วงแหวนแห่งไฟ
ในช่วงหลายปีที่มีข่าวมากมายเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว และสึนามิ ซึ่งก็สร้างความแตกตื่นหวาดกลัวและระแวงว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ และตนเองจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ซึ่งจากภัยพิบัติที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากต้นกำเนิดเดียวกันที่เราควรทำความเข้าใจ
ภาพแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับแผ่นดินไหว
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pacific_Ring_of_Fire.png
แนววงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่กล่าวไปข้างต้นโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น เราอาจได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และสึนามิ บ่อย ๆ ครั้ง ในประเทศอินโดนีเซีย ก็เพราะสาเหตุที่ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟนั่นเอง
วงแหวนแห่งไฟ คืออะไร
เราเรียกพื้นที่หรือบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร และวางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟ และบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก ว่าแนววงแหวนแห่งไฟ หรือที่เรียกว่า "Pacific Ring of Fire" หรือ "The Ring of fire" ที่มีรอยเลื่อนอันเกิดจากการเคลื่อนที่และการชนของแผ่นเปลือกโลก และมุดตัวซ้อนกันในแต่ละทวีปตั้งแต่ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้เมื่อหลายล้านปีก่อน นับประเทศที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณแนววงแหวนแห่งไฟได้ประมาณ 31 ประเทศ แต่ที่ได้รับผลกระทบบ่อยครั้งและมากที่สุดก็คือประเทศอินโดนีเซีย
ทั้งนี้จากข้อมูลบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงอันดับต้น ๆ ของโลก 5 อันดับยังพบว่าเกิดในบริเวณแนววงแหวนแห่งไฟทั้งสิ้น โดยอันดับที่ 3 ก็เป็นครั้งที่เราคนไทยจดจำกันได้ดีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย จนทำให้เกิดคลื่นสึนามิและส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยโดยตรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ทั้งนี้ ถ้าใครสังเกตช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปีของประเทศไทย เราอาจมักได้ยินข่าวแผ่นดินไหวขนาดเล็กน้อยอยู่บ่อย ๆ ในพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของประเทศไทย ก็เป็นเพราะว่าประเทศไทยเองนั้นก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นเดียวกัน ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้รายงานเกี่ยวกับแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยไว้ 14 กลุ่มรอยเลื่อน ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
รอยเลื่อนในที่นี้ก็คือ คือรอยแตกในหินที่แสดงการเลื่อน สามารถพบได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย และจะเรียกรอยเลื่อนที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี ว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ซึ่งแปลความหมายได้ว่ารอยเลื่อนมีพลังมีโอกาสที่จะขยับตัวได้อีกในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตามก็อย่าพึงตื่นตกใจเกี่ยวกับรอยเลื่อนดังกล่าวมากจนเกินไป เพราะโอกาสที่จะเกิดขึ้นรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้น้อยมาก
แหล่งที่มา
พรทิพย์ แสงมหาชัย. รายงานพิเศษ : อินโดนีเซียกับภัยพิบัติธรรมชาติ (27 ธ.ค. 61) . สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2562 .จาก http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG181230162511106
กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดแพร่. วงแหวนแห่งไฟ ล้างทฤษฎีแผ่นดินไหว . สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2562 .จาก http://www.phrae.go.th/Disaster_phrae/doc/The%20ring%20of%20fire.pdf
สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล. รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2562 .จาก http://www.geothai.net/thailand-active-faults/
-
10644 วงแหวนแห่งไฟ /article-earthscience/item/10644-2019-09-02-03-10-01เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง