รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 22 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
มีนักคณิตศาสตร์มากมายหลายท่านที่ได้รับการยกย่องและกล่าวขานถึงผลงานและคุณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ในบทความนี้เราจะขอนำทุกท่านมาพบกับนักคณิตศาสตร์ท่านหนึ่งในประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลที่การันตรีผลงานมามากมายจากทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2541 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2550 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544 อยากทราบว่านักคณิตศาสตร์ท่านนี้เป็นใคร มาตามอ่านกันได้เลยในบทความซีรี่ส์ชุดรู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอน ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
ที่มา https://stang.sc.mahidol.ac.th/stangmuseum/OSA-Yongwimon.php
ประวัติส่วนตัวและประวัติทางการศึกษา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2495 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ดร.ยงค์วิมล เป็นบุตรของ น.อ.วิมล และ ร.อ.หญิง ปยงค์ วิริยะวิทย์
ดร.ยงค์วิมล ศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตปทุมวันและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภายหลังได้รับทุนโคลอมโบ จากประเทศออสเตรเลียจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี (A2 Honors) ในปี พ.ศ. 2519และจบปริญญาโทในปี พ.ศ. 2521 สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ในระหว่างที่ดร.ยงค์วิมล ศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีอยู่นั้น ท่านได้รับรางวัล P. Bok Prize for the Best Female Science Student of the Year ประจำปี พ.ศ. 2515 จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียจบปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Vanderbilt ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2528 ภายหลังจบการศึกษา ดร.ยงค์วิมล ได้สมรสกับ นายเวท เลณบุรีและมีบุตรชาย 3 คน ชื่อ นายวิภพ์ นายวิว และ นายวงค์ เลณบุรี
ผลงานที่สำคัญ
ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์ และเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกในการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ศึกษาระบบต่าง ๆ ทางชีววิทยาการแพทย์และนิเวศวิทยา โดยดร.ยงค์วิมล มีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาระบบไม่เชิงเส้นการวิเคราะห์และแปลผล เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับระบบที่ใช้ในการศึกษา ตอบปัญหาทางด้านต่าง ๆของผู้ที่ดำเนินการในการควบคุม ดูแล หรือรักษาโรค โดยที่งานวิจัยในด้านนี้เป็นการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ นำมาประยุกต์ใช้ในทางชีวการแพทย์ และมีผู้สนใจเข้ามาดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เกิดเป็นการวิจัยทางด้าน Biomathematics และ System Biology ในเวลาต่อมา ด้วยทฤษฎีการวิจัยชิ้นนี้ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่บุกเบิกทำงานวิจัยในหัวข้อที่ล้ำหน้ามาโดยตลอด
ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ได้นำทฤษฎีที่เกี่ยวกับระบบไม่เชิงเส้นเข้าไปประยุกต์ใช้ในการจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การหลั่งฮอร์โมนชนิดต่าง ๆที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ โดยความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอาการป่วยต่าง ๆที่ก่อให้เกิดเป็นโรคสำคัญต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคทางการผิดปกติของการเจริญเติบโตของร่างกาย โรคทางสมอง โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง และโรคเส้นเลือดสู่หัวใจอุดตัน เป็นต้น ซึ่งผลจากการวิเคราะห์แบบจำลองนี้สามารถช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.ยงค์วิมล มีแนวความคิดว่าการที่ต้องนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในด้านชีวการแพทย์นั้นจำเป็นต้องใช้เวลามากในการศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับระบบที่จะนำคณิตศาสตร์เข้าไปช่วยวิเคราะห์ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการศึกษางานวิจัยเป็นอย่างมาก ซึ่งในระยะแรกจนกระทั่งในปัจจุบันนั้นยังมีผู้ที่ไม่เชื่อถืออีกมากว่า คณิตศาสตร์จะสามารถช่วยทางด้านชีววิทยาได้อย่างไร ทำให้เป็นเรื่องยากที่งานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์ออกมาสู่สาธารณะ เพราะมักจะต้องการหลักฐานทางคลินิก และคำอธิบายโต้เถียงอย่างเข้มข้น น่าเชื่อถือ จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับได้ในปัจจุบัน
เนื่องจากระบบต่าง ๆที่สำคัญในชีวิตประจำวันหลาย ๆ ระบบที่ต้องการศึกษานั้นอาจจะมีความซับซ้อนมากหรือมีขนาดการมองเห็นเล็กมาก ๆ (ระดับนาโน) ที่อาจไม่สามารถมองเห็นด้วยสายตาได้จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคในการสร้างตัวต้นแบบทางคณิตศาสตร์ เพื่อจำลองการใช้ระบบนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจการทำงานของระบบนั้น ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้นและยังช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมและพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ล่วงหน้าได้ เช่น การควบคุมระดับกลูโคสในกระแสเลือดโดยใช้อินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โดยการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สามารถช่วยให้แพทย์คาดการณ์ได้ว่า การให้อาหารป่วยร่วมกับการฉีดอินซูลินนั้นจะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดนั้นเปลี่ยนแปลงหรือไม่หรือสามารถทำการควบคุมได้โดยวิธีใด และนอกจากนั้นการที่มีความหน่วงเวลาในการทำปฏิกิริยาของอินซูลินต่อระดับน้ำตาลนั้นจะเป็นผลอย่างไรต่อความพยายามของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
ด้วยการศึกษาค้นคว้างานวิจัยในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการนำคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้การกับแพทย์จนทำให้เกิดสาธารณประโยชน์นั้น ทำให้ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล กลายเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ จนได้รับการยอมรับและได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2541 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2550 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544 ที่กล่าวไปในข้างต้น
แหล่งที่มา
ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี (ราชบัณฑิต). สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. จาก http://www.royin.go.th/?parties=ศาสตราจารย์-ดร-ยงค์วิมล
ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี นักคณิตศาสตร์ไทย. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. จากhttps://www.trueplookpanya.com/tcas/article/detail/17957
นักวิทยาศาสตร์ไทย. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. จาก http://www.thaiscientist.krusudruadee.com/page6.html
'ยงค์วิมล เลณบุรี' เธอผู้หลงรักตัวเลข. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. จาก http://www.neutron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&task=view&id=1619&Itemid=4
-
11632 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 22 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี /article-science/item/11632-22เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง