เรื่องของสมองที่คุณอาจยังไม่รู้
แม้ว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) จะเคยกล่าวว่า ทุกคนล้วนเป็นอัจฉริยะ แต่สมองก็ยังคงเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนที่สุดที่มนุษย์ยังคงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจอวัยวะส่วนนี้อยู่เสมอ
ไม่เพียงแค่สมองจะควบคุมระบบการหายใจ การทำงานของอวัยวะและการเคลื่อนไหว แต่ยังอยู่เบื้องหลังกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างการควบคุมพฤติกรรม ความคิด อารมณ์ ตลอดจนการสร้างความทรงจำ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาอาจเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่คุณรู้ และยังคงมีอีกหลายสิ่งที่หลายคนยังคงไม่รู้เกี่ยวกับสมอง
ภาพแสดงระบบการทำงานภายในสมองที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
ที่มา https://pixabay.com ,OpenClipart-Vectors
สมองทำงานตลอดเวลา
กลีบสมองของมนุษย์ (Lobes of the brain) แบ่งออกเป็น 4 กลีบ ได้แก่ สมองส่วนหน้า ( frontal lobes) ซึ่งตั้งอยู่ด้าน ในตำแหน่งของหน้าผาก ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความคิด และศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ สมองกลีบขมับ (Temporal Lobe) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้กลิ่นและการได้ยิน สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) ตั้งอยู่เหนือสมองกลีบท้ายทอย ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรู้สึกตัว และเป็นศูนย์ควบคุมการรับความรู้สึก และสมองกลีบท้ายทอย (Occipital Lobe) มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการมองเห็น และการประมวลผลภาพ นอกจากนี้สมองแต่ละกลีบยังแบ่งยังออกเป็นพื้นที่เฉพาะ (individual region) ที่ทำหน้าที่เฉพาะ เช่น โบรคา (broca’s area) เป็นส่วนของสมองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาษา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แต่ละส่วนของสมองทำหน้าที่แตกต่างกันเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ และสมองทำงานตลอดเวลาแม้ในขณะหยุดพักหรือนอนหลับ
นักวิจัยมีความพยายามในการทำการศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่การทำงานเฉพาะของสมองมากขึ้น เนื่องด้วยมีความสำคัญทั้งในด้านการวิจัย และสำหรับการรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัด
เลือดประมาณร้อยละ 20 ของร่างกายไหลเวียนไปยังสมอง
เนื้อเยื่อของสมองอาศัยออกซิเจนช่วยในการทำงานเช่นเดียวกับเซลล์เนื้อเยื่อที่อวัยวะอื่นๆ โดยขณะพัก สมองจะได้รับเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจร้อยละ 15-20 แต่อาจมีปัจจัยในเรื่องของอายุ เพศ และน้ำหนักที่ส่งผลกระทบต่อการได้รับเลือดที่แตกต่างกัน
สำหรับผู้ชาย โดยเฉลี่ยแล้วการเต้นของหัวใจ 1 ครั้งจะสูบฉีดเลือดทั่วร่างกายปริมาณ 70 มิลลิลิตร ดังนั้นจะมีเลือดประมาณ 14 มิลลิลิตรที่สูบฉีดไปยังสมอง ซึ่งเป็นปริมาณเลือดที่จำเป็นสำหรับเซลล์สมอง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke) เลือดจะถูกขัดขวางการนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง และอาจส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนกลายเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่แล้วโรคหลอดเลือดสมองตีบจะเกิดขึ้นที่ซีกซ้ายมากกว่าซีกขวา นั่นหมายความว่า ผู้ที่ถนัดขวามีแนวโน้มมากขึ้นที่จะได้รับผลกระทบหลังจากเกิดอาการสมองตีบตัน
การผ่าตัดสมองไม่เจ็บปวด
หลายคนอาจเคยเห็นคลิปของผู้ป่วยหญิงที่เล่นไวโอลินขณะที่ศัลยแพทย์กำลังทำการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง และคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด และเกิดคำถามมากมาย แต่การตื่นขึ้นในระหว่างการผ่าตัดสมองเป็นเรื่องปกติ
บ่อยครั้งที่การผ่าตัดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การพูด หรือการมองเห็น จะกำหนดให้ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการทำการผ่าตัดและอยู่ภายใต้ยาระงับความรู้สึก (Anesthetics) ตื่นขึ้นมาเพื่อประเมินการทำงานตามฟังก์ชันข้างต้น อาจจะเป็นเรื่องแปลกที่การผ่าตัดสมองไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด นั่นเป็นเพราะสมองไม่มีตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เรียกว่า nociceptor แต่ส่วนที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด คือ แผลที่เกิดขึ้นผ่านผิวหนัง กะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมอง (meninges)
ความเสียหายของสมองสามารถเปลี่ยนเราเป็นคนใหม่
หลายกรณีที่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้สมองมากขึ้นมักจะเกิดมาจากความผิดพลาด หนึ่งในกรณีที่โด่งดังคือ ฟิเนียส์ พี. เกจ (Phineas P. Gage) ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานก่อสร้างทางรถไฟชาวอเมริกัน ได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดหิน และมีแท่งเหล็กขนาดใหญ่พุ่งทะลุผ่านกะโหลกศีรษะ ทำลายสมองกลีบหน้าด้านซ้าย แม้เขาจะรอดชีวิต แต่ความเสียหายจากการบาดเจ็บส่งผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมของเขา และเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นคนหยาบคายและวู่วาม กรณีดังกล่าวแสดงให้นักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 เห็นว่า ความเสียหายที่กลีบสมองส่วนหน้าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่สูญเสียการมองเห็นจากความเสียหายของสมองกลีบท้ายทอย ไม่ว่าจะเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เนื้องอก หรือโรคสมองตีบ อาจยังคงสามารถรักษาให้อยู่ในสภาวะเห็นทั้งบอด หรือที่เรียกว่า blindsight ซึ่งผู้ที่อยู่ในสภาวะนี้อาจยังสามารถตรวจจับข้อมูลภาพและนำทางไปรอบ ๆ สิ่งกีดขวางได้แม้จะสูญเสียการมองเห็น อย่างไรก็ดีสภาวะนี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมด้วยเช่นกัน
แหล่งที่มา
Vishnumurthy Shushrutha Hedna,Aakash N Bodhit,Saeed Ansari,Adam D Falchook, Latha Stead,Kenneth M Heilman and Michael F Watersa.(2013).Hemispheric Differences in Ischemic Stroke: Is Left-Hemisphere Stroke More Common?.J Clin Neurol; 9(2): 97–102. Retrieved April 7, 2020, From https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3633197/
ADAM TAYLOR,(2020, March 7),Five Amazing Facts About Your Brain That You Probably Don't Know. Retrieved April 7, 2020, From https://www.sciencealert.com/five-amazing-facts-about-your-brain
การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (Transcranial Doppler Ultrasound). สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2563. จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2401/th/การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง_(Transcranial_Doppler_Ultrasound)
-
11470 เรื่องของสมองที่คุณอาจยังไม่รู้ /article-biology/item/11470-2020-04-21-07-12-17เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง