เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 Mw (แมกนิจูดโมเมนต์ ) ที่ความลึกจากผิวดินประมาณ 7 กิโลเมตร บริเวณตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย รวมถึงแรงสั่นสะเทือนที่ตามมาอีกนับร้อยครั้ง เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความเสียหายกับ อาคาร บ้านเรือน วัด และถนนเป็นอย่างมากนอกจากนี้อาคารสูงในกรุงเทพฯ ยังรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้อีกด้วย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายมีสาเหตุมาจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ของรอยเลื่อนพะเยา เป็นกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ซึ่งรอยเลื่อนมีพลัง (active fault) คือ รอยเลื่อนที่มีหลักฐานทางธรณีวิทยาแสดงว่ามีการเลื่อนตัวภายใน 11,000 ปี กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังเหล่านี้ส่วนมากวางตัวอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ แต่รอยเลื่อนทุกแนวนั้นไม่ใช่แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว มีเพียงรอยเลื่อนที่ยังมีการเลื่อนตัวอยู่เท่านั้นที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับแผ่นดินไหวจึงมีความสำคัญต่อการป้องกันและบรรเทาพิบัติภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหว โดยการศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ภาพแสดงจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว และความรุนแรงของแผ่นดินไหว ข้อมูลจาก USGS
ภาพความเสียหายของวัดในจังหวัดเชียงราย
ที่มา : http ://www.oknation.net
หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวมาเป็นเวลานาน มนุษย์จึงมีการพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว (Seismometer) ทำการตรวจวัดขนาดหรือแอมพลิจูดของคลื่นไหวสะเทือน ซึ่งมีทั้งแบบแอนะล็อกและดิจิทัล โดยเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวจะถูกติดตั้งอยู่ในสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว สำหรับในประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวตรวจวัดสัญญาณคลื่นไหวสะเทือนได้แล้ว จะรายงานขนาดของแผ่นดินไหวให้ประชาชนได้รับทราบ โดยการรายงานข่าวยังใช้คำว่าริกเตอร์อยู่ เนื่องจากมาตราริกเตอร์สามารถใช้รายงานแผ่นดินไหวระยะใกล้ได้ ซึ่งประชาชนส่วนมากยังมีความสับสนเกี่ยวกับรายงานขนาดของแผ่นดินไหวว่า ทำไมในปัจจุบันในบางพื้นที่จึงรายงานขนาดแผ่นดินไหวว่า “แมกนิจูด” แทน คำว่า “ริกเตอร์” ?
มาตราริกเตอร์ (Richter scale) ML ถูกคิดค้นโดย ชาร์ล ฟรานซิส ริกเตอร์นักแผ่นดินไหววิทยาชาวเยอรมนี โดยวัดขนาดของแผ่นดินไหวจากแอมพลิจูดที่สูงที่สุดของคลื่นทุติยภูมิ และระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง มาตราริกเตอร์นั้นไม่มีขอบเขตจำกัดว่าสิ้นสุดอยู่ที่ใด แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่ใช้ได้กับแผ่นดินไหวที่มีระยะห่างจากสถานีตรวจวัดไม่เกิน 650 กิโลเมตร จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแมกนิจูดท้องถิ่น (Local magnitude)
ภาพแสดงรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย
ภาพจากกรมทรัพยากรธรณี
ภาพแสดงพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย
ภาพจากกรมทรัพยากรธรณี
แผนผังสำหรับประเมินขนาดแผ่นดินไหวตามมาตราริกเตอร์
ที่มา: http://earthquake.usgs.gov
มาตราแมกนิจูดโมเมนต์ (Moment magnitude scale) MW ถูกพัฒนาโดยทอมัส แฮงค์ และฮิรูโอะ คานาโมริ นักแผ่นดินไหววิทยาเพื่อทำให้มีความแม่นยำในการตรวจวัดมากขึ้น โดยวัดขนาดจากโมเมนต์ของแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถคำนวณได้จากมอดูลัสเฉือนของหิน ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่การแตกตามแนวรอยเลื่อน และค่าการกระจัดเฉลี่ยของรอยเลื่อน มาตราแมกนิจูดโมเมนต์นั้น เหมาะที่จะใช้กับแผ่นดินไหวระยะไกลที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นในปัจจุบันจึงนิยมรายงานขนาดของแผ่นดินไหวเป็นแมกนิจูด
เมื่อสามารถตรวจวัดและบอกขนาดของแผ่นดินไหวได้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทราบคือแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นที่ไหน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นไม่สามารถทำนายเวลาการเกิดที่แน่นอนได้ การทำนายแผ่นดินไหวสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวได้จากคาบอุบัติซ้ำของแผ่นดินไหวในแต่ละที่ โดยการขุดร่องสำรวจรอยเลื่อนและทำการหาอายุของการเลื่อนตัวในแต่ละครั้ง รวมทั้งข้อมูลสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต เพื่อประมาณช่วงเวลาการเกิดในครั้งต่อไป
ภาพการขุดร่องสำรวจรอยเลื่อน
ที่มา : http ://home.hiroshima-u.ac.jp/kojiok/QR/BCN2
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไม่ทราบเวลาเกิดที่แน่นอนของแผ่นดินไหวทราบแต่ช่วงเวลาการเกิดคร่าว ๆ กับพื้นที่เสี่ยงภัยเท่านั้น อีกทั้งมนุษย์ยังไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดแผ่นดินไหวได้ การเตรียมพร้อมก่อนการเกิดแผ่นดินไหว รวมไปถึงการปฏิบัติตนที่ถูกต้องในขณะเกิด และหลังเกิดแผ่นดินไหว เป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข
บรรณานุกรม
กรมทรัพยากรธรณี. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557, จาก http ://www.dmr.go.th
สำนักแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2557,จาก http ://www.seismology.tmd.go.th/home.html
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)