Science is all around
เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับความรู้รอบตัวกันบ้างมั้ยครับ "หนังสือความรู้รอบตัว" ผมมีปัญหากับประโยคนี้ครับ เพราะความรู้รอบตัวก็ไม่ควรจะอยู่ในตำรา จริงไหมครับ มีวิธีการมากมายที่เราสามารถหาความรู้ที่อยู่รอบๆตัว และนำมันมาอยู่ในหัวเราได้ ลองอ่านตัวอย่างจากบทความนี้นะครับ
วิชารอบตัว
หลังจากผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยไปในสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีคำถามจากคุณ “กิ่ง” ส่งมา ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาเปิดเป็นประเด็นสนทนากัน
สวัสดีค่ะ หนูชื่อกิ่งค่ะ
เรียนวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ติดตามอ่านบทความของพี่ในมติชนวันอาทิตย์ตลอดเลยค่ะ พี่เขียนได้ดีมาก
อยากถามพี่ว่า ถ้าหนูอยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ควรจะเริ่มต้นฝึกฝนอย่างไรดีคะ
สำหรับคนเขียนหนังสือ แค่ได้รู้ว่ามีคนอ่านงานที่เราเขียนเรารู้สึกชื่นใจแล้ว แต่นี่ยังเขียนมาชื่นชมด้วย ทำให้รู้สึกชื่นชมด้วย ทำให้รู้สึกชื่นใจจน “ตัวพอง” ด้วยความอิ่มเอิบ อ่านจดหมายแล้วมีแรงอยากเขียนงานออกมาอีกมากมาย
ต้องขอบคุณน้องกิ่งมาก
ผมว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเรียน
ทุกวันนี้ช่องทางการสื่อสารมีมากมายหลายเส้นทางให้เราเลือกใช้ตามแต่ความถนัด แค่เขียนบนช่องทางที่ต่างกัน ก็ได้ผลงานที่แตกต่างกันแล้ว ลองสังเกตดูจะพบว่าเรื่องที่เขียนลงหนังสือพิมพ์จะมีลีลาแตกต่างจากการเขียนเล่าเรื่องผ่านทางบล็อก!
คงดีถ้าบ้านเรามีหลายๆ คนมาช่วยเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย ช่องทางหลากหลายกันออกไป ส่วนเราจะเหมาะสมกับวิธีการสื่อสารแบบไหน คงเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ค้นหาไปเรื่อยๆ
ผมไม่เคยคิดทบทวนมาก่อนเลยว่าตนเองฝึกฝนทักษะการเขียนมาอย่างไร จริงๆ แล้วไม่ค่อยคิดด้วยซ้ำว่าจะมีคนถามเรื่องนี้!!
ผมจึงขอเล่าประสบการณ์ในการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนให้น้องกิ่งฟังก็แล้วกัน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดเท่าที่ผมจะนึกออก
เล่าไปเล่ามาน่าจะเฉียดกับคำตอบที่น้องกิ่งต้องการทราบบ้าง
การเขียนงานทุกสัปดาห์เพื่อเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ นับเป็นเรื่องหนึ่งที่โหดหินและท้าทายสุดๆ ตั้งแต่ในชีวิตผมเคยเจอ เพราะต้องหาเรื่องมาเขียนให้ได้ทุกสัปดาห์ ช่วงแรกนี่เครียดมาก เพราะต้องส่งต้นฉบับทุกวันพฤหัสบดี ดึกๆ เป็นอย่างช้า เพื่อให้ทันพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ พอใกล้ถึงวันพฤหัสฯ จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ แล้วต้องเค้นพลังเขียนอย่างสุดชีวิต ในที่สุดผลก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวโดยการเขียนกักตุนเก็บไว้เรื่อยๆ ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ยังมีเวลา พอใกล้ถึงวันส่งต้นฉบับเลยไม่ต้องใช้พลังงานมากมายนัก
การปรับตัวอีกอย่าง คือผมกลายเป็นคนที่มีนิสัยเหมือนฟองน้ำ! แต่เป็นฟองน้ำที่ดูดซับเก็บกักข้อมูลต่างๆ ให้ได้มากที่สุด
ข้อมูลทางหนึ่งมาจากการอ่านหนังสือแนวต่างๆ ในเวลาว่างเพื่อมองหาเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะถ้าไม่อ่านไว้ก่อนจะเกิดอาการปลายปากกาตีบตันจนเขียนไม่ออก ซึ่งเป็นอาการที่น่ากลัวอย่างที่สุด
ข้อมูลอีกทางหนึ่งมาจากการมองหาเรื่องราวใกล้ตัวมาเล่า!
ตื่นนอนขึ้นมาวันหนึ่ง ผมรู้สึกเจ็บตาแถวๆ เปลือกตาข้างขวาเลยไปหาหมอ การไปหาหมอในวันนั้นทำให้ผมเกิดความรู้สึกแปลกใจเป็นอันมาก!
ก่อนจะเข้าการรับตรวจ พี่พยาบาลพาผมไปนั่งปิดตาทีละข้าง แล้วให้อ่านตัวอักษรที่อยู่ไกลออกไปเพื่อวัดสายตาว่าสั้นหรือยาวเท่าไร ซึ่งการวัดสายตาด้วยวิธีนี้ไม่ได้น่าแปลกใจอะไร เพราะเคยเห็นกันอยู่บ่อยๆ แต่สิ่งที่ทำผมประหลาดใจคือเครื่องข้างๆ ที่วัดสายตาต่างหาก (รูปที่ 1)
รูปที่ 1
พอวัดสายตาเสร็จ พี่พยาบาลก็พาผมเอาคางไปวางไว้บนแท่นของเครื่องมือประหลาดดังกล่าว แล้วเธอก็บอกผมด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “ลืมตากว้างๆ ค่ะ ตกใจเล็กน้อยนะคะ จะมีลมพ่นออกมากระทบลูกตา”
ผมก็งงสิครับว่าจะเอาลมมาเป่าลูกตาเราทำไม แต่ความสงสัยยังไม่ทันสิ้นสุดก็มีลมเป่าเข้าใส่ลูกตาผมจริงๆ
“ฟุ่ด ฟุ่ด ฟุ่ด” เป่าออกมา 3 ฟุ่ดก็หยุด ลมที่เป่านี้เบามากๆ เบาจนผมนึกไม่ออกว่าจะบรรยายเปรียบเทียบกับอะไรดี
“ขอโทษนะครับ เครื่องนี้ใช้ทำอะไรครับ” ผมถามแบบซื่อๆ
“ใช้วัดความดันลูกตาค่ะ” พี่พยาบาลตอบ พร้อมหยิบแผ่นกระดาษที่ถูกพิมพ์ออกมาทางด้านล่างซ้ายของตัวเครื่อง แล้วพาผมไปนั่งรอตรวจ (ระหว่างรอตรวจนึกไปนึกมาก็รู้สึกขำๆ ว่าตอนไปตรวจโรคทั่วๆ ไปจะมีการวัดความดันเลือด แต่พอมาตรวจตาโดนวัดความดันตา!) ที่ผมรู้สึกสงสัยอย่างมากคือ ลมแผ่วๆ แค่ 3 ฟุ่ดนั้นทำให้เครื่องรู้ได้อย่างไรว่าความดันตามีค่าเท่าไร?
สักพักพี่พยาบาลก็เรียกผมเข้าไปหาคุณหมอ คุณหมอบอกว่าเปลือกตาของผมอักเสบ จึงต้องกินยาแก้อักเสบและหยอดตาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอาการเรื้อรัง
เล่นเอาผมเซ็ง
หนึ่ง เซ็งกับอาการเจ็บตา
สอง ต้องเสียเวลาเดินทางไป-กลับโรงพยาบาลพอสมควร
ดังนั้นพอกลับมาจากโรงพยาบาล ผมจึงหาอะไรทำแก้เซ็งโดยการลองไปค้นหาคำตอบในเรื่องที่สงสัยค้างไว้ ก็พบว่าการวัดความดันของดวงตาเป็นการวัดความดันของของเหลวที่เรียกว่าน้ำเลี้ยงตา (aqueous humour) ซึ่งเป็นชั้นของเหลวหนาๆ ที่อยู่บริเวณดวงตาด้านหน้าระหว่างกระจกตากับเลนส์ตา
รูปที่ 2
หน้าที่ของน้ำเลี้ยงตาส่วนหนึ่งคือ นำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนประกอบของดวงตาด้านหน้า ซึ่งค่าความดันของมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคต้อหิน
การวัดความดันตานั้นมีหลากหลายวิธีมาก แต่เราเรียกเครื่องวัดความดันตาแบบรวมๆ ว่า Tonometer วิธีที่ผมประสบเข้าไปในวันนั้นเรียกว่า การวัดความดันตาแบบไร้สัมผัส (Non-contact tonometry) วิธีการดังกล่าวจะใช้เครื่องเป่าลมเบาๆ ออกมาใส่ตา 3 ครั้ง แล้วเครื่องก็จะอ่านค่าความดันตาให้เราเสร็จสรรพ
ที่ผมสงสัยจนต้องค้นหาคำตอบและถามแพทย์ผู้รู้ในเรื่องนี้ ก็เพราะลมที่เป่าใส่ตาผมนั้นเบามากๆ แถมยังรวดเร็วมากๆ จนผมรู้สึกประหลาดใจว่าเครื่องมันจะรู้ความดันตาได้อย่างไร
คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ลมที่เป่าออกมานั้นจะพุ่งไปกระทบกระจกตาที่อยู่ด้านหน้าสุด ทำให้กระจกตาเกิดการแบนราบลงเล็กน้อย ซึ่งการราบลงเพียงเล็กน้อยนี้ถูกตรวจจับโดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายในเครื่องวัด แล้วค่าความดันตาก็จะถูกคำนวณอย่างรวดเร็วจากแรงลมที่เป่าออกไปและการแบนราบลงของกระจกตา
น่าทึ่งนัก!! วิธีนี้มีข้อดีหลายอย่าง เพราะการที่ไม่ต้องสัมผัสกับดวงตาของผู้ป่วยโดยตรงทำให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลความดันตาของผู้ป่วยจำนวนมากและยังดีต่อผู้ป่วยเด็กอีกด้วย
จู่ๆ ความเซ็งของผมก็ลดลง พอมาคิดดูอีกที เพราะผมเจ็บตา ผมจึงได้ไปหาหมอ เพราะผมไปหาหมอ ผมจึงถูกวัดความดันลูกตา เพราะผมถูกวัดความดันลูกตา ผมจึงเกิดความสงสัย และเพราะผมสงสัย ผมจึงกลับมาค้นคว้าเรื่องนี้
ในที่สุดก็ทำให้ผมได้ความรู้มาเล่า! ก็เลยไม่ได้รู้สึกติดลบอะไรมากมายกับความเจ็บป่วยในครั้งนั้น
ชีวิตประจำวันเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการแสวงหาเรื่องราว เพราะมันเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ สามารถนึกภาพตามได้ไม่ยาก นอกเสียจากคุณจะมีชีวิตประจำวันที่โลดโผนอย่างยิ่งตลอดเวลา (แต่นั่นก็นับเป็นเรื่องน่าสนใจไปอีกแบบ) ซึ่งการพยายามเอาชีวิตประจำวันมาเขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟิสิกส์มีความยากอยู่อย่างหนึ่ง คือการมองให้เห็นว่า “เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์อย่างไร”
กินข้าว-ขับรถ-นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์-หลับในห้องเรียน-ฟังเสียงนก-เบื่อไฟแดง ฯลฯ
และเมื่อเขียนออกมาแล้ว ผมจะไม่พยายามด่วนตัดสินว่าผลงานนี้ยอดเยี่ยมหรือเลวร้ายในทันทีที่เขียนจบ แต่จะทิ้งไว้สักพักหนึ่งแล้วค่อยกลับมาอ่านดูอีกรอบ
เพราะในมุมหนึ่งงานเขียนก็คล้ายกับชีวิตประจำวัน
ตรงที่พอทิ้งไว้สักพักแล้วหันกลับมามอง เรามักมองเห็นมันในมุมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยมองในตอนแรก
ที่มา : หนังสือเรื่องลึกลับธรรมดา, อาจวรงค์ จันทมาศ สำนักพิมพ์มติชน
-
7145 Science is all around /lesson-physics/item/7145-science-is-all-aroundเพิ่มในรายการโปรด