ชื่อของพายุเขาตั้งกันอย่างไร
เมื่อมีข่าวพายุเข้ามา เรามักจะได้ยินผู้ประกาศข่าวเรียกชื่อของพายุอย่างเช่น พายุทกซูรี (DOKSURI) ที่เข้ามาเมืองไทยที่สร้างความเสียหายมากมายเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา เราเคยสงสัยไหมว่า ชื่อที่เขาเรียกนั้นมีที่มาอย่างไร ทำไมข่าวทุกช่องไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศก็เรียกเป็นชื่อเดียวกัน วันนี้เรามีคำตอบมาให้ทุกท่านทราบ
พายุทกซูรี (DOKSURI) ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าประเทศไทย
ภาพจาก ThaiPBS: https://news.thaipbs.or.th/content/266096
เคยมีการบันทึกในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไว้ว่า นักอุตุนิยมวิทยา ชาวออสเตรเลีย ชื่อ คลีเมนต์ แรกกี (Clement Wragge) เป็นผู้ที่ริเริ่มการตั้งชื่อพายุโดยใช้ “ชื่ออักษรกรีก” แต่ก็ยังมิได้แพร่หลายมากนัก จนกระทั่งในช่วงสงความโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มมีการตั้งชื่อย่างเป็นระบบ โดยกองทัพสหรัฐอเมริกาได้กำหนดการเรียกชื่อพายุหมุนเขตร้อนเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้ “ชื่อผู้หญิง” จนปี พ.ศ. 2522 จึงเริ่มใช้ชื่อผู้หญิงสลับกับชื่อผู้ชาย
คลีเมนต์ แรกกี (Clement Wragge) นักอุตุนิยมวิทยา ชาวออสเตรเลีย
ภาพจาก Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Clement_Lindley_Wragge
ในปัจจุบันองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้กำหนดรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกและทะเลจีนใต้ โดยให้แต่ละประเทศที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ตั้งชื่อพายุเป็นภาษาท้องถิ่นของตน ซึ่งรายชื่อนี้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ในเวลาต่อมา บางชื่อก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อความเหมาะสม สำหรับชื่อพายุที่ประเทศไทยได้เสนอเข้ารายชื่อ เช่น พระพิรุณ วิภา เมขลา รามสูร มรกต เป็นต้น โดยชื่อเหล่านี้จะถูกนำมาจัดระเบียบเป็น 5 คอลัมน์ แต่ละคอลัมน์มี 28 ชื่อ การใช้ชื่อให้เรียงตามลำดับ เริ่มต้นในคอลัมน์ที่ 1 เมื่อหมดคอลัมน์ที่ 1 แล้ว จึงเริ่มใช้ชื่อแรกในคอลัมน์ที่ 2 ต่อไป เมื่อครบทั้ง 5 คอลัมน์แล้ว จึงเวียนกลับมาเริ่มต้น คอลัมน์ที่ 1 อีกครั้ง สำหรับรายชื่อของพายุ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา (http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=28)
ชื่อพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ คอลัมน์ที่ 1
และสำหรับคอลัมน์อื่น ๆสามารถดูได้จากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา
ที่มา กรมอุตุนิยมวิทยา: http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=28
หลังจากนี้เวลาดูข่าวพยากรณ์อากาศ หรือฟังประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หวังว่าทุกท่านจะไม่สงสัยแล้วว่าชื่อพายุแต่ละลูกมีที่มากันอย่างไร
แหล่งอ้างอิง
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2560). การตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก. Retrieved from โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=34&chap=7&page=t34-7-infodetail10.html
กรมอุตุนิยมวิทยา. (2560). ความรู้อุตุนิยมวิทยา. Retrieved from กรมอุตุนิยมวิทยา: http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=28
ทรูปลูกปัญญา. (2556, กันยายน 25). การตั้งชื่อพายุ. Retrieved from ทรูปลูกปัญญา: http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/26111/038667
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. (2555, ตุลาคม 30). เปิดเทคนิคการตั้งชื่อพายุ และการแบ่งประเภทของพายุ. Retrieved from ข่าวไทยพีบีเอส: https://news.thaipbs.or.th/content/122156
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. (2560, กันยายน 15). กรมอุตุฯ เตือนพายุทกซูรี ฉบับที่ 9 ส่งผลกระทบไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น. Retrieved from ข่าวไทยพีบีเอส: https://news.thaipbs.or.th/content/266096
-
7565 ชื่อของพายุเขาตั้งกันอย่างไร /index.php/article-earthscience/item/7565-2017-09-27-03-29-25เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง