ฝนดาวตกเปอร์เซอิด ฝนดาวตกวันแม่
"ฝนดาวตกเปอร์เซอิด ฝนดาวตกวันแม่"
กลับมาอีกครั้งกับ ฝนดาวตกเปอร์เซอิด (Perseid Meteor Showers) ในเดือนสิงหาคมตรงกับวันที่ 11 หรือ 12 ของทุกปี จนเราคนไทยมักเรียกฝนดาวตกนี้ว่า "ฝนดาวตกวันแม่" เพราะเป็นฝนดาวตกที่มีช่วงสูงสุดอยู่ราววันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งตรงกับ วันเฉลิมพระชนน์พรรษา หรือ วันแม่ ของเราชาวไทยนั่นเอง แต่ฝนดาวตกเปอร์เซอิคเกิดขึ้นช่วงฤดูฝนของเมืองไทยทุกที จนเราชาวไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นฝนดาวตกนี้กันเลย แต่สำหรับทางฝั่งยุโรปและอเมริกา เป็นช่วงฤดูร้อนท้องฟ้าโปร่ง จึงกลายเป็นฝนดาวตกยอดนิยมของชาวตะวันตกไป
ภาพถ่ายของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2555
ภาพจาก Caters News Agency
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ และมีสีสันสวยงาม โดยในช่วงประมาณวันที่ 12 ถึง 13 สิงหาคม จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด อาจมีจำนวนดาวตกที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าถึงประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง
สำหรับปีนี้ ช่วงเวลาที่มีอัตราการตกมากที่สุดของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ คือ เวลาประมาณบ่ายโมง ของวันที่ 13 สิงหาคม ซึ่งเป็นเวลากลางวันในประเทศไทย แต่สำหรับช่วงเวลากลางคืนก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้แต่อัตราการตกอาจลดลง
ภาพถ่ายของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556
ภาพถ่ายโดย David Kingham
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสังเกตฝนดาวตกคือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เพราะช่วงหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก ซึ่งจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราเร็วที่ช้ากว่า มีเวลาพอจะเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น
ภาพถ่ายของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556
ภาพจาก ashed : http://imgur.com/gallery/90CMcop
ประวัติความเป็นมา
ชื่อ Perseid ถูกตั้งขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี Giovanni V.Schiaparelli เมื่อปี คศ.1866 โดยให้ชื่อนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มดาว ที่อยู่ใกล้เคียงกับจุด radiant หรือจุดเสมือนแหล่งกำหนดของดาวตก นั่นก็คือกลุ่มดาวเจ้าชายเปอร์เซอุส (Perseus) โดยที่ Schiaparelli สังเกตว่าจุด radiant ของฝนดาวตกนี้ใกล้เคียงกับ แนวการเคลื่อนที่ของดาวหาง 109P/ Swift-Tuttle ซึ่งเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในเมื่อปี คศ.1862 โดยมีคาบการโคจรทุกๆ 130 ปี มีวงโคจรเลยดาวพลูโตออกไปอีก
ครั้งหนึ่งนักดาราศาสตร์เคยวิตกกังวลว่าดาวหางนี้จะชนโลก แต่ข้อมูลปัจจุบันและการคำนวนใหม่พบกว่า ดาวหางดวงนี้ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว อย่างน้อยก็อีกก็หลายร้อยปี การกลับมาเยือนของดาวหาง Swift-Tuttle ล่าสุดเมื่อปี คศ. 1992 ก็มาช่วยเพิ่มอนุภาคให้กับ ฝนดาวตกนี้ ช่วยเพิ่มสีสรรให้กับฝนดาวตกนี้น่าสนใจขึ้น ซึ่งมีรายงานว่า ฝนดาวตกเปอร์เซอิดเพิ่มขึ้นราว 200-500 ดวงต่อชั่วโมงในปี คศ.1993
อนุภาคเศษฝุ่นผงของดาวตกเปอร์เซอิดนี้ มีขนาดใหญ่ไม่เกินเม็ดทราย ซึ่งจะเคลื่อนผ่านชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วประมาณ 132,000 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือ 59 กิโลเมตรต่อวินาที จะช้ากว่าของฝนดาวตกลีโอนิด ซึ่งเร็วประมาณ 72 กิโลเมตรต่อวินาที
ฝนดาวตกเปอร์เซอิดเป็นหนึ่งในฝนดาวตกประจำปีที่น่าสนใจของประเทศแถบยุโรป และอเมริกา เพราะเป็นฝนดาวตกฤดูร้อน แต่ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะ Peak สูงสุดในช่วงฤดูฝนที่ให้ฝนดาวตกเปอร์เซอิดไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรในบ้านเรา เหมือนอย่างฝนดาวตกลีโอนิด จุดเด่นของฝนดาวตกเปอร์เซอิดคือมีไฟร์บอลที่โดดเด่นสวยงามเหมือนกับฝนดาวตกเจมินิดในเดือนธันวาคม
-
4752 ฝนดาวตกเปอร์เซอิด ฝนดาวตกวันแม่ /article-earthscience/item/4752-2015-08-10-09-14-22เพิ่มในรายการโปรด