คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน (กลุ่มดาว)
ตั้งแต่สมัยโบราณกาล คนมีความผูกพันกับดวงดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า เพราะคนเราใช้ชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับดวงดาว เช่น ใช้ดวงดาวบอกทิศในการเดินทาง ใช้ดวงดาวมาทำนายโชคชะตา อีกทั้งดวงดาวยังนำมาถ่ายทอดพรรณนา ออกมาเป็นกาพย์ กลอนของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในบทละครเรื่องอิเหนา หรือในบทกวีอันไพเราะของสุนทรภู่ในเรื่องพระอภัยมณี
ดาวฤกษ์หลายดวงมีความสว่างเห็นได้ชัดเจนอยู่บนท้องฟ้าในบริเวณใกล้เคียงกัน ทำให้คนเราเกิดจินตนาการออกเป็นรูปของเทพเจ้า รูปสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามความคิดคำนึงของกลุ่มชนแต่ละเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ทำให้เกิดประโยชน์ในการหาทิศทาง บอกเวลา บอกฤดูกาล การกำหนดวัน อีกด้วย
ในปัจจุบันนี้ดวงดาวบนท้องฟ้าได้แบ่งออกเป็น 88 กลุ่มดาว กลุ่มดาวที่เรารู้จักกันดีและควรรู้จักมีอยู่หลายกลุ่ม เช่นกลุ่มดาวค้างคาว กลุ่มดาวจระเข้ กลุ่มดาวเต่าหรือกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวในจักรราศี ซึ่งเราได้นำกลุ่มดาวเหล่านี้มาเป็นตัวอย่างในกิจกรรมด้วย
กลุ่มดาวจระเข้ นั้นจะสังเกตง่ายทางทิศเหนือ กลุ่มดาวจระเข้ประกอบด้วยดาวฤกษ์อย่างน้อย 7 ดวง ซึ่งคนไทยเห็นเป็นรูปจระเข้คือ ดาว 4 ดวงแรก เป็นลำตัวจระเข้ อีก 3 ดวงที่เหลือเป็นหางจระเข้ ส่วนชาวจีนเห็นเป็นรูปกระบวยตักน้ำ ชาวกรีกโบราณเห็นเป็นหมีใหญ่ สำหรับการเรียกชื่อกลุ่มดาวนั้น ก็จะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมนั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น ชาวยุโรปซึ่งใช้ชีวิตบนภูเขามองเห็นเป็นรูป "หมีใหญ่" แต่คนไทยใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำ จึงมองเห็นเป็นรูป "จระเข้"
ภาพที่ 1 กลุ่มดาวจระเข้
ที่มา : ดัดแปลงจาก The LESA Project 2003 (www.lesaproject.com)
นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่ายและน่าสนใจบนท้องฟ้า ที่จะนำมายกตัวอย่างก็คือ กลุ่มดาวเต่าหรือกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์ 7 ดวง เมื่อลากเส้นตรงเชื่อมระหว่างดาว 4 ดวงรอบนอกจะได้รูปสี่เหลี่ยม คนไทยจินตนาการเป็นรูปเต่า ภายในกรอบสี่เหลี่ยมจะมีดาว 3 ดวงเรียงกันเป็นเส้นตรง ส่วนชาวกรีกโบราณนั้นจินตนาการเป็นดาวนายพรานโดย 4 ดวงแรกรอบนอกเป็นส่วนของร่างกาย อีก 3 ดวงที่เรียงกันเป็นเส้นตรงเป็นเข็มขัดนายพราน
ภาพที่ 2 กลุ่มดาวเต่า หรือ นายพราน
ที่มา : ดัดแปลงจาก The LESA Project 2003 (www.lesaproject.com)
กลุ่มดาวนายพรานยังมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถใช้เป็นตัวแบ่งครึ่งท้องฟ้าได้ เนื่องจากกลุ่มดาวนายพรานนั้นจะเห็นดาวบริเวณเข็มขัดนายพราน (ดาวไถ) ขึ้นตรงทิศตะวันออกพอดี และจะตกลับขอบฟ้าตรงทิศตะวันตก และดาวบนสุดในกลุ่มดาวไถนั้นจะปรากฏบนเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าพอดี จึงใช้แบ่งดาวที่อยู่เหนือศูนย์สูตรท้องฟ้าว่าเป็นดาว ที่อยู่ในท้องฟ้าซีกเหนือ ส่วนดาวที่อยู่ใต้ศูนย์สูตรจะเป็นดาวที่อยู่ท้องฟ้าซีกใต้
ที่สำคัญยังมีนิทานตำนานของกลุ่มดาวที่จะทำให้จดจำชื่อและตำแหน่งได้ดีขึ้นอีกด้วย และที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นนิทานของกลุ่มดาวนายพราน หรือ ดาวเต่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว โอไรอัน บุตรของเทพโพไซดอน ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล และ ยูเรียล ราชินีแห่งลุ่มน้ำอะเมซอน โอไรอันเติบโตขึ้นเป็นนายพรานหนุ่มรูปร่างงาม และมีความสามารถเหนือมนุษย์ทั่วไป ทำให้โอไรอันสามารถเอาชนะสิงโตได้ โอไรอันมีหมาตัวใหญ่ชื่อ ซิริอุส เป็นเพื่อนตอนออกไปล่าสัตว์เสมอ และเมื่อเขาได้พบกับ อาร์ทีมีส ผู้เป็นเทพแห่งดวงจันทร์ และเป็นน้องสาวของ อพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์ โอไรอันและอาร์ทีมีสได้ก่อเกิดเป็นความรัก แต่อพอลโลกลับรังเกียจโอไรอันที่เป็นเพียงมนุษย์ อพอลโลจึงคิดแผนจัดการโอไรอัน โดยจัดการประลองความสามารถขึ้น และนำความไปบอกมหาเทพซุสผู้เป็นบิดาว่า โอไรอันชอบอวดอ้างว่าตนเป็นนายพรานที่เก่งกาจและปราบสัตว์ร้ายมาแล้วมากมาย มหาเทพซุสก็เชื่อและรู้สึกพิโรธในความโอหังของโอไรอัน จึงมอบแมงป่องพิษให้อพอลโลนำไปจัดการโอไรอัน ในระหว่างการประลอง โอไรอันสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เป็นสิงโตตัวดุร้ายลงได้ แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อแมงป่องที่แอบซ่อนอยู่ในสิงโตได้ต่อยเข้าที่แขนของนายพรานหนุ่ม อาร์ทีมีสเห็นดังนั้นก็ตกใจมาก ข้างฝ่ายอพอลโลที่เฝ้าดูก็ดีใจมาก แม้จะเก่งกล้าแต่โอไรอันก็ไม่อาจต้านทานพิษร้ายจากแมงป่องของมหาเทพซุสได้ และเขาก็สิ้นใจต่อหน้าอาร์ทีมีส ทำให้เธอโศกเศร้าเสียใจมาก เมื่อรู้ว่าลูกสาวเอาแต่ร่ำไห้ที่ชายคนรักจากไปอย่างไม่มีวันกลับ มหาเทพซุสก็เกิดความเสียใจ จึงได้ส่งดวงวิญญาณของโอไรอันขึ้นไปบนท้องฟ้า กลายเป็นกลุ่มดาวนายพราน พร้อมกับซิริอุส หมาคู่ใจที่ได้เป็นกลุ่มดาวหมาใหญ่ ติดตามไปด้วยกันตลอดเวลา และให้ทั้ง 2 กลุ่มดาวนี้อยู่ห่างไกลจากกลุ่มดาวแมงป่องมากที่สุด จึงไม่เคยปรากฏบนท้องฟ้าพร้อมกันเลย
นอกจากนี้กลุ่มดาวนายพรานยังมีความสำคัญในการสังเกตฤดูกาลอีกด้วย บนท้องฟ้าจะสังเกตว่ามีดาวดวงหนึ่งสุกสว่างมากที่สุดในท้องฟ้าซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวหมาใหญ่คือ ดาวซิริอุส (Sirius) ส่วนทางด้านตะวันออกของกลุ่มดาวนายพราน จะเห็นดาวอีกดวงหนึ่งซึ่งมีความสว่างเห็นเด่นชัด คือ ดาวโพรซีออน (Procyon) อยู่ในกลุ่มดาวหมาเล็ก ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนายพราน คือ ดาวไรเจล (Rigel) ซึ่งเป็นดาวที่อยู่บริเวณขาหลังของเต่านั่นเอง เมื่อลากเส้นตรงระหว่างดาวบีเทลจุส (Betelgeuse) ซึ่งเป็นดาวขาหน้าดาวเต่ากับดาวโพรซีออนและดาวซิริอุสจะได้รูปสามเหลี่ยม และดาวเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นในช่วงเดือนธันวาคม จึงเรียกสามเหลี่ยมนี้ว่าสามเหลี่ยมหน้าหนาว
ภาพที่ 3 กลุ่มดาวหมาใหญ่(ดาวซิริอุส)
ที่มา : http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=7157
ภาพที่ 4 สามเหลี่ยมฤดูหนาว
ที่มา : ดัดแปลงจาก The LESA Project 2003 (www.lesaproject.com)
สำหรับกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่จัดอยู่ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2556 ซึ่งในกิจกรรมนี้จะเน้นให้เด็กที่มาสังเกตกลุ่มดาวในภาพให้ใช้ความคิด และจินตนาการว่า เหมือน หรือ คล้ายคลึงกับอะไร และในกิจกรรมนี้จะเน้นเพื่อปูพื้นฐานให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจและนึกภาพกลุ่มดาวที่สังเกตง่าย หรือจากตำนานที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็สามารถบอกได้ว่าถ้าเด็ก ๆ เห็นกลุ่มดาวแมงป่องแล้วก็จะไม่สามารถเห็นกลุ่มดาวนายพรานหรือกลุ่มดาวเต่าได้นั่นเอง
สำหรับประโยชน์ของดวงดาวในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่มีบทบาทมากนัก เราอาศัยดวงดาวบอกฤดูกาล เพื่อเตรียมตัวทำการเกษตรกรรม หรือ กรณีหลงป่า ก็ยังสามารถหาทิศการเดินทางและนำตัวเองออกมาจากป่าได้ นอกจากนี้ในกิจกรรมก็จะเพิ่มตัวช่วย เป็นแผนที่ดาวเข้าไปด้วย เพื่อที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมได้ใช้งานจริง และช่วยให้เด็ก ๆ หากลุ่มดาวได้เร็วขึ้นและเพิ่มความสนุกในการร่วมกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ จดจำตำแหน่งของดวงดาวได้ง่ายและเร็วขึ้นสามารถนำความรู้ที่ได้ไปทดลองบนท้องฟ้าจริงได้เลย
สาระน่ารู้
คุณรู้หรือไม่ว่าเราไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวประจำจักรราศีในเดือนนั้น ๆ ได้ เนื่องจากดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปอยู่ในกลุ่มดาวประจำจักรราศีและจะตกไปพร้อมกันในทิศตะวันตก เช่น กลุ่มดาวสิงโต เป็นกลุ่มดาวประจำราศีสิงห์ ดังนั้นเมื่อถึงเดือนสิงหาคม ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่มาในกลุ่มดาวนี้ จึงทำให้ไม่สามารถเห็นกลุ่มดาวสิงโตได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 41 ฉบับที่ 183 กรกฎาคม - สิงหาคม 2556
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Bell, Cathy. The Mythology of the Constellations. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://www.comfychair.org/~cmbell/myth/myth.html
Constellation of the Month: Orion. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://astronomicaluplands.blogspot.com/2011/01/constellation-of-monthorion.html
Orion Mystery: The Piramids of Giza alignment. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://www.bibliotecapleyades.net/piramides/esp_piramide_8.htm#The Orion Mystery1
Parada, Carlos. About the Greek Mythology Link. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://www.maicar/GML/AboutGML.html
การสังเกตกลุ่มดาวสว่าง. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://portal.edu.chula.ac.th/lesa_cd/assets/document/LESA212/1/sky_watch/bright_constellation/bright_constellation.html
จันทร์ทิพย์ คาวัฒนา. (24 กรกฎาคม 2010). การหากลุ่มดาวนายพราน. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://school.obec.go.th/pccastro/chapter/5/59%20orion.html
จันทิมา สักการะ. (3 กุมภาพันธ์ 2013). เรื่อง กลุ่มดาวหมีใหญ่. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://web1.dara.ac.th/daraastro/data/DooDaew/Constellation/Ursamajor/con-uma.htm
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. (2003). ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ LESA. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://www.lesacenter.com
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. (2008). เรื่องทรงกลมท้องฟ้า. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://www.vcharkarn.com/varticle/41005
สมยศ แย้มสงวน. เรื่อง กลุ่มดาว. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2013, จาก http://www.wt.ac.th/~somyos/headearth5.html
-
12834 คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน (กลุ่มดาว) /article-earthscience/item/12834-2023-01-27-06-46-42เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง