อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย
พฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (climate change) ซึ่งส่งผลกระทบกับหลายพื้นที่บนโลก โดยพื้นที่ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนคือบริเวณขั้วโลกมีปริมาณการละลายของน้ำแข็งที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี และยังเป็นตัวชี้วัดที่สามารถบอกสถานการณ์ของสภาวะอากาศบนโลกได้อย่างชัดเจน เรามาติดตามดูกันดีกว่าจะจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อน้ำแข็งที่ขั้วโลกที่เรารู้จักละลายเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
ภาพภูเขาน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก
ที่มา https://pixabay.com , 358611
แผ่นภูเขาน้ำแข็ง หรือธารน้ำแข็ง (Glacier) ครอบคลุม 2 ทวีปคือ ทวีปกรีนแลนด์ทางตอนเหนือ หรือที่เราเรียกว่า ขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 1.7 ล้านตารางกิโลเมตร และทวีปแอนตาร์กติกาทางตอนใต้หรือที่เราเรียกว่า ขั้วโลกใต้ มีพื้นที่ที่ใหญ่กว่าโดยมีเนื้อที่ประมาณ 14 ล้านตารางกิโลเมตร ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกทั้งบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลาย จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 70 เมตร ซึ่งโดยปกติน้ำแข็งจะใช้เวลาในการเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ แต่ขณะนี้น้ำแข็งขั้วโลกได้มีการละลายโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เช่น ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดชื่อ A68 ขนาด 2,200 ตารางไมล์ หลุดออกมาจากหิ้งน้ำแข็ง(ice shelf) ชื่อ Larsen C ในทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2017
น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกที่มีการละลายสูงขึ้นส่งผลกระทบหลาย ๆ ด้านโดยที่เห็นเป็นภาพชัดเจนมีดังนี้
1. สัตว์ที่อาศัยแถบก้อนน้ำแข็งขั้วโลกเริ่มสูญพันธุ์ เช่น เพนกวินจักรพรรดิ (emperor penguin) ไม่มีที่ฟักตัวของตัวอ่อนและลูกนกเพนกวินจักรพรรดิต้องจมน้ำลงเนื่องจากไม่มีที่อาศัยอยู่ หรือหมีขั้วโลกไม่สามารถหาทางกลับถิ่นอาศัยได้และต้องมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีน้ำแข็งที่ละลายมามีการย้ายถิ่นฐานของสัตว์มารุกรานที่ทำกินของคนเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่
2. ที่อยู่อาศัยแถบน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกไม่มั่นคง ทำให้ประชากรบริเวณนั้นต้องมีการอพยพออก เช่น สถานีวิจัย Roshydromet ของประเทศรัสเซีย ต้องมีการอพยพคน เร่งด่วนภายใน 3 ชั่วโมง เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งเกิดการแตกออกอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถหาที่ตั้งสำหรับสถานีวิจัยใหม่ได้เนื่องจากไม่มีน้ำแข็งที่แข็งแรงพอที่จะสามาารถสร้างได้
3. ปริมาณของระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทำให้ปริมาณน้ำริมฝั่งทะเลไหลเข้าไปกระทบกับชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลจนได้รับความเดือดร้อนซึ่งโดยปกติโลกของเรามีปริมาณพื้นน้ำร้อยละ 70 และพื้นดินมีเพียงแค่ร้อยละ 30 ซึ่งการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายนั้นทำให้ปริมาณของระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้น้ำเข้าไปกัดเซาะพื้นที่ส่วนพื้นดิน ทำให้พื้นที่ส่วนพื้นดินมีแนวโน้มลดลงซึ่งสวนทางกับจำนวนประชากรบนโลกที่มากขึ้นทวีคูณ
4. มีการกลับมาของไวรัสและแบคทีเรียที่ฝังอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ออกมาแพร่ระบาดสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบขั้วโลกอีกครั้ง ซึ่งโดยปกติบริเวณขั้วโลกเป็นบริเวณที่มีอากาศอุณหภูมิต่ำ ดังนั้น ปริมาณของเชื้อโรคจะมีน้อยมากและเชื้อโรคบางส่วนจะถูกแช่แข็งอยู่ในน้ำแข็ง เนื่องจากบริเวณใต้น้ำแข็งเป็นสภาวะที่เหมาะสมกักการจำศีลของเชื้อโรคเพราะเป็นสถานที่ที่ไม่มีออกซิเจน มีความเยือกเย็น และแสงสว่างไม่สามารถส่องถึงได้ แต่เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกมีการละลายส่งผลให้เชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในน้ำแข็งนั้นออกมาสู่อากาศภายนอกและแพร่ออกไปสู่มนุษย์ในที่สุด เช่น ในเดือนสิงหาคม ปี 2016 พบประชาชนที่อาศัยในแถบขั้วโลกเหนืออย่างน้อย 20 คนได้รับเชื้อแอนแทรกซ์ (Anthrax) เนื่องจากบริเวณน้ำแข็งในบริเวณนั้นมีการละลายซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับที่กวางเรนเดียร์ต้องตายด้วยโรคแอนแทรกซ์เมื่อ15 ปีก่อนที่ถูกฝังอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งนั้น
ภาพหมีขั้วโลกที่อาศัยในน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก
ที่มา https://pixabay.com , Gellinger
จะเห็นได้ว่าจากสภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพอากาศบนโลกมีความแปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกที่มีปริมาณการละลายสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบหลายๆด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวตอนนี้ได้เกิดเป็นเห็นเป็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเฝ้าระวังเพื่อเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แหล่งที่มา
Mark Brandon. (2008, 31 August). A trillion tonnes of ice on the move: Iceberg A68A. Retrieved February 1, 2020, from http://mallemaroking.org/a-trillion-tonnes-of-ice-a68a/
Rintoul SR, et al. (2016, 16 December). Ocean heat drives rapid basal melt of Totten Ice Shelf. Retrieved February 2, 2020, from https://advances.sciencemag.org/content/2/12/e1601610
Associated Press. (2019, 25 April). Antarctica: emperor penguin breeding ground sees sharp decline in population. Retrieved February 2, 2020, From https://www.theguardian.com/world/2019/apr/25/emperor-penguin-antarctica-breeding-ground-decline
Hamish D. Pritchard, et al. (2009, 23 September). Extensive dynamic thinning on the margins of the Greenland and Antarctic. Retrieved February 1, 2020, From https://www.nature.com/articles/nature08471
The Barents Observer. (2019, 2 May). Russian Arctic Researchers Evacuate Station as Polar Ice Cracks. Retrieved February 2, 2020, From https://www.themoscowtimes.com/2019/05/02/russian-arctic-rescuers-evacuate-as-polar-ice-cracks-a65474
-
11328 อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย /article-earthscience/item/11328-2020-03-06-07-26-49เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง