การเดินทางสู่อวกาศของมนุษย์หลังการลงดวงจันทร์ของมนุษย์อวกาศสหรัฐ
โครงการอวกาศของสหภาพโซเวียตได้เอาจริงเอาจังกับการเพิ่มจำนวนนักบินอวกาศ โดยขยายการคัดเลือกนักบินอวกาศจากประเทศในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ซึ่งได้แก่ เชโกสโลวาเกีย โปแลนด์ เยอรมนีตะวันออกกับบัลแกเรีย ฮังการีและโรมาเนีย และต่อมาขยายตัวไปยังประเทศพันธมิตรของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซียคือ คิวบา มองโกเลีย เวียดนาม รวมทั้งประเทศเป็นกลาง เช่น อินเดีย ซีเรีย และอัฟกานิสถาน นักบินอวกาศจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการฝึกและปฏิบัติการอย่างเท่าเทียมกัน แต่ภายหลังเริ่มโครงการสถานีอวกาศมีร์แล้ว ปรากฏว่านักบินอวกาศจากประเทศต่าง ๆ ได้รับโอกาสขึ้นสู่อวกาศเป็นเวลาสั้นกว่านักบินอวกาศของโซเวียต ในโอกาสเดียวกันนี้ องค์การอวกาศยุโรปก็ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้ด้วย
สำหรับโครงการยานขนส่งอวกาศของสหรัฐอเมริกา จะนำนักบินอวกาศขึ้นไปเที่ยวละหลายคน หนึ่งในนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสัมภาระ ซึ่งมักจะได้รับคัดเลือกจากบริษัทหรือสถาบันที่ดำเนินการเกี่ยวกับสัมภาระนั้น ๆ ผู้เชี่ยวชาญสัมภาระไม่ได้รับการฝึกอบรมดังเช่นนักบินอวกาศขององค์การนาซา และไม่เป็นลูกจ้างของนาซา ตัวอย่างคือในปี ค.ศ. 1983 อัลฟ์ เมอร์โบลด์ (Ulf Merbold) เป็นวิศวกรจากองค์การอวกาศยุโรป และ ไบรอน ลิกเตนเบิร์ก (Byron K. Lichtenberg) เป็นนักบินจากเอ็มไอที ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญสัมภาระของยานขนส่งอวกาศเที่ยวบิน ที่เอสทีเอส-9
ในปีค.ศ. 1984 ชาร์ลส์ ดี วอล์กเกอร์ (Charles D.Walker) กลายเป็นนักบินอวกาศเอกชนคนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ เขาเป็นลูกจ้างของบริษัท แม็กโดนัลด์ ดักลาส ซึ่งจ่ายเงิน 40,000 เหรียญสหรัฐ ให้นาซา
นาซาต้องการให้รัฐบาลผู้สนับสนุนโครงการเห็นความสามารถของโครงการ จึงให้นักการเมืองขึ้นสู่อวกาศด้วย 2 คนคือ สมาชิกวุฒิสภา เจก การ์น (Jake Garn) ขึ้นไปกับยานขนส่งอวกาศในปี ค.ศ. 1985 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บิลล์ เนลสัน (Bill Nelson) ขึ้นไปในปี ค.ศ. 1986 ในขณะที่โครงการยานขนส่งอวกาศกำลังขยายตัวในตอนต้นของทศวรรษ 1980 องค์การนาซาก็เริ่มโครงการ “ผู้มีส่วนร่วมการบินอวกาศ” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์หรือลูกจ้างของรัฐได้ขึ้นไปสู่อวกาศ ดังนั้น คุณครูสาว คริสตา แม็กออลิฟฟ์ จึงได้รับคัดเลือกจากผู้สมัคร 11,400 คน ให้เป็นครูคนแรกขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ.1985 มีนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ 1,700 คน สมัครเพื่อรับคัดเลือกเป็นนักข่าวคนแรกในอวกาศ ผู้สมัครรวมทั้ง วอลเตอร์ ครอนไคท์ (Walter Cronkite) ทอม โบรกอว์ (Tom Brokaw) ทอม วูลฟ์ (Tom Wolfe) และแซม โดนัลด์สัน ( Sam Donaldson) ศิลปินคนแรกในอวกาศก็มีการพูดถึงด้วย โดยองค์การนาซาคาดว่าภายหลังครูคนแรกขึ้นไปแล้วก็จะมีพลเรือน 2-3 คนขึ้น สู่อวกาศต่อไปในยานขนส่งอวกาศ
ภายหลังการเสียชีวิตของ แม็กออลิฟฟ์ (Christa McAuliffe) เนื่องจากการระเบิดของยานขนส่งอวกาศชาเลนเจอร์ เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1986 โครงการนำพลเรือนขึ้นสู่อวกาศจึงยุติลงคนสำรองจากแม็กออลิฟฟ์ คือ บาร์บารา มอร์แกน (Barbara Morgan) ได้รับบรรจุให้เป็นนักบินอวกาศอาชีพในปี ค.ศ. 1998 และได้ขึ้นสู่อวกาศในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญของเที่ยวบินที่ เอสทีเอส-118 สำหรับนักข่าวคนแรกสู่อวกาศนั้นองค์การนาซาเปิดไฟเขียวให้ มิลล์ โอไบรน์ (Miles O’ Brien) ขึ้นไปกับยานขนส่งอวกาศโดยจะประกาศในปี ค.ศ. 2003 แต่ต้องเลิกล้มโครงการนี้เพราะเกิดโศกนาฏกรรมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อยานโคลัมเบียของเที่ยวบินที่เอสทีเอส 107 ระเบิดขณะกำลังเดินทางกลับสู่พื้นโลก
ภายหลังวิกฤตด้านเศรษฐกิจของรัสเซีย อุตสาหกรรมด้านอวกาศของรัสเซียได้รับผลกระทบอย่างมาก องค์การอวกาศของรัสเซียต้องการเงินสดเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นบริษัทกระจายเสียงโตเกียว หรือทีบีเอสจึงยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ โดยจ่ายเงิน 28 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้นำนักข่าวชื่อ โตโยฮิโร อากิยามา (Toyohiro Akiyama) ขึ้นไปสู่สถานีอวกาศมีร์ ในปี ค.ศ. 1990 อากิยามาขึ้นไปพร้อมนักบินอวกาศคนที่ 8 และกลับมาพร้อมนักบินอวกาศคนที่ 7 หลังการอยู่ในสถานีอวกาศมีร์ 1 สัปดาห์
อากิยามาได้ถ่ายทอดโทรทัศน์เป็นประจำแต่ละวันจากสถานีอวกาศ และได้ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ให้บริษัทหลายแห่งของรัสเซียและญี่ปุ่น เราอาจจะเรียกอากิยามาว่าเป็นนักธุรกิจในอวกาศ แทนที่จะเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศ เพราะบริษัทที่เขาเป็นลูกจ้าง ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ในปีค.ศ.1991 เฮเลน ชาร์มาน (Helen Sharman) นักเคมีชาวอังกฤษ ได้รับคัดเลือกจากผู้สมัคร 13,000 คน ให้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่จะขึ้นสู่อวกาศ โครงการนี้ชื่อว่า “โครงการจูโน” โดยเป็นโครงการร่วมมือระหว่างสหภาพโซเวียตกับกลุ่มบริษัทในอังกฤษ โครงการจูโนไม่สามารถหาทุนให้พอเพียงได้ จึงเกือบถูกยกเลิก แต่มีรายงานว่า มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) นายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียตรัสเซีย มีคำสั่งให้ดำเนินโครงการต่อไป ภายใต้งบประมาณของโซเวียต เพื่อผลประโยชน์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เมื่อขาดการสนับสนุนจากฝั่งตะวันตก จำเป็นต้องตัดการทดลองตามโครงการเดิม ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงออก ชาร์มานจึงขึ้นสู่อวกาศโดยยานโซยุส ทีเอ็ม-12 ไปยังสถานีอวกาศมีร์ และกลับสู่พื้นโลกโดยยานโซยุสทีเอ็ม-11
สถานีอวกาศนานาชาติต้องรับนักท่องเที่ยวอวกาศ
ตอนปลายปี คริสต์ทศวรรษ 1990 บริษัท มีร์คอร์ป (Mir Corp) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามารับผิดชอบสถานีอวกาศมีร์ มีความประสงค์จะหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดูแลสถานีอวกาศมีร์ จึงประกาศรับสมัครนักท่องเที่ยวอวกาศที่จะขึ้นไปยังสถานีอวกาศมีร์ ปรากฏว่านักธุรกิจอเมริกันและอดีตเป็นนักวิทยาศาสตร์ ของเจพีแอล นามว่า เดนนิส ติโต (Dennis Tito) เป็นผู้สมัครรายแรก ต่อมาเมื่อรัสเซียตัดสินใจนำสถานีอวกาศมีร์กลับสู่พื้นโลกติโตจึงได้เปลี่ยนการเดินทางขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติแทนทั้งนี้เป็นข้อตกลงระหว่าง บริษัท มีร์คอร์ป กับบริษัท สเปซ แอดเวนเจอร์ส์ลิมิตเต็ด (Space Adventures, Ltd.) ซึ่งมีฐานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ผู้บริหารระดับสูงขององค์การนาซาไม่เห็นด้วยตั้งแต่เริ่มต้นของสถานีอวกาศนานาชาติ เพราะไม่สนใจคนแปลกหน้าขึ้นสู่อวกาศ อย่างไรก็ตามติโตขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน ปี ค.ศ. 2001 อยู่ในอวกาศนาน 7 วัน กลายเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกที่จ่ายค่าตั๋ว 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยเศรษฐีนักธุรกิจคอมพิวเตอร์ชาวแอฟริกาใต้ชื่อ มาร์ค ซัตเติลเวิร์ธ (Mark Shuttleworth) ที่ขึ้นไปใน ค.ศ. 2002 คนที่ 3 เป็นชาวสหรัฐชื่อ เกรกอรี โอลเซน (Gregory Olsen) ขึ้นไปเมื่อปี ค.ศ. 2005 เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีบริษัทผลิตกล้องถ่ายรูปที่มีความไวสูงสำหรับงานพิเศษ โอลเซนวางแผนไว้ว่าจะทำการทดลองหลายอย่าง รวมทั้งการทดสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทของเขาในอวกาศ โอลเซนวางแผนที่จะขึ้นเร็ว กว่านี้ แต่ต้องเลื่อนเพราะเหตุผลทางสุขภาพ
เดนนิส ติโต (Dennis Tito) และ มาร์ค ซัตเติลเวิร์ธ (Mark Shuttleworth)
เกรกอรี โอลเซน (Gregory Olsen)
บริษัท สเปซ แอดเวนเจอร์ส ยังเป็นบริษัทเดียวที่จัดการส่งนักท่องเที่ยวอวกาศ ด้วยความร่วมมือขององค์การอวกาศรัสเซีย (Federal Space Agency of the Russian Federation) และบริษัทอวกาศเอนเนอร์เกีย (Space Corporation Energia) บริษัทสเปซ แอดเวนเจอร์ส อำนวยความสะดวกให้ในการท่องเที่ยวอวกาศแก่ทุกคนทั่วโลก นักท่องเที่ยวอวกาศ 3 คนแรก จ่ายเงินมากกว่าคนละ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการเดินทางไปอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลานาน 10 วัน
ภายหลังโศกนาฏกรรมยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียระเบิด นักท่องเที่ยวอวกาศซึ่งอาศัยยานโซยสุของรัสเซียยุติลงชั่วคราว เพราะเป็นยานลำเดียวที่พานักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีค.ศ. 2005 เมื่อวันที่ 18 กันยายน ปี ค.ศ. 2006 ชาวสหรัฐเชื้อชาติอิหร่านนามว่า อานุเชห์ อันซารี (Anousheh Ansari) ก็เป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนที่ 4 ที่ขึ้นไปกับยานขนส่งอวกาศโซยุส เที่ยวบินที่ ทีเอ็มเอ-9
อานุเชห์ อันซารี (Anousheh Ansari)
นักธุรกิจสหรัฐเชื้อสายฮังการี ชื่อชาร์ลส์ ไซมอนยี (Charles Simonyi) เป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนที่ 5 ขึ้นไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน ปี ค.ศ. 2007 กับยานโซยุสทีเอ็มเอ-10 เขาเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกที่ขึ้นไปอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยจ่ายเงินในเที่ยวบินของยานโซยุสทีเอ็มเอ-14 เมื่อ มีนาคม-เมษายน ปี ค.ศ. 2009
ชาร์ลส์ ไซมอนยี (Charles Simonyi)
นักท่องเที่ยวอวกาศคนต่อมาคือ กาย ลาลิเบอร์เต้ (Guy Laliberté) เป็นชาวแคนาดา ขึ้นไปกับยานโซยุสทีเอ็มเอ-16 เมื่อเดือนกันยายน ปีค.ศ. 2009
กาย ลาลิเบอร์เต้ (Guy Laliberté)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2010 ว่ารัสเซียจะเพิ่มเที่ยวบินของยานโซยุสเป็น 2 เท่า (เป็น 4 เที่ยวต่อปี) โดยแต่ละเที่ยวขึ้นไปได้ 3 คน ทั้งนี้เพราะสถานีอวกาศนานาชาติขยายจำนวนนักบินอวกาศอาชีพเป็น 6 คน
นักท่องเที่ยวอวกาศคนที่ 6 คือ ริชาร์ด แกเรียตต์ (Richard Garriott) สัญชาติอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ขึ้นไปกับยานโซยุซ ทีเอ็มเอ 13 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2008 อยู่ในสถานีอวกาศนานาชาตินาน 12 วัน โดยกลับมากับยานโซยุซทีเอ็มเอ 12 ริชาร์ด แกเรียตต์เป็นลูกชายของนักบินอวกาศอเมริกัน โอเวนเค แกเรียตต์ ผู้ซึ่งขึ้นไปอยู่ในอวกาศในสกายแล็บ 3 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1973 และยานขนส่งอวกาศเที่ยวบินที่เอสทีเอส 9 ( ยานโคลัมเบีย) เมื่อ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1983 ริชาร์ด แกเรียตต์ จึงเป็นนักบินอวกาศรุ่น ที่ 2 คนแรกของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นคนที่ 2 ของโลก
ริชาร์ด แกเรียตต์ (Richard Garriott)
ในวันที่ 12 มกราคม ปี ค.ศ. 2011 บริษัท สเปซ แอดเวนเจอร์ส และองค์การอวกาศรัสเซีย ร่วมกันแถลงว่าการท่องเที่ยวอวกาศจะเริ่มใหม่อีกครั้งใน ปี ค.ศ. 2013 โดยเพิ่มเที่ยวบินของยานโซยุสเปน 4 ถึง 5 เที่ยวต่อปี แต่เรื่องนี้ยังไม่ยุติ เพราะมีทางเลือกอื่นอีกคือ แทนที่จะเพิ่มเที่ยวบินของโซยุส ก็ขยายเวลาการสำรวจของสถานีอวกาศนานาชาติออกไป 1 ปี เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ใน ปี ค.ศ. 2015 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวอวกาศคนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวอวกาศคนถัดไปอาจจะเป็นนักร้องชาวอังกฤษ ซาราห์ ไบรท์แมน (Sarah Brightman)
นักท่องเที่ยวอวกาศทั้ง 7 คนดังกล่าวได้จ่ายเงินคนละมาก ๆ ในการเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานีอวกาศนานาชาติ ผู้เดินทางออกไปสู่อวกาศคนอื่น ๆ นับตั้งแต่ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) เป็นต้นมา ล้วนเดินทางไปตามหน้าที่ ส่วนมากรัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย มนุษย์ใฝ่ฝันที่จะเดินทางออกไปนอกโลกนานมาแล้ว เทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าช่วยให้มนุษย์เดินทางไปอยู่ในสถานีอวกาศเป็นเวลานาน แล้วเดินทางกลับโลกได้อย่างปลอดภัย มนุษย์ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ในสภาวะไร้น้ำหนักและไมโครแกรวิตี ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ห่างไกลกว่าดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัยในอนาคต ดวงจันทร์มีทรัพยากรจำนวนมากที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์โลก และการเดินทางไปยังดาวอังคารของมนุษย์อวกาศ นอกจากนี้การสร้างวัสดุบางอย่างได้ในสภาวะไร้น้ำหนักซึ่งไม่อาจทำได้บนโลก จะเป็นประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมและทางการแพทย์
บรรณานุกรม
ยานสำรวจอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติ. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2557. จาก http://www.thaispacetech.com/spacecraft/
Dennis_Tito. Retrieved December 6 , 2014. from http://en.wikipedia.org/wiki/Dennis_Tito
สถานีอวกาศนานาชาติ. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2557, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีอวกาศนานาชาติ
-
12813 การเดินทางสู่อวกาศของมนุษย์หลังการลงดวงจันทร์ของมนุษย์อวกาศสหรัฐ /article-earthscience/item/12813-2023-01-20-06-49-18เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง