วันศารทวิษุวัต
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นหรือได้ยินคนพูดถึง “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) หรือ Autumnal Equinox กันอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็พอได้ยินก็คงมีความสงสัยและค้นหาในอินเทอร์เน็ตกันทันทีว่า ศารทวิษุวัต คืออะไร หากใครยังไม่ทราบว่าคืออะไร วันนี้ผู้เขียนนำข้อมูลนี้มาฝากให้อ่านกัน
ภาพ Illumination of Earth by Sun on the day of equinox (vernal and autumnal).
ที่มา ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Earth-lighting-equinox_EN.png , Blueshade
โดยปกติแกนโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ด้วยกัน 4 ปรากฏการณ์คือ วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox), วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) , วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) และ วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ซึ่งก็คือความรู้ความเข้าใจเดียวกันเกี่ยวกับการเกิดฤดูกาลนั่งเองดังนี้
การเกิดฤดูกาลต่างๆในโลกเรานี้ สามารถสังเกตได้จากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้นไม่ได้เป็นวงกลมพอดี ประกอบกับการที่โลกหมุนรอบตัวเองและแกนโลกเอียงเล็กน้อย ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆขึ้น ตลอดเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โลกเคลื่อนที่ไปก็เอียงไปด้วย โดยจะหันขั้วโลกเหนือและใต้เข้าหาดวงอาทิตย์สลับกัน ทำให้พลังงานความร้อน จากดวงอาทิตย์ที่ตกลงบนผิวพื้นโลกในรอบปี ในแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน ขั้วโลกที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะได้รับพลังงานความร้อน จากดวงอาทิตย์มากกว่า จะเป็นฤดูร้อน ส่วนขั้วโลกที่หันออกจากดวงอาทิตย์ จะได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์น้อยกว่า จะเป็นฤดูหนาว
ลักษณะสำคัญของวันศารทวิษุวัตคือ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ หลังจากวันนี้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ จนถึงช่วงวันที่ 22 ธันวาคม จากนั้นจะเคลื่อนกลับทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในหนึ่งปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ประมาณวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม และ วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) วันที่ 22 หรือ 23 กันยายน
ซึ่งปรากฎการนี้มักมีอิทธิพลโดยตรงกับประเทศในซีกโลกเหนืออย่างสหรัฐอเมริกาจะมีฤดูทั้งหมดสี่ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ส่วนในประเทศไทยมีฤดูอย่างเป็นทางการเพียง 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน (คิมหันตฤดู), ฤดูฝน (วัสสานฤดู) และ ฤดูหนาว (เหมันตฤดู)
แหล่งที่มา
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) . สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3701-narit-autumnal-equinox-september-2561
Shin, Jin . 234 คำถามวิทย์ต่อยอดความคิดไม่รู้จบ. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://books.google.co.th/books?id=k7BRBgAAQBAJ&pg=PA168&lpg=PA168&dq=วันศารทวิษุวัต&source=bl&ots=TH7XCQUAKx&sig=ACfU3U3vgaAGuLwAL5NWyyGRM5dXagN7Ow&hl=th&sa=X&ved=2ahUKEwiT7KX18YbmAhVm6nMBHW8lCJU4MhDoATAFegQIChAB#v=onepage&q=วันศารทวิษุวัต&f=false
Shin, Jin . 234 คำถามวิทย์ต่อยอดความคิดไม่รู้จบ. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://books.google.co.th/books?id=k7BRBgAAQBAJ&pg=PA168&lpg=PA168&dq=วันศารทวิษุวัต&source=bl&ots=TH7XCQUAKx&sig=ACfU3U3vgaAGuLwAL5NWyyGRM5dXagN7Ow&hl=th&sa=X&ved=2ahUKEwiT7KX18YbmAhVm6nMBHW8lCJU4MhDoATAFegQIChAB#v=onepage&q=วันศารทวิษุวัต&f=false
วันนี้ 23 ก.ย. 58 วันศารทวิษุวัต. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://stem.in.th/วันนี้-23-ก-ย-58-วันศารทวิษุวั/
-
10995 วันศารทวิษุวัต /article-earthscience/item/10995-2019-10-25-07-55-46เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง