Road Kills หายนะสัตว์ป่า
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ สื่อหลายช่องทางต่างนำเสนอเรื่องราวอันน่าหดหู่ใจเกี่ยวกับปัญหาการสูญเสียสัตว์ป่าที่ล้มตายจากอุบัติเหตุบนทางถนน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก เรามาติดตามกันดีกว่าว่า ปัญหานี้สร้างผลเสียอะไร และเราจะช่วยกันได้อย่างไรบ้าง
ภาพสัตว์ป่าที่ถูกรถชนบนถนน
ที่มา https://pixabay.com/th , Amber_Avalona
การขยายตัวของความเจริญไปในแต่ละพื้นที่ในปัจจุบัน ที่เราอาจมองว่า ถนนดี ๆ มีความจำเป็นต่อมนุษย์มากกว่าสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ แต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือเส้นทางแห่งหายนะของสัตว์ป่าจำนวนมาก ที่ต้องสังเวยชีวิตบนทางถนนคอนกรีตที่ตัดผ่านผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ หรือที่เราเรียกว่า “Road Kills” มีรายงานเกี่ยวกับความสูญเสียทางชีวภาพจากแถลงรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ไว้ว่า โลกได้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ไปแล้วเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่นี่ก็คือข้อมูลเมื่อปี ค.ศ.1970 ซึ่งดูจากสถานการณ์ปัจจุบันก็พอที่จะคาดเดาได้ว่า ตัวเลขจากรายงานดังกล่าวต้องมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งจากปัญหาสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าว “Road Kills” ซึ่งเกิดจากการสร้างถนน ถูกจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยอื่น ๆ เช่น การล่า การสร้างเขื่อน ขยะที่ไม่ย่อยสลาย สารเคมีในการเกษตร
“Road Kills” ในประเทศไทย
ในประเทศไทยมีรายงานถึงความไม่ปลอดภัยของสัตว์ป่า จากเส้นทางที่ไม่ปลอดภัยนี้อยู่จำนวนมากถึง 75 จุด ซึ่งเป็นเส้นทางถนนที่ตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือผืนป่าอนุรักษ์จากทั่วประเทศ
หลักฐานที่เราเห็นได้ชัดอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ในช่วงเทศกาลประจำปี เส้นทางเหล่านี้ที่มีการสัญจรไปมาอย่างหนาแน่น รวมไปถึงเส้นทางเหล่านี้มักเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในวันหยุด สัตว์ป่าที่มักได้รับผลกระทบและรบกวนการดำรงชีวิต ร้ายแรงที่สุดก็คือการถูกรถชนตาย ได้แก่ ช้าง เสือ ลิง เก้ง กวาง แมวดาว งู ไก่ป่า เป็นต้น
สถานที่และเส้นทางที่มักพบมีสถิติเกิดอุบัติเหตุรถชนสัตว์ป่าอยู่บ่อย ๆ ก็เช่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดจันทบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา แต่ที่ตกเป็นข่าวสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก อันได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรีนี้เอง ซึ่งเคยมีตัวเลขบันทึกไว้ว่า ถนนสาย 3259 ช่วงตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ระหว่างกิโลเมตรที่ 15-30 มีสัตว์ป่าถูกรถชนตายปีละกว่า 14,000 ตัว ซึ่งเป็นรายงานการศึกษาเรื่อง “ผลกระทบของถนนที่ตัดผ่านป่าต่อการสูญเสียสัตว์มีกระดูกสันหลังในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน” โดยไสว วังหงษา และกัลยาณี บุญเกิด นักวิชาการประจำสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้ทำการศึกษาไว้เมื่อปี พ.ศ.2542
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว นอกเหนือจากปัญหาความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปอีกมากมาย เช่น อัตราการขยายของการสูญพันธุ์ การทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ การแบ่งแยกถิ่นอาศัย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ การบุกรุกของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ มลพิษทางเสียง น้ำ อากาศ รวมถึงการส่งเสริมการลักลอบตัดไม้และการล่าสัตว์ รวมเรียกได้ว่า เป็นปัญหาทางนิเวศวิทยาที่เรียกว่า Ecological Armageddon ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
แนวทางการแก้ปัญหา
จากเหตุการณ์และรายงานตัวเลขที่มีการบันทึกไว้ตามที่กล่าวไปข้างต้นนั้น สร้างกระแสให้ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นในการแก้ไขปัญหานี้ เช่น
-
เริ่มมีการเปิดปิดเส้นทางเป็นเวลา ตามสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงเวลา 18.00–21.00 น.
-
ทำแนวเชื่อมต่อผืนป่าในรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ทำทางยกระดับ หรือทำอุโมงค์เชื่อมผืนป่า เพื่อให้สัตว์สามารถข้ามไปมาได้โดยไม่เกิดอันตราย
-
รณรงค์และคัดค้านการสร้างถนนคอนกรีตบนถนนสายพะเนินทุ่ง ผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
และที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น ผู้เขียนก็อยากให้ผู้อ่านทุกคนนั้นได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย เริ่มจากตัวเราเองก่อน ซึ่งก็เชื่อว่าอย่างน้อยก็เคยได้เดินทางไปบนเส้นทางเหล่านี้ ก็ขอให้ขับรถและใช้พื้นที่อย่างระมัดระวัง อย่าให้สัตว์ป่าของเราต้องจบชีวิตไปด้วยฝีมือของคนที่ผ่านไปผ่านมาอย่างพวกเรา ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เกิดขึ้นและเป็นผลกระทบที่เราต้องเรียนรู้ จะมีอะไรบ้างนั้น ติตตามกันต่อในตอนต่อไป
แหล่งที่มา
ชุติมา ซุ้นเจริญ. Road Kills ทางตายสัตว์ป่า. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563. จาก https://www.judprakai.com/life/758
เปิดภาพสัตว์ป่าสงวนหากินบนถนน“พะเนินทุ่ง”. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563. จาก https://news.thaipbs.or.th/content/275470
สถานภาพด้านการอนุรักษ์ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563. จาก https://www.citizenthaipbs.net/node/11270
-
11201 Road Kills หายนะสัตว์ป่า /article-biology/item/11201-road-killsเพิ่มในรายการโปรด