Climate Change คืออะไร?
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมว่า เราเริ่มได้ยินการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ่อยขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือ climate change กันแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) หรือภาวะโลกร้อน (global warming) นั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และใช้เวลานานกว่าที่จะสังเกตพบได้ แต่กิจกรรมของมนุษย์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาหรือตั้งแต่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้การสะสมก๊าซเรือนกระจกและการเก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลให้ภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศรวมถึงการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและความเข้มข้นจะไปจำกัดการสะท้อนกลับของพลังงานความร้อนของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังพื้นผิวโลก ส่งผล ทำให้อุณหภูมิของพื้นดินและมหาสมุทรสูงขึ้นในปี 2001 (พ.ศ. 2544) คณะกรรมการระหว่าง รัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้ประเมินไว้ว่า นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส และภายใน ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 1.4 ถึง 5.8 องศาเซลเซียส รวมถึงน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 0.1 ถึง 0.9 เมตร หากยังไม่มีมาตรการในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ภาพที่ 1 Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลัน
ที่มา http://www.pixabay.com , tumisu
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศอันเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนองค์ประกอบของบรรยากาศโลกโดยตรงหรือโดยอ้อมและที่เพิ่มเติมจากความแปรปรวนของสภาวะอากาศตามธรรมชาติที่สังเกตได้ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝนฤดูกาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในบริเวณที่สิ่งมีชีวิตนั้นอาศัยอยู่ ภาวะโลกร้อนนี้มีผลต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตเนื่องจากอุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้นทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ ก็จะค่อย ๆ ตายลงและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด สำหรับผลกระทบต่อมนุษย์นั้น อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้บางพื้นที่กลายเป็นทะเลทราย ประชาชนขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักเนื่องจากฝนตกรุนแรงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกและบนยอดเขาสูงละลาย ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบโดยตรง อาจทำให้บางพื้นที่จมหายไปอย่างถาวร ดังนั้น ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นปัญหาสำคัญที่มวลมนุษยชาติจะต้องร่วมมือกันป้องกันและเสริมสร้างความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
" ก๊าซเรือนกระจก " ในบรรยากาศเป็นสิ่งขวางกั้นแสงอินฟราเรดที่โลกสะท้อนกลับจากพื้นผิวสู่บรรยากาศได้เหมือนกับแสงสว่าง ดังนั้น พลังงานที่ส่งออกจากพื้นผิวของโลกจึงเป็นการส่งออกโดยกระแสลมและเมฆที่อยู่บนชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นไปด้วยก๊าซเรือนกระจก ปรากฏการณ์ที่ความร้อนถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศนี้ เป็นที่รู้จักกันว่า " ปรากฏการณ์เรือนกระจก " (Greenhouse Effect) เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพที่เกิดขึ้นภายในเรือนกระจกที่ใช้สำหรับปลูกพืชในประเทศเขตหนาว โดยแสงแดดสามารถส่องผ่านให้ความอบอุ่นภายในเรือนกระจกได้ แต่กระจกสามารถสะท้อนไม่ให้ความร้อนออกไปจากเรือนกระจกได้จึงสามารถคงอุณหภูมิภายในเรือนกระจกไม่ให้หนาวเย็นเหมือนภายนอกได้หลังจากที่ได้รู้จักกับก๊าซเรือนกระจกกันแล้ว ลองมาดูหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กันว่าก๊าซเรือนกระจกนี้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ และการเพิ่มขึ้นนี้ทำให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างไร เราแน่ใจเพียงใดว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแล้วจริง ๆ
ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร?
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟราเรดได้ดี ก๊าซเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ ซึ่งหากบรรยากาศโลกไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะแล้วจะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันนั้นร้อนจัดและในตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อย ๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืนทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันมีก๊าซจำนวนมากที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน และถูกจัดอยู่ในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีทั้งก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญคือ ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน มีเทนและไนตรัสออกไซด์ สารซีเอฟซี เป็นต้น แต่ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมมีเพียง 6 ชนิด โดยจะต้องเป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic greenhouse gas emission) เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ทั้งนี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารซีเอฟซี (CFC หรือ Chlorofluorocarbon) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตโฟม กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ กำลังเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ (อาจยกเว้นไอน้ำ) การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ปล่อยก๊าซโอโซน นอกจากนี้กระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรมปล่อยสารฮาโลคาร์บอน (CFCs, HFCs, PFCs)
ภาพที่ 2 ภาพความแห้งแล้งในฤดูฝนที่เกิดจาก climate change
ที่มา http://www.pixabay.com/ andreas160578
แหล่งที่มา
Global Carbon Project 2017. “Global Carbon Atlas”. Retrieved on June 23rd, 2019. From https://thailand.opendevelopmentmekong.net/topics/climate-change/
Talberth, J. and K. Reytar. 2014. “Climate change in the Lower Mekong Basin, an analysis of economic values at risk”. Accessed October 2017.
Thailand Sustainable Development Foundation 2016. “Sustainable development for Thailand in the global context”. Accessed October 2017.
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และกอบกุล รายะนาคร. (2553). นโยบายสาธารณะเพื่อรองรับการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. ชุดความรู้นโยบายสาธารณะ. เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
ศุภกร ชินวรรโณ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต. ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อัษฎาพร ไกรพานนท์. "ภาวะโลกร้อน : รุนแรงกว่าที่คิด" นวัตกรรม. 1, 3 (ก.ย. 2543) 10-11.
-
10620 Climate Change คืออะไร? /index.php/article-chemistry/item/10620-climate-changeเพิ่มในรายการโปรด