ดอกเบี้ยและเงินรายงวด
การคิดดอกเบี้ย (Interest) จะเกิดขึ้นเมื่อเราทำธุรกิจการเงินอาจเป็นการฝาก หรือการกู้เงินโดยการคิดดอกเบี้ยจะมี 2 ประเภทหลักคือ 1) ดอกเบี้ยอย่างง่ายโดยคิดจากสัดส่วนของมูลค่าเงินในปัจจุบัน P (Present value) ในที่นี้คือเงินฝากเริ่มต้นหรือเงินกู้เริ่มต้น และ 2) ดอกเบี้ยทบต้นซึ่งจะคิดดอกเบี้ยจากสัดส่วนของมูลค่าเงินในงวดปัจจุบัน ซึ่งดอกเบี้ยทบต้นจะมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์เวียนเกิด ในส่วนนี้จะเป็นการศึกษาดอกเบี้ยอย่างง่าย การผ่อนชำระรายงวด นอกจากนี้ตัวอย่างแต่ละตัวอย่างจะแสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์การลงทุนผ่านการกู้เงิน และการฝากเงิน ตลอดจนการวางแผนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ
ภาพแสดงจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามอัตรา (ดอกเบี้ย)
ที่มา https://pixabay.com/th/photos/เงิน-เหรียญ-การลงทุน-ธุรกิจ-2724241/
ดอกเบี้ยอย่างง่าย ให้ P เป็นมูลค่าเงินปัจจุบันจากการลงทุน มีอัตราดอกเบี้ย r ต่อปี ถ้าลงทุน t ปีดอกเบี้ยอย่างง่าย I คำนวณได้จาก
I = Prt
มูลค่าเงินในอนาคต หมายถึงเงินปัจจุบันรวมกับเงินได้ในอนาคตที่นื้คือดอกเบื้ยดังนั้นมูลค่าในอนาคต (Future value) F
F = P + I = P + Prt = P(1 + rt)
การผ่อนจ่าย โดยทั่วไปเมื่อเราทำการกู้เงินที่คิดจากมูลค่าในปัจจุบันเมื่อรวมกับดอกเบี้ยเราจะทราบยอดที่ต้องชำระทั้งหมดซึ่งก็คือมูลค่าเงินในอนาคต หากทำการผ่อนจ่ายรายงวดจำนวน n จำนวนเงินที่จะต้องชำระในแต่ละงวดคำนวณได้จาก
pay = F / n
ตัวอย่างที่ 1 ทำการกู้เงินมาลงทุนจากสถาบันทางการเงินจำนวน 200,000 บาท สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ย 2% ต่อปีโดยทำสัญญากู้เงินผ่อนจ่ายรายเดือนเป็นเวลา 3 ปี จงคำนวณหาอัตราดอกเบี้ย ยอดกู้ที่ต้องชำระ และเงินผ่อนรายเดือน
วิธีทำ ทำการกู้เงินมูลค่า P = 200,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 2 % ต่อปี จำนวน 3 ปี
ดอกเบี้ย
I = Prt = 200,000 x 0.02 x 3 = 12,000
มูลค่าเงินในอนาคต
F = P + I = 212,000
เงินผ่อน ทำการผ่านจ่ายรายเดือน 12 งวดต่อปีจำนวน 3 ปีจะได้ n = 12 x 3 = 36 งวด
pay = 212,000 / 36 = 5888.89
สรุปได้ว่า ถ้าทำการกู้เงินจำนวน 200,000 บาทด้วยอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปีจำนวน 3 ปี จะมีดอกเบี้ย 12,000 บาท และยอดที่ต้องชำระรวม 212,000 บาท ถ้าผ่อนจ่ายรายเดือนจะต้องชำระเดือนละ 5888.89 บาท
ตัวอย่างที่ 2 นำเงินไปฝากธนาคารจำนวน 200,000 บาท โดยไม่มีการฝากเงินเพิ่ม ถ้าธนาคารให้อัตราดอกเบี้ย 1.5 % ต่อปี ถ้าต้องการมูลค่าเงินฝากในอนาคตไม่ต่ำกว่า 210,000 บาทตอนสิ้นปีเป็นไปได้หรือไม่
วิธีทำ ยอดบัญชีปัจจุบัน P = 200,000 อัตราดอกเบี้ย r = 1.5% = 0.015 ยอดบัญชีอนาคต F = 210,000 สามารถหาเวลา t ได้จากการพิจารณา F = P(1 + rt) จะได้
t = (F / P – 1) / r = (210000 / 200000 – 1) / 0.015 = 3.33 ปี
จะเห็นว่าต้องฝากอย่างน้อย 4 ปีซึ่งเป็นไปไม่ได้
ตัวอย่างที่ 3 ถ้าต้องการดอกเบี้ย 10,000 บาท จากการฝากธนาคารในระยะเวลา 1 ปีโดยธนาคารให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปีจะต้องมีเงินฝากเริ่มต้นจำนวนเท่าไหร่โดยที่ไม่ฝากเงินเพิ่มในบัญชีตลอดปี
วิธีทำ มูลค่าดอกเบี้ย = 10,000 อัตราดอกเบี้ย r = 0.015 และ ระยะเวลาฝาก 1 ปี จากสูตร I = Prt สามารถหาเงินลงทุนปัจจุบัน P ได้จาก
P = I / (rt) = 10000 / (0.015 x 1) = 666,667 บาท
สรุปได้ว่าหากต้องการผลตอบแทนดอกเบี้ยจากการลงทุนโดยการฝากเงินกับธนาคารในอัตราดอกเบี้ย 1.5 % ต่อปีเป็นเวลา 1 ปีจะต้องมีเงินฝากเริ่มต้นประมาณ 666,667 บาท
ตัวอย่างที่ 4 ถ้าต้องการวางแผนการลงทุนโดยกู้เงินจากกองทุนโดยสามารถจ่ายเข้ากองทุนได้เดือนละ 5,000 บาทและผ่อนหมดภายในเวลา 2 ปี ถ้าอัตราดอกเบื้ยอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี จะสามารถกู้เงินได้เท่าไหร่
วิธีทำ เงินงวดละ pay = 5000 ต่อเดือน จำนวนงวดคิดเป็น 12 งวดต่อปี ระยะเวลา t = 2 ปี จะได้ n = 24 โดยมีอัตราดอกเบี้ย 20 % r = 0.2 จาก pay = F / n จะได้ n x pay = P(1 + rt) ดังนั้น
P = (n x pay) / (1 + rt) = (5000 x 24) / (1 + 0.2 x 2) = 85,715
สรุปได้ว่าสามารถกู้เงินจำนวน 85,715 ในอัตราดอกเบื้ยร้อยละ 20 ต่อปีระยะเวลาการผ่อนอยู่ที่ 2 ปี ผ่อนเดือนละ 5,000 บาท
ตัวอย่างที่ 5 ถ้าการลงทุนจำนวน 200,000 บาท แต่ต้องการให้มูลค่าเงินเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 บาทภายในเวลา 10 ปีจะต้องลงทุนในหน่วยลงทุนที่ให้ดอกเบื้ยเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี
วิธีทำ มูลค่าเงินปัจจุบัน P = 200,000 มูลค่าเงินในอนาคต F = 300,000 ระยะเวลาลงทุน 10 ปี จากสูตร F = P(1 + rt) จะได้
r = (F / P – 1) / t = (300000 / 200000 – 1) / 10 = 0.05
สรุปได้ว่าหากต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน 200,000 บาทเป็น 300,000 บาทในระยะเวลา 10 ปีจะต้องเลือกหน่วยลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยหรือผลกำไรเฉลี่ยร้อยละ 5% ต่อปี
อย่างไรก็ตามในการฝากบัญชีไว้กับธนาคารนั้นกรณีที่มีการฝากมากกว่า 1 ปีผลตอบแทนดอกเบี้ยจะมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยทบต้นเนื่องจากเมื่อถึงระยะเวลา 1 ปีธนาคารจะนำดอกเบี้ยไปรวมกับเงินต้น และใช้เป็นเงินของงวดถัดไป อาจกล่าวได้ว่าการคิดดอกเบี้ยแบบดอกเบี้ยทบต้นทำให้มูลค่าของเงินเปลี่ยนตามเวลา
แหล่งที่มา
Hillman A.P. and Alexanderson G.L. (1971). Algebra to Problem Solving. Allyn and Bacon, Inc. USA.
Smith K.J., (1992). Collage Mathematics and Calculus with Applications to Management, Life and Social sciences 2nd edition. Brooks/Cole Publishing company. USA.
ญาณพล แสงสันต์ และคณะ เอกสารประกอบการบรรยาย การจัดการการลงทุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ดอกเบี้ยทบต้น และการผ่อนจ่าย
ในการลงทุนถ้าการคิดดอกเบี้ยเป็นแบบดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายงวด มูลค่าเงินในแต่ละงวดจะเปลี่ยนไปตามเวลา หากพิจารณาความสัมพันธ์เชิงคณิตศาสตร์จะเป็นความสัมพันธ์แบบเวียนบังเกิด กำหนดให้ P เป็นมูลค่าเงินปัจจุบัน และ r เป็นผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ย และให้ i เป็นสถานะของเงินในแต่ละงวด กำหนดให้ P(0) เป็นมูลค่าเงินปัจจุบันในสถานะเริ่มต้น P(1) จะเป็นมูลค่าของเงินในสถานะงวดที่ 1
P(1) = P(0) + rP(0) = (1 + r)P(0)
P(2) = P(1) + rP(1) = (1 + r)P(1)
….
อุปนัย P(i) = P(i – 1) + rP(i – 1) = (1 + r)P(i – 1)
สำหรับ i = 1, 2, 3, …
รูปแบบความสัมพันธ์ข้างต้นสามารถหาคำตอบทั่วไปได้โดยวิธีการทำซ้ำจาก
P(1) = (1 + r)P(0)
P(2) = (1 + r)P(1) = (1 + r)(1 + r)P(0) = (1 + r)2P(0)
P(3) = (1 + r)P(2) = (1 + r)(1 + r)2P(0) = (1 + r)3P(0)
…
อุปนัย P(i) = (1 + r)iP(0)
ตัวอย่างที่ 1 นำเงินไปฝากธนาคารจำนวน 100,000 บาท โดยธนาคารให้อัตราดอกเบี้ย 1.3 %ต่อปี ถ้าปล่อยบัญชีทิ้งไว้อย่างน้อย 5 ปีจะมียอดเงินในบัญชีอย่างน้อยเท่าไหร่
วิธีทำ มูลค่าเงินปัจจุบัน P(0) = 100,000 อัตราดอกเบี้ย r = 0.013 ฝากจำนวน 5 ปีให้อัตราดอกเบี้ย 1 งวดต่อปีจะได้จำนวนงวด i = 5 มูลค่าเงินในงวดที่ 5 ประมาณ
P(5) = (1 + 0.013)5 x (100,000) = 106671
สรุปได้ว่าการฝากเงิน 100,000 บาทกับธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.3 อย่างน้อย 5 ปีโดยไม่มีการฝากเพิ่มจะมีเงินในบัญชีในอนาคตอย่างน้อย 106,671 บาท
ตัวอย่างที่ 2 ถ้าการฝากเงินกับธนาคารจำนวน 200,000 บาทโดยไม่ฝากเงินเพิ่มกำหนดมูลค่าเงินในอนาคตไว้ที่ 300,000 บาท โดยธนาคารให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ทุก ๆ 6 เดือนจะต้องฝากเงินไว้อย่างน้อยกี่ปี
วิธีทำ มูลค่าเงินปัจจุบัน P(0) = 200,000 สมมติฝากเงินไว้จำนวน N งวดทำให้มูลค่าเงินในอนาคต P(N) = 300,000 เนื่องจากธนาคารให้ดอกเบี้ย 1.5 % ต่อปีคิดเป็น r = 0.75 % ต่องวด จากสูตร P(i) = (1 + r)iP(0) จะได้
Log(P(N) / P(0)) = N x Log(1 + r)
ดังนั้น N = Log(P(N) / P(0)) / Log(1 + r) = Log(300,000) / 200,000) / Log(1+0.0075)] = 54.26
สรุปได้ว่าหากต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน 200,000 บาทเป็น 300,000 บาทโดยการฝากธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ย 1.5 % ต่อปีแต่ให้ดอกเบี้ยทุก ๆ 6 เดือน จะต้องฝากทิ้งไว้ 55 งวด เป็นระยะเวลา 27 ปี 6 เดือน
Effective yield
ในกรณีที่คิดดอกเบี้ยทบต้น n* งวดต่อปี สัดส่วนของเงินในอนาคตและเงินปัจจุบันเมื่อลงทุน t ปีเท่ากับ (1 + r)n*t ถ้าเราพิจารณาอัตราดอกเบี้ย R ของสัดส่วนของเงินในอนาคตและเงินปัจจุบันเมื่อลงทุน t ปี
(1 + Y)t จะได้ว่า Y = (1 + r)n* – 1
ตัวอย่างที่ 3 ธนาคารแห่งหนึ่งอนุมัติเงินกู้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้น 28 % ต่อปีโดยคิดดอกเบี้ยรายวัน จงหา effective rate ที่เกิดขึ้นใน 30 วัน
วิธีทำ อัตราดอกเบี้ยต่องวดร้อยละ r = 28 / 365 จาก Y = (1 + r)n* – 1 = (1 + 28/36500)30 – 1 = 0.0233 จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยทบต้น 28 % ต่อปีจากการกู้เงิน 30 วันทำให้เกิดดอกเบี้ยประมาณ 2.33 %
เงินผ่อนหรือเงินสะสมรายเดือน
สถานะการเงินปัจจุบัน = สถานะการเงินก่อนหน้า + ดอกเบี้ย + เงินฝาก
A(n) = A(n – 1) + rA(n – 1) + d = (1 + r)A(n – 1) + d
หารูปแบบทั่วไปโดยการทำซ้ำ
A(1) = (1 + r) A(0) + d
A(2) =(1 + r)A(1) + d = (1 + r)2A(0) + (1 + r + 1)d
A(3) = (1 + r)A(2) + d = (1 + r)3A(0) + [(1+r)2 + (1+r) + 1]d
A(4) = (1 + r)A(3) + d = (1 + r)4A(0) + [(1 + r)3 + (1+r)2 + (1+r) + 1] d
…..
อุปนัย A(N) = (1 + r)N A(0) + d((1 + r)N – 1) / (1 + r – 1)
สมมติให้สถานะที่ 0 มีเงิน 0 บาทนั้นคือ A(0) = 0
A(N) = (d / r)[(1 + r)N – 1]
ตัวอย่างที่ 4 วางแผนการออมเงินเดือนละ 1,000 บาทโดยได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปีโดยให้ดอกเบี้ยทบต้นทุก ๆ 6 เดือน ถ้าออมเงินจำนวน 5 ปีจะมีผลตอบแทนเท่าใด
วิธีทำ ทำการฝากเงินเดือนละ 1000 บาทต่อเดือนเท่ากับฝาก d = 6,000 บาท ต่อ งวด ในอัตราดอกเบี้ย 1.5 %/ ต่อ ปี r = 0.75 % ต่อ งวด ฝากเงินระยะเวลา 5 ปี N = 10 งวด จากสูตร
A(N) = (d / r)[(1 + r)N – 1] = (6000/0.0075)[(1 + 0.0075)10 – 1] = 62,066.03 บาท
ในกรณีของการชำระหนี้สมมติให้ สถานะที่ 0 ของบัญชีคือยอดเงินกู้ A(0) เมื่อผ่อนชำระไป N งวดยอดคงเหลือเท่ากับศูนย์บาท A(N) = 0 สามารถหายอดที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน d ได้จาก
A(N) = (1 + r)N A(0) + d((1 + r)N – 1) / (1 + r – 1)
0 = r(1 + r)NA(0) + d((1 + r)N – 1)
d = r(1 + r)NA(0) / [(1 + r) N – 1]
= -rA(0) / [1 – (1+r)-N]
ตัวอย่างที่ 5 กู้เงินมาจำนวน 1,000,000 บาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี กำหนดการผ่อนชำระจำนวน 10ปี จะต้องผ่อนชำระเดือนละกี่บาท
วิธีทำ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ผ่านชำระเป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นจำนวนงวด N = 120 งวดจะได้ดอกเบี้ยร้อยละ r = 8 x 10 / 120 = 0.67 ต่องวด ยอดเงินกู้ A(0) =1,000,000 บาท
d = -0.0067(1,000,000) / [1 – (1+0.0067)-120] = -12,154
ดังนั้นจะต้องผ่อนจ่ายรายเดือนเดือนละ 12,154 บาท
แหล่งที่มา
Hillman A.P. and Alexanderson G.L. (1971). Algebra to Problem Solving. Allyn and Bacon, Inc. USA.
Smith K.J., (1992). Collage Mathematics and Calculus with Applications to Management, Life and Social sciences 2nd edition. Brooks/Cole Publishing company. USA.
ญาณพล แสงสันต์ และคณะ เอกสารประกอบการบรรยาย การจัดการการลงทุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
กองทุนรวม
ในบทเรียนก่อนหน้านี้ ผู้เรียนได้เป็นตัวอย่างการลงทุนประเภทออมทรัพย์ ในส่วนนี้ผู้เขียนจะแนะนำถึงการลงทุนในรูปแบบที่เรียกว่ากองทุนรวม (Mutual Funds) ซึ่งเป็นการระดมทุนจากบุคคลทั่วไป นิติบุคคล หรือสถาบันต่าง ๆไปลงทุนต่อในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ควบคุมดูแลผลประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบายตามที่สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อนุมัติ
กองทุนรวมจะมีการคำนวณราคาและมูลค่าทรัพย์สินทุกวันทำการ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ Net Asset Value (NAV) คำนวณได้จาก
NAV = Market Value of Assets - Liabilities
Market Value of Asset คือมูลค่าทรัพย์สินตามตลาด ผลตอบแทนสะสม และ เงินสด
Liabilities คือ ค่าใช้จ่ายของกองทุน และหนี้สิน
NAVต่อหน่วย = NAV / Number of Shares Outstanding
เป็นค่าที่เอาคำนวณในการซื้อขายกองทุน
ตัวอย่างที่ 1 ต้องการลงทุนในกองทุน A ซึ่งมีงบลงทุน 10,000 บาท ถ้ากองทุนกำหนดราคาขายหน่วยละ 10 บาท จะสามารถซื้อหน่วยลงได้ 10,000 / 10 = 1,000 หน่วยลงทุน
แต่อย่างไรก็ตามแต่ละกองทุนจะมีการอัตราค่าธรรมเนียมในการซื้อ ขาย หรือค่าใช้จ่ายการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศซึ่งจะมีการชี้แจงในหนังสือชี้ชวน และที่สำคัญในการซื้อ ขายกองทุน เราจะไม่ทราบราคาปิดครั้งสุดท้ายทำให้การซื้อขายเนื่องจาก NAV จะถูกประกาศ ณ สิ้นวันทำการ
ข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุน
มีสภาพคล่องในการซื้อ ขายหน่วยลงทุนเป็นไปตามมูลค่าต่อหน่วย ปัจจุบันสามารถซื้อขายกองทุนผ่านแอพพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆได้ด้วยตนเอง
กองทุนมีการจัดการเพื่อกระจายความเสี่ยง ในแต่ละกองทุนจะมีการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน
กองทุนรวมมีมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนเป็นผู้บริหารกองทุน
กองทุนรวมจะความหลากหลายให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนได้ตามความต้องการ
สามารถเลือกซื้อกองทุนที่ลงทุนตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
ภาษีจากการลงทุนสำหรับบุคคลธรรมดา มูลค่าเพิ่มจากการลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกองทุนที่มีการจ่ายปันผล เงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจึงไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อเสียภาษีประจำปี
อัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในกองทุน ผู้ลงทุนในกองทุนจะได้รับผลตอบแทนจากกำไรสุทธิที่กองทุนได้รับจากการขายหลักทรัพย์
อัตราผลตอบแทนใช่ช่วงถือครองหลักทรัพย์ (HPR) = [รายได้ + (ราคาขาย – ราคาซื้อ)] / ราคาซื้อ
ตัวอย่างที่ 2 ในการลงทุนซื้อกองทุนมีค่า NAV เริ่มต้น NAVi = 5.48 บาท และ NAV สิ้นสุด NAVf = 5.52 ได้รับเงินปันผล 0.4 บาทต่อหน่วยลงทุนจะได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนเท่าใด
วิธีทำ รายได้จากการปันผล = 0.4 บาท หากทำการขาย ราคาซื้อ = 5.48 และราคาขาย = 5.52 จะได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุน
[0.4 + (5.52 – 5.48)] / 5.48 = 0.08 = 8%
อย่างไรก็ตามหากเราลงทุนในหลายกองทุน การเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนควรพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนต่อปีคำนวณได้จาก
(1+HPR)1/t – 1
ตัวอย่างที่ 3 ถ้าถือครองกองทุนเป็นเวลา 5 ปี ได้ปันผลรวม 2.0 บาทต่อหน่วยลงทุน ต้นทุนหน่วยลงทุนละ 5. 48 ราคาขายอยู่ที่ 5.21 อัตราผลตอบแทนต่อปีมีค่าเท่าใด
วิธีทำ ค่า HPR = [2.0 + (5.21 – 5.48)] / 5.48 = 0.3156 = 31.56% ถือหน่วยลงทุนเป็นเวลา t = 5 ปี ดังนั้นอัตราผลตอบแทนต่อปีเท่ากับ
(1 + 0.3156)1/5 – 1= 0.0563 = 5.63 %
ประเภทกองทุนรวม
กองทุนรวมตราสารทุน (equity fund) ลงทุนในตราสารทุนไม่ต่ำกว่า 65% ของทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
กองทุนรวมตราสารหนี้ (fixed income fund) ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ การหาดอกผลหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์
กองทุนรวมผสม (mixed fund) ลงทุนตามนโยบายของบริษัทจัดการกองทุน อาจกำหนดสัดส่วนตราสารทุนต่ำกว่า 65% ของทรัพย์สินสุทธิ หรือ อาจจัดการสัดส่วนตามความเหมาะสมของสถานการณ์
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนในประเทศเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) ส่งเสริมการออกระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุน
กองทุนเพื่อการออม (Super Save Fund) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเงินทุนสะสมของพนักงานและนายจ้าง ที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อไม่มีงานทำและไม่มีเงินเดือน
โดยกองทุนที่ 5, 6 และ 7 เป็นกองทุนที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ ยังมีกองทุนอีกหลายประเภทที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้ อาทิ กองทุนรวมวายุภักษ์ กองทุนรวมดัชนี กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อกองทุน ผู้ลงทุนจะต้องทำความเข้าใจหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน ในหนังสือชี้ชวนจะแจ้งข้อมูลสำคัญประกอบด้วย
ชื่อกองทุน ประเภทของกองทุน และอายุของโครงการ
รายละเอียดเงินทุน และทรัพย์สินของโครงการ จำนวนและราคาหน่วยลงทุน
นโยบายและวัตถุประสงค์ของกองทุน
วันที่เสนอขายกองทุน
สถานที่ติดต่อซื้อขายหน่วยลงทุน
ข้อมูลและช่องทางติดต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ นายทะเบียน และผู้สอบบัญชี
ข้อมูลรายละเอียดการซื้อขายหน่วยลงทุน กำหนดการ ระยะเวลาในการดำเนินการขายและซื้อคืนหน่วยลงทุน
หลักเกณฑ์และข้อกำหนดระยะเวลาการถือ การกำหนดรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
คำเตือนและข้อเสนอแนะอื่นเช่น ระดับความเสี่ยงเป็นต้น
ข้อมูลรายละเอียดการลงทุนของโครงการ
แหล่งที่มา
Hillman A.P. and Alexanderson G.L. (1971). Algebra to Problem Solving. Allyn and Bacon, Inc. USA.
Smith K.J., (1992). Collage Mathematics and Calculus with Applications to Management, Life and Social sciences 2nd edition. Brooks/Cole Publishing company. USA.
ญาณพล แสงสันต์ และคณะ เอกสารประกอบการบรรยาย การจัดการการลงทุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)