ตามหาพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์
เรามักจะได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอที่ว่า “คณิตศาสตร์อยู่รอบตัวเรา” แต่อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ก็เป็นศาสตร์หนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรมในเชิงทฤษฎี บทความนี้ผู้เขียนอยากสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งให้ผู้อ่านชวนคิดและสงสัยว่า ทำไมประเทศของเราถึงไม่มีพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์เสียที
ภาพพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์แห่งชาติ (MoMath)
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:National_Museum_of_Mathematics_11_East_26th_Street_entrance.jpg , Beyond My Ken
พิพิธภัณฑ์คือสถานที่หรือสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ในลักษณะสันทนาการความรู้ที่ได้รับจากการจัดแสดง ร่วมกับการอนุรักษ์จัดเก็บฟื้นฟูสภาพ โดยจัดแสดงทั้งในรูปแบบของวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้นและ วัตถุที่เกิดจากธรรมชาติ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ปัจจุบันมีมากมายอาทิ โบราณวัตถุ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมถึงคณิตศาสตร์ที่มีอยู่ในบางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทยนั้น ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นก็ยังไม่มีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์เต็มรูปแบบเสียที ที่อาจจะมีก็เพียงชั่วครั้งคราวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่จริงๆ แล้วคณิตศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติพร้อมกับมนุษย์โลก ผู้เขียนเองจำได้ว่าในประเทศไทยเคยมีการจัดพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์เคลื่อนที่ในช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมา แต่เท่าที่สังเกตก็อาจเพราะไม่ค่อยได้รับความนิยมจากคนทั่วไปสักเท่าไหร่ ก็เลยทำให้การจัดแสดงนั้นล้มเลิกไปในที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็อาจเห็นการนำเสนอความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์สอดแทรกผ่านกิจกรรมหรือการจัดแสดงจากนิทรรศการทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่บ้างแล้วในโลกใบนี้พิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์อยู่บ้างหรือเปล่า ผู้เขียนก็ไปหาข้อมูลจนพบว่าที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์อยู่จริง ๆ ชื่อพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์ Okhotsk Mathematicals Wonderland (OMW) เป็นแหล่งเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ดัดแปลงมาจากอาคารเรียนของโรงเรียนอนุบาล ส่วนใหญ่จัดแสดงและนำเสนอความรู้ทางคณิตศาสตร์ผ่านของเล่นและโมเดลในรูปแบบต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน โดยโมเดลเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นจากช่างไม้มาช่วยกันคิดและสร้างสรรค์ผลงานเพื่ออธิบายหลักการทางคณิตศาสตร์ เช่น การสร้างล้อรถ จะสามารถสร้างเป็นทรงอื่นนอกจากวงกลมได้หรือไม่ หรือเราสามารถออกแบบฝาท่อระบายน้ำอย่างไรได้บ้างที่ทำให้ผุ้คนที่เดินผ่านไม่ตกท่อน้ำ นี้เป็นตัวอย่างการออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน และจัดแสดงความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ม่ต่างจากการจัดแสดงทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เราเห็นทั่ว ๆ ไป ซึ่งที่นี่ก็มีความสำคัญและมีชื่อเสียงอยู่ไม่น้อยในประเทศญี่ปุ่นข้ามทวีปไปอีกด้านหนึ่งของซีกโลก ก็ยังมี พิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์แห่งชาติ (MoMath) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่จัดแสดงนิทรรศการเพื่อการอธิบายหลักการทางคณิตศาสตร์ง่าย ๆ ที่อยู่รอบตัวของเรา เพื่อกระตุ้นผู้คนที่เข้ามาชมให้สนุกและเพลิดเพลิน และตื่นเต้นไปกับความมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์ ทั้งนี้ในแต่ละช่วงเวลาก็มีการจัดแสดงนิทรรศการเชิงบูรณาการ เช่น ศิลปะทางคณิตศาสตร์จัดแสดงอยู่ด้วย
หากผู้อ่านได้มีโอกาสไปเที่ยวชม ก็อย่าลืมส่งข้อมูลมาฝากกันบ้าง ผู้เขียนเองก็หวังว่าในอนาคตของประเทศไทยจะมีพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเด็กไทยในไม่ช้านี้
แหล่งที่มา
Welcome to the National Museum of Mathematics!. Retrieved October 7, 2019, From https://momath.org/
Atiporn Suwan.ท่องแดนปลาดิบ: เยือนพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://www.gotoknow.org/posts/157295
Mathematik zum Anfassen นิทรรศการคณิตศาสตร์ที่คุณสัมผัสได้. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก http://122.155.197.218/index.php?option=com_k2&view=item&task=download&id=524_28c1c412ec9e96c917e32cb27019cf97&Itemid=104
-
10976 ตามหาพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์ /article-mathematics/item/10976-2019-10-25-07-19-40เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง