เกมช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไชเมอร์ (Alzheimer disease) เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะอยู่ได้นาน 8-10 ปี อาการเริ่มจากความบกพร่องของความจำ เช่น การสับสนวันเวลา หลงทิศทาง ทำสิ่งที่เคยทำเป็นประจำไม่ได้ จากนั้นจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวนหนีออกจากบ้าน จนในที่สุดผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงจนนอนอยู่เฉย ๆ ส่วนการรักษานั้น ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่ยาบางตัวอาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้
ถึงในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่ทั้งแพทย์และนักวิจัยก็ให้ความสนใจหาแนวทางการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องแนวทางหนึ่ง คือ การออกกำลังสมองให้เซลล์สมองได้ทำงานโดยการอ่าน/เขียนหนังสือ คิดเลข เล่นเกมฝึกสมองต่าง ๆ เช่น การเล่นเกมซูโดกุ เกมปริศนาตัวเลข Ken-Ken หมากอลวนไปไหนไปคู่ หมากเวียนวน...ชนระเบิด หรือเกมปริศนาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเกมเหล่านี้เป็นเกมทางคณิตศาสตร์ที่มุ่งเน้นให้ผู้เล่นได้ฝึกฝนด้านการคิดวิเคราะห์ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นและพัฒนาสมองให้คิดอย่างเป็นระบบ รู้จักการให้เหตุผลและตระหนักถึงความสมเหตุสมผลของคำตอบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากนี้บางเกมยังช่วยฝึกทักษะการคำนวณ สมาธิ ความอดทน และความละเอียดรอบคอบ ในขณะเดียวกันผู้เล่นยังได้รับทั้งความสนุกและความท้าทายในการคิดด้วย
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ผู้เขียนได้นำไปจัดนิทรรศการตามที่ต่าง ๆ เช่น มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2554 - 2555 ที่ไบเทค บางนา นิทรรศการวันเด็กแห่งชาติปี 2555 - 2556 และนิทรรศการวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปี 2556 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ โดยแต่ละกิจกรรมได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากรูปที่ได้รวบรวมไว้จากการทำกิจกรรมในงานต่าง ๆ
นักเรียนกำลังเล่นเกมหมากอลวน
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังคร่ำเคร่งกับการเล่นเกมไปไหนไปคู่
นักเรียนกำลังสนุกกับเกมหมากเวียนวน...ขนระเบิด
ในโอกาสนี้ผู้เขียนจะขอแนะนำเกม "ไปไหนไปคู่" ซึ่งเป็นเกมที่สามารถเล่นเพียงคนเดียวได้ และไม่จำเป็นต้องสร้างอุปกรณ์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนประกอบการเล่นเกมอีกด้วยแต่ถ้าผู้อ่านชอบการแข่งขันที่จะต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้เขียนก็ยังมีอีกเกมที่จะแนะนำ คือ "เกมหมากเวียนวน....ชนระเบิด" ซึ่งเป็นเกมที่มีกติกาไม่ซับซ้อน และมีความสนุกซ่อนอยู่ในการเล่นอีกด้วย โดยทั้งสองเกมมีวิธีการเล่น ดังนี้
ไปไหนไปคู่ แบบ 10 ช่อง
วิธีการเล่น
จัดวางหมาก 8 ตัว ดังรูป
เลื่อนขนานหมากครั้งละ 2 ตัวที่อยู่ติดกัน ไปยังที่ว่างในตาราง โดยให้มีผลลัพธ์เป็นหมากที่สลับสีกัน ดังรูป
จงหาจำนวนครั้งที่ใช้ในการเลื่อนขนานที่น้อยที่สุด
ไปไหนไปคู่ แบบ 12 ช่อง
วิธีการเล่น
จัดวางหมาก 10 ตัว ดังรูป
เลื่อนขนานหมากครั้งละ 2 ตัวที่อยู่ติดกัน ไปยังที่ว่างในตาราง โดยให้มีผลลัพธ์เป็นหมากที่สลับสีกัน ดังรูป
จงหาจำนวนครั้งที่ใช้ในการเลื่อนขนานที่น้อยที่สุด
หมากเวียนวนชน...ระเบิด
รูปที่ 1
- ผู้เล่นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายมีหมาก 12 ตัว เริ่มต้นวางหมาก (รูปที่ 1)
- เมื่อเริ่มต้นเล่นให้เสี่ยงทายว่าใครจะเริ่มเล่นก่อน
จุดมุ่งหมาย
- พยายามกินหมากของคู่ต่อสู้ให้มากที่สุด
- ฝ่ายใดเหลือหมากซึ่งไม่อยู่ที่จุดศูนย์กลางของส่วนโค้ง (A1, F1, A6, F6) เพียง 2 ตัว ฝ่ายนั้นเป็นผู้แพ้
รูปที่ 2
วิธีเดินหมาก
เดินตามแนวส่วนของเส้นตรงหรือแนวทแยงไปยังจุดที่ว่างซึ่งอยู่ติดกัน เช่น จากรูป ถ้าหมากอยู่ที่ตำแหน่ง C2 จะสามารถเดินไปที่ C3 หรือ B3 หรือ D3 ได้
วิธีกินหมากคู่ต่อสู้
หมากตัวหนึ่งจะไปกินหมากของฝ่ายตรงข้ามได้โดยวิ่งไปไกลเท่าใดก็ได้ตามเส้นตามแนวที่ว่าง (ไม่มีหมากอื่นขวาง) ไปยังตำแหน่งที่คู่ต่อสู้อยู่ แล้วหยิบหมากอันนั้นของคู่ต่อสู้ออกไป โดยต้องวิ่งผ่านเส้นโค้งด้วยทุกครั้งก่อนกิน และเส้นทางที่วิ่งต้องไม่มีการหักมุม เช่น
- หมากเขียว B3 สามารถวิ่งไปทางขวามือตามเส้น 3 วิ่งผ่านส่วนโค้ง แล้ววิ่งขึ้นไปตามเส้น D ผ่านส่วนโค้งบนขวา แล้วมากินหมากชมพูที่ E4
- หมากชมพูที่ B4 สามารถวิ่งไปซ้ายมือตามเส้น 4 ผ่านส่วนโค้งบนซ้ายมือ แล้วมากินหมากเขียวที่ C2 (รูปที่ 2)
นอกจากการเล่นเกมเพื่อฝึกสมองแล้ว ยังมีวิธีการป้องกันโรคอื่น ๆ อีก เช่น พบปะพูดคุยกับผู้อื่นอยู่เสมอ ฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา หากิจกรรมเพื่อคลายเครียด หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ทำให้มีปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มมากขึ้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อยามที่เรามีอายุมากขึ้น เราจะห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อมและใช้ชีวิตอย่างสงบสุขค่ะ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Research Shows KenKen Puzzles By Nextoy May Minimize Risk of Alzheimers. Retrieved August 1, 2013, from http://www.prweb.com/releases/2013/4/prweb10686959.htm
10 questions: Alzheimer's expert Dr. Gary SmalL. Retrieved August 1,2013, from http://today.ucla.edu/portalut/10-questions-alzheimer-s-expert-228191.aspx
รับมือ...ภาวะสมองเสื่อม. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2556, จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=753
5 วิธีหลีกหนีอัลซเมอร์. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2556,จาก http://inau.mnre.go.th/ewt news.php?nid=1308flename=index
-
12786 เกมช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ /article-mathematics/item/12786-2023-01-20-06-22-57เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง