เมื่อดาวอยากพัก(ร)
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2556 กำลังจะเกิดขึ้นอีกแล้วในเดือนสิงหาคมนี้ สาขาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ สสวท. ก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้ร่วมเปิดประสบการณ์ลี้ลับทางดาราศาสตร์ไปกับเรา กิจกรรมนี้ชื่อแปลก ๆ แฮะ “เมื่อดาวอยากพัก(ร)”
ผู้เขียนหมายถึง “เมื่อดาวอยากพัก” หรือเปล่า?
ไม่ผิดหรอก “เมื่อดาวอยากพัก(ร)” น่ะ ถูกแล้ว
ผู้เขียนขอยืมคำที่ใช้ในทางโหราศาสตร์มาเล่นบ้างจะเป็นไร เพราะคำว่า “พักร (อ่านว่า พัก)” ในทางโหราศาสตร์หมายถึง ย้อน, ถอยหลัง ส่วนคำว่า “พัก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง หยุดชั่วคราว ดังนั้นไม่ว่า “ดาวอยากพัก” หรือ “ดาวอยากพักร” ก็น่าจะแสดงนัยเชิงประจักษ์ได้คล้าย ๆ กัน
จึงน่าประหลาดใจเหลือเกินที่โหราศาสตร์กับดาราศาสตร์โคจรมาพบกันได้ เพราะดาวพักรในทางโหราศาสตร์ ก็คือปรากฏการณ์ “ดาวถอยหลัง” ในทางดาราศาสตร์นั่นเอง แต่จะเกิดขึ้นกับดาวบางดวงเท่านั้น
ดาวอะไรบ้างที่เดินถอยหลังได้?
ดาวที่มีความสามารถพิเศษขนาดนั้นก็คือ ดาวเคราะห์ทั้งหลายที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ได้แก่ พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน เพราะเป็นดาวที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งได้เมื่อเทียบกับดาวส่วนใหญ่ ไม่เหมือนกับดาวฤกษ์ที่จะมีตำแหน่งสัมพัทธ์คงที่
แล้วโลกล่ะ?
เนื่องจากมนุษย์อาศัยอยู่บนโลก ดังนั้นเราจึงยึดโลกเป็นศูนย์กลางในการมอง แล้วเฝ้าสังเกตว่าดาวเคราะห์ดวงใดบ้าง ที่เกิดปรากฏการณ์ถอยหลังได้ เราจึงมองไม่เห็นว่าโลกของเราที่เกิดปรากฏการณ์ถอยหลังได้ เราจึงมองไม่เห็นว่าโลกของเราเกิดการถอยหลังหรือไม่ แต่หากเราไปอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น เราอาจจะมองเห็นการเคลื่อนที่ถอยหลังของโลกได้เช่นกัน
ดาวถอยหลังได้อย่างไร?
แท้จริงแล้ว ดาวเคราะห์เคลื่อนที่เดินหน้า (จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก) เสมอ แต่ตาของมนุษย์ต่างหากที่มองเห็นเสมือนดาวถอยหลัง (จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก) ได้ในบางช่วงเวลา พูดง่าย ๆ คือการมองเห็นดาวถอยหลังเป็นเรื่องของภาพลวงตา ซึ่งปรากฏการณ์ดาวถอยหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับดาวเคราะห์ทุกดวงทั้งดาวเคราะห์วงใน (ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก) และดาวเคราะห์วงนอก (ดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่าโลก) ดังนี้
เส้นประที่ลากเชื่อมระหว่างตำแหน่งการโคจรของโลกกับดาวพุธที่มีหมายเลขตรงกัน เช่น ล1 กับ พ1 จะปรากฏเป็นภาพการมองเห็นดาวพุธตำแหน่งดังกล่าวบนท้องฟ้า เช่น ฟ1 ดังนั้นในภาพ 1 คนบนโลกจะมองเห็นดาวพุธบนท้องฟ้าเคลื่อนที่เดินหน้าจาก ฟ1 เป็น ฟ2 และ ฟ3 ในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนที่ของโลก ตามลำดับ
แต่เมื่อดาวพุธเคลื่อนมาอยู่อีกบริเวณหนึ่งดังภาพ 2 เมื่อเราลากเส้นประเชื่อมต่อออกไปบนท้องฟ้าจะพบว่า ภาพดาวพุธบนท้องฟ้ามีการเคลื่อนที่สวนทางกับโลก เสมือนดาวพุธกำลังถอยหลัง ทั้งที่จริงแล้วดาวพุธยังโคจรเดินหน้าเป็นปกติจาก พ1 ไป พ2 และ พ3 ตามลำดับ
ภาพการเคลื่อนที่ถอยหลังของดาวเคราะห์วงในและดาวเคราะห์วงนอก
การมองเห็นดาวอังคารเดินหน้าหรือถอยหลัง ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ดังภาพ 3 และ 4 ตามลำดับ
โดยสรุปแล้ว การมองเห็นดาวเคราะห์ไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ขึ้นกับความเร็วและตำแหน่งในการโคจรของโลกเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงนั้นนั่นเอง
กลับมาที่กิจกรรม “เมื่อดาวอยากพัก(ร)” วัสดุอุปกรณ์มีเพียงภาพวงโคจรของโลกและดาวอังคาร และเชือก 2 เส้น ซึ่งเราได้เตรียมวงโคจรของโลกและวงโคจรของดาวอังคาร จำลองอย่างง่ายที่วาดลงบนผืนผ้าขนาดใหญ่ไว้ให้แล้ว โดยคำนวณมาจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์จริง ๆ คือ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 365 วัน และดาวอังคารโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 687 วัน และกำหนดตำแหน่งการโคจรเป็นช่วง โดยให้วงโคจรของโลกแบ่งเป็น 12 ช่วง ดังนั้นแต่ละช่วงจะห่างกัน 30 องศา และให้วงโคจรของดาวอังคารแบ่งเป็น 22.5 ช่วง ดังนั้นแต่ละช่วงจะห่างกัน 16 องศา ดังภาพ 5 (ภาพจำลอง)
ภาพจำลอง
ผู้ร่วมงานสามารถสนุกกับประสบการณ์ “ดาวพักร” หรือดาวถอยหลังได้ โดยให้ผู้ที่เป็นดวงอาทิตย์ยืนตรงกลาง ส่วนผู้ที่เป็นโลกและดาวอังคารจะเริ่มที่ตำแหน่ง 0 ในวงโคจรของตน ให้ผู้ที่เป็นดวงอาทิตย์จับเชือกที่ดึงระหว่างตนกับโลก 1 เส้น และจับเชือกที่ดึงระหว่างตนกับดาวอังคารอีก 1 เส้น จากนั้นโลกและดาวอังคารจะเดินไปตามตำแหน่งต่าง ๆ บนผืนผ้าใบ ตามเสียงสัญญาณของผู้คุมกิจกรรม และให้ผู้สังเกตด้านนอกเป็นผู้สังเกตว่าเกิดดาวพักรเมื่อใด ซึ่งกิจกรรมนี้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ปรากฏของดาวเคราะห์ และการโคจรของดาวเคราะห์ ตามหนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติม โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ (เล่ม 3) กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ที่จัดทำโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกสารดังกล่าว แล้วมาร่วมสนุกกันในงานนะคะ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 41 ฉบับที่ 183 กรกฎาคม - สิงหาคม 2556
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Neemo. ยามเมื่อดาวเดินถอยหลัง 1. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2556, จาก http://www.horawej.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=282744&Ntype=3
ดาวเคราะห์เดินถอยหลัง (Planets retrograde). สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2556, จาก http://www.astrothailand.com/variousnews/variousnews-detail.php?variousnews_id=2&news_id=5&lang=th
ทำไมดาวเคราะห์จึงเดินถอยหลัง. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2556, จาก http://www.urastro.beesigner.com/2547/writing65.html
ยืน ภู่วรวรรณ. การสังเกตที่โลกเป็นจุดศูนย์กลาง. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2556, จาก http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet2/knowledge_math/geocentric.htm
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. การเคลื่อนที่ถอยหลังของดาวอังคาร. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2556,จาก http://www.lesa.biz/media/flash/retrograde
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศเล่ม 3 . กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
-
12835 เมื่อดาวอยากพัก(ร) /article-earthscience/item/12835-2023-01-27-06-47-18เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง