Keystone species กุญแจหัวใจระบบนิเวศ
ก่อนจะทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้เรามารู้จักกับที่มาของชื่อ Keystone species เพื่อทำให้เข้าใจความสำคัญของสิ่งมีชีวิตจำพวก Keystone มากขึ้น
Keystone คือชื่อของหินบริเวณกึ่งกลางโครงสร้างสิ่งก่อสร้างในอาณาจักรโรมัน ซึ่งเป็นโครงสร้างซุ้มประตูลักษณะโค้งเรียกกันว่าอาร์ช (arch) หินบริเวณกึ่งกลางทำหน้าที่รับแรงของหินทั้งหมดทำให้โครงสร้างซุ้มประตูสามารถคงโครงสร้างรูปโค้งได้โดยไม่ให้หล่นหรือผิดรูปแต่เมื่อใดก็ตามที่หินชิ้นนี้หายไปโครงสร้างทั้งหมดก็จะพังทลายลงมาจึงเป็นกุญแจสำคัญของโครงสร้างซุ้มโค้งหรือที่เรียกว่ากุญแจหิน Keystone
เปรียบกับชนิดของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่อยู่ร่วมกันเป็นวัฏจักร สายใยอาหาร (Food web) ห่วงโซ่อาหาร (Food chain) ไปจนถึงการหมุนเวียนสารในระบบนิเวศ (Life cycle) สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นหินบริเวณกึ่งกลางของอาร์ชเปรียบเสมือนผู้สร้างความสมดุลกับระบบนิเวศให้คงอยู่ไม่พังล้มครื้นลงมาทั้งระบบเหมือนซุ้มโค้งคือสิ่งมีชีวิตที่เป็นกุญแจสำคัญของระบบนิเวศเช่นกัน Keystone species จึงได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหลักของระบบนิเวศ
สิ่งมีชีวิตชนิดหลักส่วนใหญ่เป็น top บนยอดพีระมิดประชากรในระบบนิเวศซึ่งมีประชากรน้อยมากเมื่อเทียบกับอิทธิพลแบบ top-down effect ของมันเองทั้งในรูปแบบพฤติกรรมและห่วงโซ่อาหารส่งผลกระทบรุนแรงกับสิ่งมีชีวิตจากบนลงล่างของพีระมิดประชากรเมื่อตัวมันเองสูญพันธุ์ทำให้ระบบนิเวศทั้งระบบพังลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ภาพเสือดำ
ที่มา https://unsplash.com/photos/MZVJ4joUAlI , Ash Edmonds
เสือดำถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย และเป็นหนึ่งใน keystone species ที่ช่วยควบคุมสมดุลของระบบนิเวศ ในฐานะสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในระบบนิเวศ ควบคุมจำนวนของสัตว์กินพืช ถ้าขาดเสือดำ ระบบนิเวศจะมีผลเสีย เพราะสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อมีมากเกินไป
Keystone species มีหลายชนิดทั้งพืชและสัตว์ต่างก็เป็น Keystone species ได้ในระบบนิเวศหนึ่งๆ บนยอดของพีระมิดประชากรสิ่งมีชีวิตชนิดหลักนี้มีบทบาทในรูปแบบของผู้บริโภคลำดับสุดท้ายหรือผู้ล่าแต่ก็ไม่เสมอไปแล้วแต่ปัจจัยสำคัญของแต่ละระบบนิเวศ หัวใจหลักของการเลือกชนิดพันธุ์ Keystone species คือความโดดเด่นของพฤติกรรมที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตแวดล้อมเพื่อควบคุมประชากรทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น หากไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดหลักทำหน้าที่ล่าเพื่อควบคุมประชากรสัตว์กินพืช ทำให้ในระบบนิเวศมีสัตว์กินพืชเกินสมดุลที่ระบบต้องการทำให้พืชซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตในระบบน้อยลงไม่พอต่อความต้องการระบบนิเวศทั้งหมดจึงไม่สามารถดำรงวัฏจักรต่อไปได้และพังลงมาในที่สุด
การบุกรุกพื้นที่ป่าของมนุษย์ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวสวนยาง ปาล์มน้ำมัน และพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ การเพิ่มสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย การตัดถนนเพื่อการคมนาคมล้วนแต่ทำให้พื้นที่ป่าบริเวณนั้นถูกลดความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) บทความนี้ของผู้เขียน Keystone species จึงเป็นหัวใจสำคัญว่าทำไมเราถึงต้องตระหนักกับ Road Kills หายนะสัตว์ป่า และ Wildlife crossing ทางเชื่อมสัตว์ป่า ในบทความก่อนหน้าของผู้เขียนล้วนเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ได้
แหล่งที่มา
สราวุธ คลอวุฒิมนตร.(2555) “Ecological community” สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563 จาก http://bio.flas.kps.ku.ac.th/courses/381/communityHO.pdf
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์.(2553, 18 กุมภาพันธ์) “รักษ์มรดกไทย มรดกโลกตอน นกเงือก สัญลักษณ์แห่งป่าสมบูรณ์” สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.sanook.com/news/901602/
Bottom Line.(2563, 15 สิงหาคม) “Keystone species กับความเสื่อมสลายที่ทรงอิทธิพลกว่า” สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.bottomlineis.co/Social_Environment_Digitalay_1
-
11639 Keystone species กุญแจหัวใจระบบนิเวศ /article-biology/item/11639-keystone-speciesเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง