอยู่ด้วย และสามารถแบ่งแยกให้เล็กลงได้อีกในบางอะตอม ดังนั้นจึงมีแบบจำลองอะตอมของนักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาอีกหลายแบบ ซึ่งแบบจำลองอะตอมต่างๆนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลและการทดลองหรือเทคโนโลยีที่ดีดว่าแบบจำลองจึงสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนแบบจำลองเดิมที่อธิบายได้ไม่ดี ปัจจุบันเรายังคงค้นหาโครงสร้างที่แท้จริงของอะตอมต่อไป
กลับไปที่เนื้อหา
ชนิดของสสารและการจำแนก
ในชีวิตประจำวันของเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสารต่าง ๆ สารแต่ละชนิดมีสมบัติแตกต่างกัน บางชนิดเกิดปฏิกิริยากับน้ำอย่างรวดเร็ว บางชนิดจุดเดือดต่ำ บางชนิดจุดเดือดสูง ทำให้เราต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสมบัติและประเภทของสาร และการจัดจำแนกสาร เพื่อสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
สารต่างๆที่อยู่รอบตัวถ้าให้นักเรียนจัดจำแนกจะได้สารหลายกลุ่มที่อาจมีลักษณะเหมือนหรือต่างกันไป เพราะนักเรียนแต่ละคนมีเกณฑ์ในการจำแนกที่แตกต่างกันออกไป
การจำแนกสาร เราจะสามารถใช้เกณฑ์ต่อไปนี้ในการจำแนกเป็น 4 เกณฑ์ ได้แก่
1) การใช้สถานะเป็นเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.1 ของแข็ง (Solid) มีอนุภาคภายในเรียงชิดติดกัน อนุภาคของของแข็งไม่มีการเคลื่อนที่ มีการสั่นตลอดเวลา ปริมาตรของของแข็งเปลี่ยนแปลงน้อยมาจนถือว่าปริมาตรคงที่ และจะรักษารูปร่างเดิมได้ดี เช่น นักเรียนมีปากกาอยู่ 1 แท่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมหากนักเรียนหยิบไปวางใส่แก้วปากกาแท่งนั้นก็มีรูปร่างและลักษณะเช่นเดิม ตัวอย่างของของแข็ง เช่น ทองคำ, น้ำแข็ง เป็นต้น
อนุภาคภายในของแข็ง อนุภาคที่ประกอบกันเป็นของแข็งจะจับตัวกันแน่น ดังแสดง แต่ละอนุภาคจะอยู่ในตำแหน่งที่ตายตัวตำแหน่งเดียว จึงทำให้แยกออกจากกันได้ยาก การที่อนุภาคจับตัวกันแน่นและอยู่ใน ตำแหน่งที่คงที่จะทำให้มันมีปริมาตรและรูปทรงคงที่ การที่อนุภาคมีการสั่นเปรียบเหมือนคนวิ่งอยู่กับที่ ของแข็งมีหลายชนิดเรียงตัวแบบซ้ำๆกัน อย่างสม่ำเสมอ ของแข็งที่ประกอบด้วยผลึก เรียกว่าของแข็งผลึก(crystalline solid) เช่น น้ำตาลทราย เกลือ ทราย แต่สำหรับของแข็งบางชนิด อนุภาคไม่ได้เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบที่สม่ำเสมอ เรียกว่า ของแข็งอสัณฐาน(amorphous solid) เช่น พลาสติก ยาง แก้ว ไม้
1.2 ของเหลว (Liquid) จะมีรูปร่างตามภาชนะที่บรรจุ และ มีปริมาตรที่คงที่ ซึ่งอนุภาคภายในจะอยู่ชิดกันน้อยกว่าของแข็ง และ มีสมบัติเป็นของไหล เช่น น้ำมัน , แอลกอฮอล์, ปรอท (Hg) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ของเหลวเหมือนกับของแข็งตรงที่มันไม่สมารถถูกบีบอัดได้ง่าย ถ้านักเรียนมีน้ำอยู่ 10 ลิตรแม้ว่านักเรียนจะเทใสภาชนะขนาดเท่าใดก็ตาม น้ำก็ยังคงมีปริมาตรเท่าใดแม้ว่ารูปร่างจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม
อนุภาคในของเหลว จะจับตัวกันเกือบจะแน่นเท่ากับในของแข็งแต่อนุภาคในของเหลวจะเคลื่อนที่ไปมาอย่างอิสระ เนื่องจากอนุภาคของของเหลวเคลื่อนที่ไปมาอย่างอิสระจึงทำให้ของเหลวมีรูปร่างไม่แน่นอน เนื่องจากอนุภาคของของเหลวเคลื่อนที่จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งได้เราจึงเรียนว่า ของไหล ของเหลวบางชนิดไหลได้ง่ายกว่าอย่างอื่น การต้านการไหลของของเหลวเรียกว่า ความหนืด ของเหลวที่มีความหนืดมากจะไหลช้า
1.3 แก๊ส (Gas) จะมีรูปร่าง และ ปริมาตรที่ไม่คงที่ โดยรูปร่าง จะเปลี่ยนไปตามภาชนะที่บรรจุ อนุภาคภายในจะอยู่ ห่างกันมากที่สุด และ มีสมบัติเป็นของไหลได้ เช่น ก๊าซหุงต้ม , อากาศ
แก๊ส (gas) ต่างจากของแข็งและของเหลวตรงที่ แก๊สสามารถเปลี่ยนปริมาตรได้อย่างง่ายดาย ถ้านักเรียนใส่กาซลงไปในภาชนะปิด ก๊าซจะกระจายตัวออกหรือบีบตัวเข้าด้วยกันเพื่ออยู๋ให้เต็มภาชนะ เพื่อที่จะแสดงหลักการนี้ห็นภาพ ให้นักเรียนลองหายใจเข้านักเรียนจะพบว่าอกของนักเรียนจะขยาย
นักเรียนรู้สึกถึงอากาศที่เข้ามาในจมูกและปาก อากาศเป็นส่วนผสมของก๊าซหลายชนิดที่ประพฤติตัวเหมือนเป็นก๊าซชนิดเดียว เมื่อนักเรียนหายใจเข้า อากาศจะเคลื่อนที่จากปากผ่านหลอดลมของนักเรียนเข้าไปสู่ปอด อากาศจะเปลี่ยนรูปร่างและปริมาณไปตามที่ที่มันอยู่ เมื่อนักเรียนหายใจออกการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม ถ้านักเรียนอังมือไว้ข้างหน้าปากนักเรียนจะรู้สึกว่าอากาศเคลื่อนไหวผ่านนิ้วของนักเรียน
ภ้านักเรียนสามารถของเห็นอนุภาคแต่ละชนิดของแก๊สนักเรียนจะเห็นอนุภาคขนาดจิ๋วพุ่งด้วยความเร็วสูงในทุกทิศทาง อนุภาคแก๊สจะกระจายตัวเพื่อเติมช่องว่างที่จำกัดเขตมันอยู๋ให้เต็มที่ ดังนั้นแก๊สจึงไม่มีขนาดและปริมาณที่แน่นอน
2) การใช้เนื้อสารเป็นเกณฑ์ จะมีสมบัติทางกายภาพของสารที่ได้จากการสังเกตลักษณะความแตกต่างของเนื้อสาร ซึ่งจะจำแนกได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1 สารเนื้อเดียว (Homogeneous Substance) หมายถึง สารที่มีเนื้อสารเหมือนกันทุกส่วน ทำให้สารมีสมบัติเหมือนกันตลอดทุกส่วน เช่น แอลกอฮอล์ , ทองคำ (Au) , โลหะบัดกรี
2.2 สารเนื้อผสม (Heterogeneous Substance) หมายถึง สารที่มีเนื้อสารแตกต่างกันในแต่ละส่วน จะทำให้สารนั้นมีสมบัติ ไม่เหมือนกันตลอดทุกส่วน เช่น น้ำอบไทย , น้ำคลอง ฯลฯ
3) การละลายน้ำเป็นเกณฑ์ จะจำแนกได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
3.1 สารที่ละลายน้ำได้ เช่น เกลือแกง (NaCl ) , ด่างทับทิม (KMnO4) ฯลฯ
3.2 สารที่ละลายน้ำได้บ้าง เช่น ก๊าซคลอรีน (Cl2) , ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ฯลฯ
3.2 สารที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ เช่น กำมะถัน (S8), เหล็ก (Fe) ฯลฯ
4) การนำไฟฟ้าเป็นเกณฑ์ จะจำแนกได้ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
4.1 สารที่นำไฟฟ้าได้ เช่น ทองแดง (Cu) , น้ำเกลือ ฯลฯ
4.2 สารที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น หินปูน (CaCO3) , ก๊าซออกซิเจน (O2)
โดยส่วนใหญ่นักเคมี จะแบ่งสารตามลักษณะเนื้อสารเป็นเกณฑ์ ดังนี้
ขอยกตัวอย่างสารบริสุทธิ์คือธาตุและสารประกอบซึ่งเราถือว่าเป็น สารบริสุทธิ์
จากสมบัติต่างๆ ของธาตุ สามารถจำแนกธาตุได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
(1) โลหะ มีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิปกติ ยกเว้นปรอทที่เป็นของเหลว โลหะจะมีผิวเป็นมันวาว มีความเหนียว ตีแผ่ให้เป็นแผ่นหรือเป็นเส้นได้ เคาะมีเสียงดังกังวาน มีจุดเดือดสูง นำความร้อน และนำไฟฟ้าได้ดี โลหะบางชนิดเป็นสารแม่เหล็ก ตัวอย่างของธาตุโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมกนีเซียม เป็นต้น
(2) อโลหะ เป็นได้ทั้ง 3 สถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส เช่น กำมะถันเป็นของแข็งสีเหลือง โบรมีนเป็นของเหลวสีแดง คลอรีนเป็นแก๊สสีเขียวอ่อน อโลหะส่วนใหญ่มีสมบัติตรงข้ามกับโลหะ เช่น ผิวไม่เป็นมันวาว เปราะ ไม่นำไฟฟ้า มีจุดเดือดต่ำ
(3) ธาตุกึ่งโลหะ เป็นธาตุที่มีสมบัติกึ่งโลหะและอโลหะ เช่น โบรอนเป็นของแข็งสีดำ เปราะ ไม่นำไฟฟ้า มีจุดเดือดสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส ซิลิคอน เป็นของแข็งสีเงินวาว เปราะ นำไฟฟ้าได้เล็กน้อย มีจุดเดือด 3,265 องศาเซลเซียส
1.2 สารประกอบ (Compounds)
สารประกอบ คือ สารที่เกิดจากการรวมตัวกันของธาตุตั้งแต่ 2 ชนิด ขึ้นไปมาทำปฏิกิริยาเคมีกันด้วยสัดส่วนที่แน่นอน กลายเป็นสารชนิดใหม่ มีสมบัติแตกต่างไปจากธาตุที่เป็นองค์ประกอบเดิม ตัวอย่างของสารประกอบ เช่น เกลือแกง (NaCl) น้ำ(H2O) คาร์บอนไดออกไซด์(CO2) แอมโมเนีย(NH3) เป็นต้น
แหล่งที่มา
แฟรงค์ เดวิด วี. (2547). ชุดสำรวจโลกวิทยาศาสตร์องค์ประกอบพื้นฐานทางเคมี. กรุงเทพฯ: เพียร์สัน เอ็ดดูเคชัน อินโดไชน่า.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). (2551).หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เล่ม 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.
ศรีลักษณ์ พลวัฒนะ, และคณะ.(2551). หนังสือเรียนเสริมฯ แก๊ส ของแข็ง ของเหลว ม.4-6 ช.4 สำนักพิมพ์ แม็ค บจก.สนพ.
กลับไปที่เนื้อหา
-
8796 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสสาร ม.2 /lesson-chemistry/item/8796-2018-09-21-02-07-24เพิ่มในรายการโปรด