พายุฝนสู่อุทกภัยน้ำท่วมในประเทศไทย
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้รับฟังข่าวภัยพิบัติน้ำท่วมหนักในเขตภาคอีสาน ซึ่งนั้นก็เป็นเพราะพายุฝนอันเกิดจากธรรมชาติ วันนี้ผู้อ่านมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพายุและลมมรสุมที่เป็นอิทธิพลดังกล่าวมาให้ได้อ่านเป็นความรู้กัน
ภาพ น้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร
ฝนในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้มาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากพายุหมุนที่เกิดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพายุจรที่พัดมาทางทิศตะวันออกของประเทศ ได้แก่ พายุไต้ฝุ่นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชัน เป็นหลัก ตลอดจนฝนที่นำมาโดยพายุหมุนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในอ่าวเบงกอลแล้วพัดผ่านประเทศไทยพายุที่นำฝนปริมาณมากตกตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยจนเกิดน้ำท่วมใหญ่และอุทกภัยในแต่ละปีนั้นจึงได้แก่พายุจรที่พัดมาทางทิศตะวันออกผ่านประเทศไทย และพายุหมุนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในอ่าวเบงกอลนั่นเองฝนที่เกิดจากพายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น มักเริ่มตกในภาคกลางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณเดือนมิถุนายน ตามจำนวนพายุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในทะเลจีนใต้
ครั้งถึงเดือนกรกฎาคมแนวทางของพายุมักเคลื่อนไปอยู่ในแนวเหนือประเทศไทย พอถึงเดือนสิงหาคมพายุจรนี้จะมีแนวพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยอีก แล้วมีแนวร่นต่ำลงมาทางภาคกลาง และภาคใต้ตามลำดับตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตลอดจนภาคอื่นๆ ได้รับฝนตกหนักเนื่องจากอิทธิพลของพายุจรแต่ละประเภทดังกล่าว แล้วเกิดน้ำไหลบ่าบนผิวดินและไหลลงสู่ลำธารและแม่น้ำมีปริมาณมาก จนบางปีถึงกับเกิดน้ำท่วมใหญ่ และเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในท้องที่ต่างๆส่วนพายุหมุนจากอ่าวเบงกอลจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและพัดผ่านเข้ามาตามแนวทิศตะวันตกของประเทศไทยในบางปี โดยนำฝนมาตกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสะแกกรัง ฯลฯ หากปีใดพายุดังกล่าวมีกำลังแรง ก็จะนำฝนมาตกตามแนวทางที่พายุพัดผ่าน และทำให้เกิดอุทกภัยในระยะช่วงต้นฤดูฝนได้สภาพของฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยทั่วไปจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อจำนวนน้ำที่เกิดขึ้นในลำธารและแม่น้ำ ปริมาณจะน้อยหรือมากเพียงใดขึ้นอยู่กับ ความเข้มของฝนที่ตก ระยะเวลาที่ฝนตก และการแผ่กระจายของฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังรายละเอียดซึ่งได้กล่าวแล้วในเรื่องการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารน้ำทะเลหนุน
โดยทั่วไป พื้นที่ราบลุ่มตามบริเวณสองฝั่งแม่น้ำที่อยู่ห่างจากปากอ่าวหรือทะเลไม่ไกลนัก ระดับน้ำในแม่น้ำบริเวณนั้นมักจะอยู่ในอิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลหนุนตลอดเวลา เมื่อน้ำที่ไหลหลากลงมาตามแม่น้ำคราวใดมีปริมาณมากและตรงกับฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงเกินกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมและอุทกภัยแก่พื้นที่ทำการเกษตร และในเขตที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรงเสมอมา ดังจะเห็นว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ ผิดเพี้ยน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หน้าแล้งยาวนานขึ้น หน้าฝนก็ตกหนักจนท่วม สิ่งเหล่านี้แปรปรวนไปเพราะภาวะโลกร้อนเป็นหลักเนื่องจากอุณหภูมิบนพื้นโลกสูงขึ้น ทำให้น้ำในมหาสมุทรและพื้นดินระเหยไปสะสมเป็นเมฆมากขึ้น ลมพายุได้นำพาเมฆเหล่านี้เข้าสู่พื้นดิน และกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่นั้น ๆ เช่นน้ำท่วมในประเทศไทยทำให้มนุษย์ขาดที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตรเสียหาย
โรคที่อาจเกิดในช่วงน้ำท่วม
-
โรคระบบทางเดินอาหาร หรืออุจจาระร่วง ในภาวะที่ฝนตกหนักมีน้ำท่วมขัง การกินอาหารสุกๆ ดิบ ๆ การประกอบอาหารที่ใช้น้ำคลองที่ไม่สะอาด หรือน้ำที่ไม่ผ่านการบำบัด อาจมีเชื้อโรคปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เช่น อุจจาระ และปัสสาวะของคนหรือสัตว์ ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โรคบิด และอาหารเป็นพิษได้ง่าย การป้องกันโรคเหล่านี้ได้ โดยการเลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ อาหารที่ค้างต้องอุ่นให้เดือด หลีกเลี่ยงกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ระมัดระวังในการปรุงอาหารให้สะอาดทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้มีด เขียง ผู้ปรุงอาหาร และวัตถุดิบในการปรุงอาหาร
-
โรคระบบทางเดินหายใจ ในช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ขอให้สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น ไม่ลงเล่นน้ำ เพราะอาจทำให้เจ็บป่วย
-
โรคอื่น ๆ ในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง เช่น โรคฉี่หนู และโรคหนังเน่า ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในดินโคลน น้ำท่วมขัง เข้าทางบาดแผลที่เท้า ขอให้ประชาชนใส่รองเท้าบูตเมื่อเดินลุยน้ำย่ำโคลน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่เท้าหรือน่อง และยังช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษที่หนีน้ำกัด หลังลุยน้ำท่วมขังขอให้ล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง หากมีบาดแผลขอให้รีบรักษา อย่าปล่อยให้เป็นแผลเรื้อรัง
อุทกภัยหรือน้ำท่วมเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่อาจห้ามให้เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดได้ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจกันในหลายส่วน โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเอง
แหล่งที่มา
วิไลศักดิ์ จำรักษา และคณะ. (2561, 11 สิงหาคม). น้ำท่วมโลก. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562, จาก https://sites.google.com/site/nathwmlokrr/sahetu-khxng-kar-keid-na-thwm-lok
การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.tmd.go.th/seasonal_forecast.php
ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล. การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.freedomdive.com/th/tip/weather_wind
รู้จักกับ ลมมรสุม พายุหมุน และร่องความกดอากาศต่ำ. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.freedomdive.com/th/tip/weather_wind
-
10964 พายุฝนสู่อุทกภัยน้ำท่วมในประเทศไทย /article-science/item/10964-2019-10-25-06-57-07เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง