การประมวลผลข้อมูล
การประมวลผลข้อมูล 1
ความหมายของข้อมูล
ข้อมูล (data) หมายถึง ข้อเท็จจริง (fact) ที่อยู่ในรูปแบบตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์พิเศษ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ซึ่งสามารถบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องและมีความหมายอยู่ในตัว เช่น ชื่อนักเรียน อายุ เพศ จำนวนประชากร ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น ข้อมูลจะมีอยู่จำนวนมาก และจะถูกนำไปประมวลผลเพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย
ภาพ ข้อมูลและการประมวลผล
ที่มา https://pixabay.com ,PublicDomainPictures
ประเภทของข้อมูล
สามารถแบ่งประเภทข้อมูลได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการ ลักษณะของข้อมูลที่นำไปใช้และเกณฑ์ที่นำมาพิจารณา
-
การแบ่งข้อมูลตามลักษณะของข้อมูลเป็นการแบ่งข้อมูลขั้นพื้นฐานโดยพิจารณาจากการรับข้อมูลของประสาทสัมผัส (Sense) ของร่างกาย ได้แก่ ข้อมูลภาพที่ได้รับจากการมองเห็นด้วยดวงตา ข้อมูลเสียงที่ได้รับจากการฟังด้วยหู ข้อมูลกลิ่นที่ได้รับจากการสูดดมด้วยจมูก ข้อมูลรสชาติที่ได้รับจากการรับรสชาติด้วยลิ้น และข้อมูลสัมผัสที่ได้รับจากความรู้สึกด้วยผิวหนัง
-
การแบ่งข้อมูลตามแหล่งข้อมูลที่ได้รับโดยพิจารณาจากลักษณะของที่มาหรือการได้รับข้อมูล
- ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) คือ ข้อมูลที่ได้จากจุดกำเนิดของข้อมูลนั้นๆ เป็นการเก็บรวบรวมหรือบันทึกจากแหล่งข้อมูลโดยตรงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสอบถาม การสัมภาษณ์ การสำรวจ การจดบันทึก ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งข้อมูลปฐมภูมิจัดเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ตัวอย่างข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ ข้อมูลการมาโรงเรียนสายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งได้จากการจดบันทึกในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา
- ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) คือ การนำข้อมูลที่ผู้อื่นได้เก็บรวบรวมหรือบันทึกไว้แล้วมาใช้งาน ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเก็บรวบรวมหรือบันทึกด้วยตนเอง จัดเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีต มักผ่านการประมวลผลแล้ว บางครั้งจึงไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และข้อมูลที่ได้มีความคลาดเคลื่อน ไม่ทันสมัย ตัวอย่างข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ สถิติการมาโรงเรียนสายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2551
- การแบ่งข้อมูลตามการจัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะคล้ายการแบ่งข้อมูลตามลักษณะของข้อมูล แต่มีการแยกลักษณะข้อมูลตามชนิดและนามสกุลของข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งจะตั้งตามประเภทของข้อมูลและโปรแกรมที่ใช้สร้างข้อมูล ได้แก่
- ข้อมูลตัวอักษร (Text Data) เช่น ตัวหนังสือ ตัวเลข และสัญลักษณ์ ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายไฟล์เป็น .txt และ .doc
- ข้อมูลภาพ (Image Data) เช่น ภาพกราฟิกต่างๆ และภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายไฟล์เป็น .bmp .gif และ .jpg
- ข้อมูลเสียง (Sound Data) เช่น เสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงเพลง ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายชื่อไฟล์เป็น .wav .mp3
- ข้อมูลภาพเคลื่อนไหว (Video Data) เช่นภาพเคลื่อนไหว ภาพมิวสิควีดิโอ ภาพยนตร์ คลิปวีดีโอ ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายชื่อไฟล์เป็น .avi .mov
- การแบ่งข้อมูลตามระบบคอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายและใกล้เคียงกับการแบ่งข้อมูลตามการจัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก แต่มุ่งเน้นพิจารณาการแบ่งประเภทตามการนำข้อมูลไปใช้งานในระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่
- ข้อมูลเชิงจำนวน (Numeric Data) มีลักษณะเป็นตัวเลขที่สามารถนำมาคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ได้ เช่น จำนวนเงินในกระเป๋า จำนวนค่าโดยสารรถประจำทาง และจำนวนนักเรียนในห้องเรียน
- ข้อมูลอักขระ (Character Data) มีลักษณะเป็นตัวอักษร ตัวหนังสือ และสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถนำเสนอข้อมูลและเรียงลำดับได้แต่ไม่สามารถนำมาคำนวณได้ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บ้าน และชื่อของนักเรียน
- ข้อมูลกราฟิก (Graphical Data) เป็นข้อมูลที่เกิดจากจุดพิกัดทางคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดรูปภาพหรือแผนที่ เช่น เครื่องหมายการค้า แบบก่อสร้างอาคาร และกราฟ
- ข้อมูลภาพลักษณ์ (Image Data) เป็นข้อมูลแสดงความเข้มและสีของรูปภาพที่เกิดจากการสแกนของสแกนเนอร์เป็นหลัก ซึ่งสามารถนำเสนอข้อมูล ย่อหรือขยาย และตัดต่อได้ แต่ไม่สามารถนำมาคำนวณหรือดำเนินการอย่างอื่นได้
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
ครูปรานอม หยวกทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://sites.google.com/site/kroonom/khwam-hmay-khxng-thekhnoloyi
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 2
ลักษณะของข้อมูลที่ดี
ข้อมูลที่ดีจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญๆ ดังนี้คือ
-
ความถูกต้องแม่นยำ (accuracy)ข้อมูลที่ดีควรจะมีความถูกต้องแม่นยำสูง หรือถ้ามีความคลาดเคลื่อน (errors) ปนอยู่บ้าง ก็ควรที่จะสามารถควบคุมขนาดของความคลาดเคลื่อนที่ปนมาให้มีความคลาดเคลื่อน น้อยที่สุด
-
ความทันเวลา (timeliness)เป็นข้อมูลที่ทันสมัย (up to date) และทันต่อความต้องการของ ผู้ใช้ ถ้าผลิตข้อมูลออกมาช้า ก็ไม่มีคุณค่าถึงแม้จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำก็ตาม
-
ความสมบูรณ์ครบถ้วน (completeness)ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาต้องเป็นข้อมูลที่ให้ข้อเท็จจริง (facts) หรือข่าวสาร (information) ที่ครบถ้วนทุกด้านทุกประการ มิใช่ขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปทำให้นำไปใช้การไม่ได้
-
ความกะทัดรัด (conciseness)ข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่จะกระจัดกระจาย ควรจัดข้อมูลให้อยู่ใน รูปแบบที่กะทัดรัด สะดวกต่อการใช้และค้นหา ผู้ใช้มีความเข้าใจได้ทันที
-
ความตรงกับความต้องการของผู้ใช้ (relevance)ข้อมูลที่จัดทำขึ้นมาควรเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้ข้อมูลต้องการใช้ และจำเป็นต้องรู้ / ทราบ หรือเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนกำหนดนโยบายหรือตัดสินปัญหาในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นมาอย่างมากมาย แต่ไม่มีใครต้องการใช้หรือไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล
-
ความต่อเนื่อง (continuity)การเก็บรวบรวมข้อมูล ควรอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในลักษณะของอนุกรมเวลา (time-series) เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในด้านการวิเคราะห์วิจัยหรือหาแนวโน้มในอนาคต
วิธีการประมวลผลข้อมูล
การประมวลผลข้อมูล (Data Processing) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือจัดระเบียบข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ข้อมูลโดยทั่วไปเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นระเบียบจากขบวนการนับหรือการวัด ไม่สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจหรือใช้ประโยชน์ได้ การประมวลผลจึงเป็นวิธีการนำข้อมูล (Data) กลายสภาพเป็นสารสนเทศ (Information) ที่มีประสิทธิภาพและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ซึ่งวิธีการประมวลผลข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศ มีหลายวิธี ดังนี้
-
การคำนวณ (Calculation)หมายถึง การนำข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาทำการ บวก ลบ คูณ หารยกกำลัง เช่น การคำนวณภาษี การคำนวณค่าแรง เป็นต้น
-
การจัดเรียงข้อมูล (Sorting)เป็นการเรียงข้อมูลจากน้อยไปหามาก หรือมากไปหาน้อย เพื่อทำให้ดูง่ายขึ้น ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้เร็วขึ้น เช่น การเรียงคะแนนดิบของนักเรียนจากมากไปหาน้อย การเก็บบัตรดัชนีสำหรับหนังสือต่างๆ โดยการเรียงตามตัวอักษร จาก ก ข ค ถึง ฮ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเรียงลำดับข้อมูลสองประเภทใหญ่ๆด้วยกันคือ การเรียงข้อมูลที่เป็นตัวเลข (Numeric) และการเรียงข้อมูลที่เป็นตัวอักษร (Alphabetic) สำหรับการจัดเรียงข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์นั้นถ้าข้อมูลเป็นตัวอักษรจะจัดเรียงตามลำดับของรหัสแทนข้อมูล
-
การจัดกลุ่ม (Classifying)หมายถึง การจัดข้อมูลโดยการแยกออกเป็นกลุ่มหรือประเภทต่างๆ เช่น การนำข้อมูลเกี่ยวกับประวัตินักศึกษา มาแยกตามคณะต่างๆเช่น แยกเป็นนักศึกษาที่สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาที่สังกัดคณะครุศาสตร์ เป็นต้น การทำเช่นนี้ทำให้การค้นหาข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น และยังสะดวกสำหรับทำรายงานต่างๆ
-
การดึงข้อมูล (Retrieving)หมายถึง การค้นหาและการนำข้อมูลที่ต้องการมาจากแหล่งเก็บเพื่อนำไปใช้งาน เช่น ต้องการทราบค่าคะแนนเฉลี่ยๆ สะสมของนักศึกษา ที่มีเลขประจำตัว 33555023 ซึ่งสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ถ้าข้อมูลเรียงโดยแยกตามคณะวิชาและในแต่ละคณะวิชาเรียงตามหมายเลขประจำตัว การดึงข้อมูลจะเริ่มต้นค้นหาแฟ้มของคณะวิชา และค้นหาข้อมูลเริ่มจากกลุ่มแรก โดยดูเลขประจำตัวจนกระทั่งพบหมายเลขประจำตัว 33555023 ก็จะดึงเอาค่าคะแนนเฉลี่ยสะสมของนักศึกษาผู้นี้นำไปใช้ตามที่ต้องการ
-
การรวมข้อมูล (Merging)หมายถึง การนำข้อมูลตั้งแต่สองชุดขึ้นไปมารวมกันให้เป็นชุดเดียวเช่น การนำประวัติส่วนตัวของนักศึกษา และประวัติการศึกษามารวมเป็นชุดเดียวกัน เป็นประวัตินักศึกษา เป็นต้น การรวมข้อมูลจัดได้ว่าเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมากในระบบการจัดการฐานข้อมูลในปัจจุบันนี้
-
การสรุปผล (Summarizing)หมายถึง การสรุปส่วนต่างๆ ของข้อมูลโดยย่อเอาเฉพาะส่วนที่เป็นใจความสำคัญ เพื่อเน้นจุดสำคัญและแนวโน้ม เช่น การนำข้อมูลมาแจงนับและทำเป็นตารางการหายอดนักศึกษาของแต่ละวิชา ข้อมูลเหล่านี้ใช้สำหรับพิมพ์เป็นรายงานสรุปส่งขึ้นไปให้ผู้บริหารระดับสูง เพื่อใช้ในการบริหาร
-
การทำรายงาน (Reporting) หมายถึง การนำข้อมูลมาจัดพิมพ์รายงานรูปแบบต่างๆ เช่น รายงานการวิเคราะห์อาชีพของผู้ปกครองของนักศึกษา รายงานการเรียนของนักศึกษา เป็นต้น
-
การบันทึก (Recording)หมายถึง การจดบันทึกข้อมูลเอาไว้โดยทำการคัดลอกข้อมูลจากต้นฉบับแล้วเก็บเป็นแฟ้ม (Filing) เช่น การบันทึกประวัติส่วนตัวนักศึกษาแต่ละคน เป็นต้น
-
การปรับปรุงรักษาข้อมูล (Updating)หมายถึง การเพิ่ม (Add) หรือการเอาออก (Delete) และการเปลี่ยนค่า (Change) ข้อมูลที่อยู่ในแฟ้มให้ทันสมัยอยู่เสมอ
ขั้นตอนการประมวลผลข้อมูล
-
การรวบรวมเอกสารข้อมูลหมายถึง เอกสารข้อมูลที่ได้ถูกบันทึกโดยแหล่งใช้ข้อมูลนั้น เช่น บัตรลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา ใบรายชื่อประวัติหมู่เรียน เป็นต้น เอกสารข้อมูลนับเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง หากเอกสารผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วน รายงานที่ได้จากการประมวลผลย่อมผิดพลาดไปด้วย ฉะนั้น งานในขั้นนี้ก็คือจะต้องสร้างวิธีการควบคุม ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้การจัดเอกสารให้เป็นกลุ่ม มีใบนำส่งที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเอกสารจากจุดต่างๆ ถ้าไม่ครบถ้วน หรือมีข้อผิดพลาดก็จะสามารถทราบจุดที่ติดต่อสอบถามได้ง่ายสำหรับการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์อาจจะหมายถึงการรวบรวมแฟ้มข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันไว้ในแหล่งข้อมูลที่สามารถเรียกใช้ ดังเช่นในระบบฐานข้อมูลที่ประกอบด้วยแฟ้มข้อมูลจำนวนมากนั่นเอง
-
การเตรียมข้อมูลหมายถึง การจัดเตรียมข้อมูลที่รวบรวมมาแล้วให้อยู่ในรูปที่สะดวกต่อการประมวลผล ซึ่งได้แก่ งานต่างๆ ดังต่อไปนี้
- งานบรรณาธิกรเบื้องต้น (Preliminary Editing) คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมได้ของแต่ละหน่วยงานมาตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วน และทำการปรับปรุงแก้ไขในกรณีที่เอกสารมีข้อผิดพลาดต้องแก้ไขใหม่ ถ้าเป็นข้อมูลที่สำคัญ เช่นตัวเลขทางการเงินที่จะยอมให้คลาดเคลื่อนไม่ได้ควรส่งไปยังแหล่งที่ให้เอกสารข้อมูลทำการแก้ไขปรับปรุง การบรรณาธิกรเบื้องต้นนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะถ้าข้อมูลผิดพลาดย่อมทำให้ผลสรุป หรือรายงานที่ได้ผิดพลาดไปด้วย
- การลงรหัส (Coding) หมายถึง การใช้รหัสแทนข้อมูล เช่น จากข้อมูลเกี่ยวกับภูมิลำเนาของนักศึกษาอาจจำแนกได้เป็นเขตๆ
-
การประมวลผลในส่วนของการประมวลผลแฟ้มข้อมูล หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลระหว่างแฟ้มข้อมูลการออกแบบโปรแกรมเพื่อการประมวลผลแฟ้มข้อมูลต่างๆ เมื่อผ่านการรวบรวมและเตรียมข้อมูลแล้วเราสามารถใช้วิธีการประมวลผลวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น การคำนวณ การเรียงลำดับ เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นข้อสนเทศ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปรายงาน ตาราง หรือกราฟ
วิธีการประมวลผลข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์ มี 2 วิธี
-
การประมวลผลแบบเชื่อมตรง (online processing)หมายถึง การทำงานในขณะที่ข้อมูลเดินทางไปบนสายสัญญาณเชื่อมต่อจากเครื่องปลายทาง (terminal) ไปยังฐานข้อมูลของเครื่องหลักที่ใช้ในการประมวลผล การประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นการประมวลผลโดยทันทีทันใด เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า การฝากถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม อาจกล่าวได้ว่าการประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นวิธีการที่ใช้กันมากในปัจจุบัน
-
การประมวลผลแบบกลุ่ม (batch processing)หมายถึง การประมวลผลในเรื่องที่สนใจเป็นครั้งๆ เช่น เมื่อต้องการทราบผลสำรวจความนิยมของประชาชนต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกว่า โพล (poll) ก็มีการสำรวจข้อมูลโดยเก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ก็นำมาป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วนำข้อมูลนั้นมาประมวลผลตามโปรแกรมที่ได้กำหนดไว้ เพื่อรายงานผล หรือสรุปผลหาคำตอบ กรณีการประมวลผลแบบกลุ่มจึงกระทำในลักษณะเป็นครั้งๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ โดยจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลไว้ก่อน
ซึ่งในการประมวลผลทั้งสองแบบนี้เป็นวิธีการที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยดำเนินการกับข้อมูลจำนวนมากเพื่อแยกแยะ คำนวณ หรือดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในโปรแกรม การทำงานของคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลจึงต้องมีซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอยสั่งการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในรูปแบบที่ต้องการ
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
ครูปรานอม หยวกทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://sites.google.com/site/kroonom/khwam-hmay-khxng-thekhnoloyi
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 3
คุณสมบัติของข้อมูล
การจัดเก็บข้อมูลจำเป็นต้องมีความพยายามและตั้งใจดำเนินการ หรือกล่าวได้ว่าการได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ประโยชน์ องค์การจำเป็นต้องลงทุน ทั้งในด้านตัวข้อมูล เครื่องจักร และอุปกรณ์ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับระบบ เพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการระบบข้อมูลจึงต้องคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ และพยายามมองปัญหาแบบที่เป็นจริง สามารถดำเนินการได้ ให้ประสิทธิผลคุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ดี ข้อมูลจะต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน ดังนี้
ความถูกต้อง หากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือไม่ได้จะทำให้เกิดผลเสียอย่างมาก ผู้ใช้จะไม่กล้าอ้างอิงหรือนำเอาไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเหตุให้การตัดสินใจของผู้บริหารขาดความแม่นยำ และอาจมีโอกาสผิดพลาดได้ โครงสร้างข้อมูลที่ออกแบบต้องคำนึงถึงกรรมวิธีการดำเนินงานเพื่อให้ได้ความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด โดยปกติความผิดพลาดของสารสนเทศส่วนใหญ่ มาจากข้อมูลที่ไม่มีความถูกต้องซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากคนหรือเครื่องจักร การออกแบบระบบจึงต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้
ความรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน การได้มาของข้อมูลจำเป็นต้องให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้ มีการตอบสนองต่อผู้ใช้ได้เร็ว ตีความหมายสารสนเทศได้ทันต่อเหตุการณ์หรือความต้องการ มีการออกแบบระบบการเรียกค้น และรายงานตามความต้องการของผู้ใช้
ความสมบูรณ์ ความสมบูรณ์ของสารสนเทศขึ้นกับการรวบรวมข้อมูลและวิธีการ ทางปฏิบัติด้วย ในการดำเนินการจัดทำสารสนเทศต้องสำรวจและสอบถามความต้องการใช้ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งที่เหมาะสม
ความชัดเจนและกะทัดรัด การจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากจะต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลมากจึงจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างข้อมูลให้กะทัดรัดสื่อความหมายได้ มีการใช้รหัสหรือย่นย่อข้อมูลให้เหมาะสมเพื่อที่จะจัดเก็บเข้าไว้ในระบบคอมพิวเตอร์
ความสอดคล้อง ความต้องการเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจเพื่อหาความต้องการของหน่วยงานและองค์การ ดูสภาพการใช้ข้อมูล ความลึกหรือความกว้างของขอบเขตของข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการ
การทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ
การทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมและตรวจสอบข้อมูล การดำเนินการประมวลผลข้อมูลให้กลายเป็นสารสนเทศ และการดูแลรักษาสารสนเทศเพื่อการใช้งานควรประกอบด้วย
การเก็บรวบรวมข้อมูล
เป็นเรื่องของการเก็บรวมรวมข้อมูลซึ่งมีจำนวนมาก และต้องเก็บให้ได้อย่างทันเวลา เช่น ข้อมูลการลงทะเบียนเรียนของนักเรียน ข้อมูลประวัติบุคลากร ปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยในการจัดเก็บอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ การอ่านข้อมูลจากรหัสแท่ง การตรวจใบลงทะเบียนที่มีการฝนดินสอดำในตำแหน่งต่าง ๆ เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเช่นกัน
การดำเนินการประมวลผลข้อมมูลให้กลายเป็นสารสนเทศ
อาจประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้
การจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล ข้อมูลที่จัดเก็บจะต้องมีการแบ่งแยกกลุ่ม เพื่อเตรียมไว้สำหรับการใช้งาน การแบ่งแยกกลุ่มมีวิธีการที่ชัดเจน เช่น ข้อมูลในโรงเรียนมีการแบ่งเป็นแฟ้มประวัตินักเรียน และแฟ้มลงทะเบียน สมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองมีการแบ่งหมวดสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกในการค้นหา
การจัดเรียงข้อมูล เมื่อจัดแบ่งกลุ่มเป็นแฟ้มแล้ว ควรมีการจัดเรียงข้อมูลตามลำดับ ตัวเลข หรือตัวอักษร หรือเพื่อให้เรียกใช้งานได้ง่ายประหยัดเวลา ตัวอย่างการจัดเรียงข้อมูล เช่น การจัดเรียงบัตรข้อมูลผู้แต่งหนังสือในตู้บัตรรายการของห้องสมุดตามลำดับตัวอักษร การจัดเรียงชื่อคนในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ ทำให้ค้นหาได้ง่าย
การสรุปผล บางครั้งข้อมูลที่จัดเก็บมีเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการสรุปผลหรือสร้างรายงานย่อ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ข้อมูลที่สรุปได้นี้อาจสื่อความหมายได้ดีกว่า เช่น สถิติจำนวนนักเรียนแยกตามชั้นเรียนแต่ละชั้น
การคำนวณ ข้อมูลที่เก็บมีเป็นจำนวนมาก ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อมูลตัวเลขที่สามารถนำไปคำนวณเพื่อหาผลลัพธ์บางอย่างได้ ดังนั้นการสร้างสารสนเทศจากข้อมูลจึงอาศัยการคำนวณข้อมูลที่เก็บไว้ด้วย
แนวทางการดำเนินการให้ได้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจะเริ่มจากการวิเคราะห์ความต้องการ การวิเคราะห์นี้จะได้จากการสอบถามความต้องการ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าควรจะจัดโครงสร้างข้อมูลนั้นไว้ในระบบหรือไม่ ถ้าจัดเก็บจะประกอบด้วยข้อมูลอะไร มีรายละเอียดอะไร ตอบสนองการใช้งานได้อย่างไร คำถามที่ใช้ในการสำรวจอาจประกอบด้วย
1. ข้อมูลอะไรบ้างที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ เช่น แบบฟอร์ม รายงานหรือเอกสาร ฯลฯ ดูโครงสร้างเอกสาร หรือข่าวสาร ตลอดจนการไหลเวียนของเอกสาร
2. ข้อมูลอะไรที่จะจัดทำขึ้นได้ในขณะนี้ ซึ่งได้แก่ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว หรือสามารถจัดเก็บได้
3. ข้อมูลอะไรที่ควรจะมีใช้เพิ่ม เพื่อให้ได้ระบบ และเป็นคำตอบที่จะตอบสนองผู้ใช้ในระดับต่าง ๆ ได้
4. ข้อมูลอะไรที่หน่วยงานหรือส่วนต่าง ๆ ขององค์การต้องการ โดยดูจากคำถามที่หน่วยงานต่าง ๆ ถามมา
5. ข้อมูลมีความถี่ของการใช้และมีปริมาณเท่าไร ควรมีการตรวจสอบ
6. รูปแบบของการประมวลผล ควรมีการประมวลผลอะไร ให้ได้ผลลัพธ์อย่างไร
7. ใครรับผิดชอบข้อมูล ข้อมูลบางตัวจำเป็นต้องมีผู้ดูแล
แหล่งที่มา
ครูปรานอม หยวกทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://sites.google.com/site/kroonom/khwam-hmay-khxng-thekhnoloyi
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 4
บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน
เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันมีความก้าวหน้าและทันสมัยเป็นอย่างมาก อีกทั้งรูปแบบการสื่อสารในปัจจุบันผ่านสื่อต่างๆมีการพัฒนาให้เป็นการสื่อสารแบบสองทิศทาง ส่งผลให้การกระจายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ทั้งที่มาจากในประเทศและผลกระทบที่มาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ผลของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน อาทิเช่น
– การเปลี่ยนเป็นสังคมสารสนเทศ ปัจจุบันสังคมโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคม สารสนเทศ โดยคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารเข้ามามีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต การทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมถึงก่อให้เกิดสังคมออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ไลน์ (Line) และ ยูทูป(YouTube) เป็นต้น
– การทำงานที่ไร้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่ เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทาง การทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา โดยการโต้ตอบผ่านระบบเครือข่าย ทำให้ขยายขอบเขตการทำงานไปทุกหนทุกแห่งและดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
– ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงทั่วโลก เทคโนโลยีสารสนเทศส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเอื้ออำนวยให้การดำเนินการมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ระบบเศรษฐกิจของโลกจึงผูกพันกับทุกประเทศและเชื่อมโยงกันแนบแน่นขึ้น
– เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานใหม่ๆ เช่น ระบบระบุพิกัดบนพื้นโลก (Global Positioning System, GPS) ซึ่งสามารถกำหนดพิกัดของสถานที่ต่าง ๆ การสำรวจ การเดินทาง และใช้เป็นระบบติดตามรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการสืบค้นข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมทางอินเทอร์เน็ต เช่น โปรแกรม Google Earth
ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology มีที่มาจากการคำว่า “เทคโนโลยี (Technology)” กับคำว่า “สารสนเทศ (Information)” โดยหากพิจารณาความหมายของแต่ละคำจะพบว่า เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง สิ่งที่ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อช่วยในการผลิตสินค้าหรือบริการ หรือเพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้แก่ เทคนิค ทักษะ วิธีการ กระบวนการ ความรู้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงชุดคำสั่งที่ติดมากับเครื่องจักร
สารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลต่างๆ ที่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงหรือมีการประมวลหรือวิเคราะห์ผลสรุปด้วยวิธีการต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบที่มีความสัมพันธ์กัน มีความหมาย มีคุณค่าเพิ่มขึ้นและมีวัตถุประสงค์ในการใช้งาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) หมายถึง การนำเอาเทคนิค ทักษะ วิธีการ กระบวนการ หรือ ความรู้ มาใช้ในการประมวลหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีที่นิยมใช้ในการจัดการสารสนเทศมากที่สุด คือ เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีวิวัฒนาการในแต่ละยุคดังนี้
ยุคที่ 1 การประมวลผลข้อมูล (Data Processing Era) คือ ยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นของการใช้คอมพิวเตอร์ โดยเป็นการนำเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยในการคำนวณและการประมวลผลข้อมูลของงานประจำ
ยุคที่ 2 ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System) คือ ยุคที่มีการพัฒนาการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยข้อมูลจะผ่านการประมวลผลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลนั้นมาช่วยในการตัดสินใจดำเนินการด้านต่างๆ
ยุคที่ 3 การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resource Management) การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเน้นถึงการใช้สารสนเทศที่จะช่วยในการตัดสินใจนำหน่วยงานไปสู่ความสำเร็จ
ยุคที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศหรือยุคไอที (Information Technology Era) คือ ยุคที่เน้นทางด้านเทคโนโลยี มีการขยายขอบเขตการประมวลผลข้อมูลไปสู่การสร้างและการผลิตสารสนเทศ และเน้นความคิดของการให้บริการสารสนเทศแก่ผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นวัตถุประสงค์สำคัญ
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 5
องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ การดำเนินธุรกิจ และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ในระบบสารสนเทศนั้นประกอบด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ บุคลากร ขั้นตอนการทำงาน ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และข้อมูล
- บุคลากร เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจวิธีการในการดำเนินการ และจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศทั้งหมด บุคลากรจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งหากแบ่งกลุ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักๆได้แก่
- กลุ่มผู้บริหารระดับสูง บทบาทของผู้บริหารระดับสูงในระบบสารสนเทศมีหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตการเข้าถึงข้อมูลของบุคลากรในหน่วยงาน ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลต่างๆในระบบสารสนเทศของแต่ละหน้าที่งานมีความแตกต่างกัน
- กลุ่มผู้ดูแลระบบ บุคลากรในกลุ่มผู้ดูแลระบบสามารถแยกเป็นกลุ่มย่อยๆได้ดังนี้
- ผู้ดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์(Supporter) หมายถึงผู้ดูแลและคอยตรวจสอบสภาพเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้มีสภาพความพร้อมที่จะทำงานได้ตลอดเวลา กลุ่มนี้จะเรียนรู้เทคนิคการรักษา ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการต่อเชื่อมต่อและการใช้งานโปรแกรมต่างๆ
- ผู้เขียนโปรเเกรมคอมพิวเตอร์(Programmer) หมายถึงผู้เขียนโปรแกรมตามผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์เป็นผู้กำหนด เพื่อให้ได้โปรแกรมที่ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานในองค์กร
- ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์(System Analysis) เป็นผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาว่าองค์กรควรจะใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะใดจึงจะเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด
- ผู้บริหารระบบคอมพิวเตอร์(System Manager) เป็นผู้มีหน้าที่บริหารทรัพยากรทุกชนิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร
- กลุ่มผู้ใช้ระบบ หมายถึงผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป สามารถทำงานตามหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ เช่น การพิมพ์งาน การป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ก็ได้
- ขั้นตอนการทำงาน หมายถึง ระเบียบวิธีการปฏิบัติงานในการจัดเก็บรักษาข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่จะทำให้เป็นสารสนเทศได้ เช่น การกำหนดให้มีการป้อนข้อมูลทุกวัน การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องอยู่เสมอ ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนของผู้ใช้หรือ ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง เมื่อได้พัฒนาระบบงานแล้วจำเป็นต้องปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน และในขณะที่ใช้งานก็จำเป็นต้องคำนึงถึงลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของคนและความสัมพันธ์กับอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน เช่น ขั้นตอนการบันทึกข้อมูล ขั้นตอนการประมวลผล ขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเครื่องชำรุดหรือข้อมูลสูญหาย และขั้นตอนการทำสำเนาข้อมูลสำรองเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการซักซ้อม มีการเตรียมการ และการทำเอกสารคู่มือการใช้งานที่ชัดเจน
- ฮาร์ดแวร์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยคีย์บอร์ด เมาส์ จอภาพ หน่วยระบบ และอุปกรณ์อื่นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์จะถูกควบคุมโดยซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการสารสนเทศ
- ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมในระบบคอมพิวเตอร์ คือ ชุดคำสั่งที่เรียงเป็นลำดับขั้นตอน มีหน้าที่สั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามวัตถุประสงค์ และประมวลผลเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ ในปัจจุบันซอฟต์แวร์มีลักษณะการใช้งานที่ง่ายขึ้น โดยมีรูปแบบการติดต่อที่สื่อความหมายให้เข้าใจง่าย โดยติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้งานผ่านกราฟฟิก (Graphical User Interface : GUI) ซอฟต์แวร์สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ
- ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) คือ ซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการกับระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบ เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดว์ ระบบปฏิบัติการดอส ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์
- ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) คือ ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานด้านต่างๆ ตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น ซอฟต์แวร์กราฟิก ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ซอฟต์แวร์นำเสนอข้อมูล
- ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริง หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคล วัตถุหรือสถานที่ ข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะใช้เป็นเครื่องช่วยในการวางแผนงานการบริหารจัดการ ดังนั้นข้อมูลจะต้องมีความถูกต้อง มีความเที่ยงตรง สามารถเชื่อถือได้ มีความเป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ และมีความสมบูรณ์ชัดเจน ทั้งนี้ข้อมูลสามารถอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ข้อความ ตัวเลข รูปภาพ หรือ เสียง เป็นต้น
เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน
ในการผลิตสารสนเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีสาระสำคัญ และใช้ในการประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้งานได้นั้น ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการรวบรวมข้อมูล การประมวลผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน การสื่อสารข้อมูล ฯลฯ ทั้งนี้รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดระบบการให้บริการ การใช้ และการดูแลข้อมูล โดยทั้งนี้หากแบ่งประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศตามลักษณะของเทคโนโลยี สามารถจัดเป็นกลุ่มหลักๆได้ 3 กลุ่ม คือ
- เทคโนโลยีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
- เทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์
- เทคโนโลยีเครือข่าย
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 6
เทคโนโลยีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ คือ กลุ่มของอุปกรณ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆของการผลิตสารสนเทศ เริ่มตั้งแต่การนำเข้าข้อมูล การเก็บข้อมูล การประมวลผล และการแสดงผล
เทคโนโลยีด้านการนำเข้าข้อมูล (Input Technology) ข้อมูลในระบบสารสนเทศ คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยข้อมูลสามารถอยู่ในรูปตัวเลข ตัวอักษร รูปภาพ หรือเสียง หากเปรียบเทียบระบบสารสนเทศกับการผลิตสินค้า
ดังนั้นอุปกรณ์ในการนำเข้าข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจะช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้าข้อมูล และช่วยให้การรวบรวมข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของเทคโนโลยีทางด้านอุปกรณ์ในการนำเข้าข้อมูล ได้แก่
-
คีย์บอร์ด (Keyboard) เป็นอุปกรณ์นำข้อมูลเข้าที่นิยมใช้กันมากที่สุดและพบเห็นในการใช้งานทั่วไป โดยรับข้อมูลป้อนเข้าที่เป็นตัวอักษร อักขระพิเศษ ตัวเลข รวมถึงชุดคำสั่งต่าง ๆ
-
เมาส์ ( Mouse ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ชี้ตำแหน่งการทำงานรวมถึงสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงานบางคำสั่งที่มีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ โดยใช้มือเป็นตัวบังคับทิศทางและใช้นิ้วสำหรับการกดเลือกคำสั่งงาน
-
จอยสติ๊ก ( Joystick ) เป็นอุปกรณ์ที่พบเห็นได้กับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเกมส์คอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการใช้เมาส์เพื่อบังคับทิศทางนั้นอาจไม่รองรับกับรูปแบบของบางเกมได้ จึงนำเอาจอยสติ๊กมาใช้แทน
-
แผ่นรองสัมผัสหรือทัชแพด ( Touch pad ) เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบาง ๆ ติดตั้งไว้อยู่ในคอมพิวเตอร์แบบพกพา เพื่อใช้ทำงานแทนเมาส์ เมื่อกดสัมผัสหรือใช้นิ้วลากผ่านบริเวณดังกล่าวก็สามารถทำงานแทนกันได้ โดยมากจะติดตั้งไว้บริเวณด้านล่างของแป้นพิมพ์
-
จอสัมผัสหรือทัชสกรีน ( Touch screen ) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้นิ้วมือแตะบังคับหรือสั่งการไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เมาส์หรือแป้นพิมพ์ มักพบเห็นได้ตามตู้ให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ตู้ ATM บางธนาคาร เครื่องออกบัตรโดยสาร รถไฟฟ้า เป็นต้น
-
พวงมาลัยพังคับทิศทาง (Wheel) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับการเล่นเกมเหมือนกับจอยสติ๊ก
-
ดิจิไทเซอร์ ( Digitizer ) หรืออุปกรณ์อ่านพิกัด มักใช้ร่วมกับอุปกรณ์ประเภทปากกาหรือในงานความละเอียดสูงจะใช้กับหัวอ่านที่เป็นกากบาทเส้นบาง ( crosshair ) เพื่อให้ชี้ตำแหน่งโดยละเอียด ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระดานรองรับการเขียนข้อความ วาดภาพหรือออกแบบงานที่เกี่ยวกับกราฟิกเป็นหลัก ทำให้มีความคล่องตัวและสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
-
สไตลัส ( Stylus ) เป็นอุปกรณ์ประเภทปากกาป้อนข้อมูลชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เช่น พีดีเอ แท็บเล็ตพีซี หรืออาจพบเห็นในสมาร์ทโฟนบางรุ่น
-
ไมโครโฟน ( Microphone ) เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลประเภทเสียงพูด ( Voice ) เข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ไมโครโฟนยังสามารถใช้ร่วมกับระบบจดจำเสียงพูดหรือ voice recognition เพื่อทำงานบางอย่างได้
-
กล้องถ่ายวิดีโอดิจิตอล ( Digital Video camera ) เรียกย่อ ๆ ว่ากล้องประเภท DV ซึ่งเป็นกล้องวิดีโอแบบดิจิตอลนั่นเอง กล้องประเภทนี้สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวและบันทึกเก็บหรือโอนถ่ายลงคอมพิวเตอร์ได้เช่นเดียวกัน
-
กล้องถ่ายรูปดิจิตอล ( Digital camera ) เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลประเภทภาพถ่ายดิจิตอล
-
เว็บแคม ( Web cam ) เป็นกล้องถ่ายวิดีโออีกประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน
-
สแกนเนอร์ ( Scanner ) เป็นอุปกรณ์อ่านข้อมูลประเภทภาพถ่าย
-
โอเอ็มอาร์ ( OMR – Optical Mark Reader ) เป็นเครื่องที่นำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจข้อสอบหรือคะแนนของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก เช่น การสอบเอ็นทรานซ์ การสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ การสอบเข้ารับราชการของสำนักงาน ก.พ. โดยจะอ่านเครื่องหมาย ( Mark ) ที่ผู้เข้าสอบได้ระบายไว้ในกระดาษคำตอบ ซึ่งโดยปกติจะต้องใช้ดินสอที่มีความเข้มมากพอที่จะให้เครื่องอ่านได้
-
เครื่องอ่านบาร์โค้ด ( Bar code reader ) คือ เครื่องที่ใช้อ่านรหัสบาร์โค้ด ( bar code ) ที่ใช้แทนรหัสสินค้าโดยมีลักษณะเป็นรูปภาพแท่งสีดำและขาวต่อเนื่องกัน ในปัจจุบันมีการพัฒนา QR Code ซึ่งย่อมากจาก Quick Response Code หมายถึงโค้ดที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว สามารถเก็บข้อมูล ได้ทั้งตัวอักษร ตัวเลข และ Binary เช่น ชื่อเว็บไซต์, เบอร์โทรศัพท์, ข้อความ, E-mail ฯลฯ และมีการแปลงข้อมูล (Encode) และถอดรหัส (Decode) ด้วยการใช้รูปแบบ 2D
-
เอ็มไอซีอาร์ ( MICR – Magnetic-Ink Character Recognition ) เรียกย่อ ๆ ว่าเครื่อง เอ็มไอซีอาร์ ( MICR – Magnetic-Ink Character Recognition ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านตัวอักษรด้วยแสงของเอกสารสำคัญ เช่น เช็คธนาคาร ซึ่งมีการพิมพ์หมายเลขเช็คด้วยผงหมึกสารแม่เหล็ก ( Magnetic ink ) เป็นแบบอักษรเฉพาะ มีลักษณะเป็นลายเส้นเหลี่ยม (ดังรูป) พบเห็นได้ในการประมวลผลเช็คสำหรับธุรกิจด้านธนาคาร
-
ไบโอเมตริกส์ ( Biometric ) เป็นลักษณะของการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวบุคคลเฉพาะอย่าง เช่น ลายนิ้วมือ รูปแบบของม่านตา (Ratina ) ฝ่ามือ หรือแม้กระทั่งเสียงพูด ซึ่งนำมาใช้กับงานป้องกันและรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูง เนื่องจากระบบการตรวจสอบประเภทนี้จะปลอมแปลงได้ยาก เครื่องที่ใช้อ่านข้อมูลพวกนี้จะมีอยู่หลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะการตรวจสอบ เช่น เครื่องอ่านลายนิ้วมือ เครื่องตรวจม่านตา เครื่องวิเคราะห์เสียงพูด เป็นต้น
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 7
เทคโนโลยีอุปกรณ์ด้านการจัดเก็บข้อมูล (Storage Technology) คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการนำข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ในสื่อจัดเก็บข้อมูล อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ อุปกรณ์ที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่แยกจากคอมพิวเตอร์
อุปกรณ์เก็บข้อมูลที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ : เมื่อข้อมูลผ่านอุปกรณ์ในการรวบรวมเพื่อเข้าสู่ระบบประมวลผลแล้วนั้น ข้อมูลที่ได้มาจะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์เพื่อรอการประมวลผล ตัวอย่างเช่น
-
Flash Drive คือ อุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถลบและเขียนใหม่ได้ มีขนาดกะทัดรัด
-
External Hard disk คือ อุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูลที่มีเนื้อที่ในการจัดเก็บที่มากกว่า Flash Drive และมีขนาดใหญ่กว่า
-
Cloud หรือ Cloud Storage หากแปลตรงตัวคือ แหล่งเก็บข้อมูลบนก้อนเมฆ ซึ่งก็คือการเก็บข้อมูลไว้กับผู้ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ให้บริการจะมีเซิร์ฟเวอร์ (Server) ขนาดใหญ่เพื่อทำการสำรองพื้นที่ให้ลูกค้าใช้เพื่อเก็บข้อมูล ลูกค้าเพียงแค่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตและมีบัญชีผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการ ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Cloud Storage ทั้งในรูปแบบที่คิดค่าบริการและไม่คิดค่าบริการ เช่น Google Drive, One Drive, Dropbox, SkyDrive เป็นต้น โดยทำการเปรียบเทียบพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ ข้อดีข้อเสียของ cloud storage
ข้อดี
-
สะดวกต่อการใช้งาน เพราะสามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่มีระบบอินเทอร์เน็ต
-
ไม่เสี่ยงต่อการที่ข้อมูลสูญหายเนื่องจากความเสียหายของอุปกรณ์
-
ไม่เสียค่าใช้จ่ายหากต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บตามที่ผู้ให้บริการเปิดให้ใช้ฟรี
ข้อเสีย
-
ต้องพึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการ
-
เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูล
เทคโนโลยีด้านการประมวลผลข้อมูล (Data Processing Technology) การประมวลผล คือการเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ โดยกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมีวิธีการต่างๆ ในการประมวลผลซึ่งได้แก่ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ การคัดเลือก การจัดหมู่-จัดกลุ่ม การสรุปรวม การเรียงลำดับ และการค้นหา เป็นต้น ในระบบคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่หลักในการประมวลผลข้อมูลได้แก่ ซีพียู (Central Processing Unit หรือ CPU) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นในการทำงานของคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นหัวใจของคอมพิวเตอร์เลยก็ได้ ซีพียู เป็นตัวควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงที่ต่อร่วมกับคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีด้านการประมวลผลข้อมูลมีการพัฒนาไปมาก โดยในปัจจุบันการประมวลผลข้อมูลสามารถทำได้ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเรียกว่า Cloud Computing เป็นการที่เราใช้ซอฟต์แวร์, ระบบ, และทรัพยากรของเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยสามารถเลือกกำลังการประมวลผล เลือกจำนวนทรัพยากร ได้ตามความต้องการในการใช้งาน และให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลบน Cloud จากที่ไหนก็ได้
ประเภทของบริการ คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Service Models) แบ่งได้เป็นรูปแบบหลักๆ 3 แบบได้แก่
1. Software as a Service (SaaS) เป็นการที่ใช้หรือเช่าใช้บริการซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยประมวลผลบนระบบของผู้ให้บริการ ทำให้ไม่ต้องลงทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เอง โดยซอฟต์แวร์สามารถถูกเรียกใช้งานจากที่ไหน และเมื่อไหร่ก็ได้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งบริการ Software as a Service ที่เป็นที่รู้จักและใช้งานอย่างแพร่หลายก็คือ GMail นั่นเอง นอกจากนั้นก็เช่น Google Docs หรือ Google Apps ที่เป็นรูปแบบของการใช้งานซอฟต์แวร์ผ่านเว็บบราวเซอร์ สามารถใช้งานเอกสาร คำนวณ และสร้าง Presentation โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์บนเครื่องเลย แถมใช้งานบนเครื่องไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แชร์งานร่วมกันกับผู้อื่นก็สะดวก ซึ่งการประมวลผลจะทำบน Server ของ Google ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่มีที่มีกำลังประมวลผลสูงหรือพื้นที่เก็บข้อมูลมากๆในการทำงาน
2. Platform as a Service (PaaS) คือการให้บริการสำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยผู้ให้บริการจะให้บริการพื้นฐานทั้ง Hardware, Software, และชุดคำสั่งในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยผู้ใช้บริการสามารถนำไปพัฒนาต่อเพื่อให้ตรงตามความต้องการ ทำให้ลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟท์แวร์อย่างมาก ตัวอย่าง เช่น Google App Engine, Microsoft Azure
3. Infrastructure as a Service (IaaS) เป็นบริการให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์อย่าง หน่วยประมวลผล ระบบจัดเก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย ในรูปแบบระบบเสมือน (Virtualization) ข้อดีคือองค์กรไม่ต้องลงทุนสิ่งเหล่านี้เอง, ยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบไอทีขององค์กรในทุกรูปแบบ, สามารถขยายได้ง่าย ตามความต้องการขององค์กร ลดความยุ่งยากในการดูแลเพราะหน้าที่ในการดูแลจะอยู่ที่ผู้ให้บริการ
ตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรที่ใช้งาน Cloud Computing เช่น สายการบินไทยสไมล์ และนกแอร์ ได้นำเอา Cloud Computing เข้ามาใช้ช่วยในการลดต้นทุน ช่วยประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากทั้งในเรื่องของเงินทุน และระยะเวลาในการลงทุนอุปกรณ์เอง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะการซื้ออุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การอัพเดตซอฟต์แวร์ และการอัพเกรดระบบ ต่างมาพร้อมกับต้นทุนและต้องการการบำรุงรักษาในระยะยาว ในขณะที่องค์กรเอง ก็ต้องการความยืดหยุ่น และไม่ยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์, ระบบเครือข่าย รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และปรับตัวเข้ากับอนาคตได้เร็วกว่าคู่แข่ง
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 8
เทคโนโลยีด้านการแสดงผล (Display Technology) การแสดงผลผ่านอุปกรณ์ต่างในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแสดงผลมีความสมจริงสามารถแสดงเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปภาพ พิมพ์ออกมาที่กระดาษ แสดงเป็นเสียง วีดิทัศน์ เป็นต้น ตัวอย่างอุปกรณ์ด้านการแสดงผล
- จอภาพ (Monitor) ใช้แสดงข้อมูลหรือผลลัพธ์ให้ผู้ใช้เห็นได้ทันที มีรูปร่างคล้ายจอภาพของโทรทัศน์ บนจอภาพประกอบด้วยจุดจำนวนมาก เรียกจุดเหล่านั้นว่า พิกเซล (Pixel) ถ้ามีพิกเซลจำนวนมากก็จะทำให้ผู้ใช้มองเห็นภาพบนจอได้ชัดเจนมากขึ้น
- อุปกรณ์ฉายภาพ (Projector) เป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการเรียนการสอนหรือการประชุม เนื่องจากสามารถนำเสนอข้อมูลให้แก่ผู้ชมจำนวนมากเห็นพร้อม ๆ กัน อุปกรณ์ฉายภาพในปัจจุบันจะมีอยู่หลายแบบ ทั้งที่สามารถต่อสัญญาณจากคอมพิวเตอร์หรือมือถือโดยตรง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษในการวางลงบนเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (OverHead Projector)
- ลำโพง (Speaker) แสดงข้อมูลที่อยู่ในรูปเสียง
- เครื่องพิมพ์ (Printer) การแสดงผลที่สามารถจับต้อง และเคลื่อนย้ายได้ตามต้องการ มักจะออกมาในรูปของกระดาษ ประเภทเครื่องพิมพ์ ได้แก่
- Inkjet Printer ใช้หลักการพิมพ์โดยการพ่นหมึกเล็กๆไปที่กระดาษ
- Laser Printer ทำงานคล้ายเครื่องถ่ายเอกสาร คือใช้แสงเลเซอร์สร้างประจุไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้โทนเนอร์ (Toner) สร้างภาพที่ต้องการและพิมพ์ภาพนั้นลงบนกระดาษ เครื่องพิมพ์เลเซอร์แต่ละรุ่นจะแตกต่างกันในด้านความเร็วและความละเอียดของงานพิมพ์
- 3D Printer อาศัยหลักการแบ่งข้อมูลเป็น 2 มิติหลายๆชั้น หรือที่เรียกว่า slicing จากนั้นจึงทำการพิมพ์แต่ละชั้นจนได้แบบจำลอง 3 มิติ หมึกที่ใช้ของ 3D Printer มีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการของวัสดุในแต่ละชิ้นงาน เช่น การใช้หมึกที่เป็นเรซิ่นในการขึ้นรูปโมเดล การใช้หมึกที่เป็นปูนในการสร้างบ้านโดยอาศัยเครื่องพิมพ์สามมิติ การใช้น้ำตาลเป็นหมึกเพื่อขึ้นรูปขนม หรือแม้กระทั่งการใช้สเตมเซลล์เป็นหมึกเพื่อพิมพ์อวัยวะ เป็นต้น
เทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนาความก้าวหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เฉพาะด้านมากขึ้น ในด้านของซอฟแวร์ระบบ ระบบปฏิบัติการ (Operating System หรือ OS) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ ยูนิกซ์ (Unix) แมคโอเอส (Mac OS) และ วินโดว์ (Window) แนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านซอฟแวร์ระบบเน้นที่การพัฒนาด้านความรวดเร็ว การเชื่อมต่อ และความปลอดภัย ผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆเข้าไว้ด้วยกันส่งผลให้ความปลอดภัยของข้อมูลต่างๆก็ลดน้อยลงไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหลายบริษัทที่พัฒนาซอฟแวร์ระบบจะเน้นไปที่ระบบของความปลอดภัยมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบปฏิบัติการ Windows 10 ที่เน้นความปลอดภัยในการป้องกันไวรัส มัลแวร์ และสปายแวร์ที่พบในอีเมลล์ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ระบบคลาวด์ และเว็บไซต์
สำหรับแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ในปัจจุบัน มีการพัฒนาซอฟแวร์ประยุกต์ที่รองรับความต้องการเฉพาะด้านมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ซอฟแวร์ประยุกต์
เทคโนโลยีเครือข่าย
เทคโนโลยีการเชื่อมต่อของสรรพสิ่ง (Internet of Thing หรือ IoT) แนวคิด Internet of Things ถูกคิดค้นขึ้นโดย Kevin Ashton ในปี 1999 ซึ่งเริ่มต้นจากโครงการ “Auto-ID Center” ในมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology จากเทคโนโลยี RFID ย่อมาจากคำว่า Radio Frequency Identification เป็นระบบที่นำเอาคลื่นวิทยุมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองชนิด ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบไร้สาย ต่อมาในยุคหลังปี 2000 เทคโนโลยีต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เริ่มมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมาก และสามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอาศัยตัว Sensor ในการสื่อสารถึงกัน โดย Kevin ได้ให้นิยามไว้ว่า “Internet-like” ต่อมามีคำว่า “Things” เข้ามาแทนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ความหมายของ IoT หมายถึง การที่สิ่งต่างๆ ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
IoT มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า M2M ย่อมาจาก Machine to Machine คือเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่ออุปกรณ์กับเครื่องมือต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เทคโนโลยี IoT มีความจำเป็นต้องทำงานร่วมกับอุปกรณ์ประเภท RFID และ Sensors ซึ่งเปรียบเสมือนการเติมสมองให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ขาดไม่คือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อให้อุปกรณ์สามารถรับส่งข้อมูลถึงกันได้ เทคโนโลยี IoT มีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะหากระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่ดีพอ ก็อาจทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาขโมยข้อมูลหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของเราได้ ดังนั้นการพัฒนา IoT จึงจำเป็นต้องพัฒนามาตรการและระบบรักษาความปลอดภัยไอทีควบคู่กันไปด้วย
ตัวอย่างของการใช้ระบบ IoT ในปัจจุบัน
- บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) คือ การนำเทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมต่อเพื่อควบคุมอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้าน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายภายในบ้าน เช่น ควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ผ่านอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ต โดยมีการใช้แอพลิเคชั่นควบคู่กับระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ RFID
- อุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้ เช่น การเชื่อมต่อโทรศัพท์กับนาฬิกา หรือ สายรัดข้อมือ
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
กลับไปที่เนื้อหา
การประมวลผลข้อมูล 9
ผลกระทบของเทคโนโลยีทางลบ
การขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขีดความสามารถในการใช้งาน เพิ่มขึ้นขณะเดียวกันก็มีราคาถูกลง มีการประยุกต์ใช้งานอย่างกว้างขวาง จนกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในอดีต สหรัฐฯ เป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตทางด้านการเกษตรเป็นสินค้าหลัก ต่อมา เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเป็นประเทศอุตสาหกรรม ปริมาณสัดส่วนของสินค้า ด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปัจจุบันโครงสร้างการผลิตของสหรัฐฯ เน้นไปที่ธุรกิจการให้บริการ และการใช้สารสนเทศกันมาก ทำให้สัดส่วนการผลิตสินค้า เกษตรลดลงไม่ถึง 5% ของสินค้าทั้งหมด ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมก็มีมูลค่าน้อยกว่า อุตสาหกรรมบริการ ซึ่งใช้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก หากมองภาพการใช้คอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารทั่วไปของโลก ปัจจุบันมูลค่า ของสินค้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศที่พัฒนา แล้ว 10 ประเทศมีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์มากถึงกว่า 90% ของปริมาณการใช้ คอมพิวเตอร์ทั่วโลก ประเทศที่พัฒนาแล้ว 10 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และแอฟริกาใต้ ถ้าพิจารณาบริษัทผู้ผลิตสินค้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศพบว่า ประเทศผู้ผลิต เพื่อส่งออกขายมีเพียงไม่กี่ประเทศ ประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีเทคโนโลยีของตนเองมี การค้นคิด วิจัยและพัฒนาสินค้าให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา จากความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสาร ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ มี ขนาดเล็กลง แต่มีความสามารถเพิ่มขึ้น และมีราคาถูกลงจนผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อมา ใช้ได้ จนแทบกล่าวได้ว่าบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามามีส่วนในทุกบ้าน เพราะเครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ และระบบ สื่อสารอยู่ด้วยเสมอ
ปัจจุบันคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารได้สร้างประโยชน์ อย่างใหญ่หลวงต่อวงการทางธุรกิจ ทำให้ทุกธุรกิจมีการลงทุน ขยายขอบเขตการให้บริการ โดยใช้ระบบสารสนเทศกันมากขึ้น กลไกเหล่านี้ทำให้โอกาสการขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศ กว้างขวางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำให้สังคมโลกเป็นสังคม แบบไร้พรมแดน การใช้งานเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น อินเทอร์เน็ตมีอัตราการขยายตัว สูงมาก จนกล่าวได้ว่าเป็นอัตราการขยายตัวแบบทวีคูณ จนเชื่อแน่ว่าภายในระยะเวลาอีก ไม่นาน ผู้คนบนโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้หมด
ผลกระทบในทางบวก
ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสังคมในทางบวกหรือทางที่ดีมีดังนี้
-
ช่วยส่งเสริมความสะดวกสบายของมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมให้มี ประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้มนุษย์มีเวลาว่างเพื่อใช้ ในทางที่เกิดประโยชน์มากขึ้น มีเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ให้ติดต่อกันได้สะดวก มีระบบคมนาคมขนส่งที่ รวดเร็วสามารถใช้โทรศัพท์ในขณะเดินทางไปมายังที่ต่าง ๆ มีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความ สะดวกที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น ลิฟต์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องช่วย ให้เกิดการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ มีรายการให้เลือกชมได้มากมาย มีการ แพร่กระจายสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทำให้ผู้ชมสามารถรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ จาก ทั่วทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็วเหมือนอยู่ในเหตุการณ์
-
ช่วยทำให้การผลิตในอุตสาหกรรมดีขึ้น การผลิตสินค้าในปัจจุบันต้องการผลิตสินค้าจำนวนมาก มีคุณภาพมีมาตรฐาน ซึ่ง ในปัจจุบันใช้เครื่องจักรทำงานอย่างอัตโนมัติ สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง สินค้าที่ได้มีคุณภาพและปริมาณพอเพียงกับความต้องการของผู้บริโภค ปัจจุบันมีความ พยายามที่จะสร้างหุ่นยนต์ให้เข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์
-
ช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสาร เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ช่วยให้งานค้น คว้าวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยต่าง ๆ มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น คอมพิวเตอร์ช่วยงานคำนวณ ที่ซับซ้อน ซึ่งแต่ก่อนยากที่จะทำได้ เช่น งานสำรวจทางด้านอวกาศ งานพัฒนาคิดค้ผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่างๆ ทำให้ได้สูตรยา รักษาโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ปัจจุบันงาน ค้นคว้าวิจัยทุกแขนงจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยในการคำนวณต่างๆ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ในการจำลองรูป แบบของสิ่งที่มองไม่เห็นตัว ใช้ในการค้นหา ข้อมูลที่มีจำนวนมากและแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก สามารถค้นหารายงานวิจัยที่มีผู้เคยทำ ไว้แล้วและที่เก็บไว้ในห้องสมุดต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยต่าง ๆ มีความก้าวหน้า ยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่อย่างมาก
-
ช่วยส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้กิจการด้านการ แพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ล้วนแล้ว แต่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการดำเนินการ ช่วยในการดำเนินการ ช่วยในการแปลผล มีเครื่อง ตรวจหัวใจที่ทันสมัย เครื่องเอกซเรย์ภาคตัดขวางที่ สามารถตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่าง ละเอียด
-
ช่วยส่งเสริมสติปัญญาของมนุษย์ คอมพิวเตอร์มีจุดเด่นที่สามารถทำงานได้รวดเร็ว มีความแม่นยำ สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้มาก การแก้ปัญหาที่ ซับซ้อนบางอย่างกระทำได้ดี และรวดเร็ว งานบางอย่างถ้า ให้มนุษย์ทำอาจต้องเสียเวลา ในการคิดคำนวณตลอดชีวิต แต่คอมพิวเตอร์สามารถทำงาน เสร็จภายในเวลาไม่กี่ วินาที
-
เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง เทคโนโลยีจำเป็นต่ออุตสาหกรรม กิจการค้า ธุรกิจต่าง ๆ กิจการทางด้านธนาคาร ช่วยส่งเสริมงานทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้กระแส เงินหมุนเวียนได้อย่างกว้างขวาง
-
ช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ช่วยย่นย่อโลกให้เล็กลง โลกมีสภาพไร้พรมแดน มีการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันมากขึ้น เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ทำให้ลดปัญหาใน เรื่องความขัดแย้ง สังคมไร้พรมแดนทำให้มี ความเป็นอยู่แบบรวมกลุ่มประเทศมากขึ้น
-
ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อกระจายข่าวสาร
แหล่งที่มา
พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.
พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.
IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จากhttps://www.it24hrs.com/
Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.
กลับไปที่เนื้อหา
-
9797 การประมวลผลข้อมูล /index.php/lesson-technology/item/9797-1-9797เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง